www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ข้อควรปฏิบัติของฆราวาส
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-05-22 12:12:50

ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ในครั้งพุทธกาลนั้น มิใช่จะให้ฆราวาสสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเข้าสู่เพศบรรพชิต แต่เป็นการเริ่มต้นจากฆราวาสซึ่งเป็นมนุษย์ปุถุชน ผู้ยังมีกิเลสมากอยู่ ตลอดจนมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการทำงาน มีครอบครัวที่จะต้องให้ความดูแลรับผิดชอบ พระพุทธองค์จึงได้สอน เน้นให้ฆราวาสรู้จักแบ่งเวลาในการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นสาระประโยชน์ที่ถูกต้อง โดยการแบ่งเวลาออกเป็นสามส่วน ซึ่งหากผู้เป็นฆราวาสสามารถกระทำได้อย่างถูกต้องแล้ว จึงจะนับเป็นผู้ที่อยู่ในพระพุทธศาสนา และปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง โดยมีหลักการประพฤติปฏิบัติใน 3 ส่วน ดังนี้

1. หลักสัมมาอาชีพ

ฆราวาสทุกคนต้องประกอบสัมมาชีพ ให้เกิดมีทรัพย์ในการแลกเปลี่ยนปัจจัยที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของตน และครอบครัว จะต้องเป็นสัมมาชีพที่สุจริต ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่แสวงหาประโยชน์โดยเอาตำแหน่งเป็นเครื่องมือ มีความขยันหมั่นเพียรไม่เกียจคร้านหรือท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่หวั่นต่อปัญหาอุปสรรค มีความรับผิดชอบต่อสัมมาอาชีพของตน ไม่เอาเปรียบผู้อื่นหรือโยนความผิดให้ผู้อื่น

2. หลักครอบครัว

การสร้างความสงบ ความสันติสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว โดยการเอาใจใส่ดูแลต่อผู้ที่อยู่ในครอบครัวให้มีความสุข มีความรักใคร่กลมเกลียวกัน มีความเข้าใจกัน สามัคคีปรองดองกัน โดยมีหลักสำคัญที่ควรปฏิบัติ 4 ประการ คือ

1. บำรุงบิดามารดาที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเชื่อฟังและประพฤติตนตามโอวาทของท่าน ให้อยู่ในทางที่ถูกต้อง เอาใจใส่ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจของท่าน ช่วยประกอบภารกิจและการงานต่างๆ 

2. บำรุงสามีภรรยา ควรที่จะศึกษาและรักษาภาวะจิตใจ ให้เกียรติยกย่องซึ่งกันและกัน
   
3. ช่วยกันเลี้ยงดูและให้การศึกษาต่อบุตรธิดา อบรมให้เป็นคนดี  

4. ดูแลผู้ใกล้ชิดและบริวารให้ที่อยู่ที่อาศัย ให้ปัจจัยในการใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตอบแทนและให้การบำรุงขวัญและกำลังใจ
 
3. หลักศาสนกิจ

เป็นส่วนที่สำคัญยิ่ง ต่อจิตวิญญาณ เป็นภาระหน้าที่ที่พุทธศาสนิกชน จะต้องกระทำเพื่อให้เกิดบุญกุศล และอานิสงส์ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญ ทำกุศล การฟังพระธรรมเทศนา ตลอดจนการรักษาศีล เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรมสมาธิ เพื่อให้เกิดความสงบเข้าสู่จิตใจอย่างแท้จริง


ที่มา: ฆราวาสธรรมเบื้องต้น,มูลนิธิพุทธศาสนุสรณ์ พิมพ์ครั้งที่1