www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

สวดมนต์ ให้ได้อานิสงส์สูงสุด
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-02-21 18:01:41

การสวดมนต์ให้ได้อานิสงส์สูงสุด


            1.อย่าสักแต่ว่าสวดเป็นนกแก้วนกขุนทอง คือท่องๆ บ่อยๆ ไปตามอักขระที่อ่านหรือนึกได้ ข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องให้รู้ความหมายด้วย ไม่จำเป็นขนาดนั้น เพราะการรู้ความหมาย เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น (แต่ถ้ารู้ความหมายด้วย ก็เป็นเรื่องดี) จะรู้ความหมายหรือไม่รู้ความหมายก็ไม่สำคัญเท่ากับการสวดมนต์อย่างมีสมาธิ

           2.ต้องสวดมนต์อย่างมีสมาธิ หมายความว่า เวลาที่จะสวดมนต์นั้น ต้องรู้ก่อนว่าสวดมนต์บทไหน (จะรู้ความหมายหรือไม่รู้ก็ได้) แต่เวลาที่สวดมนต์นั้น ให้รู้ว่าอักขระหรือตัวหนังสือที่เรากำลังจะท่องนั้น คือตัวอะไร ฟังดูอาจจะเข้าใจยาก เอาอย่างนี้ เวลาที่จะสวดมนต์ เช่น นะโม ตัสสะ ฯลฯ ก็ต้องรู้ว่าตอนนี้กำลังสวดคำว่า นะ คำว่า โม คำว่า ตัส คำว่า สะ

            คือให้รู้ตัวทุกตัวอักขระว่ากำลังสวดคำไหน ทำได้มั้ยครับ ถ้าทำได้..คือรู้ตัวว่าสวดอักขระตัวไหน เราก็จะมีสติใจจดจ่อกับคำสวดตามอักขระ เมื่อมีสติเราก็จะมีสมาธิ การมีสติ และมีสมาธิในเวลาสวดมนต์นั้น จะได้รับ " พลังงาน " ที่ดี

           ทำให้ได้ แล้วจะได้รู้ว่า สวดมนต์เวลาที่มีสติและสมาธิ จะ " ดีกว่า " สวดมนต์แบบนกแก้วนกขุนทองอย่างมากมายมหาศาล จะท่องโดยไม่ต้องดูตัวหนังสือก็ได้ แต่อย่าขี้เกียจ หมั่นท่องจำไว้ให้ได้ก็ดี อย่านึกว่ามีหนังสือ มีตำรา แล้วเอาแต่เปิดหนังสือ เปิดตำราท่อง แรกๆ ก็เปิดได้ เพราะคนไม่เคยท่องจะให้จำได้อย่างไร แต่ถ้านานๆ ไป ควรท่องจำเองโดยไม่ต้องเปิดหนังสือหรือตำรา เพราะการท่องด้วยจิตใจที่จดจ่อกับคำที่เราท่อง สิ่งที่เราได้ก็คือ จิตจะมีสมาธิ

 


การสวดมนต์ก็คือการปฏิบัติสมาธิอย่างหนึ่งเช่นกัน

                ทุกวันพระและให้สวดมนต์ก่อนนอน โดยให้เป็นกิจปฏิบัติที่สำคัญลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว แม้ว่าการสวดนั้นจะสวดได้แบบปากเปล่าหรือจะต้องดูหนังสือสวดก็ตาม สำคัญอยู่ที่การสวดมนต์นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความตั้งใจจริง มีสมาธิที่ดี นำจิตไปจับที่ตัวอักษรที่จะสวดออกมาอย่างจดจ่อ เปล่งเสียงให้ดังฟังชัดเจน

