www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล - หลวงปู่ฝากไว้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-10-30 14:52:12

 "สังเขปประวัติ"

           หลวงปู่ดุลย์ อตุโล นับเป็นศิษย์อาวุโสรุ่นแรกสุดของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตฺโต พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายอรัญญาวาสี ในยุคปัจจุบัน พระเถระที่เป็นสหธรรมิก และมีอายุรุ่นเดียวกับหลวงปู่ดูลย์  ได้แก่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาโม วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา และหลวงปู่ขาว  อนาลโย วัดถ้ากลองเพล จ.อุดรธานี

            ด้วยความปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบของหลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงมีศิษย์สำคัญๆ หลายองค์ ศิษย์รุ่นแรกๆ ก็มีหลวงปู่ฝั้น  อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่อ่อน ญาณศิริ  วัดป่านิโคธาราม จ.อุดรธานี หลวงปู่สาม อกิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์ และพระเทพสุธาจารย์ (หลวงปู่โชติ  คุณสมฺปนฺโน) วัดวชิราลงกรณ์  อ.ปากช่อง นครราชสีมา

           หลวงปู่ดูลย์  อตุโล เป็นพระอริยเจ้าที่มีคุณธรรมล้ำลึก ท่านเน้นการปฏิบัติภาวนามากกว่าการเทศนาสั่งสอน สำหรับพระสงฆ์และญาติโยมที่เข้าไปกราบนมัสการและขอฟังธรรมะ หลวงปู่มักจะให้ธรรมะสั้นๆ แต่มีความล้ำลึกสูงชั้นเสมอ ท่านจะเทศน์เรื่องจิตเพียงอย่างเดียว โดยจะย้ำให้เราพิจารณาจิตในใจอยู่เสมอ

           หลวงปู่ดูลย์  อตุโล เกิดปีชวด วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๓๑ ที่บ้านปราสาท ต.เฉนียง อ.เมือง จ.สุรินทร์ ท่านเกิดในตระกูล "เกษมสินธุ์" เป็นบุตรคนหัวปี ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน

           เมื่ออายุ ๒๒ ปี หลวงปู่ได้อุปสมบทที่วัดจุมพลสุธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมีท่านพระครูวิมล ศีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในพรรษาที่ ๖ หลวงปู่ได้เดินด้วยเท้าไปยังจังหวัดอุบลราชธานี พำนักอยู่ที่วัดสุทัศวนาราม เพื่อเรียนปริยัติธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี แล้วจึงเรียนบาลีไวยากรณ์ต่อถึงแปลมูลกัจจายน์ได้

            หลวงปู่ ได้รู้จักชอบพอกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในนามของแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม ในสายของหลวงปู่มั่น  ภูริทัตฺโต ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทำการเผยแพร่ธรรมะในสายพุทโธ จนแพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้

           ในปีที่ ๒ ที่หลวงปู่ไปพำนักอยู่ที่อุบลราชธานีนั้น หลวงปู่มั่นได้ธุดงค์มาพำนักอยู่ที่วัดบูรพา ในเมืองอุบลราชธานี หลวงปู่ดูลย์และหลวงปู่สิงห์สองสหายผู้ใคร่ธรรม ได้ไปกราบนมัสการและฟังธรรมของพระอาจารย์ใหญ่ เกิดความอัศจรรย์ใจและศรัทธาเป็นที่ยิ่ง จึงตัดสินใจเลิกละการเรียนด้านปริยัติธรรม แล้วออกธุดงค์ตามหลวงปู่มั่นต่อไป นับเป็นศิษย์หลวงปู่มั่นในสมัยแรก และได้ร่วมเดินธุดงค์ตามหลวงปู่มั่น ไปในที่ต่างๆ อยู่นานปี

         หลวงปู่ดูลย์ เที่ยวธุดงค์หาความวิเวกตามป่าเขานานถึง ๑๙ ปี จึงได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการคณะสงฆ์ให้หลวงปู่เดินทางไปประจำอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ เพื่อจัดการศึกษาด้านปริยัติธรรม และเผยแพร่ข้อปฏิบัติทางกัมมัฏฐานไปด้วยกัน หลวงปู่จึงได้ไปพำนักอยู่ประจำที่ ที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๖ จวบจนบั้นปลายชีวิตของท่าน

