www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

พระพุทธเจ้า "เปลี่ยนตน เปลี่ยนคนทั้งโลก"
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-05-26 13:50:39

พระพุทธเจ้า "เปลี่ยนตน เปลี่ยนคนทั้งโลก"

เรียบเรียงจาก การบรรยายธรรมโดยท่าน ว. วชิรเมธี  ในโครงการสามเณรปลูกปัญญาธรรมปี 4

 

ต้นแบบมนุษยชาติ ที่มีการเปลี่ยนตน เปลี่ยนอารยธรรมโลก

พระพุทธองค์ทรงเป็นต้นแบบที่ฝึกหัดพัฒนาตนจนกลายเป็นยอดคน  การเปลี่ยนแปลงตนเองของพระองค์ เป็นการเปลี่ยนจากมโนปณิธานมาตั้งแต่สมัยที่ทรงเสวยชาติเป็นพระสุเมธดาบส ท่านได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธเจ้าทีปังกร จึงตั้งใจอธิษฐานขอเกิดเป็นพระพุทธเจ้า และในชาติสุดท้าย ทรงได้แรงบันดาลใจจากยมฑูตการแก่ เจ็บ ตาย และบรรพชิต ความจริงของชีวิต ทำให้ทรงศึกษาความทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ  

 


       คนเราจะเปลี่ยนก็ต่อเมื่อได้พบทุกข์ คนส่วนใหญ่มองทุกข์เป็นเรื่องไม่ดี   แต่พระพุทธเจ้าทรงมอง "ความทุกข์เป็นความจริง ที่อยู่เบื้องหลังของจริง"

ปกติ คนเห็นเห็ดก็คิดว่าเห็ด นั่นคือ ติดกับของจริง  แต่ถ้ามีปัญญาจะมองเห็นก้อนเมฆในเห็ด นั่นคือ "เห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่งเข้าด้วยกัน"   เห็นเมฆตกมาเป็นฝน ฝนซึมซับในเห็ด ทำให้มองเห็นว่า เมื่อเกิดอะไรกับสิ่งหนึ่ง จะกระทบต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ   ทรงเห็น "ความจริง" ของการเชื่อมโยงทั้งหมด ที่คนมักมองไม่เห็นแต่มักติดกับ "ของจริง" เพราะคนส่วนใหญ่ติดกับของจริง จึงไม่เห็นความจริงที่ว่า ชีวิตมีแต่ทุกข์


จุดเปลี่ยนในชีวิตของพระพุทธเจ้า

1)    ทรงเห็นอริยสัจสี่ข้อแรก คือทุกข์ ตั้งแต่ยังไม่บวช 

ทรงได้มาเห็นบรรพชิตท่านหนึ่ง จึงรู้สึกว่า มีสิ่งที่ประเสริฐกว่าการเป็นพระราชา จึงทดลองออกผนวชและลองผิดลองถูกทุกสำนัก  กล่าวคือ ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ โดยทรงใช้ตัวพระองค์ท่านเป็นหนูทดลองเอง เรียนทุกวิถีตลอด 6 ปีเต็มจนถึงขั้นอุกฤษฎ์ คือขั้นสูงสุด แต่ก็ยังไม่ได้พบสัจธรรมที่แสวงหา จึงคิดว่า ทั้งหมดที่ลองมาไม่ใช่   ซึ่งแนวคิดของพระองค์ที่ถามตัวเองเสมอ เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จากการลองผิดลองถูก
 


2)   
ทรงค้นพบทางสายกลาง หนทางพ้นทุกข์

หลังจากลองผิดลองถูกและพบว่าไม่ใช่ทาง พระองค์จึงทรงเปลี่ยนวิธีค้นหาทางพ้นทุกข์ใหม่ ทรงทดลองทุกวิธีที่มีในสมัยนั้นและปฎิบัติกันนานนับพันปี

กามสุขัลลิกานุโยค  - สมัยเป็นรัชกุมาร ทรงพร้อมทุกอย่าง แต่ก็ทรงเบื่อ เพราะชีวิตไม่ท้าทาย

อัตตกิลมถานุโยค- เมื่อทรงออกผนวช ทรงทดลองวิธีที่นักบวชในยุคสมัยนั้นนิยมฝึกเข้มข้น ทรมานร่างกาย บำเพ็ญตบะวิธี เช่น กลั้นลมหายใจ จนเป็นลม อดอาหารเข้มที่สุดแต่ก็ทรงพบว่าไม่ใช่ทาง
 


