อานุภาพและที่มา บทสวดอิติปิโส
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-06-16 13:34:05
คุณวิเศษของการสวดอิติปิโส ฯ
คุณวิเศษของพระรัตนตรัยในบทสวดอิติปิโสฯ นั้น ไม่ใช่ใครประพันธ์ขึ้นโดยเฉพาะ แต่เป็นการถอดแบบจากพุทธพจน์โดยตรง
เมื่อใดอ้างอิงพุทธพจน์ เมื่อนั้นคุณกำลังอ้างความจริงอันเป็นสัจจะ การอ้างสัจจะความจริงอันเป็นมงคลสูงสุดย่อมบังเกิดผลไพบูลย์สูงสุดไปด้วย
สิ่งที่ทุกคนประจักษ์ตรงกันเมื่อสวดหลาย ๆ จบ คือความรู้สึกสว่าง อบอุ่นใจ และเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บังเกิดขึ้นรอบตัว แม้คนไม่ทราบคำแปลเลยก็จะเกิดประสบการณ์เดียวกัน แต่ถ้าทราบคำแปลด้วยก็จะยิ่งบังเกิดความเลื่อมใสและมีความแน่วแน่ยิ่งๆขึ้น
บทสวดอิติปิโส ถือเป็นหัวใจของ "พระธชัคคปริตร" ซึ่งพระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ว่า
อานุภาพของพระธชัคคปริตรนี้ แผ่ไปทั่วอาณาเขตแสนโกฏิจักรวาล ผู้ที่ระลึกถึงพระปริตรนี้แล้ว รอดพ้นจากทุกข์ภัยทั้งมวล อันเกิดจากยักษ์และโจรเป็นต้น มีนับไม่ถ้วน ผู้มีจิตเลื่อมใส ระลึกถึงพระปริตรนี้ แม้จะพลาดพลั้งตกจากที่สูง ก็ย่อมได้หลักพึ่งพิงรอดตายได้
--------------------------------------
อานุภาพจากการสวดอิติปิโส ฯ
ขอให้ทดลองดูเถิด จะเห็นผลทันตาทันใจ
-- หาก สวดอิติปิโสฯ ไม่ว่าจะทั้ง 3 บท พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ หรือ เฉพาะบทใดบทหนึ่งด้วยความเลื่อมใสสักสองสามรอบกระทั่งเกิดความอบอุ่นและสว่างใน ภายในแล้ว ก็ขอให้น้อมนึกว่าความอบอุ่นสว่างใจนี้จงได้แก่ผู้ทำร้ายเรา ผู้สาปแช่งเรา หรือผู้กระทำคุณไสยใส่เรา
ตรงนี้สำคัญ เป็นขั้นตอนของการแผ่เมตตาโดยตรง เสนียดหรือเงามืดทั้งหลายจะหายไปอย่างแน่นอนชนิดฉับพลันทันที
-- ไม่ต้องเดินทางไปรดน้ำมนต์หรือหาหมอไสยขาวใดๆทั้งสิ้น เพราะการมีกระแสพระรัตนตรัยอยู่ติดตัวนั้น ประเสริฐและให้ผลคุ้มครองเหนือกว่าการทำพิธีปัดเป่าใดๆในโลกอยู่แล้ว
-- หากสวดช่วงเช้าแล้วยังไม่หายขาด เหมือนมีอะไรมืดๆ หรือกระแสหยาบ ๆ น่าระคายติดตามอยู่อีก ก็ให้สวดอีก ๓ รอบในช่วงบ่าย สวดอีก ๓ รอบในช่วงเย็น
-- ถ้าเป็นหนักก็สวดไปเรื่อยๆเป็นชั่วโมงๆจนจิตเกิดความเลื่อมใสตั้งมั่น จะไม่มีเงามืดใดๆครอบงำได้เลย และชีวิตจะมีแต่ความสุกสว่างเจริญรุ่งเรืองด้วย ไม่จำเป็นต้องสวดบทอื่นใดเสริมเติมอีกก็จะเห็นความจริงนี้ถนัด
-- เป็นการระลึกถึงคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสิ่งที่อุบาสก อุบาสิกา รวมทั้งพระภิกษุสามเณร จัดใว้เป็นข้อวัตร
-- กรณีการสวดอิติปิโส เฉพาะพระพุทธคุณ นับเป็นจำนวน เช่น มากกว่าอายุ ๑ จบนั้น เป็นกุสโลบายในการเจริญสติ ให้มีสติตั้งมั่นในการภาวนา และเป็นการสรรเสริญคุณของพระพุทธองค์ ทำให้จิตตั้งมั่นเป็นกุศล
และยังเชื่อกันว่า ป้องกันภูติผีปีศาจ แคล้วคลาดจากโรคภัยต่าง ๆ และอุบัติเหตุ จิตใจเข้มแข็ง ปัญญาดี หลับสบาย มีสมาธิ เทวดารักษา เป็นคนมีเสน่ห์และเป็นที่รัก
เนื่องด้วยการ สวดอิติปิโสเท่าอายุ เปรียบเสมือนปฐมบทแห่งการบูชาคุณ หรือการถวายพระพรพระศาสดาในศาสนาพุทธนั่นเอง
