www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ วันคล้ายวันนิพพาน พระสารีบุตร
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-11-25 17:20:39

๒,๕๕๙ ปีรำลึก ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
วันคล้ายวันนิพพานพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตรเถระเจ้า พระอัครสาวกสังโฆปูชา

(อ่านว่า : พระ-อัก-คะ-ระ-สา-วะ-กะ-สัง-โค-ปู-ชา)

 


ภาพ: ภาพวาดโดยศิลปินแห่งชาติ อาจารย์จักรพันธ์ โปษยกฤต
ที่มา : ที่มา : เฟซบุ๊กท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน



            ในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ นอกจากจะเป็นวันลอยกระทงแล้ว ยังตรงกับวันคล้ายวันนิพพานของพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา เอตทัคคะผู้เลิศทางมีปัญญามาก ครบ ๒,๕๕๙ ปี (ในปี พ.ศ. ๒๕๕๘) (ท่านนิพพานก่อนพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ พรรษา) จึงขอน้อมนำพระธรรมคำสอนของพระสารีบุตร มาเผยแพร่ให้พิจารณาเป็นมรณานุสติ และสังฆานุสติครับ

 


ภาพ : http://topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2009/03/Y7643866/Y7643866.html

พระธรรมคำสอนของพระสารีบุตร

"..ความเป็นความตายเราไม่ยินดี
เราจักละทิ้งร่างกายนี้ไปอย่างผู้มีสติสัมปชัญญะ

ความเป็นความตายเราไม่ยินดี
เรารอแต่ให้ถึงเวลา คล้ายลูกจ้างรอให้หมดเวลาทำงาน

ความตายนี้มีแน่ ไม่ว่าเวลาแก่ก็เวลาหนุ่ม
แต่ที่จะไม่ตาย ไม่มีหรอก.."

โอวาทธรรมก่อนนิพพานท่านพระธรรมเสนาบดีพระสารีบุตรเถระเจ้า


 ◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●
 

เกี่ยวกับพระสารีบุตร ภาคการประกาศพระศาสนา

ท่านเป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา

- เป็นพระอุปัชฌาย์ให้แก่บรรดาสามเณร ได้แก่ สามเณรราหุล สามเณรสุข และสามเณรสังกิจจะ เป็นต้น

- ท่านชักจูงให้น้องชาย คือ พระจุนทะ และน้องสาวคือนางจาลา หันมาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและออกบวช

- เพราะแนวคิดของท่าน เป็นต้นเหตุให้พระมหากัสสปะประชุมสงฆ์ ทำสังคยานา

- ท่านยังเป็นยอดกตัญญูเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ราธพราหมณ์ ซึ่งเคยใส่บาตรแค่ทัพพีเดียวเท่าน้น

- ก่อนจะปรินิพานท่านได้เทศนาโปรดมารดาจนได้บรรลุโสดาบัน หลังจากนั้นเมื่อวันขึ้น๑๕ค่ำเดือน๑๒ ท่านป่วยด้วยโรคปักขันทิกาพาธ(ถ่ายจนเป็นเลือด) ที่บ้านของท่านเอง

    
ธรรมเสนาบดี
ท่านเปรียบเสมือนแม่ผู้ให้กำเนิดบุตร คือ บวชให้พระภิกษุ และสามารถสอนสั่งให้ได้บรรลุในขั้นโสดาบัน 

ท่านได้รับขนามว่า”เป็นธรรมเสนาบดี”
ท่านเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นผู้มปฏิภาณไหวพริบในการแสดงธรรม
ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรกที่บวชด้วยญัตติจถุตถกรรมวาจา

 

◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●

 


ภาพ: http://www.sahapatibat.org/articles/view/19 

 
บั้นปลายชีวิตของพระสารีบุตร 

 บั้นปลายชีวิตของพระสารีบุตรเถระเจ้า องค์ท่านมีชีวิตอยู่มาจนกระทั่งถึงระยะปัจฉิมโพธิกาล (ระยะเวลาใกล้สิ้นยุคพุทธกาล)

ท่านพระสารีบุตรเถระเจ้านิพพานก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ๑ ปี คือนิพพาน ในปีที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๗๙ พรรษา 

