www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

เคล็ดลับ พร้อมเผชิญความพลัดพราก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2016-01-19 18:38:57

           
          เพราะกำหนดเวลาตายไม่มีใครกำหนดได้แน่นอนสำหรับปุถุชนคนธรรมดา การนึกถึงความตายเป็นปกติจึงเป็นของดี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตาย หรือรู้ตัวว่าจะตายแล้วย่อมไม่สั่งสมความชั่ว และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว  

 

ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock

             แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์แม้แต่จะเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์

            วันหนึ่งพระองค์ตรัสถามพระอานนท์ว่า
              "อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง "

             พระอานนท์กราบทูลตอบว่า
             "นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า "

             พระองค์ตรัสว่า
             "ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก "
 

*****************************
 

ทำใจให้คุ้นชินกับความตาย (พระไพศาล วิสาโล)
 

พระไพศาล วิสาโล (2552 : 15-18) แสดงพระธรรมเทศนาว่า

           ไม่ว่าจะหลีกหนีให้ไกลเพียงใด เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น ในเมื่อจะต้องเจอกับความตายอย่างแน่นอน แทนที่จะวิ่งหนีความตายอย่างไร้ผล จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราหันมาเตรียมใจรับมือกับความตาย ในเรื่องนี้ มองแตญปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้กล่าวแนะนำว่า

        “เราไม่รู้ว่าความตายคอยเราอยู่ ณ ที่ใด ดังนั้น ขอให้เราคอยความตายทุกหนแห่ง”


ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock


         สิ่งลี้ลับแปลกหน้านั้นย่อมน่ากลัวสำหรับเราเสมอ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราคุ้นชินกับมัน มันก็ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ความตายก็เช่นกัน 

        การเตรียมใจรับมือกับความตายที่ดีที่สุด คือ การทำใจให้คุ้นชินกับมันเป็นเบื้องแรก เพื่อมิให้มันเป็นสิ่งแปลกหน้าสำหรับเราอีกต่อไปเราสามารถทำใจให้คุ้นชินกับความตายได้ด้วยการระลึกนึกถึงความตายอยู่เสมอ นั่นคือการเจริญ “มรณสติ” อยู่เป็นประจำ


การเจริญมรณสติ คือ การระลึกหรือเตือนตนว่า 

1) เราต้องตายอย่างแน่นอน 

2) ความตายสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ทุกเมื่อ อาจเป็นปีหน้า เดือนหน้า พรุ่งนี้ คืนนี้ หรืออีกไม่กี่นาทีข้างหน้าก็ได้ เมื่อระลึกได้เช่นนี้แล้ว ก็ต้องสำรวจหรือถามตนเองว่า 

3) เราพร้อมที่จะตายหรือยัง เราได้ทำสิ่งที่ควรทำเสร็จสิ้นแล้วหรือยัง และพร้อมที่จะปล่อยวางสิ่งทั้งปวงแล้วหรือยัง 

4) หากยังไม่พร้อม เราควรใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ เร่งทำสิ่งที่ควรทำให้เสร็จสิ้น อย่าปล่อยเวลาให้สูญเปล่า หาไม่แล้ว เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านั้นเลยก็ได้

ข้อ 1) และ 2) คือความจริงหรือเป็นกฎธรรมชาติที่เราไม่อาจปฏิเสธหรือขัดขืนต้านทานได้ ส่วนข้อ 3) และ 4) คือสิ่งที่อยู่ในวิสัยที่เราจะจัดการได้ เป็นการกระทำที่อยู่ในความรับผิดชอบของเราโดยตรง

           การระลึกหรือเตือนใจเพียง 2 ข้อแรกว่า เราต้องตายอย่างแน่นอน และจะตายเมื่อไรก็ได้ หากทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้เราตื่นตระหนกน้อยลง เมื่อความตายมาปรากฎอยู่เบื้องหน้าเพราะเตรียมใจไว้แล้ว

             แต่ทันทีที่เราตระหนักว่าความตายจะทำให้เราพลัดพรากจากทุกสิ่งที่มีอยู่อย่างสิ้นเชิง ในชั่วขณะนั้นเองหากเราระลึกขึ้นมาได้ว่ามีบางสิ่งบางคนที่เรายังห่วงอยู่ มีงานบางอย่างที่เรายังทำไม่แล้วเสร็จ หรือมีเรื่องค้างคาใจที่ยังไม่ได้สะสาง ย่อมเป็นการยากที่เราจะก้าวเข้าหาความตายได้โดยไม่สะทกสะท้าน