 
            โดยครูบาอาจารย์ได้อรรถาธิบายความถึงอานิสงส์ของการสวดมนต์ไว้ ดังนี้ 

1. อานิสงส์ที่เกิดกับสุขภาพร่างกาย 
           
              ผู้ที่นิยมสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิสม่ำเสมอจะก่อให้เกิดผลดีต่อจิตยิ่ง จะมีความผ่องแผ้วสว่างบริสุทธิ์ จิตที่สว่างจะทำให้อารมณ์ผ่องใส ไม่โกรธง่าย ไม่เครียด แม้ถ้าจะต้องใช้ความคิดก็จะคิดแบบมีเหตุมีผล

             การที่จิตผ่องแผ้วถือเป็นโอสถทิพย์ที่สำคัญต่อร่างกายที่เดียว ส่งผลให้ร่างกายสร้างและหลั่งฮอร์โมนในร่างกายที่เป็นปกติ ทำให้ร่างกายสมดุล เมื่อร่ายกายสมดุลบุคคลนั้นจะอายุยืน คนที่มีอารมณ์ดี ไม่เครียด จะอายุยืนยาวเช่นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นสรณะจะอายุยืนบางองค์เกินร้อยปีก็มีหรือคนโบราณที่ชอบสวดมนต์ ไหว้พระจะอายุยืนยาวมากไม่มีต่ำกว่าแปดสิบปี ซึ่งต่างจากคนสมัยปัจจุบันที่แก่เร็ว อายุสั้น เฉลี่ยแล้วไม่เกินหกสิบห้า หรือ อย่างมากก็เจ็ดสิบปี

               การมีจิตที่ผ่องใส เสมือนหนึ่งมียาอายุวัฒนะขนานเอกไว้ในตัวเอง ลักษณะนี้ ครูบาอาจารย์ท่านให้เรียกว่า “ การนำปัจจัยภายในมาสร้างอายุวัฒนะ” 

2. อานิสงส์ให้เกิดจิตที่แกร่ง 
             
               หลังการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิ จะทำให้จิตมีกำลัง เป็นการบำรุงจิต จิตที่มีกำลังจะเข้มแข็ง ไม่อ่อนไหวง่าย สติดี หนักแน่น การมีจิตเป็นสมาธิสติจะคงอยู่เสมอ จะก่อให้เกิดปัญญาตามมา ปัญญาหมายถึง ระบบการคิดที่มีสติคอยกำกับ การคิดจึงอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลไม่มีอารมณ์เข้ามาเจือปน

                  ส่วนความคิดที่ขาดสติ เราเรียกว่า “อารมณ์” คนสมัยใหม่ที่ไม่นิยมนั่งสมาธิ ส่งผลให้สติไม่มั่นคง โกรธง่าย โมโหร้าย ขี้หงุดหงิด ไม่อดทนต่อแรงกดดันทั้งปวง มีอารมณ์แปรปรวนไม่สม่ำเสมอ เหตุเพราะจิตมีอ่อนกำลัง เราจึงพบว่าสถิติการฆ่าตัวตายของคนสมัยนี้ จึงมีอัตราที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น

                  รูปธรรมข้างต้นเหล่านี้คงจะพอแสดงให้เห็นถึงความต่างระหว่างจิตสองลักษณะคือ จิตแกร่งกับจิตอ่อน ได้เป็นอย่างดี ให้เปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การที่เราต้องรับประทานข้าวปลาอาหารเพราะอาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญกับชีวิต ฉันใดก็ฉันนั้น สมาธิก็จะเป็นอาหารที่สำคัญของจิต เช่นกัน 

 

บทสวดมีอานิสงส์มากมาย : ไตรสรณคมน์ 
ควรสวดตลอดเวลาหากทำได้จักเป็นมงคลยิ่ง

ในสมัยพุทธกาล ใช้เพื่อการบวชเป็นพระ เพราะยังไม่มีคำขออุปสมบท โดยในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ ได้มีพุทธานุภาพให้พระสาวกทำการบวชกุลบุตรได้ โดยการเปล่งวาจาระลึกถึง ไตรสรณคมน์ แล้วก็เป็นภิกษุได้อย่างสมบูรณ์

