www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ฤดูกาลกับวันเข้าพรรษา : เดือน ๘ สองหนคืออะไร ? ทำไมต้องเดือน ๘?
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-07-17 17:52:27

 

 

 

ฤดูกาลกับวันเข้าพรรษา : เดือน ๘ สองหนคืออะไร ? ทำไมต้องเดือน ๘? 


ความพิเศษของปีอธิกมาส หรือปีที่มีเดือน ๘ สองหน

        กำหนดกันว่า ปีอธิกมาสทางจันทรคติ ซึ่งมีเดือน ๘ สองหน ทำให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาได้เลื่อนไปไม่เหมือนทุกปี

       เช่น วันมาฆบูชาของไทย ได้เลื่อนไปอยู่ ณ วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔             
            วันวิสาขบูชาซึ่งโดยปกติจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ แต่ในปีที่มีเดือน ๘ สองหน ให้เลื่อนไปอยู่ในเดือน ๗ แทน โดยถือว่าเดือน ๘ หนหลังเป็นเดือน ๘ ที่แท้จริง ส่วนเดือน๘ หนแรก ก็จะมีค่าเท่ากับเดือน ๗

             วันเข้าพรรษา ได้เลื่อนไปเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง (๘๘) แทน 

 

 

เข้าพรรษา กับฤดูกาล : ทำไมจึงเกิดเดือน ๘ หน้า ๘ หลัง ? 
 

         เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดพุทธบัญญัติข้อหนึ่งที่มอบให้กับเหล่าพระสงฆ์ก็คือ “การเข้าพรรษา”

        โดยเริ่มต้นในวันถัดจากขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นั่นคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งตรงกับต้นฤดูฝน
 

        จุดประสงค์: เพื่อให้บรรดาสงฆ์ได้อยู่ประจำสถานที่เป็นเวลา ๓ เดือนของปฏิทินจันทรคติ เพื่อใช้เวลาช่วงนี้ศึกษาทบทวนเนื้อหาของธรรมะ และไม่ไปรบกวนชาวบ้านที่กำลังเริ่มต้นทำการเพาะปลูก อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำพืชพรรณและสัตว์เล็กๆที่อยู่ตามพื้นดิน 
 

      จะเห็นได้ว่าพุทธบัญญัตินี้ ผูกมัดเงื่อนไขไว้ ๒ ข้อ คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ และต้นฤดูฝน
 

      ตอนเริ่มต้นใหม่ๆในปีแรกๆก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ครั้นย่างเข้าปีที่สี่ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ร่นเข้าไปอยู่ในฤดูแล้ง (ราวๆเดือนเมษายน) แทนที่จะเป็นฤดูฝน เป็นเหตุให้วันออกพรรษาร่นเข้ามาเป็นต้นฤดูฝน ผิดวัตถุประสงค์ของพุทธบัญญัติ
 

      ปัญหา :  หากยึดเฉพาะปฎิทินจันทรคติ ช่วงเข้าพรรษาที่ควรจะเป็นหน้าฝน ก็จะมาตรงกับหน้าร้อนบ้างหน้าหนาวบ้าง นั่นเพราะปฏิทินจันทรคติไม่สามารถใช้อ้างอิงกับฤดูกาลได้เลย
 
 

      แนวทางแก้ไขของปราชญ์โบราณ:
 

        จึงมีการปรับชดเชยระหว่างปฏิทิน “ จันทรคติ” กับ ปฏิทิน “ สุริยะคติ”
 

         เนื่องจากรอบปีของดวงจันทร์ (Lunar month) เร็วกว่ารอบปีของดวงอาทิตย์ (Solar month) ประมาณปีละ ๑๑ วัน แต่ฤดูกาลต่าง ๆ ที่เกิดบนโลกมาจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ที่ทำมุมตกกระทบกับพื้นผิวโลกในองศาที่แตกต่างกัน หากยึดเฉพาะของจันทรคติ จะทำให้เริ่มผิดจากฤดูกาลจริง
 

         วิธีการชดเชย  
          จะมี ๒ วิธีคือ เดือนพิเศษและวันพิเศษ      
    
       ๑. เดือนพิเศษ - ปีปกติจะมี ๑๒ เดือนเรียกว่าปีปกติมาส                
          ปีที่มีการเพิ่มเดือนแปดเป็นสองหนจะเรียกว่าปีอธิกมาส ทุกๆ ๒-๓ ปี จะเพิ่มเดือนจันทรคติเข้าไปอีก ๑ เดือน โดยให้เพิ่มที่เดือน ๘ มีสองครั้ง เรียกว่าเดือน “แปดหน้าและแปดหลัง” หรือ “แปดสองหน”
 

           และเริ่มเข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ ของเดือนแปดหลัง หากปีนั้นมี เดือน ๘ สองครั้ง เพื่อทำให้การเข้าพรรษาอยู่ในช่วงเวลาของต้นฤดูฝนตรงตามพุทธบัญญัติ            
 

            ๒. วันพิเศษ - ปกติแล้วเดือนคี่จะมี ๒๙ วันคือไม่มีแรม ๑๕ ค่ำ เดือนคู่จะมี ๓๐ วัน เรียกว่าปีปกติวาร ในบางปีจะมีการเพิ่มวันพิเศษ คือเดือนคี่จะมี ๓๐ วัน (มีแรม ๑๕ ค่ำด้วย) เรียกว่าปีอธิกวาร

 

ที่มาของสูตรการปรับดังกล่าว :

