วิสาขบูชา…อัศจรรย์ 3 แห่งพระพุทธศาสนา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-03-03 18:29:42
วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 คือวันที่มีสามสิ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การประสูติของเจ้าสิทธัตถะราชกุมาร การบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธองค์ และการเสด็จดับขันธปรินิพพาน…เพื่อเป็นการระลึกถึงพระบรมศาสดา ที่ทรงประธานธรรมะให้กับหมู่มวลมนุษยชาติ จึงขอให้เราได้พร้อมใจกันปฏิบัติบูชา และนำธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้ไว้ดีแล้วมาปฎิบัติเพื่อให้เกิดดวงตาเห็นธรรม
วันประสูติ
เหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นเมื่อสิทธัตถะราชกุมารได้ถือประสูติขึ้นในโลก วันนั้น ตรงกับเดือนวิสาขมาส จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถากล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหา มายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ ระหว่างที่ดำเนินกลับนั้นเอง พระนางได้แวะหยุดพัก ณ อุทยานลุมพินี และให้การประสูติแด่โอรสน้อย ใต้ต้นสาลพฤกษ์ โดยประทับยืนเหนี่ยวกิ่งไม้เป็นที่พยุงพระวรกาย พระโพธิสัตว์ได้มีพระประสูติโดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า
อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส.
อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.
“เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสิรฐแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา
บัดนี้ ภพชาติย่อมไม่มี ดังนี้”
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371
โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกาลอีกไม่นาน
วันตรัสรู้
วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หลังจากทรงกำเนิดมาเป็นราชกุมารน้อย 35 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ก็ได้กำเนิดใหม่เป็นครั้งที่สอง ซึ่งการกำเนิดของพระองค์ครั้งนี้ คือเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในโลก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดได้ยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ “รู้แจ้งโลกทั้งปวง” ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ “รู้” เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า“พระพุทธศาสนา” แปลว่า “ศาสนาของผู้รู้แจ้ง – ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล”
สิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีมากมายราวกับเม็ดทรายในมหาสมุทร หรือดวงดาวในห้วงจักรวาล แต่สิ่งสำคัญที่พระองค์เปรียบได้กับใบไม้ในกำมือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ เพื่อให้หลุดพ้นไปจากสังสารวัฎ หรือการเวียนว่ายตายเิกิด ก็คือ “อริยสัจ 4″ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค…ซึ่งพระพุทธองค์ได้ชี้นำให้เห็นแล้วว่าการเกิดเป็นทุกข์ในโลก หากไม่ต้องการที่จะเป็นทุกข์ในวงจรนี้อีก ก็ต้องปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงการพ้นทุกข์ ตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งย่อยเป็น 3 หมวด ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา
วันปรินิพพาน
ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 หลังจากทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 45 ปี
พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติภารกิจของพระบรมศาสดาในการเผยแผ่พระธรรมวินัย แก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า
“ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา…, ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้”
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/142/109
เหตุการณ์ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน เกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จไปโปรดนายจุนทะ กัมมารบุตร ณ สวนมะม่วง ที่เมืองปาวา และได้รับบิณฑบาตร เสวยสุกรที่นายจุนทะจัดเตรียมไว้ เป็นเหตุให้เกิดประชวรด้วยโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้า จากนั้นพระองค์ได้เสด็จไปยังเืมืองกุสินารา กลางทางทรงพักที่ร่มไม้แ่ห่งหนึ่งและทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
“อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้…”
แม้วาระสุดท้ายทีุ่พระพุทธองค์จะทรงละจากโลกนี้ไป ก็ยังมีเมตตาเหล่ามัลละกษัตริย์เข้าเฝ้า และได้ตรัสแก้ปัญหาของ สุภัททะ ปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า
“…อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว…..”
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117
จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า
…หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ…
แปลว่า : “ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117
พระพุทธองค์ ได้ถอนสิ้นซึ่งตัณหา และจบภพชาติการเกิดดับอย่างสมบูรณ์ ในปัจฉิมราตรี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี ตามการนับของไทย
ที่มา : http://www.borkboon.com