www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

เพราะชีวิตนี้ ในสุขมีทุกข์ ในทุกข์มีสุข โดยพระไพศาล วิสาโล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-03-21 19:50:51

 

ที่มา : เฟซบุ๊ก เส้นทางสายไหม The Silk Road

 

ในสุขมีทุกข์ ในทุกข์มีสุข 
โดย พระไพศาล วิสาโล

 

สมัยหนึ่งเชื่อกันว่า วิชาคณิตศาสตร์สามารถเป็นกุญแจไขปริศนาจักรวาลได้
กระทั่งเวลานี้หลายคนก็ยังมั่นใจว่า อีกไม่นานคณิตศาสตร์ชั้นสูงจะช่วยให้เรา
ทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้าหรืพยากรณ์อากาศได้แม่นยำขึ้น
กระนั้นก็ตาม ไม่เคยมีคณิตศาสตร์ชั้นยอดคนใดที่กล้าบอกเต็มปากว่าตนเองเข้าใจชีวิตแล้ว
ทั้งนี้ก็เพราะชีวิตเป็นเรื่องของความไม่ลงตัว ไม่มีเส้นแบ่งแน่ชัดชนิดที่จะบอกเป็นดำเป็นขาวได้

ดูอย่างเรื่องสุขทุกข์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของทุกผู้คน 
บ่อยครั้งความสุขกับความทุกข์ก็แยกจากกันได้ยาก 

ลองนึกถึงอาหารจานเด็ดที่อยากกินมากที่สุดในตอนนี้
ประทีปอาจนึกถึงหูฉลามน้ำแดงถ้วยใหญ่ขึ้นมาทันที
ส่วนศรัญญาออกจะสมถะกว่า คิดถึงไก่ย่างส้มตำ

เราคงนึกออกว่าทั้งสองคนจะมีความอิ่มเอมเปรมใจเพียงใด หากได้ลิ้มรสอาหารดังกล่าว
ถ้าทั้งประทีปและศรัญญาได้กินอย่างนี้บ่อย ๆ เราเห็นจะต้องอิจฉา 

แต่ลองจินตนาการต่อไปว่า 
ทั้งสองคนได้กินแต่หูฉลามน้ำแดงและไก่ย่างส้มตำไปทั้งปี ทั้งชาติ
ไม่ได้ลิ้มรสอาหารอย่างอื่นเลย คราวนี้เรายังอยากเป็นอย่างทั้งสองคนหรือไม่ 

หูฉลามน้ำแดงและไก่ย่างส้มตำ ให้ความเอร็ดอร่อยแก่เราก็จริงอยู่
แต่หากได้กินวันแล้ววันเล่าอยู่นั่นแหละ

เราจะพบวาความเอร็ดอร่อยค่อยๆ จางคลาย ความเฉยๆ เข้ามาแทนที่
แล้วในที่สุดก็กลายเป็นความเบื่อ อาหารก็อย่างเดิม รสชาติไม่ได้แปรเปลี่ยนเลย
แต่ความรู้สึกของเราต่างหากที่แปรเปลี่ยนจากความสุขกลับกลายเป็นความทุกข์

จะว่าไปแล้ว ความทุกข์นั้นไม่ได้มาจากไหนหรอก
มันแฝงตัวอยู่ในความสุขนั้นเอง พอเวลาผ่านไป มันก็ค่อยๆ แสดงตัว
จนกลบทับความสุข แล้วความเอร็ดอร่อยก็เลยกลายเป็นความเบื่อไป

 

ความสุขจากเสื้อตัวใหม่ ความพอใจจากคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่
และความรู้สึกโก้เก๋จากรถยนต์คันใหม่ ก็ไม่วายที่จะจืดจางไปในทำนองเดียวกัน
แล้วความอยากได้ของใหม่ก็เข้ามารบกวนจิตใจอีก
ระหว่างที่ยังไม่ได้ก็ทุกข์เพราะไม่สมอยาก กว่าจะได้มาก็ต้องยอมเหนื่อยยาก 
ดิ้นรนหาเงินมาซื้อมัน ต่อเมื่อได้มาถึงจะมีความสุข 
แล้วก็กลับทุกข์อีกเพราะเบื่อเสียแล้ว ยังไม่นับความทุกข์ที่คอยห่วงกังวลหรือดูแลรักษามัน

