"เพราะรักที่จะอยู่ เราถึงกลัวตาย"
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-07-03 10:35:43
"เพราะรักที่จะอยู่ เราถึงกลัวตาย"
ศิษย์ : ลูกพิจารณาว่าคนเราทำไมถึงได้กลัวตาย เหตุผลก็น่าจะเป็นเพราะว่าไม่ทราบว่าจะไปเกิดที่ไหน แต่ถ้ามั่นใจว่าตายไปแล้วเป็นเหมือนการย้ายบ้าน ถ้าบ้านใหม่ดีกว่าเดิมใหญ่กว่าเดิม ก็จะยินดีที่จะย้าย ที่ยังกลัวตายอยู่เพราะไม่แน่ใจว่าตายไปแล้ว จะได้สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่ ถ้าแน่ใจว่าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์แน่ๆ ได้พบพระพุทธศาสนาอีกแน่ๆ ก็จะมีกำลังใจเร่งความเพียรปฏิบัติ
พระอาจารย์ : เราไม่เคยคิดอย่างนั้น คิดแต่ว่าความกลัวตายนี้เป็นทุกข์
ศิษย์ : ทำไมเราถึงกลัวตาย
พระอาจารย์ : เพราะรักที่จะอยู่ เราถึงกลัวตาย อยากจะอยู่จึงทำให้ไม่อยากตาย นี่คือปัญหา ยังอยากจะอยู่ ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา ต้องไม่อยากอยู่ ตั้งแต่ศึกษาปฏิบัติมา เราไม่เคยคิดถึงภพหน้าชาติหน้า ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือความทุกข์ที่อยู่ในใจเกิดจากอะไร จะทำอย่างไรให้หายไปได้ ทำไมวันนี้อารมณ์ดี พรุ่งนี้อารมณ์ไม่ดี ทำไมต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นเหตุที่ทำให้สนใจปฏิบัติ ต้องการแก้ปัญหาของใจ รู้ว่าใจเป็นโรค ไม่เป็นปกติ บางวันก็สุขบางวันก็ทุกข์ ทำไมจะต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมจึงแก้ไม่หายขาด แก้แล้วเดี๋ยวก็กลับมาใหม่ เพราะแก้ไม่ถูกจุดหรือเปล่า พอได้อ่านได้ฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงเข้าใจว่าเหตุของความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก เกิดจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ถ้าจะดับความทุกข์ก็ต้องละความอยากเหล่านี้ เช่นความอยากอยู่ก็ต้องละ อย่าไปอยากอยู่ อยู่เท่าที่อยู่ได้ อย่างที่มีคนขอให้หลวงตาอยู่ไปนานๆ หลวงตาก็ตอบว่าจะอยู่ไปจนตาย ไม่อยู่เกินนั้น ก็จะไม่กลัวตาย อยู่แค่ตาย
เรื่องภพเรื่องชาตินี้ เราไม่ได้ถือเป็นประเด็นสำคัญในการปฏิบัติธรรมเลย ไม่เคยคิดเลย ชาติหน้าจะมีหรือไม่ เราไม่สนใจ สนใจเพียงแต่ว่าทำอย่างไรไม่ให้ทุกข์ใจเท่านั้นเอง พอรู้ว่าทุกข์เพราะความอยาก ก็ต้องละความอยาก อยากจะดื่มเหล้าก็ทุกข์แล้ว อยากจะเที่ยวก็ทุกข์แล้ว ถ้าไม่อยากดื่มเหล้าก็จะไม่ทุกข์กับเรื่องดื่มเหล้าเลย ถ้าไม่อยากสูบบุหรี่ก็จะไม่ทุกข์กับเรื่องสูบบุหรี่เลย ปัญหาจึงอยู่ที่ความอยาก ที่กลัวตายกันก็เพราะอยากจะอยู่ ก็อย่าไปอยากอยู่สิ อยู่เท่าที่อยู่ได้ เราคิดอย่างนี้
ข้อสำคัญอยู่ที่ให้รู้ว่าทุกข์ในใจเกิดจากความอยากต่างๆ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา วิธีที่จะดับทุกข์ได้ก็คือศีล สมาธิ ปัญญา หรือทานศีลภาวนา หรือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา ธรรมเหล่านี้เป็นมรรคทั้งนั้น ที่จะทำให้มีกำลังควบคุมใจ ให้รับกับความจริงได้ ไม่ให้อยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องภพชาตินั้นไม่สำคัญต่อการปฏิบัติ เป็นความรู้เสริมของชีวิต คือจิตไม่ได้ตายไปกับร่างกาย พอร่างกายตายไปจิตก็ไปต่อ ไปได้ร่างใหม่ แต่จิตไม่ได้เปลี่ยน มีอะไรอยู่ในจิตก็ยังอยู่เหมือนเดิม มีมรรคอยู่เท่าไหร่ก็ยังมีอยู่เท่านั้น มีสมุทัยอยู่เท่าไหร่ก็ยังมีอยู่เท่านั้น ไม่เปลี่ยน จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เป็นนก เป็นเทพ ก็ยังมีอยู่เท่ากับตอนที่ตาย ถ้ายังมีมรรคไม่พอก็ต้องทำต่อ ถ้ามีพอแล้วก็ไม่ต้องทำ เช่นจิตของพระพุทธเจ้าจิตของพระอรหันตสาวก ท่านทำพอแล้ว ทำเต็มที่แล้ว ก็ไม่ต้องทำต่อ จิตท่านไม่ได้หายไปไหน จิตท่านถึงเมืองพอแล้ว ท่านก็หยุด ไม่ต้องไปหาร่างใหม่ ไปเกิดใหม่
ศิษย์ : ลูกพิจารณาต่อว่า ถ้ามัวแต่คิดถึงชาติหน้า ก็เท่ากับส่งจิตไปในอนาคต ต้องกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
พระอาจารย์ : ใช่แล้ว ต้องอยู่กับปัจจุบัน ดูอริยสัจ ๔ ภายในใจ ดูว่ากำลังทุกข์หรือไม่ ทุกข์เรื่องอะไร ถ้าไม่ทุกข์ก็ลองกระตุ้นความทุกข์ให้เกิดขึ้นมาก็ได้ เช่นไปอยู่ที่ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรส ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาถ้ายังมีกามตัณหา จะได้รู้ว่าพอไม่ได้เสพรูปเสียงกลิ่นรส ก็เกิดความเศร้าสร้อยหงอยเหงาขึ้นมา ก็ต้องละกามตัณหาให้ได้ พอละได้ความเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็จะหายไป ต้องแก้อย่างนี้.
กัณฑ์ที่ ๔๑๔ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓ (จุลธรรมนำใจ เล่มที่ ๒๒)
"ทำใจให้เฉย"
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต