ขจัดสารพิษในจิตใจ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2011-01-31 09:33:53
ขจัดสารพิษในจิตใจ
เดี๋ยวนี้ผู้คน นิยมทำ ...ดีท็อกซ์... กัน
ดีท็อกซ์เป็นภาษาอังกฤษแปลว่า ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย
เช่น การสวนทวาร เดี๋ยวนี้คนนิยมมาก
สวนทวารด้วยน้ำก็มี สวนด้วยกาแฟก็มี ไม่น่าเชื่อว่าจะแพร่หลายไปได้
คนที่มีการศึกษาใช้วิธีการนี้กันเยอะ
บางคนเสียเงินเป็นหมื่นไปเข้าโปรแกรมดีท็อกซ์
มีการขจัดสารพิษวิธีหนึ่งที่เชื่อว่าได้ผลมาก ก็คือ การอดอาหาร
เหตุผลก็คือ เมื่อร่างกายไม่มีอาหารเข้าไป
ระบบย่อยอาหารก็ได้พักผ่อน เพราะไม่มีอะไรจะให้ย่อย
ทีนี้ระบบย่อยอาหารก็จะเปลี่ยนหน้าที่
ไปทำการขับสารพิษที่สะสมในร่างกายออกมา
มันสลับกัน ถ้ารับอาหารเข้าไป มันจะทำหน้าที่ย่อย
ย่อยแล้วก็ดูดเอาสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย
แต่พอไม่มีอาหารเข้ามามันจะทำหน้าที่ตรงข้าม
คือ ขับเอาสารพิษออกจากร่างกาย
ใครที่ได้อดอาหารจะเห็นเลยว่า สารพิษมันออกมามากมาย
บางทีออกมาทางลิ้น จนลิ้นเป็นฝ้า บางทีออกมาตามผิวหนัง จนส่งกลิ่นเหม็น
หรือทำให้ผิวหนังเป็นปุ่มเหมือนกับเป็นสิว
บางทีก็ออกมาทางอุจจาระปัสสาวะ
คนที่อดอาหารล้างพิษจะเจอแบบนี้
การล้างพิษบางทีแค่ไม่ต้องกินอะไร ร่างกายก็จะทำงานของมันเอง
ถามว่านอกจากสารพิษในร่างกายและในสิ่งแวดล้อมแล้ว
ยังมีที่อื่นอีกไหม อาตมาว่ามีนะ นั่นก็คือ สารพิษในจิตใจ
สารพิษในจิตใจก็น่ากลัวเหมือนกัน สารพิษในร่างกายมากับอาหาร
สารพิษในจิตใจก็มาจากอาหารเหมือนกัน คือ อาหารใจ
ซึ่งก็คือ ความคิดหรืออารมณ์นั่นแหละ
อาหารที่เรากินถ้าย่อยไม่หมดจะกลายเป็นสารพิษ อันนี้เราคงรู้กันดี
สารพิษเหล่านี้จะสะสมอยู่ตามอวัยวะต่างๆ เช่น ในลำไส้ใหญ่ หรือในตับ
ส่วนความคิดหรืออารมณ์ก็เช่นกัน
ถ้าเราเสพเข้าไปแล้วไม่รู้จักขจัดออกไป
มันก็หมักหมมนะ กลายเป็นสารพิษในจิตใจของเรา
ความโกรธ ความหงุดหงิด ความกังวล
ถ้าเกิดขึ้นแล้วต่อมามันหายไป ใจกลับสงบ
เจอแบบนี้อย่าเพิ่งคิดว่าจบแล้ว ส่วนใหญ่มันยังไม่จบหรอก
อารมณ์เหล่านี้ทิ้งอนุสัยเอาไว้
อนุสัยเป็นเหมือนเศษหรือตะกอนอารมณ์ที่ตกค้าง
โกรธก็ดี เกลียดก็ดี อิจฉาริษยาก็ดี โลภก็ดี
พวกนี้มันทิ้งตะกอนอารมณ์เอาไว้