          ยิ่งความตายมาพร้อมกับทุกขเวทนาอันแรงกล้า หากไม่ได้ฝึกใจไว้เลยในเรื่องนี้ก็จะทุรนทุรายกระสับกระส่ายเป็นอย่างยิ่ง เพราะไหนจะถูกทุกขเวทนาทางกายรุมเร้า ไหนจะห่วงหาอาลัยหรือคับข้องใจสุดประมาณ ทำให้ความตายกลายเป็นเรื่องทุกข์ทรมานอย่างมาก

 
 


 ภาพประกอบ : ลิขสิทธิ์ถูกต้องจาก Shutterstock


           ด้วยเหตุนี้ลำพังการระลึกถึงความตายว่า จะต้องเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว จึงยังไม่เพียงพอ ควรที่เราจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่าเราพร้อมจะตายมากน้อยแค่ไหนและควรจะทำอย่างไรกับเวลาและชีวิตที่ยังเหลืออยู่ การพิจารณา 2 ประเด็นหลังนี้จะช่วยกระตุ้นเตือนให้เราไม่ประมาทกับชีวิต เร่งทำสิ่งที่ยังค้างคาอยู่ให้แล้วเสร็จ ไม่ผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันก็เห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวางบุคคลและสิ่งต่าง ๆ ที่ยังยึดติดอยู่ กล่าวโดยสรุปคือ ควรพิจารณาทั้ง 4 ข้อไปพร้อมกัน

             เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ได้ตรัสแนะนำให้ภิกษุเจริญมรณสติเป็นประจำ

            อาทิ ให้ระลึกเสมอว่า เหตุแห่งความตายนั้นมีมากมาย เช่น งูกัด แมลงป่องต่อย ตะขาบกัด หาไม่ก็อาจพลาดพลั้งหกล้ม อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เสมหะกำเริบ ลมเป็นพิษ ถูกมนุษย์หรืออมุษย์ทำร้าย จึงสามารถตายได้ทุกเวลา ไม่กลางวันก็กลางคืน

            ดังนั้นจึงควรพิจารณาว่า บาปหรืออกุศลธรรมที่ตนยังละไม่ได้ ยังมีอยู่หรือไม่ หากยังมีอยู่ ควรพากเพียร ไม่ท้อถอย เพื่อละบาปและอกุศลธรรมเหล่านั้นเสีย หากละได้แล้ว ก็ควรมีปีติปราโมทย์ พร้อมกับหมั่นเจริญกุศลธรรมทั้งหลายได้เพิ่มพูนมากขึ้นทั้งกลางวันและกลางคืน

            แม้กระทั่งเมื่อพระองค์ใกล้จะปรินิพพาน โอวาทครั้งสุดท้ายของพระองค์ก็ยังเน้นย้ำถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ดังตรัสว่า


“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”


            ความไม่ประมาท ขวนขวายพากเพียร ไม่ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงเน้นมาก เมื่อมีการเจริญมรณสติ หรือเมื่อตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิตอย่างไรก็ตามเมื่อความตายมาประชิดตัว พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปล่อยวางสิ่งทั้งปวง ดังทรงแนะนำอุบาสกที่จะช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย ว่า

           พึงน้อมใจเขาให้ละความห่วงใยในมารดาและบิดาในบุตรและภรรยา (สามี) จากนั้นให้ละความห่วงใยในกามคุณ 5 (หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินทางกาย) ละความห่วงใย แม้กระทั่งสวรรค์ทั้งปวง ตลอดจนพรหมโลก น้อมใจสู่ความดับ ซึ่งความยึดติดทั้งปวง เพื่อบรรลุถึงความวิมุติหลุดพ้นในที่สุด


 

 

 

 


เอกสารอ้างอิง : พระไพศาล วิสาโล. ระลึกถึงความตายสบายนัก. -- : Canna Graphic, 2552.

ที่มา : blog ของคุณ muansuk และ พลังจิตดอทคอม

 

ลิขสิทธิ์ภาพขอสงวนเฉพาะสำหรับใช้งานในสื่อต่างๆ ของทรูปลูกปัญญา เท่านั้น 
ห้ามไม่ให้นำภาพไปเผยแพร่ผ่านช่องทางอื่นโดยเด็ดขาด