"แม่" พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-08-11 16:04:35
ในบรรดาคำพูดของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด คำว่า "แม่" ดูจะเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่มีมนต์ขลัง มีความหมายกินใจอย่างลึกลับและลึกซึ้งมากที่สุด เพราะอะไร?
ทุกคนย่อมมี "แม่" ผู้ให้กำเนิดเป็นเพื่อนเราคนแรกในโลกทีเดียว องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็น "ครู" ที่เราเคารพและยึดมั่นในพระปัญญาคุณ พระกรุณาธิคุณและพระบริสุทธิคุณ แม้ว่าท่านจะเสียพระพุทธมารดาตั้งแต่ประสูติได้ 7 วัน ท่านคงจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับแม่ไม่ต่างจากบุคคลอื่นสังเกตได้จากคำสอนในพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับแม่ทั่วๆ ไปที่จะยกขึ้นมา ก่อนที่จะกล่าวถึงแม่ "แม่" ของข้าพเจ้าคนเดียว
ภาพ: http://library.stou.ac.th/ODI/queen-and-edu/page_3.html
พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับแม่ไว้หลายครั้ง บ้างก็เอ่ยถึงพ่อแม่ควบกันไป บ้างก็เอ่ยเฉพาะแม่โดดๆ เช่นในโสณนนทชาตกมีคาถาที่กล่าวไว้ว่า
สุหทา มาตา มารดาเป็นผู้ใจดี
ชยนฺตี มาตา มารดาเป็นผู้ให้เกิด
โปเสนฺตี มาตา มารดาเป็นผู้เลี้ยงดู
โคเปนฺตี มาตา มารดาเป็นผู้คุ้มครองรักษา
วิหญฺญนฺติ มาตา มารดาเป็นผู้เดือดร้อนเป็นห่วงเป็นใย
อนุกมฺปกา ปติฎฐา จ ปุพฺเพ รสทที จโน มคฺโค สคฺคสฺส โลกสฺส
มารดาเป็นผู้เอ็นดู เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ให้รส (น้ำนม) มาก่อน เป็นทางแห่งโลกสวรรค์
ในสคาถวคฺด มีว่า มาตา มิตฺตํ สเก ฆเร มารดา เป็นมิตรในเรือนของตน
สพฺรหฺมสุตฺต มีความว่า พฺรหฺมาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจน ํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า พรหมนี้เป็นชื่อของมารดาบิดา ปุพฺพเทวาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจน ํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่า บุพพเทพเป็นชื่อของมารดาบิดา ปุพฺพาจริยาติ ภิกฺขเว มาตาปิตูนเมตํ อธิวจน ํ ภิกษุทั้งหลาย คำว่าบุพพาจารย์เป็นชื่อของมารดาบิดา
จริงอยู่ ข้าพเจ้ามีแม่ที่มีคุณธรรมตรงกับพุทธภาษิตที่ยกขึ้นข้างต้นทุกประการ แต่ท่านมีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งหมายความว่า ท่านเป็น "แม่" ของคนทั้งชาติ แล้วก็เป็นแม่ "ส่วนตัว" ของข้าพเจ้าด้วย ทำให้เขียนเรื่องยากขึ้นอีก ทางที่ดีก็เลือกลักษณะอะไรเด่นๆ มาพูดสักอย่างเดียว คิดดูแล้วตกลงว่าจะเขียนถึงท่านในแง่เป็นบุพพาจารย์หรือเป็นครูคนแรก
คุณยายเล่าให้ฟังเสมอว่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ สมเด็จแม่กับน้า โปรดปรานการเล่นครูนักเรียนกับเด็กที่บ้าน โดยท่านจะเป็นครูและให้เด็กคนอื่นเป็นนักเรียน สมเด็จแม่ทรงมีวิธีการสอนหนังสือที่ดีอยู่แล้ว เด็กๆ ทั้งหลายจึงชอบเป็นลูกศิษย์ท่านกัน จนกระทั่งน้าร้องไห้เพราะไม่มีใครไปโรงเรียนของน้า ร้อนถึงคุณยายต้องมาเป็นตระลาการตัดสินคดีให้แบ่งเด็กไปเข้าโรงเรียนของน้าบ้าง
เมื่อการเป็นเช่นนี้ ก็ไม่เป็นการยากสำหรับท่านเลยในการที่จะสั่งสอนและสอนหนังสือลูกๆ ด้วยพระองค์เอง ตอนเล็กๆ ท่านสอนให้พับกระดาษ เขียนรูปและทำการฝีมือต่างๆ โดยถือแนวว่าคนเราไม่ควรปล่อยเวลาว่างผ่านไปโดยไรประโยชน์ ถ้าเรานั่งดู ที.วี. วันเสาร์อาทิตย์เฉยๆ โดยมือไม้ไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์เป็นโดนกริ้ว