ถ้าสะสมมากๆ เราก็จะโกรธง่าย เกลียดง่าย อิจฉาง่าย โลภง่าย
แต่ว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่อนุสัยหรือตะกอนอารมณ์ตะกอนกิเลสอย่างเดียว
เพราะว่าอารมณ์ที่เราเสพหรือรับเข้ามา
ส่วนใหญ่เราไม่ปล่อยให้จบแค่นั้น
แต่ยังไปปรุงต่อเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาว
อันนี้แหละจะกลายเป็นสารพิษที่น่ากลัวมาก
เหมือนกับเราไปเติมเชื้อเติมฟืนให้กองไฟ
ไฟเลยไม่ยอมมอด กลับลามใหญ่เลย
ถ้ามอดเป็นเศษถ่าน เราก็เรียกว่า อนุสัย
มันพร้อมที่จะช่วยให้ไฟลุกขึ้นใหม่ ยิ่งมีมากก็ยิ่งลุกง่าย
แต่ว่าถ้าไม่ปล่อยให้มันมอด กลับไปเติมฟืนเติมเชื้อเข้าไปอีก
กองไฟก็จะใหญ่ขึ้นๆๆและร้อนขึ้นๆๆ
เหมือนไฟป่าอยู่ห่าง ๑๐ เมตรก็ยังรู้สึกร้อน
ใครที่มีไฟโทสะเผาใจ แม้ลูกหลานที่อยู่รอบตัว ก็ยังรู้สึกร้อนตามไปด้วย
นับประสาอะไรกับเราซึ่งมีไฟโทสะเผาลุกอยู่ในใจจะไม่ร้อนยิ่งกว่า
ร้อนจนอยู่ไม่สุข กินไม่ได้นอนไม่หลับ
อาจทำให้ป่วยเป็นโรคความดัน โรคหัวใจ โรคประสาท
หรืออาจอยากไปทำร้ายคนอื่น
อันนี้แหละอาตมาเรียกว่าสารพิษในจิตใจซึ่งอันตรายมาก
ถามว่าจะจัดการอย่างไร ประการแรกสุดก็คือ เสพให้น้อยลง
เหมือนกับการจัดการกับสารพิษในร่างกาย
บางวันเราต้องงดบ้าง อาทิตย์หนึ่งงดสักหนึ่งวัน หรืองดเป็นบางมื้อ
ปีหนึ่งอาจงดสัก ๗ วัน ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเลือกกินอาหาร
อาหารขยะควรงดหรือไม่ก็กินให้น้อยลง
พูดง่ายๆ คือ ต้องรู้จักลดและละบ้าง
สารพิษในจิตใจก็เหมือนกัน
จัดการได้ด้วยการเสพอารมณ์ให้น้อยหรืองดเสียบ้าง
หมายความว่า ลดการออกไปเสพสิ่งเร้าจิตกระตุ้นใจให้น้อยลง
ไม่ว่าแสง สี เสียง หรือสิ่งเสพ ก็ควรเพลาการบริโภคลงบ้าง
ทุกวันนี้ผู้คนใช้เวลาไปกับการเสพสิ่งบริโภค
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเยอะมาก
อยู่ว่างๆ ก็ทนไม่ได้ ต้องออกไปเที่ยวห้างฯ ไปดูหนัง
เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ หรือไม่ก็ไปร่วมวงซุบซิบนินทากับเพื่อน
วันๆ หนึ่งจึงเสพอารมณ์เยอะเหลือเกิน
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะ คือ ไม่มีประโยชน์
นอกจากลดการออกไปเสพสิ่งเร้าแล้ว
การออกไปรับรู้เรื่องราวที่รบกวนจิตใจ ที่กระตุ้นให้เกิดความกังวล
โทสะ และโลภะ ก็ควรจะลดลง