แม้กระทั่งความปลื้มอกปลื้มใจจากความสำเร็จก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน
บางครั้งไม่เพียงแต่ความภูมิใจจะกลายเป้นความรู้สึกเฉยๆ เท่านั้น

แม้กระทั่งความสำเร็จที่ทำให้เรา “ยืดอก” ก็อาจหลุดลอกหรือผุกร่อน
จนความล้มเหลวผุดออกมาให้เห็น

นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจนกล้าขยายกิจการย่างรวดเร็วโดยไม่มีปัญหาเครดิตแต่อย่างใด
วันดีคืนดีก็พบว่าตนเองเป็นหนี้เป็นสินนับพันล้าน 
กิจการล้มละลายต่อหน้าต่อตา จนต้องฆ่าตัวตาย

“ความสำเร็จคือความล้มเหลวที่ยังไม่ปรากฏ” ใครบางคนเคยพูดไว้
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในความสำเร็จนั้น มีเมล็ดพันธุ์แห่งความล้มเหลวฝังตัวแฝงอยู่ด้วยเสมอ

ฟังอย่างนี้แล้ว บางคนอาจรู้สึกหดหู่ท้อแท้ขึ้นมา
สู้อุตส่าห์ทรมาทรกรรมในกรุงเทพฯ ทำศึกสงครามบนท้องถนน
และในที่ทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำทั้งอาทิตย์ 
เพียงเพื่อหวังว่าความสุขจากการช็อปปิ้งและได้ชิมอาหารอร่อยๆ สักมื้อในวันหยุด
จะช่วยชโลมจิตใจให้สดชื่นเพื่อจะได้มีแรงสู้ต่อไปอีกห้าวัน 
แต่แล้วก็มีคนมาบอกว่า ความสุขพวกนี้
มันเป็นน้ำตาลเคลือบบอระเพ็ด(หรือฟ้าทะลายโจร)ทั้งนั้น
ถ้าอย่างนั้นจะหวังอะไรจากชีวิตนี้อีก

ชีวิตนี้ไม่ถึงกับขมขื่นขนาดนั้นหรอก
อย่างน้อยบอระเพ็ดหรือฟ้าทะลายโจรก็ไม่ขมถึงกับกินไม่ลง 

และที่สำคัญ ชีวิตก็ไม่ได้เปรียบกับบอระเพ็ดหรือฟ้าทะลายโจรเสมอไป

 

ในมหานครที่เบียดเสียดด้วยผู้คน แปดเปื้อนด้วยมลภาวะและอาชญากรรม
จนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ไม่น่ารักติดอันดับโลกอย่างกรุงเทพฯของเรานี้
ก็ยังมีตรอกซอกซอยที่สงบและเปี่ยมด้วยน้ำใจ 
ตะไคร่น้ำเขียวสดบนกำแพงข้างทางก็ยังน่าชื่นชม 
หากสังเกตจะพบว่ามีหลายมุมในกรุงเทพฯ 
ที่อาทิตย์ยามอัสดงให้ความรู้สึกงดงามประทับแน่นในจิตใจ

ในสิ่งที่เราอยากเบือนหน้าหนีนั้น มักมีความงามฝังตัวอยู่ 
อย่างที่บางคนกล่าวว่า ในขยะมีเพชรพลอย
แต่ความงามหรือเพชรพลอยที่ว่านั้นมีหลายรูปลักษณ์ 
สุดแท้แต่ว่าใครจะมองหรือมองจากมุมใด

มะระนั้นทั้งๆ ที่ขม แต่ก็มีความเอร็ดอร่อยสำหรับหลายคน
ยิ่งคนที่เห็นคุณประโยชน์ของความขมว่าบำรุงสุขภาพเพียงใด ก็ยิ่งชอบแกงมะระมากเพียงนั้น

ในความขมนั้นมีความอร่อยฉันใด ในความทุกข์นั้นก็มีความสุขฝังตัวอยู่ฉันนั้น

คนจำนวนไม่น้อยมีความสุขจากความยากลำบาก
ไม่ใช่แค่ความลำบากที่เป็นเกมกีฬา อย่างการปีนเขา เดินป่าเท่านั้น
หากรวมถึงความลำบากจากอุปสรรคในชีวิตประจำวัน 
ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่าเป็นการฝึกตนให้แข็งแกร่ง ทั้งในทางร่างกายและจิตใจ