ตอนบ่ายๆ ท่านไล่ให้ลงไปวิ่งเล่นข้างล่าง เพราะเด็กๆ ควรได้อากาศบริสุทธิ์ โตขึ้นท่านจะให้มีหน้าที่ดูแลสนาม ถอนหญ้าแห้วหมู และคอยตัดหญ้ากับต้นข่อยที่ดัดเป็นรูปต่างๆ เป็นการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์
พอค่ำลงเราก็ขึ้นมารับประทานอาหาร ตอนอาหารนี้ถ้าว่างพระราชกิจ สมเด็จแม่มักจะอยู่ด้วย ประการแรกท่านจะได้ดูว่ารับประทานที่มีคุณค่าทางอาหารพอหรือไม่ ประการที่สอง ดูมารยาทโต๊ะ และประการที่สาม เป็นข้อที่พี่น้องทุกคนรวมทั้งพี่เลี้ยงชอบที่สุด คือท่านจะเลือกหนังสือดีๆ สนุกๆ มาเล่าให้ฟัง หนังสือที่ท่านเอามาเล่าบางทีก็เป็นนิทานธรรมดาๆ หรือนิทานเรื่องชาดกในพุทธศาสนา บางทีก็เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ และความรู้รอบตัวอื่นๆ บางครั้งเป็นข่าวจากหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ตอนหลังๆ นี้ท่านชอบอ่านเป็นภาษาอังกฤษให้เราหัดฟังภาษาด้วย นานๆ ที่ก็อาจจะมีการถามปัญหาทวนความจำ ถ้าตอบถูกมักมีรางวัลเงินสด ๑ บาท เป็นที่ขบขันกันในครอบครัวว่าหนังสือธรรมดาๆ ที่น่าเบื่อที่สุดในโลก พอสมเด็จแม่เล่ามันสนุกตื่นเต้นมีรสมีชาติขึ้นมาทันที
ภาพ: http://library.stou.ac.th/ODI/queen-and-edu/page_3.html
ท่านจะเน้น ระบายสี หยิบยกจับความที่น่าสนใจขึ้นมาเล่า (ทูลหม่อมพ่อยังโปรดฟัง) ทำให้จำง่ายไม่ต้องท่อง เรื่องนี้มีความลับอย่างหนึ่ง (ที่เปิดเผยได้แล้ว) ว่า บางทีข้าพเจ้าขี้เกียจอ่านหนังสือเพราะเรียนเยอะแยะ ก็อาศัยจำเอาจากที่สมเด็จแม่เล่า นำมาวิจารณ์เพิ่มเติม แล้วใช้ตอบข้อสอบ หรือเขียนรายงานส่งครูสบายๆ
เรื่องนิทานของสมเด็จแม่มีเรื่องที่น่าตื่นเต้น คือเรื่องผี แต่ก่อนนี้พี่เลี้ยงไม่ยอมเล่าเรื่องผี พอไปโรงเรียนเพื่อนๆ ก็มาหลอก สมเด็จแม่ท่านว่า ถ้ามานั่งอธิบายว่าผีไม่มีจ้างก็ไม่เชื่อ ท่านจึงสำทับโดยการเล่าเรื่องผีที่น่ากลัวกว่าให้เข็ด
เมื่อตอนเล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนประถม ท่านสอนภาษาไทย โดยการให้อ่านวรรณคดีเรื่องยืนโรงสามเรื่องคือ พระอภัยมณี อิเหนา และรามเกียรติ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอิเหนา ท่านให้ท่องกลอนตอนที่เพราะๆ เช่น ว่าพลางทางชมคณานก โผนผกจับไม้อึงมี่ ฯลฯ
คงจะเป็นเพราะได้อ่านกลอนมาแต่เล็กๆ ทำให้ข้าพเจ้าชอบเรียนวรรณคดีไทย ชอบแต่งกลอน
ตอนเด็กๆ ข้าพเจ้าเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างจะอ่อนและหนีเรียนอยู่เสมอ หลังจากฟังพระบรมราโชวาทของทูลกระหม่อมพ่อเรื่อง "ทำไมคนเราต้องเรียนภาษาอังกฤษ" แล้วสมเด็จแม่ก็ค่อยๆ เริ่มสอนศัพท์อังกฤษให้ท่องให้อ่านหนังสือตามลำดับยากง่าย จนเดี่ยวนี้พอจะส่งภาษาฝรั่งมังฆ้องมังค่าได้
นอกจากจะเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้วสมเด็จแม่ยังทรงจัดให้ลูกๆ เรียนพิเศษวิชาต่างๆ มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งภาษา เลข ดนตรี วาดรูป และแม้ว่าท่านไม่นิยมความฟุ่มเฟือย (ข้าวของทุกอย่างต้องใช้อย่างประหยัด) เรื่องการใช้จ่ายในเรื่องการเล่าเรียน การซื้อหนังสือ ท่านจ่ายอย่างไม่อั้น เพราะวิชาความรู้ทำให้เราสามารถทำงานช่วยคนหมู่มาก ช่วยบ้านเมืองได้ สมบัติใดๆ ย่อมไม่ประเสริฐเท่าการกระทำคุณงามความดี เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและวิชาความรู้