 

klby.jpg

 

          นับตั้งแต่บัดนั้นมา แสงแห่งรัศมีของพระธรรม ทั้งทางปริยัติและทางปฏิบัติ ก็เริ่มฉายแสงรุ่งเรืองตลอดมา โดยหลวงปู่รับภาระทั้งฝ่ายคันถธุระ และวิปัสนาธุระ บริหารงานพระศาสนาอย่างเต็มกำลังสามารถ ในปฏิปทาส่วนตัวของท่านนั้นไม่เคยละทิ้งกิจธุดงค์ บำเพ็ญเพียรทางใจอย่างสม่ำเสมอตลอดมา พร้อมทั้งอบรมทางสมาธิภาวนาแก่ผู้สนใจปฏิบัติทั้งคฤหัสน์และบรรพชิต ด้วยเหตุที่หลวงปู่มีเมตตาธรรมสูง จึงช่วยสงเคราะห์บุคคลทั่วไปได้อย่างกว้างขวางโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

 

           หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยดีเป็นเยี่ยม แข็งแรง ว่องไว ผิวพรรณผ่องใส มีเมตตาเป็นอารมณ์ สงบเสงี่ยม เยือกเย็น ทำให้ผู้ใกล้ชิดและผู้ได้กราบไหว้ เกิดความเคารพเลื่อมใสศรัทธาอย่างสนิทใจ

 

           หลวงปู่ดูลย์  อตุโล พระอริยเจ้าผู้ประเสริฐ ได้ละเสียซึ่งสังขารเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๖ สิริอายุรวมได้ ๙๖ ปี กับ ๒๖ วัน พระอรหันตธาตุของท่านได้เก็บรักษาไว้ให้สาธุชนได้สักการะที่พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐานในบริเวณวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์

            ส่วนคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งเป็นคำสอนสั้นๆ และเฉียบคมล้ำลึกนั้น ท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนี ได้รวบรวมและพิมพ์ไว้ในหนังสือ "หลวงปู่ฝากไว้" นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่าแก่นักปฏิบัติธรรม และผู้สนใจทั่วไป หลวงปู่เน้นเรื่องการปฏิบัติภาวนา ให้พิจารณาจิตในใจจนรู้แจ้ง ท่านเทศนาแต่เพียงสั้นๆ แต่เฉียบคม ท่านสอนว่า

 

"หลักธรรมที่แท้จริงคือจิต จิตของเราทุกคนนั่นแหละคือหลักธรรมสูงสุด
ที่อยู่ในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วมันไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย
ขอให้เลิกละการคิด...และการอธิบาย เสียให้หมดสิ้น
จิตในใจก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในทุกคน.

*----------------------------------------------------*

 

qa7b.jpg

 

"ธรรมะปฏิสันถาร"

เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วย
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสอง
พระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงการ
สนทนาธรรมกับหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปุจฉาว่า

"หลวงปู่การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน"

หลวงปู่วิสัชนาว่า

"กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน"

*----------------------------------------------------*

 

หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร"

j64g.jpg

 

             ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับทรงมีพระดำรัสคำสุดท้ายว่า

 "ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี 
เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม"

ทั้งๆ ที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย
หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า

"อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง"

 *----------------------------------------------------*

 "ปรารถธรรมะเรื่องอริยสัจสี่" 

พระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าถวายสักการะหลวงปู่ในวันเข้าพรรษาปี ๒๔๙๙ หลังฟังโอวาทและ
ข้อธรรมะอันลึกซึ้งข้ออื่นๆ แล้ว หลวงปู่สรุปใจความ อริยสัจสี่ให้ฟังว่า 

"จิตที่ส่งออกนอก                         เป็นสมุทัย

ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก      เป็นทุกข์

จิตเห็นจิต                                   เป็นมรรค

ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต              เป็นนิโรธ."

