www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

อัฏฐังคิกมรรค .... อริยมรรค
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-08-23 13:13:45


กราบนมัสการท่านยะมุนี ท่านอิทธิฯ เจ้าค่ะ


 อัฏฐังคิกมรรค...อริยมรรค

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย …………

                  พระผู้มี พระภาคเจ้า ได้ตรัสรู้
           พระสัพพัญญู กล่าวว่า ความรู้ยิ่ง
           เกิดมาจาก ทางสายกลาง และความจริง (อริยสัจ)
           นับเป็นสิ่ง ควรศึกษา ให้แจ้งใจ

                 อริยมรรค มีองค์ธรรม แปดประการ
           ที่ประสาน เกิดร่วม เกิดพร้อมได้
           เริ่มจากเห็น ดำริ ตริตรองนัย
           วาจาไซร้ เลี้ยงชีวิต และการงาน

                 มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญ์มั่น
           มิไหวหวั่น ต่อกิเลส เหตุประสาน
           สมาธิมั่น ดันจิตไว้ ให้สู่ฌาน
           ปัญญาญาณ พลันแจ่มจ้า พาลุธรรม

           ************************************************


                  สัมมาทิฏฐิ...เห็นชอบ

               ปัญญาหนึ่ง เห็นชอบ กอร์ปทางสัมม์
          คือ องค์ธรรม เข้าสู่ทาง พ้นทุกข์ได้
          “สัมมทิฏ ฐิ” นั้นเห็น เป็นเช่นไร
          เป็นปัญญา รู้แจ้งใน ความเป็นจริง (รู้อริยสัจ)

               รู้นัยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
          ปัญญาจัก นำทางไป ในทุกสิ่ง
          ปัญญาพา เห็นทุกอย่าง ในความจริง
          มิควรนิ่ง นอนใจ ให้เร่งเพียร

          ดูกรภิกษุทั้งหลาย...............

               การเกิดสัม มาทิฏฐิ มีปัจจัย
          ใช่ว่าเกิด เองได้ ให้ปวดเศียร
          คือสดับ รับฟังมา พาพากเพียร (ปรโตโฆษะ)
          น้อมมาเรียน พากเพียร เรียนด้วยตน

               โดยการใคร่ ครวญธรรม ด้วยดวงจิต
          เพียรพินิจ แยกปัจจัย ในเหตุผล
          โยนิโส(มนสิการ) อย่างแยบคาย ในจิตตน
          มิสับสน ลังเลไป ในความจริง

               เมื่อเดินตาม ครรลอง สัมมาทิฏฐ์
          อานิสงส์จิต เกิดได้ ในทุกสิ่ง
          เจโตวิมุตติ เป็นผล ดลแอบอิง
          ปัญญาวิมุตติ คือสิ่ง ที่ตามมา

               ปัจจัยห้า ในธัมมา พาอนุเคราะห์
          ด้วยเหตุเพราะ ศีล สุตตา สากัจฉา
          พร้อมสมถะ ละความฟุ้ง มุ่งวิปัสนา
          เกิดปัญญา สู่วิมุตติ หลุดพ้นกรรม


           (สุตตา สุตตะ = ฟังธรรม) (สากัจฉา = การสนทนาธรรม)

           *******************************************


                  สัมมาสังกัปปะ...ดำริชอบ


                ดำริชอบ กอร์ปด้วย ความคิดนึก
           หรือ“ความตรึก” ในธัมมา พาสู่สัมม์
           ออกจากกาม สู่เขตคาม ที่พ้นกรรม
           เรียกเนกขัมม์ ปลอดโลภะ ละอบาย

                ดำริออก จากพยา ปทะนั่น (พยาบาท)
           เมตตากลั่น จากจิต คิดสลาย
           ทั้งโกธะ โทสะ ให้ละคลาย
           ปฏิฆะร้าย คือตัวก่อ ล่อมารา

                เมื่อมีจิต คิดเมตตา ปัญญาเลิศ
            จิตประเสริฐ เลิกเบียดเบียน อวิหิงสา
           ทางเหล่านี้ เป็นทาง แห่งสัมมา
           สังกัปปา ดำริหนา สู่ทางธรรม

           **********************************

                  สัมมาวาจา...วาจาชอบ


                 วจีกรรม มโนกรรม กายกรรม
           ธ ทรงย้ำ สำรวมไว้ ให้ฝึกฝน
           เพราะเป็นทาง สร้างกรรม ให้กับตน
           ทั้งกุศล อกุศล ดลกรรมไป