              อาณาจักรโบราณ เช่น บาบิโลน และกรีก มีสูตรชดเชยระหว่างปฏิทินจันทรคติกับปฏิทินสุริยะคติอยู่แล้ว เพราะอาณาจักรเหล่านั้นก็มีประเพณีที่ต้องปฏิบัติตามฤดูกาลเช่นกัน  

               นักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อว่า "เมตั้น แห่งกรุงเอเธน" ได้ประกาศใช้สูตรนี้อย่างเป็นทางการเมื่อ ปี 432 BC (432 ปี ก่อนคริสตกาล) แต่ชาวบาบิโลนใช้สูตรนี้มานานก่อนหน้าท่านเมตั้น 
 

              ภาษาวิชาการทางดาราศาสตร์เรียกว่า Intercalation หรือ Metonic Cycle กำหนดให้เพิ่มเดือนจันทรคติ ๗ ครั้ง ในรอบ ๑๙ ปี
 

              ถ้าปีไหน เกิดปรากฏการณ์เดือนทางจันทรคติขาด จะกำหนดให้เป็น “ปีอธิกมาส” และ ให้เพิ่มเดือนที่ ๑๓ เข้ามา เพื่อให้ ชดเชยวันที่หายไป  
 

              ทีนี้ จะเห็นว่าปีอธิกมาสนั้น สมควรจะเกิดทุกๆ ๓ ปี หรือคือ ๖ ครั้งใน ๑๘ ปี แต่ว่าถ้าคำนวนแบบละเอียด ๆ แล้วจะพบว่า ปีอธิกมาสจะเกิด ๗ ครั้งใน ๑๙ ปี (ทุก ๓ ปีบ้าง ทุก ๒ ปีบ้าง)

 

สูตรทางปฏิทินพุทธของไทย:

         ใช้วิธีพิจารณาที่วันออกพรรษา หากวันดังกล่าวร่นขึ้นมาอยู่ที่ต้นเดือนตุลาคมและทำท่าจะร่นเข้าไปในเดือนกันยายนของปีต่อไป ก็กำหนดให้ปีที่จะถึงมี ๘ สองหน เรียกว่า “ อธิกมาส” 

           อธิก แปลว่า เกิน หรือ เพิ่ม          
           มาส แปลว่าเดือน         
           รวมความแปลว่า เพิ่มเดือน หรือ มีเดือนเกิน  
 

ทำไมต้องเป็นเดือน ๘ ?

         ทั้งนี้ก็ด้วยเดือนแปด เป็นเดือนที่เริ่มเข้าสูฤดูฝน เข้าสู่ฤดูของการทำนา ซึ่งเป็นสิ่งหลักของชาวไทยแต่โบราณ  ฉะนั้นเดือนแปดจึงมีความสำคัญ ต่อการกำหนดน้ำฟ้าน้ำฝน กำหนดฤดูการทำนา

        หากปีเคลื่อนเดือนคล้อย ก็จะมีผลกระทบต่อข้าวในนา ฉะนั้น เมื่อเดือนคลาดเคลื่อนไปและจะเติมเดือน จึงต้องเติมเดือนแปดด้วยประการฉะนี้แล
 

ความเชื่อโบราณ : “๘ สองหน ฝนมาช้า”

          ความเชื่อของคนโบราณเชื่อว่า หากมีเดือน ๘ สองหน มักจะเกิดฝนแล้ง หรือมีความแห้งแล้งมาก ทำนายากนั้น ซึ่งสาเหตที่แท้จริงนั้น คาดว่า น่าจะเกิดเพราะฝนตามฤดูกาล จะมาช้าในเดือน ๘ หลัง ชาวบ้านมักเชื่อว่า ฝนน่าจะมาในเดือนกันยายน-ตุลาคม 

 

ฤดูกาลที่แตกต่าง ของเข้าพรรษา ในไทยและในต่างประเทศ           

           ปัจจุบันศาสนาพุทธเผยแผ่ไปหลายประเทศเกือบทั่วโลก พุทธบัญญัติข้อนี้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเพราะประเทศที่อยู่ซีกโลกด้านเหนือ กับประเทศที่อยู่ซีกโลกด้านใต้ มีฤดูกาลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

           เช่น เดือนกรกฎาคม - กันยายน เป็นฤดูฝนของประเทศไทย แต่เป็นฤดูแล้งของประเทศออสเตรเลีย พระสงฆ์ที่วัดไทยในประเทศออสเตรเลีย จึงต้องจำใจเข้าพรรษาในฤดูแล้งและออกพรรษาในต้นฤดูฝนพอดี  
 

          ศาสนาคริสต์ก็พบนี้ปัญหาเช่นกัน วันคริตส์มาสของพวกเขาที่ออสเตรเลียต้องฉลองท่ามกลางความร้อนระอุของอากาศ เพราะวันที่ ๒๕ ธันวาคม เป็นฤดูร้อนสุดๆเพิ่งจะเลยวัน “ ครีษมายัน” (Summer solstice) ไปเพียง ๔ วัน ท่านซานต้าเลยต้องเหลือเพียงกางเกงขาสั้นตัวเดียว ผิดกับซานต้าในประเทศแถบยุโรปที่แต่งตัวด้วยชุดใหญ่ 

 

 ************************************


 

เนื้อหาเรียบเรียงจาก : 

-- http://www.oknation.net/blog/spj/2010/05/07/entry-1
-- https://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080213022645AAKOHsU
-- http://pantip.com/topic/33870834
-- http://www.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=524728
-- https://trang82.wordpress.com/2012/05/04/%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
--  https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2
-- http://en.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539370469

 ภาพประกอบ : 

tfii.kmutnb.ac.th
http://en.yclsakhon.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539370469
www.tv360ch3.com