www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

"ความสุขที่แท้จริง"
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-07-03 10:28:14

ความสงบของใจนี้แหละที่เป็นความสุขที่แท้จริง และเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขหรือความทุกข์ทางร่างกาย เวลาที่เรามีความสุขทางใจแล้ว ถ้าเราไม่สามารถหาความสุขทางร่างกายได้ ใจของเราจะไม่ทุกข์ไม่เดือดร้อน เราสามารถหาความสุขทางใจได้ต่อ เพราะความสุขทางใจนี้ ไม่จำเป็นจะต้องมีร่างกายเป็นเครื่องมือ 

ความสุขทางใจนี้ต้องมีธรรมะเป็นเครื่องมือ เครื่องมือที่จะทำให้ใจสงบคือสติ สมาธิ และปัญญานี่เอง ถ้าเราเจริญสติจนมีความสามารถที่จะใช้สติได้ทุกเมื่อทุกเวลา เราก็จะสามารถควบคุมใจให้สงบได้เป็นระยะๆ ถ้าเราต้องการรักษาความสงบให้ต่อเนื่องอย่างถาวร เราก็ต้องใช้ปัญญา 

ปัญญานี้จะทำให้ใจสงบได้อย่างถาวร ส่วนสติและสมาธิจะทำใจให้สงบได้ชั่วคราว เช่นเวลาที่เราบริกรรมพุทโธๆ นั่งหลับตาหรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก จนจิตรวมเข้าสู่ความสงบ เวลานั้นเราก็จะมีความสุข แต่เราจะไม่สามารถอยู่ในความสงบนั้นได้ตลอดเวลา ไม่นานเราก็ต้องถอนออกมา ใจก็ต้องถอนออกมาจากสมาธิ พอถอนออกจากสมาธิมา ความสุขที่ได้รับจากความสงบก็จะค่อยๆจางลงไป จางหายไป เหมือนกับน้ำเย็นที่เเช่ไว้ในตู้เย็น เวลาเอาออกมาจากตู้เย็นก็จะคลายความเย็นไปตามลำดับ ถ้าทิ้งไว้นานๆ ความเย็นนั้นก็จะหมดไป ถ้าเราอยากจะให้ความสงบ อยากจะให้ความสุขที่ได้จากความสงบนี้คงอยู่ต่อไป เราก็ต้องใช้ปัญญาเวลาที่เกิดความอยาก เพราะความอยากนี้เป็นเหมือนความร้อน ที่จะทำให้ใจหายเย็นหายสงบ จะทำให้ใจเริ่มมีอาการกระวนกระวายกระสับกระส่าย เวลาอยากจะได้อะไรนี้ใจจะไม่นิ่ง ใจจะไม่สงบ เพราะจะห่วงจะกังวลว่าจะได้หรือไม่ 

เราก็ต้องสอนใจว่าสิ่งต่างๆที่เราอยากได้นั้นมันไม่ได้ให้ความสุขที่ดีเท่าความสุขที่เราได้ จากความสงบ แล้วนอกจากไม่ได้ให้ความสุขที่เราที่ดีเท่าแล้ว ยังแถมให้ความทุกข์กับเราด้วย เวลาอยากได้อะไรแล้วไม่ได้ดังใจเวลานั้นจะเกิดความทุกข์ใจเกิดความเสียใจ เกิดความไม่สบายใจขึ้นมา เเล้วสิ่งที่เราได้มามันก็จะให้ความสุขเราได้เพียงเดี๋ยวเดียว แล้วหลังจากนั้นมันก็จะจืดจางไป เพราะว่ามันไม่เที่ยง แล้วก็เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถที่จะควบคุมบังคับ ไปสั่งให้เขาให้ความสุขกับเราได้อย่างตลอดเวลา ถ้าเราพิจารณาเห็นว่ามันไม่เที่ยงมันให้ความทุกข์กับเรา เราไม่สามารถสั่งให้เขาให้ความสุขกับเราได้ตลอดเวลา เราก็จะได้ไม่อยากได้ พอเราไม่อยากได้แล้วความสงบก็จะกลับคืนมาใหม่ พอเราหยุดความอยากได้ ความสงบก็จะกลับคืนมาใหม่

ดังนั้นเวลาที่เเรามีความอยากได้ลาภยศสรรเสริญ อยากได้ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ถ้าเรามีสมาธิแล้วเราจะมีกำลังที่จะสอนใจให้หยุดความอยากได้ เพราะเรามีความสงบ มีความสุขที่ดีกว่าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราไม่รู้จักรักษามันเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่มีปัญญาเราจะไม่สามารถรักษาความสุขที่ได้จากความสงบนี้ได้ เวลาออกจากความสงบมาแล้วพอเกิดความอยาก แล้วเราก็จะไปทำตามความอยากทันที เราก็จะไปเปิดตู้เย็นไปเปิดโทรทัศน์ ไปหาขนมนมเนยมารับประทาน ไปหารายการอะไรต่างๆมาดู เราก็ได้ความสุขความเพลิดเพลินชั่วขณะหนึ่ง แล้วพอเวลาผ่านไปความสุขนั้นก็หมดไป เราก็เกิดความอยากใหม่ขึ้นมาอีก เราก็จะต้องหาใหม่อีก แล้ววันหนึ่งเวลาหนึ่ง เวลาที่เราไม่สามารถหาความสุขทางร่างกายได้ เวลานั้นเราก็จะหงุดหงิดรำคาญใจ เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่

นี่คือเรื่องของการหาความสุขทางร่างกาย ซึ่งเป็นการหาความทุกข์มากกว่า นี่คือเรื่องของการออกจากสมาธิแล้วไม่ใช้ปัญญา ใช้ปัญญาไม่เป็น ผู้ที่ออกจากสมาธิแล้ว ถ้าอยากจะรักษาความสงบ ความสุขของใจ ที่เกิดจากความสงบนี้ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาไตรลักษณ์เสมอ เวลาที่เกิดความอยาก เวลาอยากจะได้อะไรก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งที่อยากได้ว่าเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นว่าเป็นไตรลักษณ์ก็จะไม่อยากได้.

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๖

"สร้างสรณะทางใจ"

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต