ความหลงในสงสาร บทที่ 2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-02-01 16:34:18
สมภารวัดป่ามะม่วงพูดกับพระเถรเจ้าผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกษัตริย์นักรบ ด้วยวาจาที่แสดงถึงความชื่นชมว่า "เกล้ากระผมรู้สึกยินดีเป็นที่สุด ที่ได้มีโอกาสพบกับบุคคลผู้เข้าถึงประโยชน์สูงสุดของชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม เกล้ากระผมอยากทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ ซึ่งคงจะไม่เหมือนกับที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ การที่เกล้ากระผมได้พบกับพระองค์ ณ ที่นี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสู จน์อันดีว่า สิ่งที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไม่ถูกต้อง เกล้ากระผมพูดเช่นนี้ไม่ทราบว่าถูกหรือผิดประการใดพระเจ้าข้า" "ประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ความจริงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่มีประวัติศาสตร์ชาติไหนที่จะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงทุกอย่าง ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีผิดเพี้ยนไปจากความจริงมาก ไม่มีผู้ใดรู้เรื่องนี้นอกจากเรากับสหายร่วมสาบาน" ตรัสตอบด้วยพระสุรเสียงกังวานน่าฟัง "พระสหายร่วมสาบาน" ภิกษุวัยห้าสิบเศษพึมพำเบา ๆ ท่านกำลังจะกราบทูลถามว่าคือผู้ใด พระราชาผู้ทรงละความหลงในสงสารได้แล้วก็ตรัสขึ้นว่า "ท่านคงอยากรู้สินะว่า สหายร่วมสาบานของเราคือใคร" "ข้าพระองค์อยากทราบพระเจ้าข้า อยากทราบว่าจะเป็นบุคคลเดียวกับที่ข้าพระองค์คิดไว้หรือไม่" สมภารวัยห้าสิบเศษกราบทูล "เป็นคนเดียวกัน เอาอย่างนี้นะ ท่านพูดธรรมดาก็ได้ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ ชื่อและโคตรเป็นสิ่งสมมุติ ท่านอย่าไปยึดติดกับสิ่งสมมุติเลยนะ" "ข้าพระองค์ต้องการจะรักษาโบราณราชประเพณี พระเจ้าข้า" คือเหตุผลของท่านพระครู "ที่ท่านให้เหตุผลมาก็ดีอยู่หรอกนะ แต่ท่านอย่าลืมว่าขณะนี้เราเป็นใคร ท่านเป็นใคร เราทั้งสองมีความเท่าเทียมกันในทางธรรม มีอาจารย์คนเดียวกัน ตัดความหลงในสงสารได้เหมือนกัน ถ้าท่านคิดว่าเราเป็นกษัตริย์และพูดกับเราด้วยคำราชาศัพท์ เราก็คงต้องพูดราชาศัพท์กับท่านเช่นกัน เพราะในเจ็ดชาติที่ท่านระลึกได้นั้น ท่านก็เคยเป็นราชามหากษัตริย์มิใช่หรือ เราเองก็ระลึกชาติแต่หนหลังได้เจ็ดชาติเท่ากับท่าน ฉะนั้น เราสองคนจึงแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย แล้วทำไมจะมาติดอยู่กับสิ่งสมมุติ"