 ใครสวดมนต์ไม่เก่งใช้บทนี้สวดก่อนนอนเป็นมหามงคลอันยิ่ง เพราะเป็นการเป็นการน้อมกาย วาจา ใจ นำพระรัตนตรัยเข้าไปไว้ในตน เพื่อแสดงว่าตนมีพระรัตนตรัยเป็นที่ระลึกถึงและเป็นที่พึ่งตลอดไป และแสดงตนเป็นพุทธมามกะ เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา

ซึ่งแม้แต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีได้ใช้บทสวดไตรสรณคมน์สวดตลอดเวลาธุดงค์ในป่าซึ่งในสมัยนั้นเต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์ และภูตผีวิญญาณ ตลอดจนชาวบ้านที่มีเวทมนต์คาถา และเล่นคุณไสย 
 

 


3. ได้อานิสงส์จากการได้โปรดดวงจิตวิญญาณ 

                 ผู้ที่สวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิถึงขั้นเป็นผู้มีจิตใสสว่างนั้น เป็นที่โปรดปรานของพวกวิญญาณเร่ร่อนยิ่งนัก เพื่อปรารถนาจะขอส่วนบุญ ส่วนกุศลให้ตนได้ร่มเย็น หรือพ้นทุกข์ หรือแม้กระทั่งหลุดพ้นจากการถูกจองจำ โดยปกติบทสวดมนต์จะมีความขลังอยู่ในตัวเพราะ เป็นอักขระภาษาที่มีมนต์ขลัง บางบทเป็นพระคาถาที่มีอานุภาพสูง โดยเฉพาะบทพุทธบารมี บทพระคาถาชินบัญชร มีอานุภาพสูง ยิ่งผู้สวดมีสมาธิจิตที่ดีแล้ว พลังแห่งเมตตา พลังแห่งอานุภาพจะแผ่กระจายปกคลุมไปไกล ด้วยอานุภาพของพลังจิตผู้สวดเอง เมื่อเสียงสวดและอักขระไปกระทบ หรือสัมผัสกับดวงจิตวิญญาณใด

                     พลังเมตตาและพลานุภาพแห่งมนตรานี้จะกระตุ้นให้ดวงจิตวิญญาณเกิดความระลึกได้ เมื่อระลึกได้ก็จะสามารถดูดซับพลังบารมีทั้งปวงจากบทสวดอย่างเต็มที่ ดวงจิตที่มืดบอดก็จะสว่างผ่องใสขึ้นและหลุดพ้นจากบ่วงพันธนาการในที่สุด สภาพโดยธรรมชาติของวิญญาณทั้งหลายนั้น พวกเขาจะถูกจำกัด หรือถูกควบคุมพื้นที่เสมือนถูกจองจำ ตีตรวน เหมือนนักโทษที่ติดอยู่ในคุก บางคนก็สำนึกได้เอง บางคนต้องได้รับการอบรมสั่งสอนก่อนจึงจะเกิดสำนึก เช่นกันดวงวิญญาณหลายดวงเกิดสำนึกในความดี ความชั่วที่ตนได้กระทำได้เอง เมื่อสำนึกได้ก็จะสามารถเปิดรับธรรมะได้เลยทันที

              การสำนึกได้เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังที่คนโบราณได้สั่งสอนบอกต่อกันมาว่า ก่อนตายให้นึกถึงพระ ความหมายนี้ก็คือ ให้เกิดรู้สำนึกนั่นเอง แม้ถ้าคนเราสำนึกได้ในวินาทีสุดท้ายขณะใกล้จะตายก็ถือว่า มีโอกาสที่จะรับรู้สัมผัสธรรมได้ ( จิตเปิด) มีโอกาสหลุดพ้น(จากการจำกัดบริเวณ )ได้ และภาษาอักขระในบทสวดดวงจิตวิญญาณสามารถก็สามารถเข้าถึงได้ ให้ดวงจิตวิญญาณเข้าใจได้ ก่อให้เกิดความกระจ่างได้และยิ่งเมื่อเราแผ่เมตตาตามอีก เขาก็จะได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้น ดวงจิตวิญญาณเหล่านั้นชุ่มเย็นเป็นสุขเสมือนเรานำน้ำที่เย็นชโลมรดให้กับผู้ที่หิวกระหาย ลุ่มร้อนมานานปี จนสุดท้ายก็จะสามารถหลุดพ้นไปได้
 