*----------------------------------------------------* 

"สิ่งที่อยู่หนือคำพูด"

อุบาสกผู้คงแก่เรียนคนหนึ่ง สนทนากับหลวงปู่ว่า "กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฏ เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นๆ แล้ว เขาจะได้มีกำลังใจและมีความหวัง เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่"

หลวงปู่กล่าวว่า 

"ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร

เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด."

 

*----------------------------------------------------*

 

"หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท"

ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา คือ มีความพอใจภูมิใจ
กับจำนวนศีลที่มีอยู่ในคัมภีร์ ว่าตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ

"ส่วนที่จะตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ."

*----------------------------------------------------* 

"จริง แต่ไม่จริง"

ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฏผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา
เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฏในอวัยวะร่างกายของตนเองบ้าง ส่วนมากกราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก
มีจำนวนมากที่ถามว่าภาวนาแล้วก็เห็นนรก สวรรค์ วิมาน เทวาด
หรือไม่ก็เป็นองค์พุทธรูปปรากฏอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ

หลวงปู่บอกว่า

"ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง."

*----------------------------------------------------*

 

"แนะวิธีละนิมิต"

ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกว่ายังเป็นของภายนอกทั้งหมด
จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก
จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น
นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันทีหลวงปู่โปรดได้แนะวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผลฯ

หลวงปู่พูดว่า

"เออ นิมิตบางอย่างนั้นมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก
แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า
วิธีละง่ายๆ ก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง" 

*----------------------------------------------------*

 

"เป็นของภายนอก"

sldp.jpg

 

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่ดูลย์อยู่ในงานประจำปีวัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ
มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถามทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า
เขานั่งวิปัสสนาจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปอยู่ในหัวใจของเขา บางคนว่าได้เห็นสวรรค์เห็นวิมานของตัวเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาสำเร็จฯ

หลวงปู่อธิบายว่า 

"สิ่งที่ปรากฏเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้น จะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก"

*----------------------------------------------------*

 

"พุทโธเป็นอย่างไร"

หลวงปู่ได้รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑ ในช่วงสนทนา
ธรรม ญาติโยมสงสัยว่าพุทโธ เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า

เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวง อย่าไปยึด
ความรู้ที่เราเรียน
กับตำหรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย
ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็
เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ
จิตของเราสงบเราก็จะรู้เอง ต้องภาวนาให้
มากๆ เข้า
เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆ ให้มันออกมาจิตของเรา

ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละ เป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด
 ให้มันรู้ออกจากจิตเอง 
นั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ

 

           ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง
ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธนั่นแหละจะผุดขึ้นในจิตของเรา
เราจะได้รู้จักว่า พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมาย.

*----------------------------------------------------*

 

"อยากได้ของดี"

เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็น
หัวหน้าคณะ ได้นำคณะแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือ
โอกาสแวะนมัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา ๑๘.๒๐ น.ฯ

 

            หลังกราบนมัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึก
จากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ก็ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง
ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะฯ

หลวงปู่จึงเจริญพรว่า ของดีก็ต้องภาวนาเอาถึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กายวาจา
ก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาที่จะนั่ง
ภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ ฯ

หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า 

"ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา."

*----------------------------------------------------*

 

"มีแต่ไม่เอา"

ปี ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมพระอาจารย์สมชาย ที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี
ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผาราม
เจ้าคณะภาคทางใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐานเมื่อวัยชราแล้ว เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว ฯ

              เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผล
ของการปฏิบัติ ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่
ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่
เป็นเวลานาน ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆ ว่า ท่านยังมีโกรธอยู่ไหมฯ

หลวงปู่ตอบเร็วว่า

"มี แต่ไม่เอา."

