ว่าด้วยเรื่องกรรม (2)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-08-24 08:10:52
ได้เคยกล่าวไปแล้วว่า กรรม หมายถึง การกระทำ ไม่ว่า จะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องด้วยกาย วาจา และใจ ไม่ว่า จะเป็นการกระทำดี (กุศลกรรม) หรือ การกระทำชั่ว (อกุศลกรรม) ทั้งหมดล้วนใช้คำว่า "กรรม" ทั้งสิ้น
ต่อไปนี้ จะขอกล่าวถึง ประเภทแห่งกรรมค่ะ
ประเภทแห่งกรรม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท นั่นคือ
1. กรรมที่ว่าโดยหน้าที่
2. กรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผล
3. กรรมที่ว่าโดยเวลาให้ผล
กรรมที่ว่าโดยหน้าที่ เป็นไฉน กรรมที่ว่าโดยหน้าที่ สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกันคือ
1. ชนกกรรม คือ กรรมที่เป็นตัวนำเกิด
2. อุปัตถัมภกกรรม คือ กรรมสนับสนุน หรือกรรมที่เข้าช่วยสนับสนุน หรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
3. อุปปีฬกกรรม คือ กรรมบีบคั้น หรือกรรมที่มาให้ผล บีบคั้นผลแห่งชนกกรรม และอุปัตถัมภกรรมนั้น ให้แปรเปลี่ยนทุเลาลงไป บั่นทอนวิบากมิให้เป็นไปได้นาน
4. อุปฆาตกกรรม คือ กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่แรง ฝ่ายตรงข้ามกับชนกกรรม และอุปัตถัมภกรรมเข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้น ให้ขาดไปเลยทีเดีย
กรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผล เป็นไฉน กรรมที่ว่าโดยลำดับการให้ผล หรอ ว่าโดยปากทานปริยาย คือจำแนกตามความยักเยื้อง หรือลำดับความแรงในการให้ผล สามารถแบ่งออกเป็น 4 หมวดคือ
1. ครุกกรรม คือกรรมหนัก ให้ผลก่อน เช่น อนันตริยกรรม
2. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม คือ กรรมทำมาก หรือกรรมชิน ให้ผลรองจากครุกรรม
3. อสันนกรรม คือ กรรมจวนเจียน หรือกรรมใกล้ตาย คือกรรมทำเมื่อจวนจะตายจับใจอยู่ใหม่ๆ
4. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม คือ กรรมสักว่าทำ หรือ กรรมที่ทำไว้ด้วยเจตนาอันอ่อน หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล
กรรมที่ว่าโดยเวลาให้ผล เป็นไฉน กรรมที่ว่าโดยเวลาให้ผล หรือว่าโดยปากกาล คือกรรมที่จำแนกตามเวลาให้ผล แบ่งออกเป็น อีก 4 หมวด คือ
1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจะบัน คือในภพนี้
2. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิด คือในภพหน้า
3. อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมใหผลในภพต่อๆ ไป
4. อโหสิกรรม คือ กรรมที่เลิกให้ผล ไม่มีผลอีก
ทั้งหมดนี้เป็นกรรม 12 หมวด ซึ่ง ถ้าท่านผู้อ่านคนใดสนใจ ขอแนะนำหนังสือ กรรมทีปนี ของ พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙) ซึ่งจะกล่าวเรื่องกรรมต่างๆ ไว้อย่างละเอียดค่ะ
เจริญในธรรมค่ะ
ขอขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.dhammathai.org/