www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

รู้เท่าทัน ความกลัวตาย
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-03-28 08:46:28

คนที่รู้สึกว่าตัวเองกลัวตายนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากไม่กลัวนี่สิแปลก
จากประสบการณ์ของคนที่เข้าร่วมอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ
เกือบทั้งหมดต่างรู้สึกกลัวช่วงเวลาแห่งความตายไม่มากก็น้อย
แม้หลายคนจะบอกอย่างมั่นใจว่า พร้อมที่จะตายอยู่ทุกเมื่อ
แต่เอาเข้าจริงก็รู้สึกกลัวอะไรบางอย่าง
ยิ่งพิจารณามรณสติจนเห็นภาพกระทั่งว่า
เรากำลังจะจากโลกนี้ไปแล้วจริง ๆ
ก็ถึงกลับเสียววูบหรือร่างกายเย็นยะเยือกหมดแรงไปก็มี


หลายคนยอมรับว่าที่กลัวตายนั้นปัจจัยหลักอันหนึ่งก็คือ ความไม่พร้อม
ซึ่งอาจหมายถึงมีเรื่องครอบครัวที่ยังต้องห่วงกังวล
 (ห่วงกังวลว่าเขาจะอยู่โดยลำพังไม่ได้ถ้าไม่มีเรา หรือเขายังพึ่งพิงตนเองไม่ได้)
และยังผูกพันรักใคร่ไม่อยากจากไป เรื่องหน้าที่การงานที่ยังคั่งค้าง
เรื่องทรัพย์สินเงินทองที่ยังจัดการไม่ลงตัว บางคนมีเรื่องที่อยากทำแต่ยังไม่ได้ทำ
เช่น ฝันอยากจะเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกบ้างเพราะชีวิตจมปลักอยู่กับงานมาตลอด
บางคนฝันอยากจะทำประโยชน์สร้างสรรค์เพื่อคนอื่นบ้าง
รวมถึงหลายคนต้องการกล่าวคำขอโทษ
หรือขออโหสิกรรมกับคนที่เขาได้ล่วงเกินไว้ เป็นต้น
ในขณะที่อีกหลายคนหวาดกลัว
หากจะต้องเผชิญสภาพความเจ็บปวดในช่วงกำลังจะตาย
เพราะไม่รู้ว่าจะเจ็บปวดทรมานสักเพียงใด
เป็นความกลัวต่อสิ่งที่ไม่คุ้นเคยและยังมาไม่ถึง


นอกจากความกลัวอันเนื่องจากความไม่พร้อมทั้งหลายนี้แล้ว
ยังมีเหตุแห่งความกลัวที่สำคัญก็คือ กลัวตัวตนจะดับสูญ
ซึ่งเป็นความกลัวที่ซ่อนอยู่ลึกที่สุดในจิตใจ
ดังพระไพศาล วิสาโล เคยกล่าวไว้ว่า “ในบรรดาความติดยึดทั้งหลาย
ไม่มีอะไรที่ลึกซึ้งแน่นหนากว่าความติดยึดในตัวตน
ความตายในสายตาของคนบางคนจึงหมายถึง ความดับสูญของตัวตน
ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทนไม่ได้และทำใจยาก”


ในทางพุทธศาสนาถือว่า ความกลัวตัวตนจะดับสูญ
เป็นปัจจัยพื้นฐานที่นำไปสู่ความกลัวนานาชนิด
การที่เราพยายามยื้อยุดให้มีชีวิตต่อไป
ส่วนหนึ่งมาจากแรงผลักของความกลัวตัวตนจะดับสูญ
เพราะสภาวะหลังตายเรามิอาจล่วงรู้ได้
เราไม่มีอะไรเป็นหลักประกันให้ยึดไว้อย่างมั่นใจ
จริง ๆ แล้วความกลัวตัวตนจะดับสูญไปมีอยู่ด้วยกันทุกคน
ที่ยังไม่ได้ฝึกฝนจนเห็นความจริงว่า ทุกสิ่งล้วนไม่มีตัวตนเที่ยงแท้ถาวรอะไร
มีเพียงแต่กระแสของเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นมาเท่านั้น
ซึ่งเราต่างหลงไปยึดมั่นถือมั่นว่า มีตัวตนของเรา
มีของของเราแท้จริงอยู่ตลอดเวลา


ด้วยเหตุนั้นในช่วงเวลาที่เราต้องเตรียมตัวละจากโลกนี้ไป
หากรู้สึกหวาดกลัวต่อความตายจะเนื่องด้วยเหตุปัจจัยใดก็ตาม
ย่อมเป็นอุปสรรคขัดขวางให้เราไม่สามารถจากไปอย่างสงบได้
และไม่เพียงเท่านี้หากน้อมระลึกถึงความตายของเราขึ้นมาเมื่อใด
แล้วยังรู้สึกหวาดกลัวต่อความตายหรือรู้สึกไม่พร้อมอยู่เสมอ
นั่นก็อาจสะท้อนได้ว่า เรากำลังดำเนินชีวิตโดยไม่ได้เตรียมตัวอะไรไว้บ้าง
เมื่อเวลานั้นมาถึงหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เรากำลังใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างประมาท


ด้วยเหตุดังกล่าวหากเราปรารถนาจะเผชิญความตายอย่างสงบ
และอย่างองอาจกล้าหาญแล้ว เราจำต้องเตรียมตัวนับแต่นี้เป็นต้นไป
เพราะจะหวังไปฝึกฝนหรือเตรียมตัวเมื่อใกล้ถึงเวลานั้นย่อมหวังได้ยาก
และที่สำคัญเหนืออื่นใดการเตรียมตัวด้วยการดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทนั้น
ไม่ได้เกิดผลดีเฉพาะช่วงเวลาใกล้ตายเท่านั้น
แต่ผลดีย่อมงอกงามต่อชีวิตในแต่ละก้าว
ซึ่งเราสัมผัสได้อย่างอิ่มเอมทันทีที่เราได้ลงมือทำ


การใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทในคติพุทธศาสนานั้น (อัปปมาทธรรม)
ก็คือ ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติและใช้ปัญญาใคร่ครวญในการดำเนินชีวิต
ไม่ทำให้ชีวิตตกไปสู่ความเสื่อม
ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล ผู้อื่นในสังคมด้วย


หากมองในแง่กายภาพแล้ว
เรื่องที่คนในสังคมสมัยใหม่เสียเวลาทุ่มเทไปมากที่สุด
เห็นจะได้แก่เรื่อง เศรษฐกิจปากท้อง
จริงอยู่ทุกคนควรขวนขวายแสวงหาปัจจัย ๔ เพื่อให้เพียงพอแก่ชีวิต
แต่ทุกวันนี้เราต่างมุ่งแสวงหาทรัพย์สินเงินทองอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
เพื่อหวังจะซื้อหาความสุขจากวัตถุทั้งหลาย
ซึ่งมันได้ทำให้มิติของชีวิตด้านอื่นถูกละเลยไปเกือบสิ้นเชิง
ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องครอบครัว เรื่องการใส่ใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่หรือคิดถึงส่วนรวม
ไม่จำต้องพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ ซึ่งในแง่นี้เราสนใจกันน้อยมาก


ดังนั้นเราควรน้อมสติเพื่อใคร่ครวญให้มากขึ้นว่า
การมุ่งแสวงหาและสะสมโภคทรัพย์ต่าง ๆ อย่างลุ่มหลงมัวเมานั้น
ได้ทำให้ชีวิตบางมิติเราขาดหายไปมากเพียงใด
ซึ่งทำให้สมดุลของชีวิตเสียไปหรือไม่เพียงใด
ทรัพย์สินที่หามาได้เหล่านั้นยิ่งมีมากยิ่งทำให้เกิดความสุขโดยส่วนเดียว จริงหรือ
และความมั่งคั่งทางวัตถุมันทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยโดยแท้จริงหรือ


เชื่อได้ว่า คำตอบที่เกิดขึ้นจากความเงียบสงัดในใจย่อมทำให้เราตระหนักว่า
ชีวิตควรให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นมิติอื่นอย่างสมดุล
ดังเช่นเราควรใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่จะสามารถต่อกรกับโรคร้าย
โดยเฉพาะโรคร้ายที่มักจะคร่าชีวิตเราด้วยความทุกข์ทรมานอย่างมะเร็ง
เราควรให้เวลาอย่างเพียงพอเพื่อสัมพันธภาพอันอบอุ่นในครอบครัว
หรือสร้างสรรค์ความรักใคร่ปรองดองของคนในสังคม
ซึ่งรวมถึงเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสร้างสังคมให้ดีงามและเป็นสุข เป็นต้น


ชีวิตที่คิดคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ย่อมทำให้จิตใจขยายเป็นจิตใหญ่และเป็นจิตที่เป็นสุข
เพราะเราไม่ได้หมกมุ่นคิดเฉพาะว่าตัวเองจะได้อะไรเท่านั้น
พลังแห่งความเบิกบานที่เกิดขึ้นย่อมทำให้รู้สึกมั่นคงภายใน
และในด้านหนึ่งย่อมทำให้เห็นว่า
ความสุขไม่ได้เกิดจากความมั่งคั่งทางวัตถุโดยส่วนเดียวเท่านั้น
แต่ความสุขสามารถเกิดขึ้นได้จากความรักความปรารถนาดี
หรือจากความดีงามทั้งหลายที่เราได้ทำ ซึ่งไม่จำต้องอาศัยทรัพย์สินเงินทองก็ได้


นอกจากนี้เราควรให้เวลากับการฝึกฝนทำจิตใจให้สงบ
และหมั่นพิจารณาทบทวนความจริงของชีวิต
เพื่อคลายความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นว่า มีตัวเรา มีของของเรา
ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุย้ำเตือนเสมอว่า
“สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวงอันรวมถึงร่างกายเรานี้
ธรรมชาติให้ยืมมาชั่วคราวเท่านั้น
ที่สุดแล้วต้องคืนให้ธรรมชาติกลับไป”
การหมั่นพิจารณาให้เห็นถึงคติธรรมดาของชีวิต
ย่อมทำให้ชีวิตเป็นอิสระที่แท้จริงได้มากขึ้น
เป็นความรู้สึกมั่นคงภายในโดยแท้จริง
และนั่นย่อมทำให้เรากล้าหาญเมื่อจะต้องเผชิญกับความตายตรงหน้า


ในทางพุทธศาสนานั้นมองว่า
การทำคุณงามความดีซึ่งรวมไปถึงการหมั่นทำจิตใจให้สงบนั้น
ถือเป็นประโยชน์ในเบื้องหน้า (สัมปรายิกัตถะ)
เป็นหลักประกันแก่ชีวิตเมื่อละจากโลกนี้ไป
เพราะสิ่งที่จะติดตามเราไปได้หลังจากที่ความตายมาเยือนก็คือ
กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมที่เราได้ทำไว้
ดังนั้นหากเราจะเผชิญความตายอย่างสงบได้
ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยเริ่มต้นทำกิจที่ดีงาม
และจำเป็นต่อชีวิตครอบครัว และสังคมทันทีที่รู้ตัว


โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553
โดย…ปรีดา เรืองวิชาธร