พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พระราหุล ทำใจเหมือน ดิน น้ำ ลม ไฟ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-10-13 12:04:26
ทรงให้พระราหุล ทำใจเหมือนดินน้ำไฟลม
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสสสอนพระราหุล
ถึงการพิจารณาธาตุ ๕ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ โดยแยกออกเป็นส่วน ๆ ตอนท้าย
ได้ตรัสให้พระราหุลทำใจเหมือน ดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศ พอสรุปเป็นใจความได้ดังนี้
“๑. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนแผ่นดินเถิด
เพราะเมื่อเธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินเป็นประจำอยู่เสมอแล้ว
เมื่อกระทบอารมณ์ ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจก็ดี
อารมณ์เหล่านั้นจะไม่สามารถทำให้จิตใจหวั่นไหวได้
ราหุล ! เปรียบเสมือนคนทั้งหลาย ทิ้งสิ่งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
ถ่ายอุจจาระรดบ้าง ถ่ายปัสสาวะรดบ้าง บ้วนน้ำลายรดบ้าง เทสิ่งของสกปรกอื่นลงบ้าง
ลงที่แผ่นดิน แต่แผ่นดินจะอึดอัดระอา หรือรังเกียจด้วยสิ่งของนั้น ๆ ก็หาไม่ ฉันใด ?
ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เสมอแผ่นดินฉันนั้นแล
เพราะเมื่อ่เธอทำจิตให้เหมือนแผ่นดินอยู่
เมื่อมีการกระทบกับอารมณ์เกิดขึ้น
ความรักหรือความชัง ก็จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ฉันนั้น
๒. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนน้ำเถิด
เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนน้ำแล้ว
จะไม่เกิดความชอบหรือความชัง ครอบงำจิตได้
ราหุล ! เปรียบเหมือนคนทั้งหลาย
ล้างของหรือทิ้งของที่สะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้างลงในน้ำ
น้ำจะอึดอัดระอาหรือรังเกียจด้วยของนั้น ๆ ก็หาไม่ ฉันใด ?
ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เสมอด้วยน้ำฉันนั้นแล
เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว
ความชอบและความชัง จะไม่สามารถครอบงำจิตเธอได้ฉันนั้น.
๓. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนไฟเถิด
เพราะไฟนั้น เมื่อมีผู้ทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
ทิ้งอุจจาระ ปัสสาวะบ้างฯ
ไฟจะรู้สึกอึดอัดระอาหรือรังเกียจด้วยสิ่งนั้น ๆ ก็หาไม่ ฉันใด ?
ราหุล ! เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนด้วยไฟอยู่
การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชังก็ย่อมจะไม่ปรุงแต่งให้จิตแปรปรวนได้ ฉันนั้น.
๔. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนลมเถิด
เพราะลมนั้นย่อมพัดไปถูกต้องของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง
พัดถูกอุจจาระ ปัสสาวะบ้างฯ
ลมจะรู้สึกอึดอัดระอาหรือรังเกียจต่อสิ่งเหล่านั้นก็หาไม่ ฉันใด ?
ราหุล ! เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนด้วยลมอยู่
การกระทบกับสิ่งที่ชอบและชังก็ย่อมจะไมปรุงแต่งให้จิตของเธอแปรปรวนได้ฉันนั้น.
๕. ราหุล ! เธอจงทำจิตให้เหมือนอากาศเถิด
เพราะอากาศนั้นไม่ตั้งอยู่ในที่ไหน ฉันใด ?
ราหุล ! เมื่อเธอทำจิตให้เหมือนด้วยอากาศอยู่ตลอดเวลาแล้ว
เมื่อกระทบกับอารมณ์ย่อมจะไม่เกิดความชอบและความชังขึ้นได้ ฉันนั้น”
(มหาราหุโลวาทสูตร ๑๓/๑๒๖)
พระสูตรนี้ เหมาะกับเป็นหลักคิดของท่านใดบ้าง ?
ผู้ที่มีทิฏฐิ มานะ อัตตา และโทสะจริต น่าจะลองนำเอาคำสอน
ในพระสูตรนี้ไปใช้เป็นประจำ
เพื่อลดความโทมนัส น้อยใจหรือขัดเคืองใจ
เมื่อเห็นว่าผู้อื่นล่วงเกินแล้ว ทำให้เกิดความไม่สบายใจ หงุดหงิดหรือรำคาญใจ
แม้ทำไม่ได้เด็ดขาดตามพระสูตรนี้ ถ้าเราได้หัดทำอยู่เสมอ ๆ
มีสติสัมปชัญญะระวังจิต ไม่ปล่อยไปตามอารมณ์ที่มากระทบ
จิตของเราก็จะสงบ นั่นก็คือจุดหมายปลายทางของความสุขที่ทุกคนปรารถนา
แม้ได้รับเพียงครั้งคราว ก็นับว่าประเสริฐสุดแล้ว.
.........................