"ถ้าเช่นนั้นกระผมพูดธรรมดาก็ได้ขอรับ" ท่านพระครูยอมจำนนต่อเหตุผลที่พระเถรเจ้ากล่าวอ้าง "ดีแล้ว ทีนี้อยากรู้อะไรก็ถามมาได้ เรามีโอกาสดีแล้วที่ได้มาสนทนากันต่อหน้าครูบาอาจารย์ และยังมีพระบัวเฮียวผู้ซึ่งจะเป็นผู้เปิดเผยความจริงนี้ให้ชนรุ่นหลังรู้ เราไม่อยากให้มีการเข้าใจราชวงศ์จักรีผิด ๆ ทุกวันนี้มีคนจีนจำนวนมากที่ยังเชื่อว่า เราถูกสำเร็จโทษโดยสหายร่วมสาบานของเราเป็นผู้บงการ" "แสดงว่าที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ท่านถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์นั้น ไม่เป็นความจริงใช่ไหมขอรับ" พระเถระเจ้าตอบว่า "มีการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์จริง เพียงแต่คนที่ถูกสำเร็จโทษไม่ใช่เรา เป็นสหายอีกคนหนึ่งของเราที่เขามีความจงรักภักดีต่อเรา ถึงขนาดยอมสละชีวิตของตัวเองเพื่อรักษาชีวิตเราไว้ บังเอิญว่าเขารูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกับเรามาก ทั้งที่มิได้เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน" "เหตุใดท่านจึงถูกสำเร็จโทษ ที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าท่านสัญญาวิปลาสก็ต้องไม่จริง เพราะถ้าจริงท่านจะตัดความหลงในสงสารไม่ได้ การปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุจุดหมายสูงสุดจะต้องกระทำอย่างมีสติสัมปชัญญะ ผู้ขาดสติมิอาจบรรลุถึงจุดหมายได้เลย" พระเถรเจ้าอธิบายด้วยเสียงเรียบๆ ว่า
"คนที่เคยทำอะไรอย่างหนึ่งเป็นปกตินิสัย แล้วจู่ ๆ ก็เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ตรงข้าม คนเขาก็ต้องคิดว่าคนคนนั้นผิดปกติใช่ไหม เหมื่อนอย่างเรา เราเคยถือดาบออกรบป้องกันบ้านเมือง กู้อิสรภาพให้กับชาติไทย ใคร ๆ ก็เห็นเราเป็นนักรบผู้เก่งกาจสามารถ เป็นวีรบุรุษ แล้วอยู่ ๆ เราก็วางดาบ ไม่จับดาบอีกเลย เอาแต่เจริญวิปัสสนาถ่ายเดียว คนเขาก็เลยว่าเราบ้า" "เหตุใดท่านจึงเปลี่ยนไปทำในสิ่งตรงข้ามเล่าขอรับ" "เพราะอาจารย์ที่เคารพของพวกเราน่ะสิ อาจารย์ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าเราทั้งสาม" พระเถรเจ้าประนมมือไหว้หลวงพ่อในป่าแล้วจึงเล่าว่า "วันหนึ่งเราตั้งค่ายอยู่ในป่า ตกดึกมีพระรูปหนึ่งเข้ามาถึงตัวเรา เราก็ถามท่านว่าเข้ามาได้อย่างไร เพราะนั่นย่อมหมายถึงความปลอดภัยของเรา เกิดผู้ที่เข้ามาเป็นข้าศึก เราก็อาจจะถูกฆ่าตาย พระรูปนั้นตอบว่าเดินเข้ามา เราก็ถามอีกว่าทหารยามไม่เห็นท่านหรือ ท่านก็ตอบว่าไม่ทราบ เราก็คิดว่าจะต้องลงโทษทหารผู้ทำหน้าที่เป็นเวรยาม