                อันวาจา เป็นภาษา ใช้สื่อสาร
           บอกอาการ ของจิต ผู้คิดได้
           จะสำรวม วาจา ได้อย่างไร
           ทำไฉน จึงเรียกสัม มาวาจา

                หนึ่งงดเว้น การพูด ที่ไม่จริง
           พูดแต่สิ่ง ที่จริงแท้ แก้มุสา
           สองเว้นพูด ส่อเสียด ปิสุณวาจา
           พูดสิ่งพา สร้างสรรค์ จรรโลงใจ

                สามงดเว้น พูดหยาบคาย ให้ระคาง
           พาเหินห่าง ส่อกริยา น่าคบไฉน
           ผรุสวาจา หยาบช้า น่าห่างไกล
           ควรพูดด้วย ใจเมตตา น่ายินดี

                สัมผัปปลา วาจา พูดเพ้อเจ้อ
           เป็นเพราะเผลอ ขาดสติได้ ไร้ศักดิ์ศรี
           วกวนไป ไร้ความหมาย ไร้สิ่งดี
           พูดสิ่งที่ เป็นความจริง และสำคัญ

                 นี้แหล่ะหนา เรียกว่า สัมมาวาจา
           เป็นมรรคา ควรกระทำ ซ้ำสร้าง สรรค์
           เป็นหนทาง ก่อให้เกิด วจีกรรม์
           เป็นสื่อสร้าง ความสัมพันธ์ คนทั่วไป

           **********************************************


                  สัมมากัมมันตะ...การงานชอบ


                 กัมมันตะ มีความหมาย ว่าการงาน
           บ้างกล่าวขาน “การกระทำ” ใช่น้อยไม่
           ส่วน“สัมมา” ดี ถูกต้อง จริง แท้ ไซร้
           รวมกันได้ มีความหมาย “ชอบในกระทำ”

                 บ้างจัดลง ตรงกองศีล “สีลขันธา”
           หนึ่งในห้า ที่เป็นแกน แก่นทางสัมม์
           กองสีลา ภาวนา ปัญญา วิมุตติธรรม
           วิมุตติญาณ(ทัสสน) ขันธธรรม นำปัญญา(ธรรมขันธ์ ๕)

                 สัมมากัม มันตะ เป็นไฉน
           พระพุทธองค์ ทรงกล่าวไว้ ให้สิกขา
           หนึ่งเว้นฆ่า มวลสัตว์ วางฑัณฑา
           วางศาสตรา มีกรุณา ในดวงจินต์

                 รับแต่ของ ที่เขาให้ ไม่ลักทรัพย์
           จิตมุ่งจับ ความสะอาด ในทรัพย์สิน
           เว้นประพฤติผิด ในกามา เป็นอาจิณ
           ใช้ชีวิน ในเพศ พรหมจรรย์


           *************************************************


                  สัมมาอาชีวะ...เลี้ยงชีวิตชอบ


                 เลี้ยงชีวิต ในการงาน อาชีพชอบ
           มิโกยกอบ โกง ลวงล่อ ฉ้อฉลเขา
           อาชีพใด ไปเบียดเบียน หลีกเลี่ยงเอา
           อย่าให้เงา ของความโลภ โฉบชีวา

                 ในโสภณ เจตสิก ยี่สิบห้านั้น
           เลี้ยงชีพอัน ซึ่งที่ชอบ กอร์ปด้วยหนา
           หนึ่งในสาม วิรตีเจตสิกพา
           ให้ชีวา งดเว้นชั่ว มั่วอบาย

            (โสภณเจตสิก = เจตสิกฝ่ายดีงาม) (วิรตีเจตสิก = เจตสิกที่เป็นตัวความงดเว้น)

           *******************************************************


                  สัมมาวายามะ...พยายามชอบ


                 ในสัมมา วายามะ คือ เพียรชอบ
           ซึ่งประกอบ สี่อรรถถา อย่าเมินหมาง
           เพียรสังวรฯ ละปหาน ภาวนามิจาง
           พึงเพียรสร้าง อนุรักขณาฯ รักษาไป

                 การศึกษา ในธรรม แล้วนำคิด
           น้อมดวงจิต ฝึกฟื้น คืนขึ้นใหม่
           เปรียบดั่งฟ้า หลังฝนฉ่ำ นำอำไพ
           จิตสดใส ใฝ่ธรรมา ศรัทธานำ