การที่เราทำให้วิญญาณตกทุกข์ได้ยาก ทุกข์ทรมาน ได้รับความสุข สว่างสดใส หรือ กระทั่งหลุดพ้นไปได้ นับว่าได้อานิสงส์มหาศาลทีเดียว

สภาพความจริงในภพแห่งวิญญาณนั้น ถ้ามนุษย์มองเห็นก็จะพบว่ามีวิญญาณเร่ร่อน ( สัมภเวสี )จำนวนมากมายทีเดียว มีทุกหนทุกแห่ง เช่น คนมีจิตสว่างบางคนไปนอนที่ไหนก็จะมีวิญญาณมาดึง มาปลุก มาทำให้ไม่สามารถนอนได้


ปรากฏการณ์เช่นนี้ให้ท่านเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า เขามาขอส่วนบุญ เขาเห็นจิตของท่านที่สว่าง แสดงว่าท่านเป็นมีบุญที่สามารถแผ่ให้กับเขาได้ อย่าตกใจ อย่ากลัวให้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี

                วิธีปฏิบัติก็คือ สวดมนต์ แผ่เมตตาให้เขาเสีย แล้วท่านจะนอนหลับฝันดี เขาจะเฝ้าดูแลท่านตลอดทั้งคืน บางที่อาจให้โชคลาภกับท่านเสียอีก สถานที่บางแห่งวิญญาณอยู่กันเหมือนตัวหนอน เหมือนฝูงแมลงวัน ยิ่งดวงวิญญาณอยู่กันมากมายเช่นนี้ผู้สวดมนต์ แผ่เมตตา ภาวนาสมาธิให้ ก็จะได้อานิสงส์มากเท่าทวีคูณ การสวดมนต์ที่แท้ก็คือ การแผ่เมตตานั่นเอง 

                    การทำจิตให้นิ่งเป็นสมาธิบ่อยๆ เสมือนเราอยู่ในที่สูง อานิสงส์ที่เราสร้าง บุญกุศลที่เราทำจะเปรียบเสมือนเราเทน้ำให้ไหลลงสู่เบื้องล่าง ผู้อยู่เบื้องล่างที่หิว กระหายก็จะรอรับอย่างชุ่มเย็น มีความปีติยินดี 


4. ได้อานิสงส์จากโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย 

                นอกจากดวงจิตวิญญาณแล้ว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ปรารถนาจะได้รับพลังเมตตาบารมีจากการสวดมนต์ ไหว้พระและนั่งสมาธิเช่นกัน ซึ่งก็คือพวกสัตว์เล็ก สัตว์น้อย สรรพสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นนั่นแหละ พลังแห่งการแผ่เมตตาบารมีนี้มีอานุภาพยิ่งใหญ่ เป็นพลังแห่งพุทธานุภาพ เป็นพลังฝ่ายบุญกุศล การสวดมนต์ ไหว้พระนั่งสมาธิ และแผ่เมตตาบ่อยๆ จะทำให้จิตมีความแข็งแกร่ง

                 พลังแห่งการแผ่เมตตาก็จะมีอานุภาพที่แรงครอบคลุมพื้นที่ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น นั่นย่อมหมายถึงไปสู่สรรพสัตว์มากจำนวนยิ่งขึ้นตาม

                เบื้องต้นสามารถพิสูจน์ได้จริง ไม่ว่ามด ยุง แมลง ฯลฯ ล้วนต้องการ และแสวงหาพลานุภาพแห่งเมตตาอย่างหิวโหยจริง เช่นผู้ปฏิบัติธรรมบางคนพบว่ามีมดขึ้นมาเกาะบนกลดขณะที่ท่านกำลังที่ภาวนาอยู่จำนวนมาก หรือมียุงมากัดจำนวนมากขณะนั่งสมาธิ แต่เมื่อท่านกล่าวแผ่เมตตาให้แล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็จะจากไปของเขาเอง ไม่ทำร้าย ไม่รบกวนเราอีกเหตุเพราะพวกเขาได้รับแล้วนั่นเอง

                 ลักษณะเช่นนี้จะเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ครูบาอาจารย์ที่กล่าวไว้ว่า พวกมด ยุง แมลง นั้นพวกเราสามารถพูดกับเขาได้นั่นเอง เมื่อเราทำให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ได้ทุกข์หลุดพ้นจากทุกข์ ช่วยให้สรรพสัตว์ที่ได้สุข ให้ได้สุขยิ่งๆขึ้นไป เราก็ได้อานิสงส์แห่งการนี้ตอบคืน อานิสงส์เช่นนี้ เป็นอานิสงส์ที่ก่อให้เกิดบารมีที่ยิ่งใหญ่มากทีเดียว เราเรียกว่า “ อานิสงส์ทางทิพย์” 

5. ได้อานิสงส์จากพรเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
                   
                 ทุกครั้งที่เราสวดมนต์ หลังจากสวดบทบูชาพระรัตนตรัยแล้ว เราก็มักจะสวดบทชุมนุมอัญเชิญเทวดาเสมอ (สักเคฯ) เป็นการบอกกล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาร่วมพิธีการสวดมนต์ เทวดาเทพ เทพารักษ์ทั้งหลายโปรดการฟังสวดมนต์มาก เพราะถือเป็นพิธีกรรมแห่งพุทธที่มีมนต์ขลังมีความศักดิ์สิทธิ์

             ดังที่ได้เรียนไปแล้ว บทสวดทุกบทเป็นอักขระ มีพลังพุทธานุภาพสูง ใครได้ยินได้ฟังได้ซึมซับก็จะเกิดความสว่างไสว เกิดพลังบารมี มนุษย์ที่สวดมนต์ไหว้พระประจำเทวดา จึงเป็นที่โปรดปรานของเทวดา ไปที่ไหนมีเทวดาปกป้องคุ้มครอง ให้โชคให้ลาภ ให้ความมั่งมีสีสุขคนโบราณจึงย้ำหนักหนาให้ลูกหลานสวดมนต์ก่อนนอน นี่คือความหมายที่แท้จริงของการสวดมนต์ก่อนนอน

             เทวดาก็ต้องการสร้างบารมีของตนให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไปเช่นกัน เมื่อเราสวดมนต์ ไหว้พระ แผ่เมตตา ทำให้เทวดาได้บารมีเพิ่ม ได้ความสว่างเพิ่ม เทวดาก็จะอำนวยอวยพรชัยมงคลให้กับเรา เป็นการตอบแทนคุณเรา หากเราสังเกตให้ดี เราจะพบว่า ทุกพิธีกรรมทางพุทธศาสนาตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันจะต้องเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกับเทวดาเสมอ ก่อนเริ่มพิธีกรรมจึงต้องมีการสวดบวงสรวงอัญเชิญทวยเทพเทวดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาร่วมพิธีก่อนเสมอ พุทธองค์ทรงสำเร็จมรรคผลด้วยทวยเทพ เทวดาช่วยเหลือ ชี้แนะ ในทางกลับกันเทวดาก็พึ่งพาธรรมจากพุทธองค์ หรือพุทธสาวก เพื่อสร้างบารมี ชี้ทางสว่างเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า องค์ทวยเทพเทวากับพุทธศาสนาจึงแยกกันไม่ออก เป็นของคู่กัน  
 