ท่านก็พูดขึ้นมาว่าไม่ต้องคิดแต่จะเพ่งโทษคนอื่น ขอให้สำรวจตัวเอง เพ่งโทษตัวเองดีกว่า เราก็รู้สึกแปลก ๆ ว่าทำไมท่านจึงพูดอย่างนี้ อยากจะโกรธแต่ก็ไม่กล้าแล้วท่านก็พูดให้เราสะเทือนใจว่า 'มหาบพิตรฆ่าคนมามาก มีมือเปื้อนเลือด บาปมาก ตายไปจะต้องตกนรก' หากเป็นคนธรรมดาพูดเช่นนี้ เราคงสั่งตัดหัวไปแล้ว แต่นี่เป็นพระพูด เราไม่กล้าแม้แต่จะคิด เราก็เรียนท่านว่าเราเป็นกษัตริย์ มีหน้าที่ทำสงครามปกป้องแผ่นดิน ท่านก็พูดว่า 'บัดนี้มหาบพิตรควรยกให้ผู้อื่น มีคนที่เขาสามารถทำหน้าที่แทนมหาบพิตรได้ จงอย่าจับดาบอีกเลย อาตมาขอบิณฑบาตดาบจากมหาบพิตร' เราก็ถามท่านว่าเราจะทำอย่างนั้นเพื่ออะไร ท่านก็ตอบว่า 'เพื่อตัดความหลงในสงสาร หากมหาบพิตรครองราชสมบัติต่อไป ก็จะไม่สามารถตัดความหลงในสงสารได้ สงสารก็คือวัฏสงสาร หมายถึงการเวียนว่ายตายเกิดด้วยอำนาจกิเลส กรรม และวิบาก หากมหาบพิตรไม่ตัดความหลงในสงสาร ก็ต้องเวียนว่ายวกวนอยู่อย่างนี้ไม่มีจบสิ้น อาตมารู้ว่ามหาบพิตรสามารถตัดความหลงในสงสารได้จึงมาหา'
"เราได้ให้กรรมฐานแก่พระยาตาก เมื่อรับกรรมฐานจากเราแล้ว เขาก็เปลี่ยนเป็นคนละคน ไม่ยอมจับดาบอีก ไม่ยอมออกสงคราม เอาแต่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน คนที่ไม่เข้าใจก็เลยพากันคิดว่า เขาบ้า" หลวงพ่อในป่าพูดถึงศิษย์คนแรกที่ท่านให้กรรมฐานพระเถรเจ้าช่วยเสริมว่า "เมื่อเราเป็นลูกศิษย์ของท่านแล้ว เราก็ขอให้ท่านพูดกับเราแบบอาจารย์กับศิษย์ ไม่ใช่แบบพระมหากษัตริย์กับสามัญชน" "เพราะอะไรประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีจึงถูกบันทึกให้ผิดไปจากความจริงมากอย่างนั้นขอรับ" ท่านพระครูถาม "เพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติน่ะสิ รู้ไหมว่าเราเป็นกษัตริย์ที่อาภัพที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตอนเราขึ้นครองราชย์เงินในท้องพระคลังไม่มีเลย เราต้องเป็นหนี้ชาวจีนถึงหกหมื่นตำลึงซึ่งถ้าคิดเป็นเงินสมัยนี้ก็เท่ากับสองแสนสี่หมื่นบาท สมัยก่อนเงินหกหมื่นตำลึงมีค่ามาก ถ้าเขาจะให้เราผ่อนใช้ เราก็พอจะหามาผ่อนได้ แต่นี่เขาคิดจะยึดประเทศเราไปเป็นของเขา เขาจึงเร่งรัดจะเอาเงินจำนวนนี้ให้ได้ เรากับสหายร่วมสาบานก็เลยต้องช่วยกันคิด ว่าจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร แล้วเราก็คิดออกว่า การผลัดแผ่นดินเป็นการล้างหนี้ที่ดีที่สุด ท่านอย่าคิดว่าเราตั้งใจโกงเขานะ เราไม่คิดจะโกง แต่ในเมื่อเขาคิดไม่ดีกับเรา เราจึงต้องใช้เล่ห์กลกับเขา อีกประการหนึ่ง