ควรใช้ตาดูหูฟังรับรู้สิ่งดี ๆ ที่ไม่กระตุ้นกิเลส
พูดง่ายๆ คือ รู้จักเลือกรับสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่ปิดหูปิดตานะ
ปิดหูปิดตาไม่ใช่วิธีการที่ดี
เราต้องรู้จักใช้ตาดูหูฟังในสิ่งที่ดี อะไรที่กระตุ้นโลภะ โทสะ โมหะ
หรือสร้างสารพิษในจิตใจ เช่น ภาพยนตร์หรือละครน้ำเน่า
สื่อลามก หรือรายการทางวิทยุโทรทัศน์ที่กระตุ้นความโกรธเกลียด
เราควรลดหรือเลิกเสพ เหมือนกับที่เราสอนลูกว่าอย่าไปกินขนมขยะนะ
เพราะมันมีสารพิษ หรือไม่ก็กินให้น้อย ไม่เช่นนั้นร่างกายจะเจ็บป่วย
บางช่วงบางขณะก็ควรจะงดเสพงดรับสิ่งเหล่านี้ไปเลย
เช่น มาอยู่วัด หรือหลีกเร้นมาอยู่ป่า
เพื่อให้ใจว่างเว้นจากการเสพรับอารมณ์ต่างๆ บ้าง
ใจจะได้พักผ่อนเต็มที่
ก็เหมือนกับที่เราควรอดอาหารบ้างอย่างน้อยปีละครั้ง
เพื่อให้กระเพาะอาหารได้พักบ้าง พอใจได้พักแล้ว
การจัดการกับตะกอนอารมณ์หรือสารพิษในจิตใจก็ทำได้ง่ายขึ้น
นอกจากการเลือกรับเลือกเสพ หรือการงดรับอารมณ์แล้ว
เรายังควรเรียนรู้วิธีดึงจิตกู้ใจออกจากอารมณ์ด้วย
นี่คือ การขจัดสารพิษออกไปจากใจ
ช่วงนี้แหละที่ต้องอาศัยสติ ต้องอาศัยปัญญาเข้ามาจัดการ
หลบมาอยู่ที่วิเวกไม่พอ
ต้องฝึกสติให้มาทำหน้าที่ขจัดสารพิษออกไปจากจิตใจของเรา
นอกจากจะไม่รับเพิ่มแล้ว ยังต้องเอาขจัดสิ่งที่สะสมอยู่ในใจออกไปด้วย
อันนี้เป็นหน้าที่ของสติและปัญญาโดยตรง
สติช่วยให้เรารู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
รู้แล้วก็ปล่อยวางได้ ไม่เก็บเอามาปรุงแต่งจนลุกลามใหญ่โต
อารมณ์เหล่านี้หากสติเข้าไปรู้ทัน
เมื่อมันหายไป มันจะไม่ทิ้งตะกอนหรืออนุสัยเอาไว้
ไม่เหมือนกับการห้ามความคิดหรือกดข่มอารมณ์
นอกจากมันจะไม่หายง่าย ๆ แล้ว มั
นยังทิ้งตะกอนอารมณ์ที่พร้อมจะปะทุขึ้นใหม่ได้ง่ายขึ้น
ไม่ว่าสารพิษในสิ่งแวดล้อม สารพิษในร่างกาย
สารพิษในจิตใจ ล้วนเป็นอันตรายทั้งนั้น
เราจึงต้องรู้จักหาวิธีขจัดสารพิษออกไปจากสิ่งแวดล้อม
ร่างกายและจิตใจให้ได้
สำหรับสารพิษอย่างหลัง
จะขจัดได้ก็ต้องเริ่มจากการหมั่นมองตนอยู่เสมอ
สารโกมล พฤศจิกายน ๒๕๕๑
ขจัดสารพิษในจิตใจ
พระไพศาล วิสาโล
http://www.visalo.org/article/komol255111.htm
ภาพประกอบจาก... http://photos3.fotosearch.com/bthumb/UNC/UNC213/u11644457.jpg