มัชฌิมาปฏิปทา – “ทางสายกลาง" เพราะทรงทดลองทั้งสายตึงและหย่อนถึงที่สุดแล้ว พระองค์จึงทรงคิดต่าง  คือ แสวงหาทางของพระองค์เอง จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาหาร  นับว่าเป็นการกล้าที่จะเปลี่ยนวิธีคิดบนพื้นฐานของเหตุและผล ทดลองด้วยตัวเอง

 

3)  อานาปานสติ

เป็นหนึ่งวิธีการเรียนรู้จากการฉันอาหารใหม่ จึงทรงปรับสมดุลกายและใจ และเมื่อร่างกายเข้าที่ ก็กลับมาพิจารณาใหม่โดยวิธีโยนิโสมนสิการ คือ การพิจารณาอย่างแยบคาย  การนั่งทบทวนของพระองค์ เปรียบดั่งการวิจัยในห้องทดลองจิตของพระองค์เอง  ซึ่งทรงนึกได้ว่า ตอน 7 ขวบ เคยนั่งทำสมาธิใต้ต้นหว้าระหว่างพิธีแรกนาขวัญ จึงทรงเริ่มอานาปานสติ

 

4) เปลี่ยนจากปุถุชน เป็นอารยชน - จากพระโพธิสัตว์เป็นพระพุทธเจ้า

 

ในวันที่นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสมาถวาย จึงทรงตั้งปณิธานว่า ตราบใดที่ยังไม่ทรงบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็จะยอมตายไม่ยอมลุก เป็นการตั้งสัจจะอธิษฐานแบบยอมสละชีวิต และเริ่มอานาปานสติ และ 7 วันหลังจากนั้น ก็บรรลุธรรม และเสวยวิมุตติสุข

 

 

5) ทรงเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงเลือกหนทางพระปัจเจกพุทธเจ้า

หลังจากเสวยวิมุตติสุข 7 สัปดาห์ ทรงถามตัวเองว่า จะทรงเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือไม่ ซึ่งก็คือ บรรลุเฉพาะตน ไม่สอนสั่งชาวโลก เพราะสิ่งที่ตรัสรู้ เป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนที่มีกิเลส จะมีคนรู้แจ้งเห็นจริงตามไหม จนตกผลึกความคิด และตัดสินใจออกสั่งสอนด้วยพระมหากรุณาธิคุณ

 

เพราะทรงมองเห็นความแตกต่างทางปัญญาของมนุษย์ ว่ามี 3 ประเภท คือ บัวพ้นน้ำ ปริ่มน้ำ ใต้น้ำ จึงทรงเชื่อว่า ในโลกนี้ ต้องมีบัวปริ่มน้ำ ที่พร้อมจะรับคำสอน จึงทรงเปลี่ยนมาเป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของชาวโลก

 

การเปลี่ยนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง 5 ข้อนั้น แสดงถึงพัฒนาการของมนุษย์คนหนึ่ง ที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงที่สุดแห่งความเป็นมนุษย์   และแนวทางพัฒนานั้นก็สอดคล้องกับความเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้การบรรลุธรรมของคนธรรมดาคนหนึ่งเป็นไปได้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะพระพุทธเจ้าหรือพระสาวก

 


การทำให้พระพุทธศาสนาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีปาฎิหารย์ ยิ่งทำให้คนสมัยนี้ห่างไกลพุทธ และเกิดการถกเถียงเพราะเป็นเรื่องพิสูจน์ไม่ได้ เป็นความเชื่อ  ทั้งที่ความจริง พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องธรรมดาที่คนธรรมดาสัมผัสได้ เชื่อมโยงถึงพระองค์ได้  ดังนั้นการศึกษาพระพุทธศาสนา จึงควรศึกษาในหลายมิติ และเลือกหยิบยกที่ตรงกับจริตมาใช้

 

พระองค์ทรงเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนคน และเปลี่ยนอารยธรรมของโลก เปลี่ยนจากคนโง่ เป็นคนฉลาด จากคนตกต่ำดำมืด ในลัทธิขมังเวทย์ พรหมลิขิต มาเป็นกรรมลิขิต คือเชื่อมั่นในตนเองไม่ใช่เทพ เชื่อในการกระทำของตน

 

