www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

อุเบกขา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-02-10 11:46:06

อุเบกขา

.

ได้แสดงอุเบกขามาหลายครั้ง

เพราะเป็นธรรมที่ประกอบอยู่ในหมวดธรรมทั้งหลายเป็นอันมาก

อันแสดงว่าเป็นธรรมข้อสำคัญ

ที่จะนำให้การปฏิบัติธรรมทั้งปวง

โดยเฉพาะนำจิตใจไปสู่ความหลุดพ้นได้

พิจารณาดูเข้ามาที่จิต

จิตนี้โดยปรกติไม่มีอุเบกขาในอารมณ์ทั้งหลาย

เพราะว่าไม่ปล่อยและไม่หยุดในอารมณ์ทั้งหลาย

ไม่ปล่อยก็คือว่ายึด

ยึดอารมณ์ทั้งหลาย

และเมื่อยึดอารมณ์ทั้งหลาย

ก็ไม่หยุดการปรุงการแต่งอารมณ์ทั้งหลาย

จึงนำให้เกิดความยินดีความยินร้าย

ความงมงายต่าง ๆ 

ฉะนั้น

การปฏิบัติโดยสรุปหรือที่เรียกว่าเป็นทางลัดอย่างง่าย

ก็ให้กำหนดเข้ามาดูจิตเมื่อรับอารมณ์ทั้งหลายทางทวารทั้ง ๖

เมื่อดูจิตก็ย่อมจะพบว่า

จิตมีปรกติยึดไม่ปล่อยอารมณ์

และไม่หยุดคือว่าปรุงแต่งอารมณ์

เว้นไว้แต่ว่าอารมณ์นั้น ๆ

จะไม่พอเป็นที่ตั้งของความยินดีหรือความยินร้าย

ดังที่เรียกในภาษาสามัญว่าไม่น่าสนใจ

ใจไม่สนก็ปล่อยไปและก็หยุดไม่ปรุงแต่งอารมณ์เช่นนั้น

ดั่งนี้แหละที่เรียกว่าอัญญาณอุเบกขา

ความปล่อยความหยุด

หรือความวางความเฉย

ด้วยความไม่รู้

หรือมิใช่ด้วยความรู้

หรือที่เรียกว่า  เคหสิตะอุเบกขาดังกล่าวมาแล้ว

อุเบกขาดังกล่าวไม่ใช่เป็นธรรมปฏิบัติ

เป็นของที่ทุกคนก็มีอยู่ด้วยกัน

คือเรื่องอันใดที่ไม่สนใจ

ใจไม่สนก็เฉย ๆ ก็ปล่อยไม่ยึด

แล้วก็หยุดคือไม่ปรุงแต่งต่อ

แต่ว่าเรื่องที่สนใจเช่นว่าอารมณ์อันเป็นสุภารมณ์

คืออารมณ์ที่งดงาม

หรือตรงกันข้ามอารมณ์ที่เป็นอสุภารมณ์

คืออารมณ์ที่ไม่งดงามที่น่าเกลียด

ซึ่งถ้าจะเป็นสุภารมณ์ก็ชวนใจให้ยินดี

ถ้าเป็นอสุภารมณ์ก็ชวนใจให้ยินร้าย

ดั่งนี้ใจก็สน

ก็ยึดไม่ปล่อยและก็ไม่หยุด

คือว่าจับมาปรุงแต่งในใจต่อไป

ดูจิตให้รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร

ในเวลาที่รับอารมณ์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำดังนี้ให้รู้

และเมื่อจิตจับยึดอารมณ์ไม่ปล่อย

และไม่หยุดคือว่าปรุงแต่ง

ก็จะเกิดความยินดีบ้างความยินร้ายบ้าง

ตลอดจนความหลงงมงายต่าง ๆ ดังกล่าว

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้รู้

และให้รู้ว่าอาการดั่งนั้น

เป็นการปรุงของปรุงแต่งเป็นของหยาบ

ไม่ใช่เป็นของละเอียด

ส่วนอุเบกขา

คือความที่นำใจออกมาเป็นกลาง

ที่เรียกว่ามัธยัสถ์  ตั้งอยู่ในท่ามกลาง

ไม่ตกไปในฝ่ายยินดี

ไม่ตกไปในฝ่ายยินร้าย

ตั้งอยู่ในท่ามกลางดั่งนี้เป็นของละเอียด

เพราะว่า

ภาวะของจิตดั่งนี้เป็นลักษณะที่เรียกว่า

ปล่อยคือไม่จับยึดเอาไว้

และหยุดคือไม่ปรุงแต่ง

ตั้งอยู่ท่ามกลาง

แต่ถ้าตกไปในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แห่งความยินดีหรือความยินร้าย

ก็จะต้องปรุงแต่ง

ดูจิตให้รู้ดั่งนี้

ก็จะได้อุเบกขา