*----------------------------------------------------*

"รู้ให้พร้อม"

ระหว่างที่หลวงปู่อยู่รักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น มีผู้ไปกราบนมัสการ
และฟังธรรมเป็นจำนวนมาก คุณบำรุงศักดิ์  กองสุข ป็นผู้หนึ่งที่สนใจในการปฏิบัติสมาธิ
ภาวนา นัยว่าเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อสนอง  กตุปญฺโญ แห่งวัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี
ซึ่งเป็นวัดปฏิบัติที่เคร่งครัดฝ่ายธุดงค์กัมมัฏฐานในยุคปัจจุบัน ได้ปรารภการปฏิบัติธรรม
กับหลวงปู่ ถึงเรื่องการละกิเลสว่า "หลวงปู่ครับ ทำอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้" ฯ

หลวงปู่ตอบว่า 

"ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง"

 *----------------------------------------------------*

"ประหยัดคำพูด"

 

bqnd.jpg

 

คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน มีร้อยตำรวจเอกบุคลชัย  สุคนธมัต
อัยการจังหวัด เป็นหัวหน้า มากราบหลวงปู่ เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมและเรียนถามถึงวิธี
ปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้วและแสดง
แนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น จึงขอกราบเรียนหลวงปู่
โปรดช่วยแนะแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำได้ง่ายที่สุด เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้
ยาก หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่งฯ

หลวงปู่จึงบอกว่า

 "ให้ดูจิต ดูที่จิต"

*----------------------------------------------------*

 

"จริงตามความเป็นจริง"

สุภาพสตรีชาวจีนคนหนึ่ง ถวายสักการะแต่หลวงปู่แล้ว เขากราบเรียนดิฉันว่า ดิฉันจะ
ต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำมาค้าขายอยู่ใกล้ญาติทางโน้น ทีนี้
บรรดาญาติๆ ก็เสนอแนะว่า ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง ชนิดนี้บ้าง ตามแต่เขาจะเห็นดี
ว่าอะไรขายได้ดี ดิฉันยังมีความลังเลใจ ตัดสินใจเอาเองไม่ได้ว่าจะเลือกขายของอะไร
จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะฯ

"ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคนซื้อ"

 *----------------------------------------------------*

"ภาระและปัญหาประจำ"

การปกครองและการบริหารหมู่คณะใหญ่ นอกจากจะต้องแก้ปัญหาเล็กใหญ่อย่างอื่น
แล้ว ก็มีปัญหาขาดแคลนพระเจ้าอาวาสเราเคยได้ยินแต่การแย่งเป็นสมภารกัน แต่ลูกศิษย์
หลวงปู่นั้นต้องปลอบ ต้องบังคับให้ไปเป็นสมภาร ไม่เว้นแต่ละปี ที่มีญาติโยมยกขบวนมา
ขอให้หลวงปู่ส่งพระไปเป็นเจ้าอาวาส เมื่อหลวงปู่เห็นว่าองค์ไหนสมควรไปก็ขอร้องให้ไป
ส่วนมากเมื่อไม่อยากไปก็มักจะอ้างว่า กระผมก่อสร้างไม่เก่ง อบรมไม่เป็น เทศน์ไม่ได้
ประชาสัมพันธ์หรือรับแขกก็ไม่คล่อง เป็นต้น จึงยังไม่อยากจะไปฯ

หลวงปู่ก็สอนว่า 

"สิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นเท่าไหร่หรอก เรามีหน้าที่ปฏิบัติกิจวัตรเท่านั้นเอง 
บิณฑบาต ฉัน แล้วก็นั่งภาวนา เดินจงกรม ทำความสะอาดลานวัด เคร่งครัดตาม
ธรรมวินัย แค่นี้ก็พอแล้ว การก่อสร้างอะไร มันแล้วแต่ญาติโยม เขาจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่เขา."

*----------------------------------------------------*

"แนะนำหลวงตาแนน"

หลวงตาแนน บวชเมื่อวัยเลยกลางคนไปแล้ว หนังสือก็อ่านไม่ออกสักตัว ภาษากลางก็
พูดไม่ได้สักคำ ดีอย่างเดียว คือ เป็นคนตั้งใจดี ขยันปฏบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง ว่าง่าย
สอนง่าย เมื่อเห็นพระรูปอื่นเขาออกไปธุดงค์หรืออยู่กับสำนักปฏิบัติกับครูบาอาจารย์อื่นๆ
ก็อยากจะแนะนำกับเขาด้วย จึงไปลาหลวงปู่ฯ

เมื่อหลวงปู่อนุญาตแล้ว หลวงตาแนนกลับวิตกว่า กระผมไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดเขา
จะปฏิบัติกะเขาได้อย่างไรฯ