ในพระไตรปิฎก เคยมีพราหมณ์มาเถียงกับพระองค์ว่า พราหมณ์เกิดจากพระพรหม พระพุทธองค์ทรงตอบว่า แท้จริงแล้ว พราหมณ์ไม่ได้เกิดจากพระพรหม แต่เกิดจากช่องคลอดของคุณแม่   ซึ่งเป็นคำสอนที่ปฏิวัติความเชื่อในสังคมอินเดีย ที่ล้มระบบชนชั้นวรรณะ ดังคำพระองค์ว่า "อย่าถามว่าเกิดมาจากชนชั้นไหน แต่จงถามว่า คุณใช้ชีวิตอย่างไร"  ทำให้พุทธศาสนามีคนทุกชั้นวรรณะ ทุกเพศ ทุกวัยเข้ามาศึกษาอย่างแท้จริง

 

อตฺตา หเว ชิตํ เสยฺโย ยาจายํ อิตรา ปชา

อตฺตทนฺตสฺส โปสสฺส นิจฺจํ สญฺญตจาริโน

เนว เทโว น คนฺธพฺโพ น มาโร สห พฺรหฺมุนา

ชิตํ อปชิตํ กยิรา ตถารูปสฺส ชนฺตุโน ฯ

 

เอาชนะตนได้นั้นแล ประเสริฐ

ผู้ที่ฝึกตนได้ ระวังระไวตลอดเวลา

ถึงเทวดา คนธรรพ์ และพระพรหม

ก็เอาชนะไม่ได้

...................................................

พระพุทธประวัติ

พระพุทธองค์ทรงเป็นบุรุษที่ถือกำเนิดเพื่อให้มนุษย์เข้าถึงแก่นแท้ โดยเริ่มจาการเปลี่ยนตัวท่านเอง ก่อนจะเผยแพร่คำสอนไปสู่คนอื่น

 

        -  ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อได้พบความจริงของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงออกผนวชเมื่ออายุ 29 พรรษา ทรงเรียนทุกสำนักในขณะนั้น แต่พบว่าไม่ใช่ทางออกแห่งทุกข์ จึงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ก็ทรงพบว่า ยังไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ จนในที่สุดทรงพบค้นทางด้วยตัวพระองค์เอง คือ "ทางสายกลาง" 

        -  ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่เมื่อได้พบความจริงของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงออกผนวชเมื่ออายุ 29 พรรษา ทรงเรียนทุกสำนักในขณะนั้น แต่พบว่าไม่ใช่ทางออกแห่งทุกข์ จึงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ก็ทรงพบว่า ยังไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ จนในที่สุดทรงพบค้นทางด้วยตัวพระองค์เอง คือ "ทางสายกลาง" 

         -  ด้วยความเมตตาต่อมนุษย์โลก จึงทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตลอด 45 ปี โดยมีผู้ทุกชั้นวรรณะ ทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้าถึงซึ่งคำสอนของพระองค์จำนวนมาก ซึ่งสมัยนั้น มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะอย่างรุนแรง 

         -  เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานใต้ต้นสาระเมื่อมีพระชนมายุ 80 พรรษา คำสอนของพระองค์ได้ ถูกนำไปสอนคนทั่วโลกถึงหนทางที่แท้แห่งการดับทุกข์ อันเป็นแก่นแท้ของชีวิต

 

***   ทรงเป็นมนุษย์ที่มีตัวตนจริง ตามประวัติศาสตร์ ซึ่งมีหลักฐานการมีตัวตนที่ชัดเจนที่สุด   ***

 

       -  คนที่ค้นพบหลักฐานไม่ใช่ชาวพุทธ แต่เป็นชาวอังกฤษที่ตามขุดค้นตามรอยของพระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา

       -  พระถังซำจั๋งได้บันทึกทุกอย่าง แม้แต่ต้นโพธิ์ของพระพุทธเจ้า ทำให้สามารถค้นพบหลักฐานมากมาย

       -  เสาอโศกมหาราชช่วยทำให้มีการค้นพบหลักฐานมากมาย สอดคล้องกับที่บันทึกในพระไตรปิฏก   ดังนั้น จึงมีทั้งหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนหลักฐานต่าง ๆ มากมาย ที่ชี้ว่า พระพุทธองค์ทรงมีตัวตนจริง ๆ

 

 ภาพประกอบจาก ภาพยนตร์ “พุทธศาสดา”

 http://www.buddha-thushaveiheard.com/