ตั้งแต่เรารับกรรมฐานจากหลวงพ่อในป่า เราก็ไม่มีแก่ใจที่จะครองราชย์ต่อไปอีกแล้ว เราอยากตัดความหลงในสงสารให้เด็ดขาด เราสมเพชตัวเองที่เป็นกษัตริย์ยากจนเข็ญใจ เป็นกษัตริย์พระองค์เดียวที่ไม่มีเบญจราชกกุธภัณฑ์" "เบญจราชกกุธภัณฑ์คืออะไรขอรับ" พระบัวเฮียวเพิ่งจะได้โอกาสถาม ท่านพระครูตอบแทนว่าพระเถระว่า "คือเครื่องหมายความเป็นพระราชา มี ๕ อย่าง ได้แก่ พระขรรค์ ธารพระกร อุณหิส ฉลองพระบาท และวาลวิชนี" "ที่หลวงพ่อกล่าวมา ผมไม่รู้จักเลยสักอย่างเดียว ถ้าจะรู้จักอย่างเดียวก็เห็นจะเป็นพระขรรค์ นอกนั้นไม่รู้จัก" พระบัวเฮียวพูดซื่อ ๆ แม้จะตัดความหลงในสงสารได้แล้ว ท่านก็ยังพูดเชย ๆ อันเป็นวาสนาคือความเคยชินของท่าน หลวงพ่อในป่าพูดว่า "ที่เธอไม่รู้จักเพราะเธอไม่เคยเกิดเป็นพระราชา ไม่เหมือนลูกศิษย์สองคนของเราที่เขารู้จัก เพราะในอดีตชาติเคยมีสิ่งเหล่านี้" "ครับหลวงพ่อ ผมมันคนไม่มีบุญวาสนา เกิดมาอาภัพอับโชค" พระบัวเฮียวทำทีเป็นน้อยใจ "ถ้าอาภัพอับโชคจริง เธอก็จะมานั่งตรงนี้ไม่ได้หรอก คนที่เข้าถึงจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นคนโชคดีที่สุด" "ครับ โชคดีที่สุดก็ดีที่สุด กระผมอยากฟังท่านเล่าเรื่องเมืองธนบุรีต่อขอรับ" พระบัวเฮียวพูดกับพระเถรเจ้าผู้ซึ่งเคยเป็นกษัตริย์พระองค์เดียวของกรุงธนบุรี "เพราะไม่มีเบญจกกุธภัณฑ์นี่เอง พระยามหานุภาพจึงเขียนสดุดีเราไว้ในนิราศกวางตุ้งว่า
ชะรอยอรรถบุรุษอุดมวงศ์ ในสิบองค์โพธิสัตว์ดุสิตสวรรค์ ได้รัฐยาเพททายทำนายพรรณ ในอนันต์สำนักชิเณรนาน จึงดลใจให้พระองค์ทรงนั่ง บัลลังก์รัฐรสพระธรรมกัมมัฏฐาน ให้ทรงเครื่องนพรัตน์ชัชวาล พระชมฌานแทนเบญจกกุธภัณฑ์ เอาพระไตรลักษณ์ทรงเป็นมงกุฎ พระงามสุดยอดฟ้าสุทธาสวรรค์ เอาพระศีลสุจริตในกิจกรรม์ เป็นสุวรรณเนาวรัตน์สังวาลย์ เอาพระมุติธรรม์เป็นคันฉัตร เอาพระสัจจะเป็นระใบไพศาล ล้วนเครื่องศีลวัตรอันชัชวาล พระอุเบกขาญาณเป็นธารกร" ฯลฯ แต่กระผมชอบจารึกในศาลพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณราชวราราม ที่แสดงให้เห็นปณิธานอันแน่วแน่ขอท่านที่มีต่อพระพุทธศาสนา บัวเฮียว เธออยากรู้ไหมว่า จารึกมีว่าอย่างไร" ท่านพระครูถามพระบัวเฮียว "อยากครับหลวงพ่อ ผมไม่เคยไปวัดอรุณฯ จึงไม่เคยเห็นจารึกนั้น แต่ผมก็อยากรู้ว่า ปณิธานอันแน่วแน่เป็นอย่างไร หลวงพ่อพอจะจำได้หรือเปล่าครับ หากจำได้กรุณาถ่ายทอดให้ผมฟังด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง" พระบัวเฮียวพยายามใช้สำนวนที่ท่านคิดว่าเก๋ที่สุด "ได้สิ ฉันจำได้ขึ้นใจเลยทีเดียว รู้สึกซาบซึ้งจนน้ำตาไหลตอนที่อ่านครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว" "แต่ผมคงน้ำตาไหลไม่ได้นะครับ หากเมื่อก่อนคงได้แต่พอตัดความหลงในสงสารได้ ก็น้ำตาไหลไม่ได้อีกครับ แต่เกิดธรรมสังเวชได้" "รู้สึกว่าเธอจะเก่งขึ้นมากนะ พูดจาน่าฟังแล้วก็ถูกต้องตามหลักการของพระพุทธศาสนาทุกอย่าง สมกับที่เป็นผู้ตัดความหลงในสงสารเสียได้" ท่านพระครูชมศิษย์ที่กลับกลายมาเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน
"ครับ ผมดีใจที่ทำเช่นนั้นได้ ชาติภพจบสิ้นลงแล้วสำหรับผม ไม่เช่นนั้นผมจะต้องไปตกนรกหมกไหม้อีกนานแสนนาน เพื่อใช้กรรมที่ฆ่าวัวฆ่าควาย พ้นจากนรกแล้วก็ยังต้องเสวยผลของเศษกรรม ด้วยการไปเกิดเป็นวัวเป็นควายให้เขาฆ่า หากไม่ได้หลวงพ่อกับหลวงพ่อใหญ่ช่วยไว้ ผมคงไม่มีโอกาสได้มานั่ง ณ ที่นี้" พระหนุ่มพูดอย่างซาบซึ้งในความกรุณาของพระเถระทั้งสอง ท่านเรียกหลวงพ่อดำว่า "หลวงพ่อใหญ่" "พร้อมที่จะฟังหรือยัง" ท่านพระครูถามเมื่อเห็นว่าศิษย์สาธยายยืดยาวเกินความจำเป็น "พร้อมแล้วครับ ผมจะกำหนดจิตฟัง หลวงพ่อคอยดูนะครับ ผมจะจำให้ได้ทุกถ้อยคำเลยทีเดียว" "ฉันเชื่อว่าเธอทำได้ เอาละ จารึกในศาลพระเจ้าตากสินมหาราช วัดอรุณราชวราราม มีดังนี้
อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่พระศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณพราหมณ์ชี ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสดา
พุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน"
เมื่อท่านพระครูพูดจบจึงบอกให้พระบัวเฮียวพูดบ้างผลปรากฏว่าพระบัวเฮียวสามารถจำได้ทุกถ้อยคำ ท่านจึงพูดกับศิษย์ว่า "บัวเฮียว เธอพอจะรู้ไหมว่าเหตุใดความจำของเธอถึงดีขึ้นเพียงฉันพูดครั้งเดียวเธอก็จำได้หมด เมื่อก่อนเธอไม่ได้เป็นอย่างนี้" ท่านหลีกเลี่ยงประโยคที่ว่า "เมื่อก่อนเธอไม่ฉลาดอย่างนี้" "เหตุที่ความจำของผมดี ก็เพราะปัญญาของผมได้รับการพัฒนาครับ กรรมฐานทำให้คนเกิดปัญญา ผมยังจำได้ที่หลวงพ่อสอนว่า การปฏิบัติกรรมฐานต้องให้ได้รับอานิสงส์สามอย่าง คือ ระลึกชาติได้ เห็นกฎแห่งกรรม และเกิดปัญญาแก้ปัญหาได้ ผมได้อานิสงส์ครบทั้งสามข้อแล้ว ความจำของผมจึงดี เมื่อก่อนความจำไม่ดีเพราะยังไม่ได้รู้จักหลวงพ่อและหลวงพ่อใหญ่ ผมต้องขอกราบขอบพระคุณทั้งหลวงพ่อและหลวงพ่อใหญ่เป็นอย่างสูง" ท่านคุกเข่ากราบหลวงพ่อในป่าและท่านพระครูสามครั้ง ท่านพระครูพูดกับพระเถรเจ้าผู้เคยกอบกู้ชาติประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อพม่าว่า "กระผมอยากทราบความจริงอีกอย่างหนึ่งขอรับ ไม่ทราบว่าจะเป็นการละลาบละล้วงเกินไปหรือไม่ อยากทราบจริง ๆ ขอรับ" "ท่านอยากทราบเรื่องอะไรล่ะ บอกมาเถอะ เราไม่มีอะไรที่จะต้องปิดบังอีกต่อไป" พระเถรเจ้าพูดด้วยเมตตา "คืออย่างนี้ขอรับ เมื่อปี ๒๕๑๕ กระผมได้มีโอกาสไปร่วมประชุมพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่ประเทศศรีลังกา กระผมได้พบกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ท่านมาในกายทิพย์พอกระผมทราบว่าท่านเป็นใคร จึงกราบเรียนถามถึงชาติกำเนิดของท่าน เพราะกระผมสงสัยว่าที่วัดวัดหนึ่งมีรูปหล่อโยมพ่อโยมแม่ของท่าน ไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง" "แล้วสมเด็จท่านว่าอย่างไร" "ท่านบอกว่าท่านเป็นลูกแม่ทัพ คือกระผมเรียนถามท่านว่า ท่านเป็นลูกกษัตริย์ใช่หรือไม่ ท่านตอบว่าใช่ ท่านเป็นลูกแม่ทัพ กระผมก็สรุปเอาเองว่า แม่ทัพที่สมเด็จพูดถึงก็คือสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แม่ทัพใหญ่สมัยกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง และต่อมาคือรัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี" "เราเป็นคนขอร้องให้สหายร่วมสาบานของเราทำพิธีปราบดาภิเษก..." "พิธีปราบดาภิเษกเป็นอย่างไรขอรับ" ผู้ถามคือพระบัวเฮียวพระเถรเจ้าตอบว่า "เป็นพระราชพิธีอภิเษกของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้ราชสมบัติมาด้วยการรบชนะข้าศึก มิใช่ได้มาจาการสืบราชสันตติวงศ์" พระเถรเจ้าเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่า "เราให้สหายร่วมสาบานของเราไปตรวจตราบริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก วันหนึ่งเขาผ่านกระท่อมหลังหนึ่ง รู้สึกกระหายน้ำ จึงเข้าไปขอน้ำดื่มนางสาวงุดนำน้ำโรยเกสรดอกบัวมาเต็มขัน ทำให้ดื่มยาก จึงถามว่าทำไมต้องแกล้งกันด้วย นางสาวงุดตอบว่า 'ท่านกำลังกระหายหากผลีผล่ามดื่มเข้าไปจะทำให้จุก การลอยเกสรบัวลงไปจะทำให้ท่านค่อย ๆ ดื่มจนอิ่ม และไม่เกิดอาการจุก' เมื่อสหายร่วมสาบานของเราได้ฟัง ก็พอใจในความฉลาดรอบคอบของนาง จึงถอดแหวนให้และขอแต่งงาน หลังจากนั้นเขาก็กลับกรุงธนบุรีและไม่ทราบว่านางงุดตั้งครรภ์ ลูกของนางงุดก็คือสมเด็จพระพุฒาจารย์ที่ท่านพูดถึงนี่แหละ" ท่านพระครูจึงพูดออกตัวว่า "ที่กระผมเกริ่นนำเรื่องสมเด็จ เพราะกระผมอยากทราบประวัติความเป็นมาของท่าน ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าท่านเป็นลูกคนจีน บิดาชื่อนายไหฮอง มารดาชื่อนางนกเอี้ยง กระผมสงสัยว่าจะไม่ตรงกับความจริงขอรับ"
ความหลงในสงสาร
ประพันธ์โดย สุทัสสา อ่อนค้อม