www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-05-22 12:09:32

การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน
ท่านพระครูเกษมธรรมทัต(สุรศักด์ เขมรํสี)  

    ในชีวิตประจำวันของเราจะต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย มีการงาน มีภาระกิจส่วนตัวและส่วนรวม เรียกว่า มีการกระทำออกไปทางกาย ทางวาจา ทางใจ ชีวิตเราไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ตลอดเวลา หรือไม่มีใครที่จะอยู่กับที่ได้ตลอดเวลา ต้องมีการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ เพราะร่างกายที่นั่งไปนานๆก็เป็นทุกข์ปวดเมื่อย ก็ต้องเปลี่ยนเป็นยืนบ้าง นอนบ้าง เดินบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถไหนก็ตกอยู่ในสภาพทุกข์ทั้งนั้น แม้แต่ในอิริยาบถนอนซึ่งส่วนใหญ่เราจะชอบอิริยาบถนี้ แต่เราก็ไม่สามารถนอนได้ตลอดเวลาได้ หรืออยู่ในท่าเดียวได้โดยไม่ต้องพลิกตัว การที่ร่างกายนี้เป็นทุกข์ต้องเปลี่ยนแปลงอิริบถกันอยู่เรื่อย ก็เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ 

    นอกจากนี้ ชีวิตของคนเราก็ต้องมีการกิน มีการทำงาน มีการขับถ่าย มีการทำอย่างอื่น เรียกว่า เป็นการงาน ชีวิตประจำวันของเราดำรงอยู่ได้ด้วยอาหารกินเข้าไปแล้วก็ต้องขับถ่ายออกมา หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ เป็นกิจการงานส่วน ตัว และนอกเหนือจากนี้ ยังมีงานเกี่ยวข้องกับสังคม เป็นหน้าที่รับผิดชอบให้กว้างขวางออกไป เช่น เราต้องทำงานเพื่อหาเงิน มาจุนเจือชีวิตครอบครัว จึงต้องมีการเดินทาง มีการพบปะ มีการใช้สมองคิดอ่าน เคลื่อนไหวร่างกาย สรุปแล้ว ชีวิตจะต้องหมุนไปในการ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว ทำ พูด คิด กิน ดื่ม ขับถ่าย เป็นอยู่อย่างนี้ คือ ชีวิตประจำวัน

       ตามหลักคำสั่งสอนของพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงแสดงถึงว่า การปฏิบัติธรรมนี้สามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ฉะนั้น ก็ต้องปฏิบัติได้ เจริญภาวนา เจริญสติ เจริญกรรมฐาน หรือปฏิบัติธรรม เมื่อเราเข้าใจแล้ว เราก็จะไม่บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะหากเรายังมีการหายใจอยู่ ถือว่าเรายังมีเวลาปฏิบัติ เพราะผู้ที่ไม่มีเวลาปฏิบัติ คือ คนที่ตายไปแล้ว หมดลมหายใจไปแล้ว ไม่มีจิตใจทึ่จะทำการงาน หาความรู้สึกอะไรไม่ได้แล้ว ถ้ายังมีจิตใจอยู่ ยังเป็นๆอยู่ หรือไม่ได้สลบตลอดเวลา ยังตื่นอยู่ ย่อมต้องมีเวลาปฏิบัติธรรม เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจ และตั้งใจ

       ความตั้งใจ และความเข้าใจในการปฏิบัติธรรมนั้น สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เพราะ ถ้าไม่ทำ ความเข้าใจนี้ จะปิดกั้นการปฏิบัติ คือ เราจะไม่ยอมฝึกฝน ที่จะเจริญสติสัมปชัญญะไว้ คอยแต่ว่า ถึงเวลาก็จะมานั่งสมาธิ นั่งพับเพียบ มานั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป จึงจะปฏิบัติได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางคนต้องเข้าวัด ถึงจะปฏบัติ อยู่บ้านปฏิบัติไม่ได้ ซึ่งจะกลายเป็นการเสียโอกาสไป

จากหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน