www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

นิวรณ์ .... เครื่องกางกั้นการบรรลุธรรม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-08-23 13:20:53


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ........

           นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการเป็นไฉน

           นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ๑
           นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ๑
           นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ ๑
           นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจะ ๑
           นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา ๑

           *************************************************

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ..........
           นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย
           ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ........
           ............อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว
           ............จักรู้จักประโยชน์ของตน
           ............ประโยชน์ของผู้อื่น
           ............ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
           ............หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ
           ............ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลังทุรพล
           ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้


           ปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไปสู่ที่ไกล
     มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัดไปได้
     บุรุษพึงเปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้
     ............ กระแสน้ำในท่ามกลางแห่งแม่น้ำนั้น ก็ซัด ส่าย ไหลผิดทาง
     ............ ไม่พึงไหลไปสู่ที่ไกล
     ............ ไม่มีกระแสเชี่ยว
     ............ ไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด

           ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอไม่ละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้
     อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้วจักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
     หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ
     ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาอันไม่มีกำลังทุรพล
     ข้อนั้น ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้

     ********************************************************

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย

           ภิกษุนั้นละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้
     อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น
     ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ
     สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ด้วยปัญญาอันมีกำลัง
     ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้


     เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้
     บุรุษพึงปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง
     เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็จักไม่ซัด ไม่ส่ายไหลไม่ผิดทาง
     พึงไหลไปสู่ที่ไกลได้ มีกระแสเชี่ยว และพัดในสิ่งที่พอพัดไปได้ ฉันใด

     ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแลหนอ
     ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้
     อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว
     ............ จักรู้ประโยชน์ตน
     ............ ประโยชน์ผู้อื่น
     ............ ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
     ............ หรือจักทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ
     สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง
     ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ 

ที่มา : พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