6. สามารถแผ่เมตตาช่วยคนเจ็บป่วยได้ 

อานิสงส์การแผ่เมตตานั้น นอกจากสรรพสัตว์และดวงวิญญาณทั้งหลายแล้ว มนุษย์ทั่วไปที่นอนเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานก็สามารถรับอานิสงส์ของการแผ่เมตตาได้ โดยให้เรากล่าวว่า ดังนี้

“ อานิสงส์ของการสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ
ของข้าพเจ้าในวันนี้ ขอส่งให้ (ชื่อ-สกุล ผู้ป่วย)”

                   

               เพียงเท่านี้เองก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ป่วยมหาศาล โดยเฉพาะผู้แผ่เมตตาเป็นผู้บุญบารมีมากยิ่งก่อให้เกิดผลเร็วขึ้น โดยมาตรฐานที่จะให้เกิดผลสมบูรณ์ ให้ทำติดต่อกัน 33 วัน สภาพร่างกายและอำนาจจิตของผู้ป่วยก็จะดีขึ้นอย่างชัดเจน แม้บางรายสังขารจะไม่ดีก็ตาม ความทุกข์ทรมานจะลดลงจิตจะดี คนเราเมื่อจิตดีก็มีความสุข

             
              อย่างไรก็ดีต้องทำความเข้าใจหลักของเวรกรรมแต่ละคนด้วย (ผู้ป่วย) ผู้ป่วยบางรายอาจจะยกเว้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานนี้ อันเนื่องจากอยู่ในภาวะชดใช้กรรมของเขาเอง และอีกประการหนึ่งให้เข้าใจในเรื่องวิถีจิตของผู้ป่วยต้องเปิดด้วย ถ้าจิตปิดก็รับไม่ได้ แต่หากผู้ป่วยเป็นผู้ปฏิบัติธรรมแล้วก็จะยิ่งเกิดผลเร็วทันตาเห็น ใช้เวลาเพียง 16 ถึง 24 วันเท่านั้นก็เพียงพอ นั้นหมายถึงเขาเปิดประตูจิตไว้รออยู่แล้วนั่นเอง

           อย่างไรก็ตาม ความเป็นสายเลือดสายโลหิตระหว่างผู้แผ่อานิสงส์และผู้ป่วย ก็เป็นข้อยกเว้นพิเศษอีกเช่นกัน เพราะความเป็นสายเลือดการส่งอานิสงส์บุญกุศลจะยิ่งรวดเร็วที่สุด เกิดอานุภาพแรงที่สุดเช่นกัน 



              ดังกล่าวมาข้างต้น คงพอจะทำให้ทุกท่านเข้าใจ เรื่อง อานิสงส์ หรือ ประโยชน์ที่จะรับจากการสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ ตลอดจนการแผ่เมตตาเป็นอย่างดีแล้ว อย่างไรก็ดีนี่เป็นเพียงประโยชน์เบื้องต้นเท่านั้น 

              ความจริงแล้วมีอานิสงส์ที่จะได้รับทางอ้อม ทางลึกอีกมากมายกว่านี้นักแต่เป็น “ ปัจจัตตัง” ของแต่ละคนไป การอ่านบรรยายข้างต้นเชื่อว่าสามารถทำให้ท่านเข้าใจได้แต่จะให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ท่านต้องปฏิบัติเอง 

              ธรรมะคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีเครื่องมือชนิดใดสามารถมาวัดประสิทธิภาพ วัดความจริงได้ เป็นเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์ ต้องวัดผลด้วยการปฏิบัติเอง 

  
ตัวอย่างบทสวดมนต์แบบย่อและครบถ้วน 

บทสวดมนต์มีหลากหลายแล้วแต่ชอบและถูกจริต ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบทสวดมนต์ที่หลายท่านที่เริ่มต้นสวด ยึดเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นบทสวดที่ต้องทำจิตใจให้สดชื่นและผ่องใส หากสวดคล่องแล้วอยากเพิ่มเติมบทไหนเป็นพิเศษก็สามารถทำได้  

