www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ขับเคลื่อนชีวิตด้วยความรัก
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-02-10 18:25:52

 

ธรรมะ โดย พระไพศาล วิสาโล

 
        
เขากำลังมีความรู้สึกร่วมกับพระเอกในภาพยนตร์ที่กำลังผิดหวังกับความรัก แต่เสียงพูดคุยของหนุ่มสาวที่นั่งอยู่แถวหลังในโรงภาพยนตร์ทำให้อารมณ์ของเขาสะดุดทันที ผ่านไป 5 นาทีแล้วแต่ทั้งคู่ยังจ้อไม่หยุด เขาชำเลืองไปมองหนุ่มสาวคู่นั้นเพื่อเป็นสัญญาณเตือน แต่ก็ไม่ได้ผล ความรู้สึกหงุดหงิดค่อยๆ สะสมมากขึ้น จนดูภาพยนตร์ไม่รู้เรื่อง ในใจของเขาเต็มไปด้วยเสียงบ่นก่นด่าหนุ่มสาวคู่นั้น

         “มันมาดูหนังหรือมาพูดกันวะ ถ้าไม่ดูก็ออกไปคุยกันข้างนอกสิโว้ย” แต่ยิ่งว่าเหมือนยิ่งยุ เสียงคุยข้างหลังดังขึ้นเรื่อยๆ ในความรู้สึกของเขา เสียงยิ่งดัง ใจก็ยิ่งร้อนรุ่ม แล้วในที่สุดความอดทนของเขาก็ถึงขีดสุด เขาผุดลุกขึ้นและหันไปพูดกับทั้งสองคนว่า “รู้จักเกรงใจคนอื่นบ้างสิ รู้ไหมว่าเสียงของคุณมันดังรบกวนคนอื่นเขา จนดูหนังไม่รู้เรื่องแล้ว ” 

         เสียงของเขาดังลั่นทั้งโรงภาพยนตร์ คนทั้งโรงตกใจ สายตาทั้งหมดมาจดจ้องอยู่ที่เขาคนเดียว สักพักเขาถึงพบว่าตนเองต่างหากที่ส่งเสียงดังรบกวนคนทั้งโรง เขาตั้งใจจะต่อว่าสองหนุ่มสาว แต่เขาก็กลับทำสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าคนทั้งสองเสียอีก 

           ความโกรธทำให้เราเผลอตัวได้ง่าย ถ้อยคำรุนแรงที่หลุดออกไป แม้ตั้งใจจะเล่นงานผู้อื่น แต่กลับกลายเป็นการประจานตัวเองโดยไม่รู้ตัว

     
         อันที่จริงความโกรธเล่นงานเราก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแค่คิดอยากจะด่าว่าและทำร้ายเขาเท่านั้น คนที่ถูกทำร้ายเป็นคนแรกก็คือเรา เพราะเมื่อปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้น ใจเราย่อมถูกเผาลนจนทำอะไรไม่ถูก หรือถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อเราเกิด คนที่ทุกข์คือเรา และเมื่อด่าว่าหรือทำร้ายเขา คนหนึ่งที่เดือดร้อน ก็คือเราอีกนั่นแหละ

         การเผลอประจานตัวเองนั้นยังนับว่าเบาเมื่อเทียบกับผลร้ายต่างๆ ที่สะท้อนกลับมา เช่น เสียมิตร เพิ่มศัตรู ถูกปองร้าย หรือถูกตำรวจดำเนินคดี ยังไม่นับโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน ที่อาจรังควานตลอดชีวิต 

