ความหลงในสงสาร บทที่ 1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2010-02-01 15:58:55
เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงรู้ว่าพระอรหันต์ทั้งสามองค์จะมาด้วยกายทิพย์ ท่านจำเป็นต้องเสวนากับ อาคันตุกะด้วยกากายเนื้อเพราะต้องการจดบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานในการค้นคว้าวิจัยของอนุชนรุ่นหลัง ทุกเรื่อง ทุกเหตุการณ์ที่ท่านประสบ ถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดลออ คนที่เจริญกรรมฐานอย่างจริงจังเท่านั้นจึงจะเข้าใจและเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เพราะเขาสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวของเขาเอง ส่วนคนที่ไม่เคยเจริญกรรมฐาน ไม่เคยฝึกจิตจะไม่เชื่อเลยว่ามนุษย์สามารถล่วงรู้และรับรู้สิ่งที่อยู่เหนือผัสสะได้ นับตั้งแต่ปี ๒๔๙๕ อันเป็นปีแรกที่ท่านเริ่มสอนกรรมฐานมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และท่านก็ได้บันทึกไว้ เช่น เรื่องของโยมอ่อนที่เจริญกรรมฐานจนสามารถระลึกได้ว่า เคยรับจ้างฆ่าชายผู้คนหนึ่งด้วยการจ่อยิงที่ศีรษะ ชายผู้นั้นมาเกิด ที่อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านได้แนะนำให้แกไปขอขมาและขออโหสิกรรมจากชายผู้นั้น และร่วมเดินทางไปด้วย กระทั่งได้พิสูจน์แล้วว่ากรรมฐานมีประโยชน์ต่อชีวิตเหลือที่จะคณนา หากโยมอ่อนไม่ได้เจริญกรรมฐาน แกจะต้องไปตกนรกเพราะกระทำปาณาติบาต
ท่านยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดี แม้จะผ่านมานานถึงสามสิบสามปี และโยมอ่อนก็ตายไปได้สิบปีแล้ว เมื่อโยมอ่อนเล่าเรื่องราวให้ชายผู้นั้นฟัง แล้วกล่าวคำขออโหสิกรรม ชายผู้นั้นหัวเราะชอบใจ พร้อมกับพูดว่า "ไม่เป็นไร ถ้าลุงฆ่าผมเมื่อชาติที่แล้ว ผมไม่เอาเรื่อง แต่ชาตินี้อย่าฆ่าผมอีกก็แล้วกัน" เป็นอันว่าโยมอ่อนสามารถชดใช้กรรมได้ด้วยกรรมฐาน และใช้ในชาตินี้ไม่เช่นนั้นจะต้องใช้ในชาติหน้า คือตายไปจะต้องตกนรก สถานที่ที่จะพบกับพระอรหันต์ทั้งสามองค์ ไม่มีที่ใดดีเท่ากับในโบสถ์ ท่านเตรียมสมุดดินสอไว้พร้อม จะกราบทูลถามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในหลาย ๆ เรื่อง ที่ท่านอยากถามมานาน แม้ท่านจะเกิดปัญญารอบรู้ในกองการสังขารทั้งหลาย แต่ก็มิได้หมายความว่าท่านสามารถรู้ทุกเรื่องที่อยากรู้ มีแต่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงรู้ทุกเรื่องหากทรงประสงค์ กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดว่า มิได้ทรงเป็นสัพพัญญูทุกอิริยาบถ เรื่องนี้มีหลักฐานอยู่ในจูฬวัจฉโคตตสูตรปริพาชกได้มาสนทนากับพระพุทธเจ้าที่อารามเอกปุณฑริก และได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า เขาได้ข่าวมาว่าพระสมณโคดมเป็นสัพพัญญูทุกอิริยาบถ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า
