www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

เกร็ดความรู้ กฐิน : ความหมาย-อานิสงส์ -พระสงฆ์กับพิธีกรานกฐิน
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-11-07 15:56:44

ภาพ : watboonyawad.com


การทอดกฐิน
 
เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง

คำว่า กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง สะดวกแก่การเย็บ ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน

การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน

โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)
 

ผ้ากฐิน 
โดยความหมายก็คือผ้าสำเร็จรูปโดยอาศัยไม้สะดึง นิยมเรียกกันจนปัจจุบันนี้
 

การทอดกฐิน 
คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น
 

เขตกำหนดทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นกาลทาน ตามพระวินัยกำหนดกาลไว้ คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะทอดกฐิน ก็ให้ทอดได้ในระหว่างระยะเวลานี้ จะทอดก่อนหรือทอดหลังกำหนดนี้ ก็ไม่เป็นการทอดกฐิน


แต่มีข้อยกเว้นพิเศษว่า

ถ้าทายกผู้จะทอดกฐินนั้น มีกิจจำเป็น เช่นจะต้องไปในทัพ ไม่สามารถจะอยู่ทอดกฐินตามกำหนดนั้นได้ จะทอดกฐินก่อนกำหนดดังกล่าวแล้วพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงอนุญาตให้ภิกษะรับไว้ก่อนได้




#อานิสงส์หรือผลดีของการทอดกฐิน
.
ผลดีฝ่ายพระสงฆ์ผู้รับและกรานกฐิน
อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายพระ
สงฆ์ผู้รับและกรานกฐินมีดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ในวินัยปิฎกเล่ม ๕ หน้า ๑๓๖) ว่าภิกษุผู้กรานกฐินแล้วย่อ
มได้รับประโยชน์๕ ประการ
(๑) รับนิมนต์ฉันไว้แล้วไปไหนไม่ต้องบอกลาภิกษุในวัดตามความในสิกขาบทที่ ๖ แห่ง
อเจลกวรรค ปาจิตตีย์
(๒) ไปไหนไม่ต้องนำไตรจีวรไปครบสำรับ
(๓) เก็บผ้าที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษ ได้ตามปรารถนา
(๔) จีวรอันเกิดในที่นั้นเป็นสิทธิของภิกษุเหล่านั้น
(๕) ขยายเขตแห่งการทำจีวรหรือการเก็บจีวรไว้ได้จนถึงสิ้นฤดูหนาว (คือจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ
เดือน ๔ เป็นวันสุดท้าย)
.
ผลดีฝ่ายผู้ทอดและคณะ อานิสงส์หรือผลดีของฝ่ายผู้ทอดและคณะ มีดังนี้

(๑) ชื่อว่าได้ถวายทานภายในกาลเวลากำหนดที่เรียกว่ากาลทาน คือ ในปีหนึ่งถวายได้เพียงระยะเวลา ๑ เดือน เท่านั้น ในข้อถวายทานตามกาลนี้มีพระพุทธภาษิตว่า ผู้ให้ทานตามกาลความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลของผู้นั้นย่อมสำเร็จได้

(๒) ชื่อว่าได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผลัดเปลี่ยนผ้านุ่งห่มใหม่ แม้ผ้ากฐินนั้นจะตกแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ชื่อว่าได้ถวายแก่สงฆ์เป็นส่วนรวม มีพระพุทธภาษิตว่าผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้ผิวพรรณ

(๓) ชื่อว่าได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ส่งเสริมผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบให้เป็นหลักเป็นตัวอย่างแห่งคุณงามความดีของประชาชนสืบไป

(๔) จิตใจของผู้ทอดกฐินทั้ง ๓ กาล คือ ก่อนทอด กำลังทอด และทอดแล้วที่เลื่อมใสศรัทธาและปรารถนาดีนั้นจัดเป็นกุศลจิต คนที่มีจิตเป็นกุศลย่อมได้รับความสุขความเจริญ

(๕) การทอดกฐิน ทำให้เกิดสามัคคีธรรม คือ การร่วมมือกันทำคุณงามความดี และถ้าการถวายกฐินนั้นมีส่วนได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็เป็นการร่วมสามัคคี เพื่อรักษาศาสนวัตถุศาสนสถานให้ยั่งยืนสถาพรสืบไป



พิธีกรานกฐิน
เป็นพิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ หลังได้รับมอบผ้ากฐินแล้ว 

 คือ ภิกษุผู้ได้รับมอบผ้ากฐินนั้น นำผ้ากฐินไปทำเป็นไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เย็บ ย้อม แห้ง
เรียบร้อยดีแล้ว เคาะระฆัง ประชุมกันในโรงพระอุโบสถ ภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ถอนผ้าเก่าอธิษฐานผ้าใหม่ที่ตนได้รับนั้นเข้าชุดเป็นไตรจีวร



กฐินมีกำหนดระยะเวลาถวายว่ามีเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลาทอดกฐิน
 

การถวายผ้ากฐินนั้นจัดเป็นสังฆทาน คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยไม่เจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
เมื่อพิธีถวายเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะสงฆ์มอบให้พระภิกษุสองรูปสวด อุปโลกน์ (พิธี 'ยกให้')
แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งตามที่คณะสงฆ์ลงมติว่าสมควรที่จะรับผ้าผืนใหม่

 


พออุปโลกน์เสร็จแล้ว พระสงฆ์ชุดตัดผ้าเริ่มทำงาน

เพราะผ้ากฐิน (ซึ่งมักจะเป็นผ้าสบงเพราะเล็กที่สุดในผ้าไตร) ต้องถวายในวันนั้น

 


ตัดแล้วก็เย็บ ผ้าสบงแบ่งออกเป็นสองสามช้ิน เย็บเรียบร้อยแล้วก็ต่อเป็นชิ้นเดียวแล้วเย็บชายผ้า


เย็บผ้ากฐินแล้วก็ย้อมด้วยสีแก่นขนุน

 


ผ้าแห้งแล้ว คณะสงฆ์เข้าโบสถ์เพื่อประกอบสังฆกรรม มอบผ้ากฐินประจำปี

วันนี้ทุกรูปมีส่วนร่วมในงาน ตรงตามพุทธประสงค์ ให้งานทอดกฐินเสริมสร้างความสามัคคีของสงฆ์