           ดังนั้นเมื่อโกรธใครก็ตาม ก่อนจะโกรธไปมากกว่านั้น ควรนึกถึงตัวเองและสงสารตัวเองให้มาก แน่นอนว่าขณะที่โกรธนั้น อาจมีเสียงตะโกนออกมาจากข้างในว่า “ด่ามันไปเลย ถ้าได้ด่ามันแล้ว จะตายก็ไม่ว่า “ แต่ขอให้ระลึกว่าเป็นตัวโกรธต่างหากที่ตะโกนออกมา ถ้าเราเผลอใจทำตามมัน คนที่เดือดร้อนคือเรา ขณะที่ตัวโกรธกลับยินดีและกำเริบเสิบสานมากขึ้นจนสามารถครองใจเราได้ในที่สุด หากยังไม่แน่ใจว่าเสียงนั้นมาจากไหน ให้ลองหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สัก 10 ครั้งพร้อมกับกำหนดใจนับตามลมหายใจด้วย ถ้าระหว่างทางเกิดลืมนับขึ้นมา ก็ขอให้นับใหม่จนกว่าจะครบสิบ จากนั้นก็ให้ถามตัวเองว่า แน่ใจแล้วหรือว่าจะยอมตาย เพียงเพื่อขอให้ได้ด่าเขา ถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น ถามต่อไปว่า ระหว่างเราตายกับความโกรธตาย อะไรที่น่าเลือกกว่ากัน 

              ทุกคนมักพูดว่ารักตนเอง แต่ในความเป็นจริงเราไม่ค่อยรักตนเองเท่าใดเพราะชอบปล่อยให้ความโกรธเผาผลาญใจ เท่านั้นไม่พอ ยังชอบเติมเชื้อไฟเพื่อให้ความโกรธพลุ่งพล่านรุนแรงมากขึ้น เราเติมเชื้อไฟแห่งความโกรธด้วยการหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องราวที่ทำให้เราโกรธ หรือปักใจจดจ่ออยู่กับคนที่ทำความเจ็บแค้นให้เรา ใครจะมาชวนให้ไปเที่ยวก็ไม่สนใจ เพราะอยากจะครุ่นคิดอยู่กับเรื่องนั้น จะกินก็ยังคิด จะนอนก็ยังคิด ไม่ยอมปล่อยวางเสียที เมท่อความโกรธอัดแน่นถึงที่ก็ระเบิดออกมา ถ้าไม่ทำร้ายคนอื่น ก็ทำร้ายตนเอง หรือทำทั้งสองอย่าง 

               ไฟนั้นย่อมเป็นปฏิปักษ์กับน้ำ ฉันใด ถ้าตระหนักว่าเพลิงโกรธเพลิงแค้นนั้นไม่ดีอยากระงับดับมัน ก็ต้องใช้น้ำวิเศษ โดยเริ่มจากเมตตาต่อตนเอง โกรธทีไรก็ขอนึกถึงตนเอง อย่าทุ่มใจไปข้างนอก หรือพุ่งจิตไปยังคนที่เราโกรธจนหมดตัว ขอให้เผื่อใจไว้สงสารตนเองด้วย จากนั้นก็ลองน้อมจิตไปอยู่ที่ลมหายใจเข้าและออกอย่างต่อเนื่องดังกล่าวข้างต้น 

              นอกจากเมตตาต่อตนเองแล้ว ควรฝึกใจให้แผ่เมตตาให้แก่ผู้ที่เราโกรธหรือทำความเจ็บแค้นให้เรา แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อย่าลืมว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการแผ่เมตตานี้เป้นคนแรกก็คือเรา หากเพลิงโกรธดับลง คนที่สัมผัสกับความเย็นเป็นคนแรกก็คือเรา

                ดังนั้นถ้าเรารักตนเองก็ควรน้อมใจให้เกิดเมตตาต่อผู้ที่เราโกรธด้วย หากยังทำใจเมตตาไม่ได้อย่างน้อยก็พยาพามให้อภัยเขา เพราะถ้าไม่รู้จักให้อภัย บาดแผลในใจของเราก็ไม่มีวันหาย การให้อภัยเปรียบเสมือนยาสามัญที่ควรมีประจำใจ เพราะชีวิตนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งกันได้ การให้อภัยนั้น ไม่ได้หมายถึงการลืมสิ่งที่เขาทำกับเราหรือแกล้งคิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เราควรจำไว้เพื่อเป็นบทเรียน แต่บทเรียนนั้นควรมีไว้เพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มิใช่ชวนให้หวนคิดถึงเรื่องราวข้างหลังด้วยความเจ็บปวด 