ภาพ: http://library.stou.ac.th/ODI/queen-and-edu/page_8.html
ตอนระยะหลังมานี้ พระราชกิจมีมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ในด้านการดูแลความเรียบร้อยของสถานที่ เวลามีใครมาเฝ้าฯ จนกระทั่งความเป็นอยู่ของราษฎร เวลาเสด็จออกเยี่ยมราษฎรทูลกระหม่อมพ่อมักจะทรงเป็นผู้แนะนำในทางด้านการชลประทาน การเกษตรเป็นส่วนใหญ่
เมื่อทรงพบคนเจ็บ ทั้งทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่จะทรงให้หมอในขบวนเสด็จตรวจดูถ้าป่วยมาก โปรดฯ ให้เข้าโรงพยาบาล และให้การศึกษาแก่คนที่อยากเรียนแต่ไม่มีทุน
พระราชดำริที่สำคัญของสมเด็จแม่ในเรื่องของราษฎร คือการสนับสนุนอาชีพนอกจากการทำเกษตรกรรม บางปีการเพาะปลูกจะไม่ได้ผลดีนัก ด้วยดินฟ้าอากาศไม่อำนวย เกษตรกรต้องเดือดร้อน บ้างก็ต้องทิ้งบ้านช่องไร่นาเข้าหางานทำที่อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้ามาทำงานในเมือง ดังนั้นเขาควรจะมีงานทำเพื่อเพิ่มพูนรายได้ สมเด็จแม่ทรงมีพระราชดำริว่า งานอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นงานที่เหมาะสมมาก คนไทยเราเป็นผู้ที่มีฝีมือในทางการช่าง มีหัวทางศิลปอยู่แล้วจึงสนับสนุนได้ไม่ยาก ก็โปรดเกล้าฯ สนับสนุนงานที่เหมาะสมกับแต่ละภาค เช่น การทอผ้า การจักสาน การทำตุ๊กตาไทย เป็นต้น
ภาพ: http://library.stou.ac.th/ODI/queen-and-edu/page_7.html
การส่งเสริมนั้นได้ทรงส่งข้าราชบริพารให้เข้าไปติดตามซื้อผลผลิตมาด้วยราคาที่เหมาะสม พระราชทานวัตถุดิบในการผลิตด้วย ของที่นำมาเช่น ผ้ามัดหมี่ ก็ทอดพระเนตร ควบคุมคุณภาพ และจ่ายงานให้ผู้ผลิตด้วยพระองค์เอง โปรดการใช้สอยของที่ผลิตในประเทศไทย บางอย่างแม้ว่าจะแพงหน่อยถ้าเรามีสตางค์แล้วก็ควรจะจ่าย เช่น เราตัดเสื้อสักตัว คนที่ทอผ้าก็ได้เงิน แล้วต่อมาเจ้าของร้านตัดเสื้อลูกมือลูกจ้างอีกหลายคนก็ได้ด้วย เป็นการกระจายรายได้และป้องกันปัญหาการว่างงานด้วย
เรื่องอื่นที่สมเด็จแม่พระราชทานพระราชดำริมีอีกหลายเรื่องที่สำคัญๆ คือ การจัดตั้งมูลนิธิสายใจไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสนองคุณผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันประเทศชาติ การจัดละครรักชาติ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปแล้ว ในระยะหลังๆ แม้ว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษภาษาไทยกับท่านบ่อยอย่างแต่ก่อน แต่ก็ได้ศึกษาเรียนรู้ทัศนคติอันเป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมาก ยังเป็นครูที่ดีทีเดียว
ถึงแม้ว่าสมเด็จแม่จะทรงมีความคิดต่างๆ มากมาย และทรงบ่นเก่งเมื่อพวกเราทำผิด (ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร) ก็ทรงมีน้ำพระทัยกว้างขวางที่จะยอมรับฟังความคิดของลูกๆ จริงอยู่ท่านไม่พอพระทัยถ้าเรา "เถียง" แต่ถ้าเป็นการ "ออกความเห็น" อย่างสุภาพก็ไม่ทรงว่าอะไรจะดีพระทัยเสียอีก ว่าเรารู้จักคิดเหตุผล
เรื่องของแม่มีอยู่มากมายเกินกว่าจะกล่าว นับว่าข้าพเจ้าเป็นผู้โชคดีที่มีทั้งพ่อและแม่ที่เป็นแนวทางให้ยึดถือได้อย่างภาคภูมิใจ ที่เขียนเรื่องนี้มิได้ตั้งใจอวดโม้ แต่เป็นเพียงบันทึกความทรงจำเล็กๆ น้อยๆ บางประการเท่านั้น