www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

หลวงปู่ชอบ(8)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-02-11 10:34:22

    ครั้นท่านมีอายุครบ 23 ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสร่างโศกซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่าวัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งขณะนั้น ยังเป็นอำเภอหนึ่ง อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังมิได้ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร เช่นทุกวันนี้ หลวงปู่บวชเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2467 มีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐานสโม" ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านมิได้มีนิสัยสนใจทางการศึกษาด้านปริยัติธรรมมากนัก แม้การท่องปาฏิโมกข์นั้น ท่านใช้เวลาเรียนท่องถึง 7 ปี จึงจำได้หมด
"รู้ความ แต่ไม่ได้ท่องจำ" ท่านเล่า
         เมื่อกราบเรียนถามว่าเหตุใดหลวงปู่จึงใช้เวลานานนัก ท่านก็ตอบอย่างขันๆ ว่า "นานๆ ท่องเถื่อ (ครั้งหนึ่ง บางทีก็ 2 เดือน ท่องเถื่อหนึ่ง บางทีก็ 3 เดือนท่องเถื่อหนึ่ง"
"ในใจภาวนามากกว่า" ท่านสารภาพว่า ท่านดื่มด่ำในการภาวนามากท่านใช้คำบริกรรม "พุทโธ" อย่างเดียว มิได้ใช้ "อานาปานสติ" หรือกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ควบคู่กับพุทโธเลย
สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น  สิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้สิ่งที่เป็นของสาธารณแก่ปุถุชนธรรมดาก็กลับปรากฏขึ้นเป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง..!
         ท่านเล่าว่า จิตของท่านรวมลงสู่ความสงบได้โดยง่ายมากและเกิดความรู้พิสดาร การนี้เริ่มปรากฏแก่ท่าน ตั้งแต่ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกลึกลับได้ดีเกินกว่าสายตามนุษย์สามัญจะรู้เห็นได้ ได้ล่วงรู้ความคิดความนึกในจิตใจของผู้อื่นไม่ได้นึกอยากเห็น ก็เห็นขึ้นมาเอง ไม่ได้นึกอยากรู้ ก็รู้ขึ้นมาเอง รวมทั้งการรู้เห็นสิ่งแปลกๆ เช่น พวกกายทิพย์ คือ เทวบุตร เทวธิดาอินทร์พรหม ยมยักษ์ นาค ครุฑ...หรือ การรู้วาระจิตคนอื่น ที่เขาคิด เขานึกอยู่ในใจก็สามารถได้ยินชัด... สิ่งเหล่านี้...แรกๆ ท่านก็ทั้งตกใจ ทั้งประหลาดใจ แต่เมื่อเป็นมาระยะหนึ่งได้รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือภาพนิมิตก็ระงับสติได้ มีสติว่านี่เป็นเรื่องพิสดาร แต่ไม่ควรจะให้ความสนใจมากนัก นี่เป็นเหตุหนึ่งที่เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ท่านก็บากบั่นมุ่งมั่นต่อไปในแดนพุทธอาณาจักรอย่างไม่ย่อท้อ
           ครูบาอาจารย์ก็ช่วยให้ความมั่นใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้มีนิสัยวาสนาทางนี้แล้ว ก็ควรจะเร่งทำความพากความเพียรต่อไป ไม่ควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่เป็นเหมือน "แขกภายนอก" เหล่านี้อย่านึกว่าตนเป็นผู้วิเศษ ผู้เก่งกล้าอะไร ผู้ใดมีวาสนาบารมี สร้างสมอบรมมาอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เปรียบเสมือนการปลูกต้นผลไม้ หากเรานำเอาเมล็ดมะม่วงมาเพาะ ปลูก ลงดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย บำรุงต้นไม้นั้นไป วันหนึ่งก็จะออกดอกออกช่อ ให้ผลเป็นมะม่วง จะกลายเป็นมะปราง หรือมะไฟ ก็หามิใช่ หรือผู้ที่ไม่เคยเพาะเลียงมะม่วง ไม่เคยปลูกมะม่วง แต่จะนั่งกระดิกเท้ารอให้เกิดต้นมะม่วง มีผลมะม่วงขึ้นมาเอง ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
         ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีธรรมสร้างสมอบรมมาแต่บรรพชาติ จิตจึงเกรียงไกร มีอานุภาพ แต่ก็ควรจะประมาณตนอยู่ เพราะความรู้สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่จุดหมาย ปลายทาง ของผู้กระทำความเพียรภาวนา นักปราชญ์จะไม่มัวหลงงมงายอยู่กับความรู้ภายนอก อันเป็นโลกียอภิญญา จุดมุ่งหมายปลายทาง ของปวงปราชญ์ ราชบัณฑิตนั้น อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลสที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเราให้หมดไป สิ้นไป โดยไม่เหลือแม้แต่เชื้อต่างหาก
         หลวงปู่ได้น้อมรับคำสั่งสอน เตือนสติของครูบาอาจารย์ ด้วยความเคารพ แม้หมู่พวกเพื่อนๆ จะมีความเกรงใจท่านอยู่มาก แต่ท่านก็มีความเสงี่ยม เจียมตัวอยู่ มิได้นึกเห่อเหิมอวดดี แต่ประการใด ระยะแรกๆ ท่านเต็มไปด้วยความระวังตัว ด้วยไม่แน่ใจว่าบางครั้งภาพที่ปรากฏให้ท่านเห็นนั้น จะมีผู้อื่นเห็นเหมือนกับท่านหรือไม่ หากเขาปรากฏให้ท่านเห็นเพียงผู้เดียว การทักทายปราศรัยหรือสนทนา ก็อาจทำให้ถูกมองเหมือนเป็นคนบ้า คนประหลาด พูดคุยคนเดียวก็ได้ ท่านจึงเป็นผู้เงียบสงบ ไม่ค่อยพูดคุยสุงสิงกับใครมากนัก ด้วยได้ใช้ภาษาใจได้อย่างเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ดีต่อมาท่านก็ชำนาญในการนี้มากขึ้น จนรู้ได้ทันทีว่าเป็นนิมิตหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันนั้น ท่านก็คิดหมายมาดว่า ท่านจะต้องเร่งโอกาสความเพียรพยายามต่อไปโดยไม่ประมาท  หลวงปู่บวชแล้วถึง 4 ปี จึงได้มีโอกาสพบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ...!!!
ความจริง พระอาจารย์พา อาจารย์องค์แรกผู้พาท่านออกดำเนินทางธรรม โดยให้เป็นผ้าขาวน้อยเดินรุกขมูลไปกับท่าน จนกระทั่งเป็นธุระให้ท่านบวชเณร... ก็เป็นศิษย์องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเคยเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์พา อาจารย์ของท่านมาก และอดคิดแปลกใจไม่ได้ ที่ท่านพระอาจารย์พาเล่าให้ฟัง ถึงท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุด
           ท่านว่าพระอาจารย์พาเคร่งครัด ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากอยู่แล้ว แต่ท่านพระอาจารย์พา บอกว่าท่านพระอาจารย์มั่นเคร่งครัดในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากที่สุด
ท่านว่าพระอาจารย์พา ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรมมากอยู่แล้ว แต่ท่านพระอาจารย์พากล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่าน ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรม ได้กว้างขวางพิสดารมากที่สุดท่านว่า พระอาจารย์พา อ่านใจคนได้มากอยู่แล้ว แต่ท่านพระอาจารย์พายืนยันว่า ท่านพระอาจารย์มั่น อาจารย์ของท่านอ่านใจคน ดักใจคน รู้จิตคนได้ทุกเวลา ทุกโอกาสมากที่สุด ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ซึ่งในสมัยนี้ยากจะพบ "พระ" ผู้เป็น "พระ" อันประเสริฐ ผู้เป็นนาบุญอันเลิศ ยากจะหานาบุญใดมาเทียบได้