ดูก่อนวัจฉะ ชนที่กล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมเป็นสัพพัญญู มีปกติเห็นธรรมทั้งปวง ทรงปฏิญญาญาณทัสสนะ ไม่มีส่วนเหลือว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี หยุดอยู่ก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดีญาณทัสสนะปรากฏแล้วเสมอติดต่อกันไป ดังนี้ ไม่เป็นอันกล่าวตามคำที่เรากล่าวแล้ว และชื่อว่ากล่าวตู่เราด้วยคำที่ไม่มี ไม่เป็นจริง ด้วยเหตุนี้ พระครูเจริญวัดป่ามะม่วงจึงเตรียมที่จะกราบทูลถามพระมหาบพิตรสมภารเจ้า ว่าเหตุใดจึงทรงสละเพศฆราวาสมาถือเพศบรรพชิต และที่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงมีพระสัญญาวิปลาสนั้น เป็นกุศโลบายหรือเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกันแน่ ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีดูมีเงื่อนงำที่ซ่อนเร้น ท่านจะได้รู้ความจริงในอีกไม่กี่นาทีนี้ เวลาสองยามตรง สมภารวัยห้าสิบเศษเดินจากกุฏิไปยังโบสถ์แต่เพียงลำพัง ไม่มีผู้ใดล่วงรู้เรื่องนี้นอกจากพระมหาบุญ กระนั้นท่านก็ไม่อนุญาตให้พระมหาบุญไปด้วย เนื่องจากพระรูปนี้ยังปฏิบัติได้ไม่ถึงขั้นที่จะพบกับหลวงพ่อในป่า และที่สำคัญกว่านั้นก็คือไม่ได้เป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันมาก่อน ตอนที่ท่านพระครูเปิดประตูออกไปทางหลังกุฏิ พระมหาบุญยังไม่จำวัด ปกติช่วงเวลานี้ท่านหลับไปนานแล้ว แต่ความอยากรู้จัก อยากเห็น ว่าหลวงพ่อในป่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ทำให้ท่านนอนไม่หลับท่านมองตามท่านพระครู คิดอยากจะสะกดรอยตาม หากก็เกรงว่าจะถูกตำหนิ เพราะรู้ว่าท่านพระครูต้องรู้
ภายใต้แสงไฟเรือง ๆ ท่านเห็นสมภารไปยืนอยู่ตรงทางประตูเข้าโบสถ์ ประเดี๋ยวหนึ่งก็มีแสงสว่างไสวไปทั่วบริเวณวัดบัดดลนั้น พระภิกษุสามองค์ก็เดินเรียงกันมาที่ประตูโบสถ์ อาการที่เดินผิดแผกไปจากคนธรรมดา คือลักษณะเคลื่อนไหลไปข้างหน้ามากกว่าก้าวขาเดิน ท่านไม่รู้ว่าพระภิกษุองค์แรกกับองค์กลาง องค์ไหนเป็นหลวงพ่อในป่า และองค์ไหนเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนองค์หลังสุดท่านจำได้แม่นยำว่าคือพระบัวเฮียว ผู้เคยเป็นศิษย์ของท่าน พระบัวเฮียวดูมีสง่าราศีขึ้นกว่าแต่ก่อน และคงจะได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงไปอยู่กับหลวงพ่อในป่าได้ นอกเหนือจากพระภิกษุสามองค์แล้ว ท่านก็เห็นและทราบสาเหตุที่มาของแสงสว่างไสวว่า เป็นรัศมีของทวยเทพนั่นเองบรรดาเทพบุตรเทพธิดาต่างมารายล้อม แต่งองค์ทางเครื่องงดงามเหมือนพระเอกนางเอกในลิเก ภิกษุวัยสี่สิบห้าเริ่มไม่แน่ใจในสิ่งที่ท่านเห็น ว่าเป็นภาพจริงหรือภาพลวงตากันแน่ จึงหลับตาแล้วกำหนด 'เห็นหนอ เห็นหนอ' อยู่สักครู่ เมื่อลืมตาภาพเหล่านั้นยังคงเป็นเช่นเดิม แสดงว่าสิ่งที่ท่านเห็นเป็นของจริง ท่านรู้สึกเป็นบุญตาที่ได้เห็นเทพบุตรเทพธิดา ซึ่งแม้จะแต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนลิเก หากก็งดงามกว่าหลายเท่า ภาพของนางเทพธิดาทำให้ท่านนึกไปถึงสตรีที่เคยรักและคิดจะลาสิกขาไปแต่งงานกับหล่อน มาบัดนี้ท่านรู้สึกดีใจที่มิได้ทำเช่นนั้น เพราะเมื่อเทียบความงามของหล่อนกับนางเทพธิดาเหล่านี้แล้ว หล่อนช่างหาความงามมิได้เลย เหตุนี้กระมังที่พระนันทะพุทธอนุชาเปรียบเทียบนางชนบทกัลยาณีว่าเหมือนนางลิงลุ่นที่ท่านเห็นระหว่าง ทาง เรื่องมีอยู่ว่า
