เมื่อเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เราก็จะต้องทุกข์ทุกครั้ง โดยพระชยสาโร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-02-19 16:26:46
เมื่อเราเอาตัวเอง เป็นศูนย์กลางของจักรวาล
เราก็จะต้องทุกข์ทุกครั้ง
ที่สิ่งต่างๆ และคน ไม่ยอมโคจรรอบตนเอง
ความคิดอาฆาตพยาบาทจองเวรนี่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง ให้หยาบคาย นั่นแหละคือผลกรรมที่ปรากฏทันที
ผู้ที่ทำสิ่งใดทางกาย วาจา หรือใจ ด้วยอำนาจของกิเลส ชื่อว่ากำลังเบียดเบียนตัวเองอย่างยิ่ง เพราะถอยห่างออกไปจากความสุขที่แท้จริง นั้นคือวิบาก การทำบาปแต่ละครั้งคือทำให้บันไดที่เราต้องปีนขึ้น สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
การปฏิบัติธรรมเท่านั้นที่จะช่วยให้เราเป็นอิสระจากกิเลสได้ การทำบุญอย่างเดียว ไม่ปฏิบัติ ถึงจะทำให้มีสิ่งยึดเหนี่ยวอยู่ในใจบ้าง แต่มันไม่มั่นคง ลึก ๆ แล้วเราจะยังอยู่ในสภาพเดิม คือเคว้งคว้างอยู่เหมือนเรือเล็ก ๆ กลางทะเลอันกว้างใหญ่ มีเข็มทิศก็ใช้ไม่ค่อยเป็น มีสมอก็ไม่รู้จักทอด เอาแต่ประดับประดาเรือก่อนอับปาง ชาวพุทธเราควรสนใจวิธีอุดรูวิธีวิดน้ำบ้าง จะได้เราตัวรอดได้ หากไม่สนใจศึกษาเรื่องตัวเอง เข้าวัดแล้วสักแต่ว่าไหว้พระพอเป็นพิธี ทำบุญบำรุงวัดตามประเพณี แล้วออกไปชมต้นไม้บ้างก่อนกลับ ไม่ใช่ว่าไม่ดี ดีอยู่หรอก แต่ยังดีไม่พอ
การจะฆ่ากิเลสหรือนิวรณ์นั้นต้องเข้าใจคำว่า “ฆ่า” นั้นว่าหมายถึง การรู้เท่าทัน ฆ่าด้วยการรู้เท่าทัน
การภาวนาคือ การลดความโง่ของตัวเอง ผู้ที่หาว่าไม่มีเวลาภาวนา คือผู้ที่ถือว่าไม่มีเวลาลดความโง่ของตัวเอง
การที่จะรอให้สิ่งที่มายุ่งสงบลงก่อน จึงจะปฏิบัติธรรม
ก็เหมือนกับว่า เราจะรอให้ทะเลหมดคลื่นก่อน
เราจึงปฏิบัติธรรม มันไม่หมดหรอก
ความสงบ คือ ความพร้อมที่จะปฏิบัติ
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งภายนอก
แต่ขึ้นอยู่กับศรัทธาภายในจิตในใจของเรา
นี่แหละ คือ การปฏิบัติธรรม
ถ้าคิดว่า คนอย่างเราๆ คงไม่มีวาสนา
จะพัฒนาตัวเองบรรลุธรรม หรือตัดกิเลสได้หรอก
นั่นไม่ใช่แค่เถียงพระนะ เถียงพระพุทธเจ้าเลย
พวกเราชอบอ้างบุญ อ้างบารมีอยู่เรื่อย เพื่อเป็นการแก้ตัว บางคนก็อ้างว่าบุญหรือบารมีที่จะภาวนาก็ไม่มี ทำไมเรามีแต่บุญมีแต่บารมีเพื่อทำความชั่ว ทำไมเราไม่มีบุญบารมีเพื่อทำความดีบ้าง บุญบารมีทำความชั่วเห็นเรามีทุกคนตลอดเวลา ทำไมเราไม่มีบุญบารมีทำความดี นั่นต้องถามตัวเองอย่างนี้
ถึงแม้ว่าการปฏิบัติของเรานั้น ยังไม่ถึงขั้นที่ว่า “การปฏิบัติชอบ” ก็อย่างน้อยที่สุด ขอให้เรา “ชอบปฏิบัติ” เสียก่อน
ครูบาอาจารย์ท่านสอนเรื่องการปล่อยวาง
แต่การปล่อยวางนั้นไม่ใช่การปล่อยทิ้งหน้าที่ของเรา
แต่หมายถึงการปล่อยวางความหวังในผลของการกระทำ
ไม่ใช่การปล่อยวางในการสร้างเหตุในการกระทำ
อยากทำ ไม่ถือว่าเป็นกิเลส อยากได้ผลของการกระทำ นั่นแหละคือกิเลส การอยากทำความดีก็ไม่เป็นกิเลส ขอให้ทำมากๆ แต่ถ้าเราอยากได้ผลของการทำความดี นั่นแหละจะเป็นเหตุให้เราต้องทุกข์
ชยสาโรภิกฺขุุ