หลวงปู่แนะนำว่า 

"การปฏิบัติ ไม่ได้เกี่ยวกับอักขระพยัญชนะหรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้
ก็ดีแล้ว วิธีปฏิบัตินั้น ส่วนวินัยให้พยายามดูแบบอย่างเขา แบบอย่างครูบาอาจารย์
ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ส่วนธรรมะ ให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต
เมื่อเข้าใจจิตแล้ว อย่างอื่นก็จะเข้าใจได้เอง"

*----------------------------------------------------*

"พระหลอกผี"

2wo1.jpg

 

ส่วนมากหลวงปู่ชอบแนะนำส่งเสริมพระเณร ให้ใส่ใจเรื่องธุดงค์กัมมัฏฐานเป็นพิเศษเลย ครั้งหนึ่งพระสานุศิษย์มาชุมนุมกันจำนวนมาก ทั้งแก่พรรษาและอ่อนพรรษา หลวงปู่ชี้แนะแนวทางว่าให้พากันไปอยู่ป่าหาทางวิเวก หรืออยู่ตามเขาตามถ้ำเพื่อเร่งความเพียร จะได้พ้นจากภาวะตกต่ำทางจิตบ้าง ยังมีพระรูปหนึ่งพูดออกมาพล่อยๆ ว่า ผมไม่กล้าไปครับ เพราะผมกลัวผีหลอก

หลวงปู่ตอบเร็วว่า

“ผีที่ไหนหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผี และตั้งกระบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่เสียด้วย
คิดดูให้ดีนะ วัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้น แทบทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผีทั้งนั้น
ผีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องเขา
แล้วพระเราเล่าประพฤติตนเหมาะสมแล้วหรือ มีคุณธรรมอะไรบ้าง ที่จะส่งผลให้ถึงผีได้
 ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี

*----------------------------------------------------*

"เมื่อกล่าวถึงสัจธรรมแล้ว ย่อมลงสู่กระแสเดียวกัน"

มีท่านผู้คงแก่เรียนหลายท่านชอบถามว่า คำกล่าวหรือเทศน์ของหลวงปู่ ดูคล้ายนิกายเซ็น

หรือคล้ายมาจากสูตรเว่ยหลาง เป็นต้น อาตมาเรียนถามหลวงปู่ก็หลายครั้ง ในที่สุดท่านกล่าวอย่างเป็นกลางว่า

"สัจธรรมทั้งหมดที่มีอยู่ประจำโลกอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัจธรรมนั้นแล้ว
ก็นำมาสั่งสอนสัตว์โลก
เพราะอัธยาศัยของสัตว์ไม่เหมือนกัน หยาบบ้าง ประณีตบ้าง 
พระองค์จึงเปลืองคำสอนไว้มากถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
 เมื่อมีนักปราชญ์ฉลาดสรรหาคำพูดให้สมบูรณ์ที่สุด 
เพื่อจะอธิบายสัจธรรมนั้นนำมาตีแผ่นเผยแจ้งแก่ผู้มุ่งสัจธรรมด้วยกัน 
เราย่อมจะต้องอาศัยแนวทางในสัจธรรมนั้นที่ตนเองไตร่ตรองเห็นแล้วว่าถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุดนำแผ่ออกไปอีก โดยไม่คำนึงคำพูด หรือไม่ได้ยึดติดในอักขระพยัญชนะตัวใดเลยแม้แต่น้อยเดียว."

*----------------------------------------------------*


 "ทำจิตให้สงบได้ยาก"

 

5dja.jpg

 

การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น จะให้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้ บางคนได้ผลเร็ว บางคนก็ช้าหรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี แต่ก็ไม่ควรท้อถอย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ได้ประกอบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นกุศลขั้นสูงต่อจากการบริจาคทาน รักษาศีล เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย

มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้

หลวงปู่เคยแนะนำวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า

“ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไป
แต่ในกายนี้ดูให้เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้
เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช
เกิดนิพพิทา ความหน่าย คลายกำหนัด ย่อมตัดอุปาทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน.”