ในพรรษาที่สองแห่งการตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จนครกบิลพัสดุ์ พร้อมด้วยพระอรหันตขีณาสพสองหมื่นเป็นบริวาร เพื่อโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ในวันที่ ๓ ได้เสด็จไปบิณฑบาตยังพระราชนิเวศน์ของเจ้าชายนันทะ โอรสของพระนางปชาบดีโคตมี และเป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระองค์ ขณะนั้นเจ้าชายนันทะกำลังอยู่ในพิธีวิวาหมงคลกับนางชนบทกัลยาณี เมื่อทรงรับบิณฑบาตแล้ว ได้ประทานบาตรแก่เจ้าชายนันทะทรงถือ เจ้าชายนันทะจึงต้องถือบาตรตามเสด็จ พวกหญิงบริวารของนางชนบทกัลยาณีได้ไปบอกนางว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพาเจ้าชายนันทะเสด็จไปแล้ว คงจะพรากเจ้าชายนันทะไปจากนางเป็นแน่ นางชนบทกัลยาณีเมื่อได้ฟังก็วิ่งร้องไห้ตามไป ขอให้เจ้าชายนันทะกลับ แม้กระนั้นพระพุทธองค์ก็ไม่ทรงรับบาตรคืน ทำให้พระอนุชารู้สึกกระอักกระอ่วนพระทัย อยากกลับก็อยาก หากก็มิกล้า จึงตามพระพุทธองค์ไปจนถึงนิโครธารามอันเป็นที่ประทับรับสั่งถามพระอนุชาว่า "นันทะ เธออยากบวชไหม" เจ้าชายนันทะไม่อยากบวช แต่ด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้า จึงจำต้องทูลรับว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักบวชพระเจ้าข้า" พระบรมศาสดาจึงมีรับสั่งให้ภิกษุบริวารบวชให้เจ้าชายนันทะ
พระบรมศาสดาประทับในนครกบิลพัสดุ์เป็นเวลา ๗ วัน จึงเสด็จกลับไปประทับยังพระเวฬุวัน นครราชคฤห์ อยู่มาวันหนึ่ง สุทัตตะ เศรษฐีแห่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล ได้มานครราชคฤห์ด้วยกิจธุระบางอย่าง ได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์ ยังผลให้ได้ธรรมจักษุ คือได้ดวงตาเห็นธรรม จึงกราบทูลเชิญพระพุทธองค์ให้ไปเผยแผ่พระศาสนายังนครสาวัตถี และได้กลับไปสร้างพระเชตวันไว้สำหรับเป็นที่ประทับ สุทัตตะผู้นี้ก็คืออนาถบิณฑิกเศรษฐีในเวลาต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จไปประทับยังนครสาวัตถีตามคำกราบทูลเชิญของอนาถบิณฑิกเศรษฐี พระนันทะได้ตามเสด็จด้วย ท่านไม่เป็นอันได้ปฏิบัติธรรม เพราะจิตกระสันคิดถึงแต่นางชนบทกัลยาณี จึงบอกแก่เพื่อนภิกษุทั้งหลายว่า ท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถที่จะสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ จักขอลาสิกขา เมื่อความทรงทราบถึงพระพุทธองค์ จึงมีรับสั่งให้พระนันทะเข้าเฝ้า ตรัสถามความจริงจากพระอนุชา ครั้นพระนันทะกราบทูลว่าอยากลาสิกขาจริง พระองค์ตรัสถามถึงสาเหตุพระนันทะก็กราบทูลตามตรง ๆ ว่า ท่านระลึกนึกถึงถ้อยคำของนางชนบทกัลยาณีที่ทูลอ้อนวอนขอให้ท่านกลับ จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถสืบต่อพรหมจรรย์ไปได้ดังที่ท่านบอกกับภิกษุทั้งหลาย แล้วจึงทูลขอพุทธานุญาตลาสิกขา
พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อพระนันทะ มีพระประสงค์จะให้พระอนุชาต่างพระมารดาได้เข้าถึงอมตธรรม อันจะเป็นเหตุให้ตัดความหลงในสงสารลงเสียได้ จึงทรงใช้กุศโลบายอันแยบยลที่ชนทั้งหลายเข้าใจได้ยาก ทรงจับพระพาหาของพระอนุชาแล้วพาไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกำลังพระฤทธิ์ ในระหว่างทางทรงแสดงนางลิงลุ่นตัวหนึ่งซึ่งมีหู จมูก และหางขาด นั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้ที่ถูกไฟไหม้จนดำเป็นตอตะโก เมื่อถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทรงแสดงนางฟ้า ๕๐๐ ผู้มาส่งที่บำรุงของท้าวสักกเทวราช ตรัสถามพระอนุชาว่า นางชนบทกัลยาณีกับนางฟ้า ๕๐๐ ใครงามกว่ากัน พระนันทะกราบทูลว่า ถ้าเปรียบเทียบกับนางฟ้าเหล่านั้น นางชนบทกัลยาณีก็เหมือนกับนางลิงลุ่นมีหู จมูก และหางขาดตัวนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า จะให้พระนันทะได้นางฟ้าทั้ง ๕๐๐ นั้น หากพระนันทะยินดีในพรหมจรรย์ พระนันทะกราบทูลว่า ท่านจักยินดีในพรหมจรรย์ แล้วพระพุทธองค์จึงทรงพาพุทธอนุชากลับมายังพระเชตวันดังเดิม เมื่อเพื่อนภิกษุรู้ว่าพระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพื่อนางฟ้า จึงพากันล้อเลียนท่าน พระนันทะรู้สึกละอาย จึงปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมอยู่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร กระทั่งสามารถทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม เป็นที่ต้องการแห่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนโดยชอบ สำเร็จอยู่แล้วในทิฏฐธรรม รู้ชัดว่า "ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ต้องทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จักทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี" พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาทรงทราบด้วยพระญาณว่า พระอนุชาทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยความรู้ยิ่งเอง สำเร็จแล้วอยู่ในทิฏฐธรรม
เมื่อราตรีล่วงไป พระนันทะได้เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า ท่านไม่ยินดีในนางฟ้า ๕๐๐ ที่พระองค์ทรงรับรองว่าจะประทานแก่ท่าน พระพุทธองค์ตรัสแก่พระนันทะว่า "นันทะ เมื่อใดจิตของเธอพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะมีความไม่ยึดมั่น เมื่อนั้นเราก็พ้นจากการรับรองนั่น" แล้วทรงเปล่งพระอุท่านว่า "เปือกตมคือกามอันผู้ใดข้ามแล้ว หนาม คือกามอันผู้ใดย่ำยีแล้ว ผู้นั้นบรรลุความสิ้นไปแห่งโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในเพราะสุขและทุกข์" อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายพากันถามพระนันทะว่า "นันทะผู้มีอายุ เมื่อก่อนท่านกล่าวว่า 'ข้าพเจ้าเป็นผู้กระสันแล้ว' บัดนี้จิตของท่านเป็นอย่างไร" พระนันทะตอบว่า "ผู้มีอายุ ความห่วงใยในความเป็นคฤหัสถ์ของเราไม่มี" พวกภิกษุฟังดังนั้นแล้ว พากันพูดว่าพระนันทะพูดไม่จริงด้วยการอวดอ้างว่าท่านบรรลุอรหัตตผล จึงพากันไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ในวันที่แล้ว ๆ มา อัตภาพของนันทะได้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงไม่ดี แต่บัดนี้เป็นเช่นกับเรือนที่เขามุงดีแล้ว เพราะว่านันทะนี้จำเดิมแต่กาลที่ได้เห็นนางฟ้าแล้วพยายามเพื่อบรรลุที่สุดแห่งกิจของบรรพชิตอยู่ ได้บรรลุกิจนั้นแล้ว" จากนั้นได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า "ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดีฉันใด ราคะย่อมเสียดแทงจิตที่ไม่อบรมแล้วได้ฉันนั้น ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ฉันใด ราคะก็ย่อมเสียดแทงจิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ฉันนั้น" (พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค ๑ หน้า ๑๖๓)
ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น เทศนาได้สำเร็จประโยชน์แก่มหาชนแล้ว วันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า "ผู้มีอายุชื่อว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอัจฉริยบุคคล ท่านพระนันทะชื่อว่าเป็นผู้กระสันเพราะนางชนบทกัลยาณีเป็นต้นเหตุ พระศาสดาทรงทำเหล่านางฟ้าให้เป็นอามีส ทรงแนะนำให้ท่านพระนันทะพ้นจากบ่วงกามได้แล้ว" พระศาสดาเสด็จมา ตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลายบัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยกถาอะไรหนอ" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยกถาชื่อนี้พระเจ้าข้า" ดังนี้แล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน นันทะนี้เราก็ได้ล่อด้วยสตรี ได้แนะนำแล้วเหมือนกัน" ภิกษุเหล่านั้นได้ทูลอ้อนวอนให้ทรงเล่าเรื่องของนันทะในครั้งอดีต พระบรมศาสดาจึงตรัสเล่าบุพกรรมในปางก่อนของพระนันทะ ดังนี้
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี มีพ่อค้าชาวเมืองพาราณสีคนหนึ่งชื่อกัปปกะ ได้นำสินค้าบรรทุกบนหลังฬาเพศผู้ตัวหนึ่ง ฬาตัวนี้เดินได้วันละ ๗ โยชน์ (๑๑๒ กิโลเมตร) ครั้งหนึ่งเขาไปเมืองตักสิลา ขณะที่ขายสินค้าอยู่ ได้ปล่อยฬาเที่ยวไปจนกว่าจะขายสินค้าหมด ฬาหนุ่มได้เดินเที่ยวไปและได้พบนางฬาตัวหนึ่ง จึงเดินเข้าไปหาและได้พูดจาเกี้ยวกันและกัน นางฬาสาวถามฬาหนุ่มว่า เมื่อเดินทางมานี้ มีนางฬาตัวไหนช่วยทำการนวดเท้าหรือประคบประหงมให้บ้างหรือไม่ฬาหนุ่มตอบว่าไม่มี จริงอยู่ ชื่อว่าผู้ทำกรรมมีการนวดเท้าเป็นต้น ย่อมไม่มีในสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย แต่นางฬาพูดเช่นนั้นเพื่อพาดพิงถึงกามสังโยชน์ ฬาหนุ่มกระสันขึ้นด้วยกรรมของนางแล้ว ฝ่ายพ่อค้ากัปปกะ เมื่อขายสินค้าหมดแล้วได้ไปตามฬาของตน กล่าวว่า "มาเถิดพ่อ เราจักไป" ฬาหนุ่มตอบว่า "ท่านจงไปเถิด