พุทธมณฑลทราย (Sand Mandala) และการปั้นเครื่องสักการะเนย (Butter Sculpture) ในพุทธศาสนาวัชรยาน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-02-15 17:29:50
พุทธมณทลทราย (Sand Mandala) จัดถวาย สักการะพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ณ ตำหนักเพ็ชร โดยรัฐบาลอินเดีย ระหว่างวันที่ 17 – 24 มีนาคม 2557 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ขอบคุณเนื้อหาและภาพจากบทความของคุณ INDYLOVE : http://www.oknation.net/blog/loveindy/2014/04/01/entry-1
พุทธมณฑลทราย (Sand Mandala)
เป็นรูปวาดในคติพุทธแบบทิเบต กล่าวกันว่าสืบทอดมาจากอินเดียโบราณ พระทิเบตจะเป็นผู้วาดเพื่อสื่อหลักการ ปรัชญา และ คติธรรม หรือเป็นธรรมเจดีย์ ของชาวพุทธที่เชื่อมโยงกันในขอบเขตวงกลม บางทีการแสดงพระโพธิญาณ หรือบางทีก็รวมจักรวาลเข้าด้วยกัน
คำว่า Mandala มาจากคำสันสกฤตว่า มณฑล หมายถึง ขอบเขต หรือ วงกลม การสร้างพุทธมณฑลทรายขึ้นจากเม็ดทรายสีต่างๆ นับเป็นสิ่งสุดยอดของศิลปะทิเบต ต้องใช้เวลา และ สมาธิ อย่างสูงในการทำแต่ละครั้ง และสุดท้ายก็จะทำการลบพุทธมณฑลทรายที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นการสอนสัจธรรมว่า ทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ เสื่อมสลายไป
มณฑลศักดิ์สิทธิ์ หรือที่เรียกว่า มันดาลา เป็นแนวคิดของพุทธศาสนาวัชรยาน หรือมนตรยาน ว่า เป็นการเรียงแนวของจักรวาลที่มีความสัมพันธ์กันกับโลกมนุษย์ในแต่ละพุทธเกษตร เช่น การแสดงถึงมณฑลศักดิ์สิทธิ์ ของพระพุทธเจ้าไภสัชยคุรุ (พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งการรักษาโรคทางกายและโรคกิเลส)
พิธีการสร้างพุทธมณฑลทราย (Sand Mandala) และปั้นเครื่องบูชาสักการระจากเนย (Butter Sculpture) ตามโบราณราชประเพณีทางวัชรยาน*
การสร้าง “ พุทธมณฑลทราย” (Sand Mandala) ในงานครั้งนี้ ได้สร้างเป็นรูปพระอวโลกิเตศวร โพธิสัตว์ ปางหนึ่งของเจ้าแม่กวนอิม โดยใช้หินอ่อนตกผลึกสีขาวนำมาบดเป็นทรายหลายขนาด นำไปย้อมสี ซึ่งมีทั้งสีน้ำเงิน ขาว เหลือง แดง เขียว ดำ น้ำตาล ส้ม ฟ้า เหลืองอ่อน แดง และเขียวอ่อน สะท้อนให้เห็นถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ทุกขั้นตอนในการทำมัลดาล่าต้องผ่านการปฏิบัติอย่างตั้งใจและต้องใช้สมาธิขั้นสูง
ปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในมันดาล่าทราย คือ “ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรยั่งยืน สังขารไม่เที่ยง” ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องอนิจธรรม
ตามธรรมเนียมของการสร้างมัลดาล่าทรายของพุทธศาสนามหายาน คือ เมื่อสร้างแล้วก็จะต้องทำลายทิ้ง ซึ่งเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความไร้แก่นสาร และความไม่จีรังยั่งยืนของชีวิต ทรายมัลดาล่าทั้งหมดที่สร้างในงานครั้งนี้จะถูกรวบรวม และแจกจ่ายให้แก่ผู้ร่วมงานในวันที่ 24 มีนาคม 2557 ด้วย
การปั้นเครื่องสักการะเนย (Butter Sculpture)
การปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยเป็นพุทธศิลป์โบราณในแถบเทือกเขาหิมาลัย และทิเบต การปั้นเครื่องปั้นเครื่องบูชาเหล่านี้เป็นการปั้นตามประเพณี รูปปั้นบูชาจะทำจากเนยบริสุทธิ์จากส่วนผสมของเนยสัตว์และขี้ผึ้งที่มีอุณภูมิอุ่นสามารถปั้นเป็นรูปทรงได้ โดยปั้นเนยที่ผสมเป็นสีต่างๆ แล้วนำมาปั้นเป็นรูปทรงหลากหลายแล้วนำมาประกอบกันอย่างสวยงาม เครื่องบูชาเนยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น เป็นสัญลักษณ์แทนการบูชาทางพุทธศาสนา เป็นรูปแบบการบูชาอันเก่าแก่ตามพุทธคติความเชื่อของวัชรยาน และมักปั้นเรื่องราวจากชาดกและวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นบทสอนให้ชาวพุทธปฏิบัติสืบต่อ
ส่วนการปั้นเครื่องสักการะเนย (Butter Sculpture) ในงานครั้งนี้ ได้ปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้า รูปช้าง กระต่าย ลิง นก และดอกไม้ เพื่ออัญเชิญไปบูชาหน้าพระโกศ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งการปั้นเครื่องบูชาสักการะเนยนั้นเป็นการปั้นตามประเพณี และนับเป็นพุทธศิลปะโบราณทางทิเบตและหิมาลัย ที่มีมาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 15
*ควาหมายของ พุทธศนามหายาน – วัชรยาน
http://riwochet.blogspot.com/p/buddhismvajrayana.html