เครื่องมือการเจริญวิปัสสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-09-22 10:11:58
เครื่องมือการเจริญวิปัสสนา
เครื่องมือที่จะใช้ในการเจริญวิปัสสนามีอยู่หลายอย่างได้แก่...
'สติ' ซึ่งทำหน้าที่ระลึกรู้สภาวะของรูปนามที่กำลังปรากฎ
'สัมมาสมาธิ' ซึ่งเป็นความตั้งมั่นของจิตในระหว่างรู้รูปนาม
'ปัญญา' ซึ่งเป็นเครื่องมือเข้าใจลักษณะความเป็นไตรลักษณ์ของ
รูปนาม และเป็นเครื่องตัดทำลายตัณหาและถอดถอนความถือมั่น
ในรูปนาม เครื่องมือแต่ละอย่างมีประเด็นที่ควรทราบเพิ่มเติมดังนี้
1. สติ
เป็นองค์ธรรมที่มี "ความไม่เลื่อนลอย" เป็นลักษณะ คือจะต้องระลึก
รู้อานมณ์รูปนามที่กำลังปรากฎโดยจิตใจไม่เลื่อนลอยไปที่อื่น....
เช่น เลื่อนลอยไปหลงรูปทางตา ไปหลงรสทางลิ้นและไปหลงโผฐัพพะ
ร่างกาย หลงเลื่อนลอยไปในความคิด และหลงเลื่อนลอยไปเพ่งจ้อง
จมแช่อยู่กับอารมณ์บัญญัติ เป็นต้น ส่วนเหตุใกล้ให้เกิดสติก็คือการ
ที่่จิตจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ จึงจะสามารถระลึกรู้รูปนาม
ที่ปรากฎได้โดยไม่ต้องจงใจรู้ หากจงใจรู้ หรือจงใจบังคับให้สติเกิด
ขึ้นหรือจงใจกำหนดรูปนาม สติตัวแท้จะไม่เกิดขึ้น. และการปฏิบัติจะ
เกอดการผิดพลาด คือแทนที่จะรู้รูปนาม กลับกลายเป็นการเพ่งจ้อง
กำหนด หรือดักรู้รูปนามอันเป็นการกระทำด้วยอำนาจบงการของ
ตัณหาและทิฎฐิไปในทันที จิตในขณะนั้นมักจะพลิกไปเป็นอกุศลจิต
อันมีลักษณะหนัก แน่น แข็งทื่อ หรือจมแช่ในอารมณ์ ไม่สักว่ารู้
อารมณ์อย่างซื่อๆตรงๆสบายๆ
2. สัมมาสมาธิ
เป็นเครื่องประคองรักษาจิตไม่ให้ตกไปจากการระลึกรู้อารมณ์รูปนาม
การตกจากการรู้อารมณ์รูปนามมี 2 ลักษณะคือ
2.1 การหลงไปรู้อารมณ์บัญญัติ เช่นหลงไปคิดเรื่องสภาวธรรมหรือ
รูปนามที่กำลังปรากฎ หรือหลงไปหาอารมณ์บัญญัติอื่นๆ เช่นหลงดู
หลงฟัง หรือหลงคิดเรื่องอื่นๆ
2.2 การเพ่งตัวอารมณ์อันเป็นอารัมมณูปนิชฌาน ซึ่งเป็นเรื่องของการ
เจริญสมถกรรมฐาน และปิดกั้นการรู้ลักษณะอันเป็นไตรลักษณ์ของรูป
นามหรือลักขณูปนิชฌาน ซึ่งเป็นเรื่องของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
สัมมาสมาธิเกิดขึ้นได้เมื่อจิตมีสติอันถูกต้องเท่านั้น เพียงสติเกิดขึ้นระ
ลึกรู้รูปนาม จิตก็จะเป็นกุศลและเกิดความสุขที่ได้ระลึกรู้รูปนาม แล้ว
ความสุขนั้นจะเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นของจิต
ในการระลึกรู้อารมณ์รูปนาม แต่สัมมาสมาธิก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเท่า
นั้น เมื่อสติดับและตกจากอารมณ์รูปนาม สัมมาสมาธิก็ดับไปด้วย และ
เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้อารมณ์รูปนามครั้งใหม่ สัมมาสมาธิก็จะเกิดร่วม
ด้วยอีกครั้งหนึ่ง. ดังนั้นไม่ต้องจงใจประคับประคองให้จิตมีความตั้งมั่น
ในการรู้อารมณ์รูปนาม เพราะนั่นไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เกิดสัมมาสมาธิ
3. ปัญญา
ได้แก่ความรู้ชัดในรูปนาม หรือความรู้ความเข้าใจรูปนามตรงตามความ
เป็นจริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ว่ารูปนามมีลักษณะไม่เที่ยงคือเกิดขึ้น
แล้วดับไป เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือบังคับไม่ได้และไม่
ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ปัญญามีสัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิต
ในการรู้อารมณ์รูปนามเป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่าในขณะที่สติ
ระลึกรู้สภาวะของรูปนามนั้น จิตจะต้องตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว คืออยู่กับ
รูปนาม/กายใจ อันเป็นสภาวะของความตื่น จิตจึงจะเกิดปัญญารู้ลักษณะ
ของรูปนามตรงตามความเป็นจริงได้
ปัญญาเกิดจากการที่ผู้ปฏิบัติเห็นความเป็นจริงของรูปนามเนืองๆจนจิต
เข้าใจ ยอมจำนน ยอมรับ และหมดความรู้สึกโต้แย้งในข้อเท็จจริงที่ว่า
รูปนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือเป็นอนัตตา ดังนั้นการรู้รูปนามจึงต้องรู้ให้
ตรงตามความเป็นจริง ให้รู้อย่างเดียว ให้รู้อน่างเป็นกลาง โดยไม่หลง
ยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ไม่คล้อยตามและไม่ต่อต้านอารมณ์ ไม่ทำหรือเติม
สิ่งใดสิ่งหนึ่งลงในการรู้นั้น รูปนามจึงจะแสดงไตรลักษณ์ให้จิตเห็นประจักษ์
และเข้าใจความเป็นจริงได้ในที่สุด
สรุป ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่เพียงการศึกษาให้เข้าใจสภาวะของรูปนาม จนสติ
เกอดขึ้นเอง เป็นการรู้รูปนามโดยไม่ต้องจงใจรู้ และระหว่างที่รู้รูปนามอยู่
นั้นจิตก็จะมีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่น มีความตื่น ไม่ฝัน ไม่หลงไปสู่อา-
รมณ์บัญญัติ และไม่หลงเพ่งอารมณ์นั้นๆ และเมื่อรู้อารมณ์แล้วก็ให้รู้
ลักษณะของอารมณ์นั้นไปอย่างที่เขาจะแสดงให้ดู ไม่ใช่เข้าไปแทรกแซง
เช่นพยายามละอารมณ์บางอย่างหรือพยายามรักษาอารมณ์บางอย่าง
เป็นต้น นี้แหละคือทางแห่งการเจริญปัญญาเพื่อความพ้นทุกข์ ที่พวกเรา
ควรศึกษาทำความเข้าใจให้ดี...ฯ
~หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์
---------------------------ที่นี่ดอทคอม