มีหลายวิธีที่ช่วยให้เกิดเมตตาจิตหรือให้อภัยต่อผู้ที่เราโกรธ วิธีที่นิยมใช้คือ กล่าวคำแผ่เมตตา 
สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น 
อเวรา โหนตุ จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย 
อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขๆ เถิด อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย 
อนีฆา โหนตุ อย่าได้มีความทุกข์กายและใจเลย 
สุขี อัตตานัง ปริหรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ 


              วิธีนี้เป็นการน้อมจิตแผ่เมตตาแบบไม่จำเพาะเจาะจง แต่ถ้าจะให้มีผลต่อจิตใจมากกว่านั้น ควรเจาะจงลงไปยังผู้ที่เราโกรธ วิธีหนึ่งก็คือ เชิญเขามาเป็นอาคันตุกะในใจของเรา และลองทำกับเขาอย่างที่เราไม่นึกจะทำมาก่อน 

              ลองหามุมสงบ นั่งขัดสมาธิ ผ่อนคลายทั้งกายและใจ แล้วน้อมจิตอยู่ที่ลมหายใจเข้าและออกสักพักใหญ่ จากนั้นให้จินตนาการว่าคน ๆ นั้นได้มาหาเราและนั่งอยู่ข้างหน้าเรา เขาอยู่ใกล้จนเราสามารถเอื้อมมือไปสัมผัสได้ ในจินตนาการนั้นเราเห็นเขาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะใบหน้าของเขา 

              ขณะนั้นเรารู้สึกอย่างไร อึดอัดกระสับกระส่ายหรือไม่ กำลังคิดอะไรอยู่ สำรวจว่าหัวใจของเราเต้นเป็นปกติหรือไม่ ลมหายใจเข้าออกเป็นอย่างไร ทีนี้ขอให้มองใบหน้าของเขา จินตนาการว่าเรายิ้มให้เขา ทักทายเขา ไต่ถามทุกข์สุข พร้อมกับหาของมาต้อนรับเขา นึกต่อไปว่า เขายิ้มตอบ และยื่นของฝากมาให้เรา เป็นของที่เราโปรดปรานเสียด้วย เขาเองก็ไต่ถามทุกข์สุขของเราเช่นกัน 

              ลองยิ้มให้เขาอีกครั้ง สังเกตดูว่าตอนนี้เรายิ้มให้เขาได้ง่ายกว่าเดิมหรือไม่ หรือว่ายังฝืนยิ้มเหมือนครั้งแรก ความอึดอัดกระสับกระส่ายลดน้อยลงหรือไม่ และพูดกับเขาด้วยความรู้สึกปลอดโปร่งกว่าเดิมไหม 

              จากนั้นให้สบตาเขา มองลึกเข้าไปจนสามารถเห็นถึงแง่ดีหรือความดีที่เขามี เช่นความดีที่เขาเคยกระทำต่อเรา หรือความดีที่เขามีต่อผู้อื่น ต่อพ่อแม่ ต่อลูกหลาน หรือมิตรสหาย เป็นความดีที่เราชื่นชมหรืออาจทำไม่ได้เหมือนเขาด้วยซ้ำ 

            ขั้นต่อมาให้นึกถึงความทุกข์ของเขาในอดีต เขาอาจเป็นคนสู้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบมาตลอด ขาดความรักจากพ่อแม่ งานการล้มเหลว หรือความทุกข์ในปัจจุบัน เช่น มีปัญหาครอบครัว ป่วยหนัก หรือเป็นหนี้สิน นึกไปถึงความทุกข์ที่กำลังรอเขาอยู่ข้างหน้าอันเนื่องจากพฤติกรรมบางอย่างของเขา เช่น เพื่อนฝูงตีจาก 

             นึกต่อไปอีกว่าเรากับเขาล้วนอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราว อีกไม่นานก็ต้องตายจากกัน กลายเป็นเถ้าถ่านทั้งคู่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะโกรธกันไปทำไม นึกถึงวันที่เราทั้งคู่จะต้องจากโลกนี้ไป เราอยากจะโกรธกันไปถึงภพหน้าชาติหน้าหรือไม่ 

               กลับมาตามลมหายใจและน้อมจิตอยู่ในความสงบสักพัก จากนั้นให้จินตนาการจนเห็นภาพอย่างชัดเจนว่า เราค่อย ๆ เอื้อมมือไปสัมผัสไหล่หรือแขนของเขาอย่างอ่อนโยนพร้อมรอยยิ้ม และแล้วเราก็โผเข้าไปกอดเขาไว้ กอดแน่น ๆ เขาเองก็กอดเราเช่นกัน 

             สำรวจความรู้สึกของเราตอนนี้เป็นอย่างไร เรากอดอย่างเกร็ง ๆ หรือว่าขัดขืนที่จะเข้าไปสัมผัสตัวเขา 

            จากนั้นก็นึกต่อไปว่าเขาขอตัวกลับ เราลุกไปส่งเขาที่ประตู และมองเขาจนลับสายตา 

             วิธีนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเขาจะดีกับเราอย่างที่จินตนาการ แต่ประโยชน์ที่ได้ก็คือช่วยลดความโกรธเกลียดในใจเรา และช่วยให้ภาพของเขาในใจเรานั้นคลายพิษสงลง และสร้างความทุกข์แก่เราน้อยลง อย่าลืมว่าไม่ใช่ตัวเขาเท่านั้นที่ทำให้เราทุกข์ หากแต่ใจที่รู้สึกโกรธเกลียดเขาก็ทำให้เราทุกข์ด้วย เพราะนึกถึงเขาเมื่อไร ก็รุ่มร้อนเมื่อนั้น ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเขาอยู่ไกลจากเราหลายพันโยชน์ ยิ่งเห็นเขาเป็นปีศาจหรือยักษ์มารเท่าไร เรานั่นแหละที่จะเป็นฝ่ายทุกข์เอง ดังนั้นถ้าไม่อยากทุกข์มากไปกว่านี้ ก็ควรเพลาความโกรธเกลียดลง หรือถอนปีศาจหรือยักษ์มารออกไปจากใจของเรา 

               การลดความโกรธเกลียดด้วยวิธีจินตนาการดังกล่าว ไม่ใช่การหลอกตัวเอง หากแต่เป็นการพยายามมองเขาให้ครบทุกด้านตามความเป็นจริง เขาเป็นปีศาจหรือยักษ์มารในสายตาของเราก็เพราะเรามองเห็นแต่ส่วนไม่ดีของเขา แม้นั่นจะเป็นความจริง แต่เขาก็มีส่วนอื่น ๆ ที่เป็นความจริงซึ่งเราควรรับรู้ด้วย เช่น ความดี ความทุกข์ และความเป็นเพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตาย การมองแต่ความไม่ดีของเขาเป็นการมองที่ไม่ครบถ้วน ดังนั้นจึงทำให้เกิดอคติได้ง่าย ในทางตรงข้ามหากเรามองเขาครบทุกด้าน เราจะมองเขาเป็นมนุษย์มากขึ้น จนสามารถรักเขาได้ 

              การน้อมจิตด้วยวิธีดังกล่าวหากทำบ่อย ๆ ไม่เพียงช่วยลดเพลิงโทสะในใจเราเท่านั้น หากยังช่วยบ่มเพาะเมตตาในใจเราให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราสามารถรักผู้อื่นและปรารถนาดีต่อผู้อื่นได้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือความสุขและความสงบเย็น ผู้ที่มีเมตตาน้อย หรือไม่สามารถน้อมจิตให้เกิดเมตตาได้อย่างรวดเร็วทันการ ย่อมถูกเพลิงโทสะเผาผลาญอยู่ร่ำไป เหมือนบ้านที่ถูกเผาซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่เคยเตรียมน้ำไว้ดับไฟเลย 
 

             เมื่อเรามีเมตตาต่อผู้อื่นเราจะพบว่านอกจากจะพบกับความสุขสงบเย็นแล้ว ปัญหาความขัดแย้งอาจคลี่คลายไปได้ง่ายขึ้น ใช่หรือไม่ว่าความวิวาทบาดหมางเกิดขึ้นและลุกลามก็เพราะต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันด้วยความโกรธ ต่างฝ่ายต่างสาดน้ำมันเข้าใส่กองเพลิง ด้วยถ้อยคำเผ็ดแสบและการทำร้ายกัน แต่หากฝ่ายหนึ่งเปลี่ยนมาใช้ถ้อยคำที่สุภาพนิ่มนวล หรือหยิบยื่นไมตรีให้ อีกฝ่ายอาจชะงัก สับสน และหันมามองเราในแง่ดีขึ้น หรือเลวร้ายน้อยลง แม้ยังโกรธหรือระแวงอยู่ แต่ก็ไม่สามารถใช้วิธีรุนแรงได้ถนัดเหมือนเคย เพราะไม่อยากเป็น “ ผู้ร้าย” ในสายตาของคนที่เห็นเหตุการณ์ บ่อยครั้งมิตรภาพเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการชนะใจอีกฝ่ายด้วยเมตตาหรือความปรารถนาดี 


สตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับหนังชื่อก้องโลกเล่าว่า เมื่อยังเป็นเด็กอายุ 13 ปี เขาถูกอันธพาลวัยรุ่นที่โรงเรียนแกล้งเป็นประจำ บางครั้งก็ปาระเบิดกลิ่นเข้าใส่เขา ชีวิตเขาเหมือนตกนรก แต่แล้ววันหนึ่งเขาได้เดินเข้าไปหาอันธพาลคนนั้นและบอกว่า “ฉันกำลังถ่ายทำวีดีโอเรื่องตามล่านาซี เธออยากเล่นบทพระเอกไหม” อันธพาลหัวเราะ แต่ 2 - 3 วันหลังจากนั้นก็กลับมาและตอบรับอย่างไม่เต็มใจ หลังจากถ่ายทำเสร็จ ปรากฎว่าอันธพาลคนนั้นเลิกกลั่นแกล้งเขา และกลายมาเป็นเพื่อนสนิทของเขาในเวลาต่อมา 

                คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” เป็นความจริงในทุกยุคทุกสมัย เมตตาหรือความปรารถนาดีนั้นไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับคนที่เรารักเท่านั้น หากยังควรใช้กับคู่กรณีหรือผู้ที่ไม่ประสงค์ดีกับเราด้วย แม้อยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลมก็ตาม 

             นักธุรกิจท่านหนึ่งได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งไปเรียนต่างประเทศว่า มีคราวหนึ่งเธอถูคนผิวดำล็อคคอและเอามีดจี้ขณะรอสัญญาณไฟเขียวบนเกาะหน้ามหาวิทยาลัยในเมืองบอสตัน โจรผิวดำสั่งให้เธอยื่นกระเป๋าเงินให้ แต่เมื่อพบว่าในนั้นมีเงินแค่ 20 ดอลลาร์ ก็โวยวาย เขาสั่งให้เธอถอดนาฬิกา แหวน และกำไล เธอก็ไม่มีให้สักอย่าง เขาถามถามเธอว่า “เป็นคนเอเชียมาเรียนที่นี่ได้ก็ต้องรวย” เธอตอบว่า “สำหรับฉันน่ะไม่ใช่ เพราะได้ทุนมา” แล้วโจรก็ย้อนกลับมาถามถึงเงิน 20 ดอลลาร์ว่าจะเอาไปทำอะไร เธอตอบว่า เอาไปซื้อไข่ “เอาไข่ไปทำอะไร ?” เขาถาม “เอาไปต้มกินได้ทั้งอาทิตย์ ” เธอตอบตามความจริงเพราะตอนนั้นมีปัญหาการเงิน 

                ระหว่างที่ถามตอบกันอยู่นั้น ยามหน้ามหาวิทยาลัยเห็นผิดสังเกต จึงยกหูโทรศัพท์เรียกตำรวจ เธอเห็นเช่นนั้น ก็โบกมือว่า “ไม่ต้อง ๆ เราเป็นเพื่อนกัน” โจรได้ยินเช่นนั้นก็งง ถามว่า “คุณรู้จักกับผมตั้งแต่เมื่อไหร่ ? ” “ก็เมื่อกี้ไง” เธอตอบ 

              โจรเปลี่ยนท่าทีไปทันที สุดท้ายแทนที่เขาจะเอาเงินของเธอไป กลับพาเธอไปซื้อไข่ และซื้ออาหารเต็ม 3 ถุงใหญ่ พร้อมทั้งหิ้วมาส่งถึงหน้ามหาวิทยาลัย เท่านั้นไม่พอ ยังแถมเงินให้อีก 50 ดอลลาร์ 

               เรื่องนี้ยังไม่จบเพราะวันรุ่งขึ้นเธอนำเงิน 50 ดอลลาร์นั้นไปซื้อเครื่องปรุงอาหารไทย แล้วนั่งรถไปบ้านเขาเพื่อทำต้มยำกุ้งให้กินกันทั้งครอบครัว นับแต่นั้นทั้งสองฝ่ายก็ไปมาหาสู่กัน เธอเล่าว่าทุกวันนี้หากมีธุระไปบอสตันก็จะไปแวะเยี่ยมครอบครัวนี้ทุกครั้ง 

              หญิงไทยผู้นี้ใช้ความดีเอาชนะใจโจรจนเปลี่ยนมาเป็นมิตรกับเธอได้ โจรนั้นมีความดีอยู่ในตัว แต่ความดีนั้นถูกเก็บงำเอาไว้ จนเมื่อเธอเป็นฝ่ายแสดงความปรารถนาดีก่อน ความดีของเขาจึงถูกเรียกร้องให้แสดงตัวออกมา และสานสัมพันธภาพของทั้งสองให้แน่นแฟ้น 


ทั้งสองกรณีที่กล่าวมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิธีกำจัดศัตรูที่ดีที่สุด ก็คือการเปลี่ยนเขามาเป็นมิตร ความรุนแรงนั้นไม่สามารถกำจัดศัตรูได้อย่างยั่งยืน เมตตาต่างหากที่กำจัดศัตรุได้อย่างชะงัด เมตตานั้นมีพลังอันยิ่งใหญ่ที่เราควรน้อมมาไว้ในใจ 

                 นานเพียงใดแล้วที่เราปล่อยให้ความโกรธขับเคลื่อนชีวิตและปรุแต่งการกระทำของเรา เพราะคิดว่าความรุนแรงนั้นสามารถแก้ปัญหาหรือทำลายล้างปรปักษ์ของเราได้ แต่แท้จริงมันกลับวกมาทำร้ายเราเอง และสร้างปัญหาให้แก่เรามากขึ้น 

              อย่าปล่อยให้มันบั่นทอนชีวิตของเรามากไปกว่านี้ หันมาบ่มเพาะเมตตาเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้เป็นไปในทางสันติเสียแต่วันนี้ จะไม่ดีกว่าหรือ