พระสารีบุตรเถระเจ้า ได้เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่บ้านของท่านเอง ด้วยโรคปักขันทิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด)

 


ดังมีเรื่องเล่าว่า 
      

        วันหนึ่ง ท่านเข้าผลสมาบัติอยู่ในที่พักกลางวันของท่านในวัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ออกจากผลสมาบัติแล้วพิจารณาเห็นว่าพระอัครสาวกย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้า ดังนั้นท่านจึงได้ตรวจดูอายุสังขารของตนเองและเห็นว่าจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก ๗ วันเท่านั้น

         ท่านได้พิจารณาต่อไปถึงสถานที่ที่จะไปนิพพาน ก็เห็นว่าควรจะไปนิพพานที่บ้านเกิด ทั้งนี้เพื่อจะได้โปรดโยมมารดาซึ่งยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ให้ได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังเห็นด้วยว่าโยมมารดามีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้เมื่อได้ฟังธรรมที่ท่านแสดง 

          เมื่อปลงใจได้ดังนั้นแล้ว ท่านจึงแจ้งพระจุนทะผู้เป็นน้องชายให้ทราบ และบอกพระจุนทะให้แจ้งแก่บรรดาศิษย์ของท่านให้ทราบด้วย เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วท่านได้เก็บกวาดเสนาสนะ แล้วออกมายืนอยู่ที่หน้าเสนาสนะนั้น ท่านมองดูทุกสิ่งทุกอย่างเป็นครั้งสุดท้าย แล้วพาพระจุนทะและพระบริวาร ๕๐๐ รูปเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า 

 


ภาพ : http://www.supapong.th.gs/info.html


            “ข้าแต่พระบรมศาสดา” ท่านกราบทูล หลังจากกราบถวายบังคมแล้ว

            “อายุของข้า พระองค์ใกล้สิ้นแล้ว ข้าพระองค์ขอกราบพระบาทเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนับจากนี้ไปอีก ๗ วัน ข้าพระองค์จะได้ทอดทิ้งร่างกาย ขอได้ทรงพระกรุณาอนุญาตให้ข้าพระองค์นิพพานด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า” 

             “สารีบุตร เธอจักไปนิพพานที่ไหน” พระพุทธเจ้าตรัสถาม 

             “ที่บ้านเกิด พระพุทธเจ้าข้า” 

             “สารีบุตร” พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพร้อมทั้งอนุญาต แล้วตรัสต่อไปว่า 

              “ต่อนี้ไปภิกษุทั้งหลายจะไม่ได้เห็นพระสาวกเช่นเธออีกแล้ว ขอเธอได้ช่วยอนุเคราะห์แสดงธรรมให้ภิกษุทั้งหลายฟังก่อนเถิด” 

             ท่านเข้าใจถึงพุทธประสงค์ได้ดี จึงลุกขึ้นถวายบังคมรับพระพุทธดำรัส แต่ก่อนที่จะแสดงธรรม ท่านได้เหาะขึ้นไปสูงได้ชั่วลำตาล ๑ แล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้า จากนั้นก็ได้เหาะกลับขึ้นไปอีกแล้วกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าอีก ท่านทำอยู่อย่างนี้ถึง ๗ ครั้ง

          กล่าวคือ ท่านเหาะขึ้นไปสูงสุดถึง ๗ ชั่วลำตาล และในแต่ละชั่วลำตาลนั้นท่านได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าทุกครั้ง ขณะที่เหาะอยู่สูงถึง ๗ ชั่วลำตาลนั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ต่างๆ มากกว่าร้อยแล้วจึงแสดงธรรม 

          ขณะที่แสดงธรรมอยู่นั้นท่านได้แสดงฤทธิ์ด้วย โดยบางครั้งทำให้คนเห็นตัวท่าน แต่บางครั้งก็ทำให้ไม่เห็น คงให้ได้ยินแต่เสียง หรือให้เห็นเพียงครึ่งตัว เสียงของท่านบางครั้งก็ได้ยินจากข้างบน บางครั้งก็ได้ยินจากเบื้องล่าง ท่านยังปรากฏกายให้เห็นเป็นรูปต่างๆ บางครั้งเป็นรูปพระจันทร์ บางครั้งเป็นรูปพระอาทิตย์ บางครั้งเป็นรูปภูเขา บางครั้งเป็นรูปมหาสมุทร บางครั้งเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ บางครั้งเป็นท้าวเวสสุวรรณ บางครั้งเป็นพระอินทร์ บางครั้งเป็นท้าวมหาพรหม ครั้นแสดงฤทธิ์และแสดงธรรมถวายตามพุทธประสงค์แล้ว ท่านก็ได้เหาะกลับลงมาถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้วเข้าไปประคองพระบาท พลางกราบทูลว่า 

