พูดอำเล่น ก็ไม่ควร -- "ราหุโลวาท" พระพุทธเจ้าทรงอบรมพระราหุล
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-07-17 18:51:08
ราหุโลวาท เป็นพระสูตรโอวาทที่พระพุทธเจ้าทรงอบรมพระราหุล เพื่อสอนให้ไม่อำกันเล่น แม้จะเป็นเรื่องล้อเล่นสนุกสนานเฮฮา ดังว่า "เธอพึงศึกษาว่า เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น"
เพราะเหตุใดการอำกันเล่น จึงถือว่าไม่ควรทำ ?
เนื่องจากการพูดล้อเล้น เป็นการแสดงออกของจิตที่หวั่นไหวไม่สงบใจ ถึงแม้จะมีความสนุกสนานระคนอยู่ด้วย แต่ก็ทำให้จิตนั้นไม่ได้พูดในสิ่งที่เป็นธรรม ในสิ่งที่เป็นจริง ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์อนาคต เป็นต้น
จากเหตุผลข้างต้น พระพุทธเจ้าพระองค์ท่านได้ทรงอุปมาด้วยการเข้าสงครามของช้าง ช้างที่เข้าสงคราม แม้จะสูญเสียอวัยวะใดๆ แต่หากไม่สูญเสียงวง ช้างก็ยังรักษาชีวิตได้ ในทางตรงกันข้าม หากช้างสูญเสียงวง เพียงอย่างเดียว ก็ชื่อว่า ชีวิตย่อมสิ้นไปแล้ว รักษาไม่ได้แล้ว
เช่นเดียวกัน คนเรา ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็ตาม ก็ยังไม่สูญเสียรากฐานกุศลของตนเองเท่ากับการโกหก เมื่อโกหกแล้ว ก็ชื่อว่าได้สูญเสียรากฐาน ของตัวเองในกุศลธรรมเสียแล้วนั่น
ที่มา : ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก; วัดบวรนิเวศวิหาร
แต่ก็มีพระสูตรบางพระสูตรที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระราหุลที่พระเวฬุวัน ซึ่งท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าโปรดให้บวชพระราหุลนั้น พระราหุลมีชันษาได้เพียง ๗ พรรษาและเมื่อได้ทรงนำมาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันกรุงราคฤห์ ก็ได้ทรงอบรมราหุลสามเณรอยู่เสมอ
คำอบรมในระหว่างที่ราหุลสามเณรมีพระชนม์ ๗ พรรษานั้น ท่านร้อยกรองไว้เป็นพระสูตรหนึ่ง เรียกว่า ราหุโลวาท ซึ่งแปลว่า โอวาทแก่พระราหุล มีเล่าไว้ว่า พระราหุลได้ประทับอยู่ที่เรือนชั้นอันชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา ที่ตอนสุดของพระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าดเสด็จไปประทานพระโอวาทอบรม เตือนให้พระราหุลศึกษา ๒ ข้อ คือ
๑. ให้ศึกษาว่า จะไม่พูดเท็จแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น
๒. ให้ศึกษาว่า จะปัจจเวกข์ คือ พิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์
ข้อความละเอียดในพระสูตรนี้มีเล่าว่า เมื่อเสด็จพระพุทธดำเนินไปถึง พระราหุลก็ได้ปูอาสนะ ได้เตรียมน้ำล้างพระบาท และก็ได้ล้างพระบาทถวาย พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งแล้วก็ตรัสให้พระราหุลดูน้ำที่เหลืออยู่ในภาชนะที่ใช้เทล้างพระบาทนั้น ซึ่งมีเหลืออยู่น้อย ตรัสเปรียบเทียบว่า
“ความละอายในเพราะสัมปชานมุสาวาท คือ พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด
สมัญญะ คือ ความเป็นสมณะ ของผู้นั้นก็มีน้อย เหมือนอย่างน้ำที่มีเหลืออยู่น้อยในภาชนะน้ำนั้น”
แล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลเทน้ำทิ้งให้หมด ตรัสโอวาทต่อไปว่า
“ความละอายในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด
ความเป็นสมณะของผู้นั้น ก็ต้องถูกทิ้งเสียแล้ว
เหมือนอย่างน้ำในภาชนะน้ำที่เขาทิ้งเสียหมด”
แล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลคว่ำภาชนะน้ำ แล้วทรงสั่งให้พระราหุลหงายภาชนะน้ำนั้น ก็เป็นภาชนะน้ำที่ว่างเปล่า ก็ตรัสโอวาทสืบต่อไปอีกว่า
“ความละอายในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด
ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็ว่างเปล่า
เหมือนอย่างภาชนะน้ำที่หงายขึ้นว่างเปล่า ฉะนั้น”
ต่อจากนั้น ก็ตรัสอุปมาอีกข้อหนึ่งว่า
เหมือนอย่างช้างศึกของพระเจ้าแผ่นดินที่ฝึกหัดไว้เป็นอย่างดี ขึ้นระวางแล้วออกสงครามก็ทำการรบ ทำหน้าที่ออกศึก ด้วยเท้าหน้าทั้งสอง ด้วยเท้าหลังทั้งสอง ด้วยศีรษะ ด้วยหู ด้วยงวง ด้วยหาง
แต่ว่าถ้ายังรักษางวงอยู่ ยังไม่ใช้งวงในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ชื่อว่ายังมิได้สละชีวิตเพื่อพระเจ้าแผ่นดิน ต่อไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยงวงอย่างหนึ่ง จึงชื่อว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างบริบูรณ์ และก็ไม่มีอะไรที่ช้างนั้นมิได้ทำ
ฉันใดก็ดี ถ้าไม่มีความละอายที่จะพูดเท็จทั้งรู้ ก็กล่าวไม่ได้ว่าจะไม่ทำบาปอะไร ๆ แต่ถ้ามีความละอายอยู่ในอันที่จะพูดเท็จทั้งรู้ งดเว้นจากการพูดเท็จเสียได้ จึงจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้ไม่ทำบาป.
เมื่อได้ตรัสโอวาทดั่งนี้แล้ว จึงสรุปให้พระราหุลศึกษา จะไม่พูดเท็จ แม้เพื่อจะหัวเราะเล่น.
ต่อจากนั้นได้ทรงสอนให้พระราหุล ปัจจเวกข์ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ได้ทรงชักวัตถุอย่างหนึ่งมาเปรียบเทียบ คือ
“ตรัสถามว่า แว่นส่องมีประโยชน์อะไร”
“พระราหุลก็กราบทูลว่า มีประโยชน์เพื่อจะปัจจเวกขณ์ คือ ว่าได้ตรวจดูหน้าตาเป็นต้น”
พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานพระโอวาทสืบต่อไปว่า
ควรที่จะปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาก่อนแล้วจึงทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อคิดปรารถนาจะทำ จะพูด จะคิด ก็ให้ปัจจเวกขณ์ก่อนว่า เราจะทำ จะพูด จะคิด อย่างนี้ แต่ว่าการทำ พูด คิด อย่างนี้เป็นอย่างไร
เมื่อปัจจเวกขณ์แล้ว รู้ว่า การทำ การพูด การคิด อย่างนี้ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เป็นอกุศล มีทุกข์โศกเป็นกำไรเป็นผล
เมื่อรู้ดังนี้แล้วก็ไม่ควรทำ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น ต่อเมื่อได้ปัจจเวกขณ์แล้วก็รู้ว่าไปตรงกันข้าม คือ การทำ การพูด การคิดนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนดังกล่าว เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรเป็นผล เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จึงควรทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น
อนึ่ง เมื่อกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอยู่ ก็ให้ปัจจเวกขณ์ว่า บัดนี้เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอย่างนี้ แต่ว่าการทำ การพูด การคิดอย่างนี้ เป็นอย่างไร เมื่อปัจจเวกขณ์ก็จะรู้ เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนไม่ดี ก็ให้เลิกเสีย เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนดี ก็ให้ทำเพิ่มเติมต่อไป
อนึ่ง ทำ พูด คิด มาแล้วก็ให้ปัจจเวกขณ์เหมือนกันว่า เราได้ทำ พูด คิด อย่างนี้มาแล้ว แต่ว่าการทำ การพูด การคิดของเรานั้น เป็นอย่างไร เมื่อรู้ว่าไม่ดี แต่ว่าทำไปแล้ว ก็ให้แสดงเปิดเผยในพระศาสดาหรือในสหพรหมจารีซึ่งเป็นวิญญูชน คือ เป็นผู้รู้และถึงความสังวรเพื่อจะไม่ทำอีกต่อไป
เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนดี ก็ให้เป็นผู้มีปีติความอิ่มใจปราโมทย์ความบันเทิงอยู่ และตามศึกษาสำเหนียกอยู่ในธรรมที่เป็นส่วนกุศลทั้งหลายทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน.
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปต่อไปว่า
สมณพราหมณ์ในอดีต ปัจจเวกขณ์ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมมาอย่างนี้
ในอนาคตก็จักได้ปัจจเวกขณ์ชำระอย่างนี้ ในปัจจุบันก็พิจารณาชำระอย่างนี้
ในที่สุดก็ตรัสเตือนให้พระราหุลศึกษาเป็นข้อที่ ๒ คือ ให้คอยปัจจเวกขณ์กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
พระสูตรนี้เรียกว่า อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร ตามชื่อของเรือนนั้น ชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา หรือเรียกว่า จุลราหุโลวาทสูตร พระสูตรที่แสดงพระโอวาทแก่พระราหุลซึ่งเป็นสูตรเล็ก เพราะเมื่อพระราหุลมีอายุมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทอย่างอื่นต่อไป
*******************************************
ที่มา :
-- http://topicstock.pantip.com/siam/topicstock/2010/11/F9936653/F9936653.html
-- http://www.phuttha.com/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2/%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B8%E0%B8%A5
ภาพประกอบ
www.dhammajak.net
trang82.wordpress.com