ทำนองเดียวกับพระธุดงค์ที่นิยมจาริกไปในที่กันดารยากลำบากและเสี่ยงภัย
ด้วยท่านเห็นอานิสงส์ของการขัดเกลาจิตไม่ให้ลงร่อง
ครูบาอาจารย์หลายท่านประจักษ์แก่ใจว่า
ในยามที่เสือมาป้วนเปี้ยนหน้ากลดอย่างน่ากลัวนั้นแหละ
ที่จิตได้รวมเป็นหนึ่งอย่างสงบนิ่งน่าอัศจรรย์


ความลำบากหลายอย่าง เป็นเพียงทัศนะหรือความรู้สึกของคนภายนอกเท่านั้น
แต่เจ้าตัวกลับรู้สึกสบาย 

การไม่มีตู้เย็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ รถยนต์ หรือแม้แต่ไฟฟ้า
กลายเป็นเรื่องลำบากของคนยุคโลกาภิวัตน์ไปแล้ว

 

แต่ยังมีคนอีกมากที่มีความสุขกับชีวิตที่เรียบง่ายเช่นนั้น 
การเดินไปทำงานเป็นความสุขเพราะได้พบปะผู้คน 
และสังเกตชีวิตความเป็นอยู่สองข้างทางไปพร้อมกัน 
การไม่มีโทรศัพท์แทนที่จะเพิ่มความยุ่งยากให้แก่ชีวิต
กลับทำให้ชีวิต “ง่าย” ขึ้น เพราะมีเวลาเป็นของตัวเองมากกว่าเดิม

ความทุกข์ข้างต้นจะเรียกว่าเป็นความทุกข์ที่พึงปรารถนาก็ได้
อย่างน้อยก็ในสายตาของผู้ที่เลือกเข้าไปประสบสัมผัสกับมัน

แต่ถ้าเป็นความทุกข์ทีไม่พึงปรารถนาชนิดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด
หรือทุกขเวทนาแรงกล้าล่ะ จะยังมีความสุขได้อีกหรือ ?

ไม่มีใครอยากอกหักหรือถูกแฟนทิ้ง แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่พ้นจริงๆ 
สิ่งที่ควรทำนอกเหนือจากการปลอบตัวเองว่า “อกหักดีกว่ารักไม่เป็น” 
ก็คือลองมองดูว่า ความทุกข์และความผิดหวังนั้นสอนอะไรเราบ้าง 
เป็นการง่ายที่จะโทษคนอื่นหรือไม่ก็ประชดตัวเอง 
แต่ถ้ามองอย่างใจเป็นกลางเราอาจรู้จักตนเองและธรรมชาติของจิตใจเราดีขึ้นก็ได้

ความพลัดพรากแม้จะเป็นความทุกข์ แต่การติดยึดของเราต่างหากที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ยิ่งกว่า
ถ่านแดงๆ นั้นร้อนแน่ แต่ที่เราเจ็บปวดก็เพราะไปกำมันไว้ไม่ใช่หรือ

ใช่แต่เท่านั้น มองในอีกแง่หนึ่ง เราอาจพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าว
เปิด “โอกาส” ใหม่ ๆ ให้แก่เราอย่างที่ไม่เคยนึกมาก่อน 
เช่น โอกาสที่จะเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง 
หรือโอกาสที่จะได้ซาบซึ้งในความเอื้อเฟื้อของเพื่อนที่เห็นใจเรา
โอกาสอันทรงคุณค่าเหล่านี้แหละที่ให้ความสุขใจแก่เราอยู่ลึกๆ

ความทุกข์นั้นให้ความสุขแก่เราได้ หากรู้จักค้นหา
นักปฏิบัติธรรมสามารถเข้าถึงความสุขจากสมาธิภาวนาได้
ส่วนใหญ่ก็เพราะอาศัยความเครียดจากการปฏิบัติผิดวิธีเป็นครู

 

เช่นเดียวกัน ความเจ็บป่วยบ่อยครั้งก็เป็นสัญญาณพาไปสู่
การดำเนินชีวิตที่เกื้อกูลและผ่อนคลาย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะรู้จักแง่มุมในการมอง

