www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ธรรมะหลวงปู่ทองพูล สิริกาโม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2015-05-14 11:23:12

 

ธรรมะหลวงปู่ทองพูล สิริกาโม
 

“..การพิจารณามรณานุสติ เมื่อเราได้รับความวิเวกก็ย่อมปรากฏความตายในตัวของเรา 
 

ตายก็มี ๒ อย่าง ตายอย่างเปิดเผย ก็เช่น ญาติพี่น้องเราตาย บิดามารดาเราตาย เพื่อนใกล้บ้านเราตาย
 

ตายอย่างปกปิด หมายถึง ตายวันตายเดือนตายปี เช่น วันนี้ก็ตายจากเราไปแล้ว พรุ่งนี้ก็เหมือนเกิดใหม่ สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างนี้ เรียกว่าตายปีตายเดือนตายวัน ความคร่ำคร่าความชราของเราสะกดรอยตามเรามาทุกนาทีทุกวันทุกคืน อันนี้เรียกตายอย่างปกปิด
 

ถ้าเราระลึกถึงความตาย ยอกย้อนกลับไปกลับมา เราจะได้เห็นความจริงว่า ตายปกปิดตายเปิดเผยจะได้แจ่มแจ้งทางใจของเรา ลดทิฏฐิมานะว่ากายนี้เป็นของเรา กายเป็นของจีรังยั่งยืนจะได้ลดความเห็นนั้นออก อันนี้เรียกว่า มรณานุสติ เป็นอารมณ์เพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ ออกจากใจของเรา..”  
 


ให้หมั่นทำบุญบ่อยๆ ค่อยๆ สะสมไป พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าให้ทำบุญสิบอย่าง
 

๑. ทานมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ทาน 

๒. ศีลมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล 

๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา 

๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
 

๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายรับใช้ 

๖. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการยินดี 

๗. ปัตติทานะ บุญสำเร็จได้ด้วยการอุทิศส่วนกุศล 

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม 

๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการแสดงธรรม 

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม บุญสำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ตรง

 

 

 

 ประวัติหลวงปู่ทองพูล สิริกาโม

หลวงปู่ทองพูลเป็นพระเถระรุ่นเดียวกับหลวงปู่เทสก์, หลวงปู่ขาว, หลวงปู่ฝั้น  เดิมท่านชื่อหนูพูล นามสกุล เอนไชย ท่านเกิดตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ที่บ้านเดื่อศรีคันไชย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

บิดาชื่อนายเคน มารดาชื่อนางสุภี เป็นบุตรคนที่ ๕ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน ตั้งแต่วัยเด็กท่านอาจารย์ทองพูลมีลักษณะนิสัยสุขุมเยือกเย็น พูดน้อย อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่ในโอวาทของพ่อแม่ญาติพี่น้อง มีจิตเมตตา หลวงปู่ทองพูล ท่านเคยพูดเสมอว่า อดีตครั้งที่เป็นฆราวาสอยู่นั้น มันไม่น่าศึกษาอะไรเลย มันมีแต่บาป มันมีแต่กรรม ทำดีส่วนน้อย ทำชั่วเสียส่วนมาก แล้วจะเอาไปทำไม ก็ศึกษาเอาตอนเป็นพระ ตอนที่มีธรรมะบ้างแล้วในใจน่ะ เอาไปเถิด รับรองเป็นปฏิปทาดำเนินได้นะ 

ท่านอาจารย์ได้บรรพชาอุปสมบทครั้งแรก เป็นพระสงฆ์ในฝ่ายมหานิกายที่วัดท่าเดื่อ โดยมีพระอุปัชฌาย์สิงห์ (ปัจจุบันคือ พระครูนรสีสาสน์ธำรง รองเจ้าคณะอำเภอวานรนิวาส)การบวชครั้งนั้นเป็นการบวชในงานบุญประเพณีของผู้ที่ท่านอาจารย์คุ้นเคย การได้บวชครั้งแรกก็ได้ศึกษาตามสมัยนิยม ได้ท่องจำบ้าง สุดแต่จะประสงค์ให้ชีวิตในเพศนั้นดำเนินไป ได้ศึกษาพระธรรมวินัย อันเป็นกิจของสงฆ์ที่จะเรียนรู้ในฐานะพระใหม่ ส่วนอื่นจะจับเป็นพื้นฐานของธรรมนั้นยังไม่ได้อะไร

ฝากถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่สีโห เขมโก

หลายปีต่อมา จึงได้มีชีวิตที่สว่างรุ่งเรืองขึ้น “..ครั้งแรกที่ได้ยินคำว่า “กรรมฐาน” มันยังรู้สึกเฉยๆ เรายังไม่รู้จักคุณค่านั่นเอง ฟังแล้วก็เงียบไปไม่ได้คิดอะไร นี่บวชก็ราว พ.ศ.๒๔๘๗ข๒๔๘๘ อายุช่วงนั้น เรื่องในใจนั้น ก็เงียบไปพักหนึ่ง มันยังไม่มีเชื้อ ไฟจะติดได้บ่..”

