เพราะความรู้เรื่องตัวกู มันไม่มี โดย พระพุทธทาสภิกขุ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-10-19 10:01:21
ตัวเองมันคืออะไร?
ตัวเองนี่คือสิ่งที่มันรู้จักได้ยากที่สุด ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าตัวเองมันต้องรู้จักตัวเอง แล้วตัวเองมันจะรู้จักตัวเองได้อย่างไร...มันเหมือนกับคนบ้าที่รู้จักตัวเองซึ่งกำลังบ้า มันจึงรู้จักยากที่สุด
รู้จักตัวเองนี่รู้จักได้ยากที่สุดกว่ารู้จักสิ่งใด ๆ ตัวเองที่คนโง่ ๆ ก็มักจะพูดว่า กูรู้จักมึงดี กูรู้จักตัวกูดี มันรู้จักผิด ๆ ทั้งนั้น...
เราจึงได้เห็นคนจำนวนมากนี่ทำผิด ๆ แล้วใครสอนก็ไม่เชื่อ กลับดื้อเสียอีก เขาแนะนำในทางที่ถูกต้อง มันก็ไม่เชื่อ มันก็ยิ่งดื้อดึงเอาเสียอีก นี่เพราะว่ามันไม่รู้จักตัวเอง ที่มันรู้อยู่นั้น หรือที่มันอวดว่ารู้อยู่นั้น มันไม่ถูกทั้งนั้นแหละ ถ้าว่ารู้จักตัวเองอย่างถูกต้องแล้ว จะทำอะไร ๆ ถูกต้อง ก็เป็นไปราบรื่น
สรุปความว่า ไอ้ตัวกู ตัวฉัน ตัวอะไรที่รู้สึกนั้น นี้เป็นตัวที่ลวงที่หลอกลวง คือ รู้ไม่จริง รู้สึกไม่จริง ถ้ายังมีความรู้สึกว่าตัวตน ตัวกู ตัวเรา ตัวเขา อยู่เมื่อไหร่ ก็ยังเรียกว่ายังโง่อยู่เพียงนั้น เพราะมันไม่อาจจะมีตัวตนได้ ตัวตนที่แท้จริงมีไม่ได้ นอกจากตัว ๆ เดียวเท่านั้น คือ ตัวธรรมะ ตัวสัจจะที่เป็นความจริงของธรรมชาติ นี่แหละตัวธรรมะ ไอ้ตัวนี่แหละจริง ไอ้ส่วนตัวตนตัวกูตัวเราตัวฉันตัวเขา ที่จิตมันรู้สึกคิดนึกได้ด้วยอำนาจของอวิชชานั้นไม่เป็นตัวจริง ไม่ใช่ตัวจริง มันเป็นตัวโง่ มันเป็นตัวมายา
เมื่อมันเป็นตัวที่ไม่จริงแล้วจะให้มันรู้จักตัวเองได้อย่างไรกัน มันเหลือวิสัย ที่จะให้ตัวที่ปรุงขึ้นมาจากอวิชชานี้รู้จักตัวมันเอง มันเป็นไปไม่ได้ นี่คำว่า ตัวเอง จึงเป็นคำประหลาด แทนที่ทุกคนจะรู้จัก มันกลายเป็นไม่รู้จัก มันไปรู้จักอันอื่นเสียมากกว่า ความคิดเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ก็เขียนเป็นคำกลอนไว้ว่า
สิ่งรู้จัก ยากที่สุด กว่าสิ่งใด
ไม่มี สิ่งไหน ๆ ได้ยากเท่า
สิ่งนั้น คือตัวเอง หรือตัวเรา
ที่คนเขลา หลงว่ากู รู้จักดี
ที่พระดื้อ เณรดื้อ และเด็กดื้อ
ไม่มีรื้อ มีส่าง อย่างหมุนจี๋
เพราะความรู้ เรื่องตัวกู มันไม่มี
หรือมี อย่างไม่มี ที่ถูกตรง
อันตัวกู ของกู ที่รู้สึก
เป็นตัวลวง เหลือลึก ให้คนหลง
ส่วนตัวธรรม เป็นตัวจริง ที่ยิ่งยง
หมดความหลง รู้ตัวธรรม ล้ำเลิศตน
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา บรรยายธรรม เรื่อง ความว่างและตำรายาแก้โรควุ่น กัณฑ์ 3
ปี ๒๕๒๐ รหัส 1215200601031
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ที่มา : เฟซบุ๊ก หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ : Buddhadasa Indapanno Archives