หมอทั่วโลกฮือฮา วิปัสสนาฯรักษาความดันได้ ผลวิจัยยันแค่30นาที
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-02-26 19:23:12
ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
ที่มา : เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
มจร. ค้นพบการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยวิธีเดินจงกรมและนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจแบบ "ยุบหนอ-พองหนอ" เพียง 30 นาที สามารถช่วยทำให้ค่าความดันโลหิตของมนุษย์ลดลงได้ เผย "โซไซตี้ ออฟ เนโพรโลยี" ฮือฮายกผลงานวิจัยแพร่ผ่านนิตยสารออนไลน์ให้หมอจากทั่วโลกรับรู้
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่วิทยาลัยสงฆ์ นครน่านเฉลิมพระเกียรติ วัดพระธาตุแช่แห้งจ.น่าน สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์และวิทยาลัยสงฆ์นครน่านเฉลิมพระเกียรติฯ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จัดสัมมนาวิจัยพุทธศาสนานานาชาติครั้งที่ 7 ซึ่งในการประชุมได้นำเสนองานวิจัยพระพุทธศาสนา เรื่อง "ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อระดับของความดันโลหิต" ของนางจุฑามาศ วารีแสงทิพย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธรรมนิเทศบัณฑิตวิทยาลัย มจร. โดยงานวิจัยดังกล่าว ได้สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างยิ่ง
นางจุฑามาศ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน พบความเครียดเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคความ ดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจตาม มา จึงตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ช่วยให้จิตใจสงบ มีสมาธิ จึงได้ทำวิจัยนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานที่เป็นลักษณะและวิธีการของการเจริญสติปัฏฐาน 4 ที่เป็นหลักคำสอนสำคัญในพุทธศาสนาว่า จะมีผลดีต่อการลดความดันโลหิตหรือไม่
โดยวิธีการวิจัยจะศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวสติปัฏฐาน 4 ในพระไตรปิฎกโดยใช้วิธีการกำหนดลมหายใจแบบยุบหนอ-พองหนอ และได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ปฏิบัติธรรม ที่ศูนย์ปฏิบัติธรรม มจร.วังน้อย และศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานนานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราช รังสฤษฎิ์ ซึ่งเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 17-77 ปี มีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติสามารถเดินจงกรมและนั่งสมาธิ ในเวลาเท่ากันอย่างต่อเนื่องได้นาน 30 นาที 25 คน 45 นาที 20 คน และ 60 นาที 20 คน ตามลำดับ รวมทั้งสิ้น 65 คน โดยจะวัดความดันโลหิตและชีพจรก่อนและหลังการปฏิบัติ
นางจุฑามาศ กล่าวต่อไปว่า ผลการศึกษาพบว่า
ก่อนเดินจงกรมและหลังนั่งสมาธิเป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ 30-45 และ 60 นาที ตามลำดับมีชีพจรเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ต่อมาเมื่อกลุ่มตัวอย่างก่อนเดินจงกรมและหลังนั่งสมาธิเป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ 45 นาที พบว่า มีค่าความต่างระหว่างค่าความดันตัวล่างกับตัวบน หรือค่าความดันโลหิตเฉลี่ยลดลง
จึงสรุปได้ว่า
วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานตามแนวทางนี้เมื่อทำต่อเนื่องทั้งการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิตามเวลาดังกล่าวทำ ให้มีการปรับอินทรีย์สมดุลเป็นผลให้ลดการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติจนทำให้ชีพจรและค่าความดันของผู้ปฏิบัติเฉลี่ยลดลงตามลำดับเวลาของการปฏิบัติ โดยค่าที่ลดลงของความดันโลหิตจากผลงานวิจัยครั้งนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 10 มิลลิเมตรปรอท
ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock
ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด
"ผลงานวิจัยครั้งนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคความดัน โดยล่าสุดในการประชุมอเมริกันโซไซตี้ ออฟ เนโพรโลยี ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อเดือน พ.ย. 2558 ยังนำผลงานวิจัยดังกล่าวไปเผยแพร่ผ่านทางนิตยสารออนไลน์ในการประชุมคิดนี่วีค โดยเป็นการประชุมสมาคมแพทย์โรคไตของสหรัฐ ซึ่งมีแพทย์จากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมด้วย" นางจุฑามาศ ระบุ.