--------------------------------------
ที่มาของบทสวดอิติปิโส ฯ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงให้อรรถาธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า
"คำว่า ธชัคคะ แปลว่า ยอดธง ธชัคคสูตรคือพระสูตรที่แสดงถึงยอดธง อันท่านแสดงว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงเรื่อง เทวาสุรสงคราม คือ สงครามแห่งเทพดากับอสูรซึ่งเป็นเรื่องที่เคยมีมาแล้ว
โดยตรัสเล่าว่าเมื่อเทพดาทั้งหลายรบกับอสูร ความกลัวบังเกิดขึ้นแก่เทพดาทั้งหลาย ท้าวสักกะจอมเทวดา จึงได้ตรัสแนะนำให้หมู่เทพแลดูยอดธง หรือชายธงของพระองค์หรือว่าของเทวราชที่รองลงมา ความกลัวก็จะหายไปได้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า
เมื่อเข้าไปอยู่ในป่าเกิดความกลัวขึ้น ก็ให้ระลึกถึงพระองค์ หรือระลึกถึงพระธรรม หรือระลึกถึงพระสงฆ์ความกลัวก็จะหายไป
[พระสูตร]นี้แสดงทางธรรมปฏิบัติก็คือ ให้เจริญพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติ ในเมื่อภิกษุทั้งหลาย หรือผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เข้าไปอยู่ในป่า ก็จะทำให้ความกลัวต่าง ๆ หายไปได้ ก็เป็นพระสูตรที่สอนให้เจริญพุทธานุสสติเป็นต้น นั้นเอง"
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระวินิจฉัยว่า
"ในการสวดมนต์เมื่อมีเวลามาก หรือในพิธีใหญ่ที่ต้องการให้สวดพระสูตรเต็มก็สวดพระสูตรเต็ม ในการสวดมนต์ทั่วไป สวดจำเพาะอนุสสรณปาฐะ คือปาฐะที่เป็นอนุสสรณะ คือเป็นเครื่องระลึกถึงคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือสวด อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทโธ เป็นต้น ต่อด้วย สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม เป็นต้น ต่อด้วย สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นต้น ก็คือสวดจำเพาะพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เท่านั้น
อันนำสวดด้วยคำว่า อนุสสรณปาฐะ คือ เป็นปาฐะบาลี หรือถ้อยคำที่แสดงอนุสสรณะ คือ คำที่สำหรับระลึกถึง ก็หมายถึงระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันเป็นเนื้อหาสำคัญของพระสูตรนี้
กับสวดตอนท้ายพระสูตรอันเรียกว่านิคมคาถา ที่แปลว่าคาถาตอนท้าย ตั้งต้นด้วยคำว่า อรญฺเญ รุกฺขมูเล วา เป็นต้น ที่แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อท่านทั้งหลายอยู่ในป่า หรือที่โคนไม้ หรือในเรือนว่างเรือนเปล่า ดั่งนี้เป็นต้น"
อานิสงส์การสวดธชัคคสูตร
-- การสวดธชัคคสูตรก็เพื่อเป็นการทำลายความหวาดกลัวขนพองสยองเกล้า สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปอยู่ต่างถิ่น หรือในสถานที่ที่ไม่ คุ้นเคย
โดยน้อมเอาคุณของพระรัตนตรัยมาสร้างเสริมกำลังใจให้เกิด ความอาจหาญแกล้วกล้าในการต่อสู่อันตรายและอุปสรรคนานาประการ
-- นอกจากนั้น ธชัคคสูตรยังช่วยคุมครองป้องกันอันตรายจากที่สูง หรืออันตรายทางอากาศ เช่น อันตรายจากการขึ้นต้นไม้สูง อันตรายจากการเดินทางที่ต้องผ่านหุบเขาเหวผาสูงชัน อันตรายจากสิ่งที่ตกหล่นมาจากอากาศ และในปัจจุบันยังนิยมใช้สวดเพื่อป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากการเดินทางโดย เครื่องบิน