ควรที่ผู้สนใจใฝ่ทางธรรมอย่างเธอนี้ จะไปกราบกรานขอถวายตัวเป็นศิษย์
          ครั้นหลวงปู่ได้ฟังก็อดคิดแปลกใจไม่ได้ว่า ในโลกปัจจุบันนี้ยังจะมีบุคคลผู้ประเสริฐเลิศลอยเช่นนี้อยู่อีกหรือ  แต่เมื่ออาจารย์ของท่านบอกไว้ ท่านก็จดจำไว้ คอยสำเหนียกฟังข่าวท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลาและต่อมาเมื่อปรารภกับใคร กิตติศัพท์กิตติคุณของท่าน พระอาจารย์มั่นก็ดูจะเป็นที่เลื่องระบือมากขึ้น ท่านจึงคอยหาโอกาส จะเข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์ อยู่ตลอดเวลาระหว่างที่มารดามาถวายจังหัน หรือฟังเทศน์ที่วัดก็ดี หรือเมื่อ "พระ" ได้ไปเทศน์โปรดที่บ้านก็ดี หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณโยมมารดา ผู้เป็นบุพการีของท่านเป็นปกติ
พรฺหมาติ มาตาปิตโร  ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา  มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหมเป็นบูรพาจารย์ เป็นผู้ควรบูชาของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์
            หลวงปู่ได้ให้ความอนุเคราะห์ท่านผู้เป็นพรหม เป็นครูอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของท่าน ตามควรแก่สมณเพศวิสัย โดยช่วยเทศน์กล่อมเกลา ให้จิตของโยมมารดา เพิ่มพูนศรัทธาบารมี ในพระพุทธศาสนา แต่แรกโยมมารดาได้มารักษาศีลแปดอยู่ด้วยที่วัดก่อน สุดท้ายครั้นเมื่อศรัทธาปสาทะของท่าน เพิ่มพูนมากขึ้น เห็นทางสว่างทางด้านศาสนา โยมมารดาก็ปลงใจสละเพศฆราวาสโกนผมบวชเป็นชีโยมมารดาของท่านพบความสุขสงบ รู้จักทางภาวนากระทั่งบอกหลวงปู่ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ท่าน "รู้"แล้วให้พระลูกชายธุดงค์เที่ยววิเวกไปได้ตามใจ
ธรรมโอวาท
หลวงปู่มักจะเทศน์เรื่อง ไตรสรณคมน์หรือ ศีล 5 มากกว่าธรรมข้ออื่น ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นหญ้าปากคอก แต่ท่านว่านี่แหละคือ รากฐานของการบำเพ็ญเพียรภาวนา ถ้าไม่มีฐาน ไม่มีศีลรองรับ ก็ยากจะดำเนินความเพียรได้ เพราะ  อาทิ สีลํ ปติฎฺฐา จ  กลฺยาณญฺจ มาตฺกํ  ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ  ตสฺมา สีลํ วิโสธเย ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
 เป็นประมุขของธรรมทั่วไป   เพราะฉะนั้นควรชำระศีลให้บริสุทธิ์   หลวงปู่จะเทศน์ เป็นวลีสั้นๆ ประโยคสั้นๆ แต่ก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ถ้าปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ และพิจารณาได้ พิจารณาจริง พิจารณาถูก พิจารณาตรง พิจารณาชอบ ...แน่นอน มรรคผลนั้นคงอยู่แค่เอื้อมนั่นเอง  เทศน์ที่สั้นที่สุด  วางพิจารณาตน วางตัวเจ้าของ  จิตตะในอิทธิบาท 5  เอาใจใส่ มรณานุสฺสติ ให้พิจารณาความตาย... นั่งก็ตาย  นอนก็ตาย ยืนก็ตาย เดินก็ตาย........................................


ซีดีธรรมะwww.cdthamma.com