การบวชเข้ามาครั้งนั้น ก็เพื่อความสงบสุขภายใต้ร่มโพธิ์ทองของพระบรมศาสดาเจ้าเท่านั้น แต่ยังหาครูบาอาจารย์ไม่ได้ จึงได้แต่ฟังข่าวคราว เพื่อหาทางได้อยู่กับพระผู้ปฏิบัติ มีความเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัย ด้วยความบังเอิญ หรือจะเป็นด้วยวาสนา ความอยากได้พบพระผู้ปฏิบัติที่สามารถเป็นพระอาจารย์ได้นั้น ก็มีกระแสข่าวว่า บัดนี้มีพระธุดงคกรรมฐานองค์หนึ่งมาปักกลดอยู่ที่ป่าช้าบ้านขุนภูมิ ซึ่งอยู่ใกล้ๆบ้านท่าเดื่อ นั่นเอง องค์ท่านจึงรีบเดินทางไป เมื่อได้ไปเห็น ก็ต้องอัศจรรย์ใจที่มีผู้คนหลั่งไหลกันมาฟังอุบายธรรมจากท่านมากมาย พระธุดงคกรรมฐานรูปนี้ ท่านมีนามว่า ท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านอาจารย์หลวงปู่มั่น และเป็นพระเถระรุ่นเดียวกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี , หลวงปู่ขาว อนาลโย , หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น 

เมื่อไปถึงก็ได้แทรกตนเองไปนั่งอยู่มุมหนึ่งของบริเวณ แล้วสดับฟังธรรมะจากท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ความสงบเงียบท่ามกลางธรรมชาติป่าช้า เสียงธรรมวิเวกเป็นระยะๆ มีคำคมที่เกิดจากบุรุษผู้ฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว แสดงธรรมบทแห่งการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ซึ่งสมควรยกย่องบูชาท่าน

แนวทางนั้นเองเป็นการยกปฐมบทเมื่อครั้งพุทธกาล อันเป็นแบบอย่าง คือ พระมหากัสสปะ ท่านเคร่งครัดในธุดงค์ เป็นผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ฉันอาหารมื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และท่านได้ปฏิบัติตลอดชีพ..”

เมื่อได้ฟังธรรมเทศนา จากท่านพระอาจารย์สีโห จบลงแล้ว หลวงปู่ทองพูล ก็รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในปฏิปทาของพระมหากัสสปะ และของหลวงปู่สีโห จึงได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์ ขอปฏิบัติธรรมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา..


แปรญัตติเป็นธรรมยุตินิกาย

ในปีนั้นเป็นช่วงเข้าพรรษา หลวงปู่ทองพูล ท่านได้อยู่อบรมศีล สมาธิ ปัญญา ภาวนาธรรมกับหลวงปู่สีโห เขมโก ไม่เคยขาด หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านทั้ง ๒ จึงได้ออกวิเวก มาจังหวัดอุดรธานี จากนั้นหลวงปู่ทองพูล ได้เปลี่ยนนิกายใหม่ โดยแปรญัติติเป็นฝ่ายธรรมยุต โดยมี่พระอาจารย์ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์(หลวงปู่จูม พันฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสมุห์สวัสดฺ เป็นพระกรรมวาจาจาร มีฉายาว่า “สิริกาโม” เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๕

นับตั้งแต่การอุปสมบท ท่านอาจารย์ทองพูล ได้ตั้งจิตแน่วแน่ในการปฏบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามอบกายถวายชีวิต โดยการออกธุดงค์หาสถานที่วิเวกเพื่อเร่งความเพียร บำเพ็ญภาวนา

เพียงพรรษาแรกท่านอาจารย์ได้ถือเนสัชชิธุดงค์ คือการไม่นอน ไม่ยอมให้หลังแตะกับพื้นตลอดพรรษาและอดอาหารควบคู่กันไป ท่านอาจารย์ทองพูลยังป่วยอาพาธเป็นไข้มาเลเรียนอย่างหนัก แต่ท่านอาศัยธรรมโอสถขันติธรรมเพ่งเวทนาที่เกิดขึ้นจนไข้มาเลเรียหายไปเอง

 

ศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ท่านพระอาจารย์ทองพูล เคยไปปฏิบัติธรรม อยู่ที่ถ้ำขาม อยู่หลายครั้งด้วยกัน ในครั้งแรกนั้น หลวงปู่สีโห เขมโก ได้พาลูกศิษย์ ไปกราบคารวะหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำขาม เมื่อไปถึง หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ก็ได้ให้ปฏิบัติอย่างหนัก คือ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังอุบายธรรม ตลอดถึงข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเลยทีเดียว องค์ท่านเอาจริงเอาจังหลายปี พิจารณาตน จนเห็นชัดว่า นี่คือรังของโรค

เพราะเหตุนี้เองที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงได้พยายามสั่งสอนลูกศิษย์ทั้งหลายให้เอากายนี้แหละ มาพิจารณา มองกายของเราแล้ว กายคนอื่นก็รู้หมด เกิดเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด

ในขณะที่ฟังการอบรมกรรมฐานจากหลวงปู่ฝั้น อาจาโรอยู่นั้น จิตใจของอาตมา เกิดความสงบนิ่ง เยือกเย็นเหลือจะกล่าว มันมีความสุข จิตใจเบาโปร่งไปหมด เลยได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า

“..ขอให้ข้าพเจ้า จงพ้นเสียจากความทุกข์โดยเร็วไว ในชีวิตนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออย่าได้มีอุปสรรคมาขัดขวางทางดำเนินมรรคผลของข้าพเจ้าเลย..”

 


สำรวจภูทอก ร่วมสร้างสะพานไม้รอบเขา กับหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ

หลวงปู่ทองพูล สิริกาโมท่านเป็นหนึ่งในพระผู้ร่วมบุกเบิกภูทอกกับพระอาจารย์จวน 

ท่านได้ปีนหน้าผา ขึ้นไปสำรวจดูทางยอดเขา “ภูทอก” สถานที่แห่งนี้เป็นภูเขาสูงชัน มีหน้าผา ท่านไปพักกางกลดแล้ว ก็นั่งสมาธิภาวนากับคณะผู้ติดตาม

เดิมทีเดียว ภูทอก เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์มี “พวกอมนุษย์” เขาสถิตอยู่ มีความสงบสงัดเป็นที่สัปปายะอย่างยิ่ง เขาลูกนี้มีหินกลมมองดูคล้ายดอกบัวตูม ซึ่งแยกออกมาจากเขาลูกใหญ่ (คือส่วนที่เรียกว่า “พระพุทธวิหาร” นั่นเอง) มีฐานกลมคล้ายพระเจดีย์

 

จากซ้าย ๓ องค์ตรงกลาง : พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, 
พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) 
และพระญาณสิทธาจารย์ (หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม) 

ท่านบอกกับผู้ติดตามว่า “เหมาะมาก ที่นี่สมควรจะเป็นที่บำเพ็ญสมณกิจ” หลวงปู่ทองพูล ท่านจึงได้นำเรื่องภูทอก ไปปรึกษากับหลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ และท่านได้เห็นดี เห็นงามด้วย ต่อมาจึงได้มีการจัดสร้างสะพานไม้วนรอบเขา มีบันไดขึ้นไปถ้ำ เงื้อมผา เป็นที่บำเพ็ญเพียรของพระกัมมัฏฐาน

สำหรับวัดสามัคคีอุปถัมภ์แห่งนี้ ท่านอาจารย์ทองพูลได้เดินทางมาในช่วง พ.ศ.๒๕๐๒ ครั้งแรกยังเป็นแค่ภูดิน อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวอำเภอบึงกาฬ โดยชาวบ้านเรียกภูดินแห่งนี้ว่า ภูกระแต เนื่องจากมีสัตว์พวกกระรอก กระแต รวมถึงสัตว์ป่าอื่นๆ อาศัยอยู่ชุกชุมตามสภาพที่เป็นป่าดงทึบ รกครึ้ม

เมื่อท่านอาจารย์มาถึงบริเวณภูกระแต ในคืนแรกท่านจำวัดใต้ต้นบก และ ๓-๔ วันต่อมา ชาวบ้านได้ทำเพิงพักนั่งร้าน และกุฎิชั่วคราวแบบง่ายๆ ทำด้วยไม้ไผ่ป่า จากนั้นท่านอาจารย์จึงได้พัฒนาวัดเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน โดยได้รับแรงศรัทธาสามัคคีร่วมใจจากคณะลูกศิษย์ลูกหาทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา

ท่านได้ละสังขารด้วยอาการอาพาธภาวะปอดอักเสบ สิริอายุรวม 83 ปี 63 พรรษา เมื่อเวลา 18.59 น.วันที่ 12 พ.ย.58

 

ขอบคุณที่มา ของภาพและเนื้อหา : 

https://www.facebook.com/thindham/media_set?set=a.709960389054505.1073742045.100001216522700&type=1

http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-juan/lp-juan-hist-03.htm

 http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=42680