-- โดยทั่วไปการสวดบทธชัคคสูตรไม่นิยมสวดทั้งสูตร แต่จะสวดเฉพาะบทสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ซึ่งเป็น หัวใจของพระสูตรนี้ เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "สวดอิติปิโส" เว้นไว้แต่มีเวลามากและต้องการสวดเป็นกรณีพิเศษจึงจะสวดทั้งสูตร
--- ในอรรถกถาสารัตถปกาสินี เล่าถึงอิทธิฤทธิ์ของพระปริตรนี้ไว้ว่า
มีชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังฉาบปูนขาวที่ทีฆวาปิเจดีย์ เกิดพลัดตกจากเชิงเวทีชั้นบนลงมาในโพรงพระเจดีย์ "ภิกษุสงฆ์ยืนอยู่ข้างล่าง จึงกล่าวว่า นึกถึงธชัคคปริตซิคุณ เขาตกใจ กลัวตายจึงกล่าวว่า ธชัคคปริตช่วยผมด้วย ดังนี้ อิฐ 2 ก้อนหลุดจากโพรงเจดีย์ตั้งเป็นบันไดให้เขาทันที คนทั้งหลายก็หย่อนบันไดเถาวัลย์ที่อยู่ข้างบน อิฐที่บันไดนั้นก็ตั้งอยู่ตามเดิม"
--------------------------------------
บทสวดอิติปิโส ฯ
บทสรรเสริญ พระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ.
แม้เพราะอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ผู้บริสุทธิ์เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชาและความประพฤติ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ฝึกได้ ไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นและเบิกบานแล้ว และเป็นผู้จำแนกแจกธรรม
บทสรรเสริญ พระธรรมคุณ
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญูฮีติ.
- พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
บทสรรเสริญ พระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุกเขตตัง โลกัสสาติ.
- พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี เป็นผู้ปฏิบัติตรง เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เป็นผู้ปฏิบัติสมควร เป็นผู้ควรแก่การคำนับ เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้ควรแก่ของทำบุญ เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลีกราบไหว้ เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก
--------------------------------------
--------------------------------------
เนื้อหาเรียบเรียงจากที่มา
-- https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%98%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A3
-- http://board.palungjit.org/f17/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B9%82%E0%B8%AA-349764.html
-- http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=2498.0;wap2
ภาพประกอบ
-- http://thaprajan.blogspot.com/2011/10/blog-post_16.html
-- http://board.palungjit.org/5234111-post95.html
-- http://board.palungjit.org/f178/%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88-%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%8D%E0%B9%88-%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E-188341.html