ข้าพเจ้าจักไม่ไป" นายกัปปกะอ้อนวอนฬาหนุ่มอยู่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ จึงขู่ว่า "เราจะทำปฏักมีหนามแหลมยาว ๑๖ นิ้วมาทิ่มแทงกายเจ้า" ฬาหนุ่มตอบว่า "เมื่อท่านทำปฏักมีหนามแหลม ๑๖ นิ้วแก่ข้า ข้าก็จะยันข้างหน้า ยกข้าหลังขึ้นให้สัมภาระของท่านตก" นายกัปปกะครุ่นคิดว่าเหตุใดฬาหนุ่มจึงกล้าพูดเช่นนี้กับเขา ครั้นหันไปเห็นนางฬาสาวยืนอยู่ก็เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร จึงใช้อุบายหลอกล่อฬาหนุ่มด้วยการพูดว่า "เราจักนำนางฬาสาว มีเท้าทั้งสี่ มีหน้าดุจสังข์ มีสรรพางค์กายงามมาเป็นภรรยาเจ้า" ฬาหนุ่งจึงพูดว่า "หากเป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักไปให้เร็วขึ้นถึง ๑๔ โยชน์" ด้วยเหตุอุบายนี้ กัปปกะจึงนำฬาหนุ่มกลับไปได้ครั้นล่วงไปอีกสองสามวัน ฬาหนุ่มจึงทวงรางวัลจากนายกัปปกะพ่อค้าหนุ่มตอบว่า เขามิได้ลืมสัญญา จะนำภรรยามาให้ แต่จะให้อาหารแก่ฬาหนุ่มเฉพาะตัวเดียว อาหารนั้นจะเพียงพอแก่นางฬาหรือลูกที่จะเกิดมาจากการสังวาสของสัตว์ทั้งสองหรือไม่เขาไม่สนใจ ฬาหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็หมดหวังที่จะมีภรรยา
พระศาสดาครั้นทรงนำบุพกรรมของพระนันทะมาตรัสเล่าจบลงแล้ว ทรงมีพระดำรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย นางฬาในคราวนั้นได้เป็นนางชนบทกัลยาณี ฬาหนุ่มได้เป็นนันทะ พ่อค้าได้เป็นเราเอง แม้ในกาลก่อน นันทะนี้เราล่อด้วยสตรี ได้แนะนำแล้วด้วยประการฉะนี้" พระมหาบุญมัวคิดถึงเรื่องพระนันทะเถระเพลินอยู่ จึงไม่ทันเห็นว่าพระอรหันต์ทั้งสามองค์ได้เลื่อนไหลเข้าไปในโบสถ์แล้ว พวกเทพบุตรเทพธิดาต่างรายล้อมกันรอบ ๆ โบสถ์ แสงสว่างไสวจึงยังคงอยู่ ภิกษุวัยสี่สิบเศษรู้สึกอิ่มเอิบใจที่ได้เห็นบุคคลผู้หมดกิเลสถึงสามท่านในคราวเดียวกัน แล้วให้นึกตำหนิตัวเองว่า มัวเพลินหลงอยู่ในสงสารจึงต้องแคล้วคลาดจากการได้ลิ้มรสอมตธรรมอุตส่าห์ถือเพศบรรพชิต เล่าเรียนศึกษามามาก หากก็ยังมิได้แม้ดวงตาเห็นธรรม พระบัวเฮียวบวชทีหลัง และเคยก่อกรรมทำเวรกับวัวควายมาก่อน ก็ยังตัดความหลงในสงสารลงเสียได้ แต่เหตุใดตัวท่านจึงยังตัดไม่ได้ น่าอายนัก สมภารวัดป่ามะม่วงเดินตามหลวงพ่อในป่าและสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้าไปในโบสถ์ ส่วนพระบัวเฮียวผู้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านเดินแบบเลื่อนไหลเข้าไปเป็นลำดับสุดท้าย ท่านจัดการปิดประตูโบสถ์ลงดาลอย่างเรียบร้อย แล้วจึงเข้าไปกราบอาจารย์และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยกราบอาจารย์ก่อน พระบัวเฮียวกราบท่าน และแล้วการสนทนาปราศรัยก็เริ่มขึ้น "หลวงพ่อสบายดีหรือครับ" ท่านถามอาจารย์ "ไม่ต้องถามแบบนี้กับเรา เธอก็รู้ไม่ใช่หรือ ผู้ละความหลงในสงสารได้แล้ว สบายหรือไม่สบาย เอาละ อยากจะถามสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ถามท่านได้ ท่านมาให้เธอถามแล้ว" อาจารย์บอกลูกศิษย์
ความหลงในสงสาร
ประพันธ์โดย สุทัสสา อ่อนค้อม