ท่ามกลางอากาศที่หนาวยะเยือกนั้น ใช่ว่าทุกอณูจะถูกความหนาวเกาะกุมไปเสียหมด 
ยังมีบางซอกมุมที่อบอุ่น
ดังนั้นแทนที่จะส่งใจรับรู้ลมหนาวที่กระทบใบหน้า จะไม่ดีกว่าหรือ
หากเราน้อมใจมาจดจ่อร่างกาย ตรงส่วนที่อบอุ่นที่สุดภายใต้เสื้อผ้าที่ปกปิดแน่นหนา

บางครั้งความทุกข์ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะสุกงอมเป็นความสุข

เมื่อหวนนึกถึงความหลัง คงมีหลายครั้งที่เรายิ้มอยู่คนเดียวในยามนั้น
เราอาจไม่ได้นึกถึงช่วงสนุกสุขสันต์กับเพื่อนฝูง
หรือวันที่เราได้เดินเที่ยวเก็บหอยตามชายหาดกับคนที่เรารัก
แต่เรายิ้มเพราะนึกถึงวันคืนอันทุกข์ทรมานขณะเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ยิ้มเพราะนึกถึงความยากลำบากครั้งเป็นน้องใหม่ในค่ายอาสาพัฒนา
มีเหตุการณ์อันชวนว้าเหว่ ท้อแท้ เจ็บปวด
อีกมากมายในอดีตที่บัดนี้ได้กลายเป็นประสบการณ์น่าจดจำ ที่ให้ความรู้สึกแก่เรา

เวลาอาจผันผ่านไปแรมปีหรือสิบปี แต่ไม่ว่าจะนานแค่ไหนในที่สุดเราก็ตระหนักว่า
มีเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขฝังตัวอยู่ในความทุกข์นั้น 
บัดนี้ความสุขได้ผลิดอกออกผลให้เราชื่นชมแล้ว

 

มีความทุกข์บางอย่างเรามองเท่าไรก็หาความสุขหรือข้อดีไม่พบ
ไม่ต่างจากเฉาก๊วยที่คั้นเท่าไร ก็ไม่มีน้ำกะทิออกมาแม้แต่หยดเดียว
แต่ถ้าจะว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว วิธีหลุดรอดจากความทุกข์ดังกล่าวก็มิได้อยู่ที่ไหน
หากอยู่ในความทุกข์นั้นเองแหละ ลองใคร่ครวญความเจ็บปวดเพราะอกหักให้ดีเถิด
จะพบว่าต้นตออยู่ในความเจ็บปวดนั้นเอง
เราทุกข์เพราะความคาดหวังของเราเอง และความทุกข์นั้นไม่ยอมจากไปสักที
เพราะเราปล่อยจิตให้จมปลักอยู่กับความผิดหวังในอดีต
แต่ถ้าเห็นต้นตอของปัญหาว่าอยู่ตรงนี้ ทางออกก็อยู่ตรงนี้เช่นกัน

ท่านอาจารย์พุทธทาสพูดอยู่เสมอว่า หานิพพานได้ในกองทุกข์ 
เรา ๆ ท่าน ๆ อาจสนใจความสุขมากกว่านิพพาน 
กระนั้นความสุขก็หาได้ในความทุกข์นั่นเอง

ความสุขมักเล็ดรอดหลุดมือเราไป กลายเป็นความทุกข์มาแทนที่ 
ก็เพราะเราไม่รู้จักทั้งสองอย่างนี้ดีพอ เรามักขีดเส้นแบ่งชัดเจนเกินไปว่านี้สุข นี้ทุกข์

แต่สุขทุกข์นั้นแปรผันกลับไปกลับมาอยู่เสมอ การรู้เท่าทันมันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เวลาสุขก็อย่าเพลิดเพลินจนลืมตัว ทำใจให้พร้อมเสมอว่า มันจะกลายเป็นทุกข์เมื่อไรก็ไม่รู้
ถึงคราวทุกข์ ก็อย่าเอาแต่คร่ำครวญ
พยายามตั้งตัวและขบคิดให้ได้ว่า “ขุนทรัพย์” นั้นอยู่ตรงไหน

จะว่าไปเคล็ดลับของชีวิตก็มีเพียงแค่สองคือ
“เห็นทุกข์ในสุข และเห็นสุขในทุกข์”

 

 

*คัดจากหนังสือ"พรแห่งชีวิต":สุขใจในนาคร#๒ 
พิมพ์โดย สำนักพิมพ์ มูลนิธิสุขภาพไทย (ครั้งที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๑)