                 หนึ่ง...หมั่นเพียร สร้างกุศล ในดวงจิต
           ให้ชีวิต โรจน์รุ่ง มุ่งอุปถัมภ์
           ภาวนาปธาน เจิดจ้า พาน้อมนำ
           ไม่ถลำ สู่อบาย คลายอัตตา

                 สอง...เพียรสร้าง กุศลธรรม ให้บังเกิด
           ธรรมประเสริฐ ไว้ในจิต พิศสิกขา
           ให้ดำรง คงไว้ ด้วย อนุรักขณา(ปธาน)
           เพียรรักษา กุศลธรรมนั้น มั่นคงนาน

                 สาม..อกุศล ธรรมใด ที่เกิดแล้ว
           อย่าคลาดแคล้ว เพียรกำจัด อย่าให้สาน
           กำจัดไป ให้สิ้น..เรียก ปหานปธาน
           เพื่อดวงมาลย์ เพริศแพร้ว ด้วยแก้วธรรม์

                 สี่..อกุศลธรรมใด ยังไม่เกิด
           เพียรระวัง อย่าเปิด เพียรปิดกั้น
            สังวรปธาน ยับยั้งไว้ ดูให้ทัน
           ครบสี่พลัน สัมมัปปธานกล้า พาจิตเจริญ

           ***************************************************


                  สัมมาสติ...ระลึกชอบ


                 ในสัมมา สติ ระลึกชอบ
           อันประกอบ สิ่งชอบ ในสิ่งสี่
           คือกายา เวทนา และจิตตี
           อีกธรรมที่ ควรสิกขา พาหลุดกรรม

                 ทางสายเดียว สายเอก เฉกทางรอด
           เป็นทางปลอด ตัณหา พาสู่สัมม์
           มีสติ ระลึกอยู่ รู้องค์ธรรม
           สี่องค์ล้ำ เลอเลิศ เกิดปัญญา

                 มีความเพียร มีสติ สัมปชัญญะ
           กำจัดละ อภิชฌา โทมนัสหนา
           ฐานที่หนึ่ง เห็นกาย ในกายา
           พิจารณา ทั้งรูป และทั้งนาม

                  ฐานที่สอง เวทนา นุปัสสนา
           เห็นเวทนา ในเวทนา น่าเกรงขาม
           รู้ว่าเกิด อยู่ทั้งใน รูปและนาม
           มิติดตาม ปล่อยวาง แค่รู้มัน

                 จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
           จิตตระการ รู้วาระ แห่งจิตนั่น
           ธรรมที่เกิด หรือหายลับ ดับไปพลัน
           จิตจับทัน รู้ด้วยจิต ใช่คิดเอา

                 ฐานที่สี่ เห็นธรรม ในธรรมะ
           ธรรมควรละ กำหนดรู้ ดูความเขลา
           ธรรมควรเจริญ ควรรู้แจ้ง หรือธรรมเนา
           ควรน้อมเอา ธรรมในธรรม มานำจินต์

           *******************************************


                  สัมมาสมาธิ...ตั้งจิตชอบ


                 ในสัมมา สมาธิ ตั้งจิตชอบ
           เป็นทางกอร์ป สู่ปัญญา พาสุขศรี
           สร้างความแกร่ง ให้จิตตา สี่วิธี
           เป็นสิ่งที่ สงัดกามา มาด้วยฌาน

                 ปฐมฌาน มีวิตก และวิจาร
           องค์ในฌาน อีกเกิดสุข ปีติซ่าน
           เอกกัคตา อารมณ์หนึ่ง ต่อเนื่องนาน
           ควรแก่การ จะพินิจ เพ่งพิศธรรม

                 สู่ฌานสอง ทุติยฌาน วิตกวิจารสิ้น
           สุขในจินต์ ปีติอยู่ คู่อุปถัมภ์
           สู่ตติยฌาน ปีติคลาย กายสุขนำ
           อุเบกขาย้ำ เตือนให้รู้ อยู่ในฌาน

                 ละทุกข์สุข ดับโสมนัส ในกายา
           เกิดอุเบกขา สติมา พาสุขศานต์
           ชี้สมาธิ นั้นบรรลุ จตุตถฌาน
           เสร็จกิจการ แปดอริยมรรค จักรพรหมจรรย์

            ****************************************************

                  ขอผู้อ่านทุกท่านเจริญในธรรมเจ้าค่ะ

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.dhammathai.org/