นั่งท่าเทพบุตร เทพธิดา
 

บทบูชาพระรัตนตรัย
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา           สมเด็จพระผู้มีพระภาคเป็นพระอรหันต์ หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง
พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)    ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง ข้าพเจ้าขออภิวาทพระพุทธเจ้าผู้มีพระภาค

สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม                พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว     
ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)                        ข้าพเจ้าขอนมัสการพระธรรม

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ         พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว
สังฆัง นะมามิ (กราบ)                           ข้าพเจ้าขอนอบน้อมพระสงฆ์

บทนมัสการพระพุทธเจ้า 

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (3 จบ)

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

บทพระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ    
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นผู้แจกจ่ายธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ดีโดยชอบด้วยพระองค์เอง

วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ(ความรู้และความประพฤติ) 
เสด็จไปดี(คือไปที่ใดก็ยังประโยชน์ให้ที่นั้น) ทรงรู้แจ้งโลก

อนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
ทรงเป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึก หาผู้อื่นเปรียบมิได้

สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ตื่น ทรงเป็นผู้แจกจ่ายธรรม

บทพระธรรมคุณ

สะหวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฺฐิโก      
พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง   

อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

เวทิตัพโพ วิญญูหีติ
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้... 

บทพระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติสมควรแล้ว

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั้นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

อนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้. 
 

บทสวดไตรสรณคมน์ คาถามหามงคล

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ                     ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ                      ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก   

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ                     ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ        แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ         แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ        แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ      แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ       แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ      แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือเอาพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก

บทสวดมนต์แผ่เมตตาให้ตนเอง

อะหัง สุขิโต โหมิ                  ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข 
อะหัว นิททุกโข โหมิ              ปราศจากความทุกข์ 
อะหัง อะเวโร โหมิ                 ปราศจากเวร 
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ         ปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง 
อะหัง อะนีโฆ โหมิ                ปราศจากความทุกข์การทุกข์ใจ 
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ         มีความสุขกายสุขใจรักษาตนให้พ้นจากทุกภัยทั้งสิ้นเถิด

บทแผ่เมตตาพรหมวิหารสี่ 

บทเมตตา

สัพเพ สัตตา                    สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น 

อะเวรา โหนตุ                   จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกันเถิด 

อัพยาปัชฌา โหนตุ            จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 

อะนีฆา โหนตุ                    งเป็นผู้ไม่มีทุกข์กาย ทุกข์ใจเถิด 

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ       จงเป็นผู้มีสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด 

บทกรุณา

สัพเพ สัตตา                     สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น 

สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ        จงพ้นจากทุกข์เถิด 

บทมุทิตา

สัพเพ สัตตา                                สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น 

มา ลัทธะสัมปัตติโต วิมุจจันตุ           จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันตนได้แล้วเถิด 

บทอุเบกขา

สัพเพ สัตตา                                  สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา                                   เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน 

กัมมะ ทายาทา                               เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะ โยนิ                                    เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะ พันธุ                                   เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะ ปะฏิสะระณา                         เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง กัมมัง กะริสสันติ                       กระทำกรรมอันใดไว้ 

กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา                  ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ                จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  
 

คาถาอุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อเวรา สุขะชีวิโน 

ขอปวงสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกัน เป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด
 

กะตัง ปุญญะผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต 

ขอสัตว์ทั้งสิ้นนั้น จงเป็นผู้มีส่วนได้เสวยผลบุญ อันข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนั้นเทอญ 

 

 

 

 ที่มาเรียบเรียงจาก : www.dhammathai.org/webboard/dbview.php?No=1903‎ http://board.postjung.com/523420.html, http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php?topic=116.0, http://moralthinking.blogspot.com/2010/12/blog-post.html

รูปประกอบ  : http://www.tinyzone.tv/HealthDetail.aspx?ctpostid=2731
http://thaimisc.pukpik.com/freewebboard/php/vreply.php?user=dokgaew&topic=10229 ,http://catkm.cattelecom.com/