             “ข้าแต่พระบรมศาสดา ข้าพระองค์สู้สร้างบารมีมาช้านานนับได้ ๑ อสงไขยกับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็ด้วยตั้งใจจะได้ถวายบังคมพระบรมบาท” 

          จากนั้นท่านได้กราบถวายบังคมลา พระพุทธเจ้าเสด็จออกมาส่งหน้าพระคันธกุฎี และตรัสบอกพระสาวกทั้งหลายในที่นั้นให้ไปส่งท่าน ครั้นถึงซุ้มประตูเชตวันมหาวิหาร ท่านบอกพระที่ตามมาส่งท่านให้กลับ พร้อมทั้งกล่าวสอนไม่ให้ประมาท 

          ท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเดินทางอยู่ ๗ วันก็ถึงอุปติสสคามบ้านเกิดของท่าน ที่เมืองนาลันทา แคว้นมคธ ท่านพร้อมด้วยคณะได้ยืนพักเหนื่อยอยู่ที่โคนต้นไทรใกล้ทางเข้าบ้านของท่าน และได้พบกับอุปเรวตะผู้เป็นหลานชาย จึงได้แจ้งความประสงค์ที่จะมาพักที่บ้านกับโยมมารดาให้หลานชายทราบ 

          ฝ่ายนางสารีโยมมารดาเมื่อได้ทราบว่า พระลูกชายพาพระบริวารมาเยี่ยม ก็รู้สึกดีใจเป็นกำลัง จึงสั่งคนงานในบ้านให้จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ จัดที่พักและตามประทีปไว้พร้อมสรรพ  
 

           และเมื่อได้ทราบว่าท่านประสงค์จะพักในห้องที่ท่านเกิด นางสารีก็จัดให้ตามประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันก็สงสัยอยู่ว่า ทำไมพระลูกชายจึงได้พาพระบริวารมามากมายเพียงนี้ หรือว่ามาเพื่อจะสึก
 

           เมื่อท่านพร้อมด้วยพระจุนทะและพระบริวารเข้าพักในสถานที่ที่โยมมารดาให้คนจัดให้ตามประสงค์แล้ว 

            ตกดึกคืนนั้นเองท่านได้เกิดป่วยเป็นโรคปักขันธิกาพาธ (ถ่ายจนเป็นเลือด) อย่างปัจจุบันทันด่วน ท่านได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส พระจุนทะและพระบริวารได้ช่วยกันพยาบาลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายโยมมารดาเห็นว่าท่านอาพาธหนัก จึงมาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง 

          ขณะนั้น เทวดาองค์สำคัญ ๆ ต่างมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านตามลำดับ คือ

          ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้แก่ ท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักข์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสุยามา ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นยามา ท้าวดุสิต ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดุสิต ท้าวสุนิมมิตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และท้าวปรนิมมิตวสวัดดี ผู้เป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัดดี รวมทั้งท้าวมหาพรหมแห่งพรหมโลก ชั้นสุทธาวาสก็ได้มาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วย
 

          เทวดาและท้าวมหาพรหมนั้นแต่ละองค์ล้วนมีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ต่างพากันมาเยี่ยมอาการป่วยของท่านด้วยความเป็นห่วงและด้วยความเคารพอย่างยิ่ง 

           นางสารีเห็นเหตุการณ์นั้นตลอด เมื่ออาการของพระเถระค่อยบรรเทาลง นางได้เข้าไปหาและสนทนาด้วย โดยได้ถามถึงเทวดาองค์สำคัญๆ ที่มาเยี่ยมซึ่งนางไม่ทราบว่าเป็นใคร ท่านได้บอกให้โยมมารดา ได้ทราบตามลำดับจนกระทั่งถึงท้าวมหาพรหม 

             “อุปติสสะ” โยมมารดาเรียกชื่อเดิมของท่านด้วยความอัศจรรย์ใจ

            “นี่ลูกของแม่ใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ” (โยมมารดาขณะนั้น นับถือท้าวมหาพรหมเป็นที่สุด

           “ใช่... โยมแม่” ท่านตอบรับ 

            ทันใดนั้น โยมมารดาก็เกิดปีติอย่างใหญ่หลวง สีหน้าเอิบอิ่ม เมื่อได้ทราบว่าพระลูกชายยิ่งใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมที่ตนเคารพ 

           อุปติสสะลูกชายของเรายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาของลูกชายเราเล่าจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน” 
 

ภาพ : http://www.supapong.th.gs/info.html


              นางสารีคิดไปถึงพระพุทธเจ้า พระเถระสังเกตดูโยมมารดาตลอดเวลา เมื่อเห็นว่าจิตใจเริ่มอ่อนโยน เหมาะจะรับน้ำย้อมคือคำสอนทางพระพุทธศาสนาได้ จึงเริ่มแสดงธรรมโปรด โดยพรรณนาถึงพระพุทธคุณนานาประการ

             อาทิว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระอรหันต์ห่างไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

             โยมมารดาฟังแล้วเลื่อมใสยิ่งนัก และเมื่อจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล มีดวงตาเห็นธรรม มีสัมมาทิฎฐิพ้นจากการเห็นผิด

              พระเถระได้ตอบแทนพระคุณโยมมารดาด้วยการตอบแทนที่ล้ำค่า คือให้พ้นจากความเห็นผิดที่มีมานานเสียได้ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญ

             ส่วนโยมมารดารู้สึกเสียดายเวลาที่ผ่านมาที่ไม่ได้สัมผัสอมตธรรม จึงพูดกับท่านเป็นเชิงต่อว่า ว่า 

             “ลูกรัก ทำไมจึงเพิ่งมาให้อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า” 

               หลังจากโยมมารดาได้ลากลับเข้าไปที่พักผ่อนแล้ว ท่านได้บอกพระจุนทะให้นิมนต์พระบริวารมาประชุมพร้อมกัน ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้สว่าง ท่านดูอิดโรยเต็มที แต่ถึงกระนั้นก็พยายามยันกายลุกขึ้นนั่ง โดยพระจุนทะคอยประคองอยู่ตลอดเวลา 

              “ท่านทั้งหลาย” พระเถระเอ่ยขึ้นด้วยน้ำเสียงแหบพร่า 

              “ผมกับท่านอยู่ด้วยกันมานานถึง ๔๔ ปี หากกายกรรมและวจีกรรมของผมอันใดไม่เป็นที่พอใจ ขอได้อภัยให้ผมด้วย” 

               “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ” พระบริวารกล่าวตอบ “พวกกระผมติดตามท่านมานาน ยังมองไม่เห็นกายกรรมและวจีกรรมอันใดของท่านที่ไม่เหมาะสมเลย แต่พวกกระผมสิจะต้องขอให้ท่านได้โปรดยกโทษในกายกรรมและวจีกรรมที่ไม่สมควร” 

             ท่านกับพระบริวารต่างกล่าวคำขอขมากันและกันแล้ว แสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าแล้ว เช้าวันนั้นเบญจขันธ์อันอ่อนล้าของ พระเถระก็ดับลงอย่างสนิท
 

             ท่านนิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ในห้องที่ท่านเกิด
 

            เทวดาและมนุษย์ได้พร้อมใจกันฌาปนกิจศพของท่านอย่างสมเกียรติ พระจุนทะนำผ้าขาวมาห่ออัฐิของท่านแล้วนำไปพร้อมทั้งบาตรและจีวร เพื่อมอบให้พระอานนท์นำไปถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงรับอัฐิของท่านแล้วโปรดให้สร้างสถูปบรรจุไว้ที่ใกล้ประตูเชตวันมหาวิหาร เพื่อให้พุทธบริษัทได้สักการะต่อไป 


◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●◎○●

 

เรียบเรียงจากที่มา : เฟซบุ๊กท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน

http://www.sahapatibat.org/articles/view/19