www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ธรรมะหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2014-01-19 16:54:36



หลวงปู่หล้า เขมปัตฺโต เป็นสุปฏิปันโน ผู้สืบทอดปฏิปทา ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต.....
  เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด มีศีลาจาริวัตรอันงดงามน่าเลื่อมใส มีความสามารถในการแสดงธรรมอบรมได้ลึกซึ้งจับใจ เป็นดั่งประทีปธรรมแห่งลุ่มแม่น้ำโขง

หลวงปู่หล้าได้เข้าไปเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น...... เพราะเป็นช่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยของท่านแล้ว และท่านก็เริ่มอาพาธ หลวงปู่หล้าท่านตั้งใจทำหน้าที่ปฏิบัติบูชาพระคุณของพระอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงสุด ทำหน้าที่ทุกอย่าง จนได้รับความไว้วางใจจากครูบาอาจารย์หมู่คณะด้วยกัน โดยหลวงปู่มั่น มอบหมายให้หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นผู้ดูแลหมู่คณะแทนท่าน ...... หลวงปู่หล้า อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จนกระทั่งท่านเข้าสู่พระนิพพานที่วัดป่าสุทธาวาส ภายหลังจากเสร็จพิธิถวายเพลิงสรีระสังขารองค์ท่านแล้ว หลวงปู่หล้าได้ติดตามเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ธุดงค์ไปทางภาคใต้ จากนั้นท่านได้ติดตามปฏิบัติธรรมไปกับหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน.....

คำสอนหลวงปู่หล้า


 "มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์"



"มองตัวเองให้มากจึงจะกลายเป็นคนดีได้ มัวแต่มองท่านผู้อื่นแล้วไซร้ ก็กลายเป็นคนพาลไป ไม่รู้ตัว
เพราะนิสัยคนพาลย่อมเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวัตร
พุทธศาสนาก็ยืนยันว่า "สอนตนดีแล้ว จึงสอนท่านผู้อื่น" จึงไม่เดือดร้อนในภายหลัง
เรื่องอุปสรรคในโลกทั้งปวง และก็เป็นยาวิเศษทั้งปวงไปในตัว
เป็นเหตุให้เข็ดหลาบโลกทั้งปวงไปในตัว แบบถี่ถ้วนแยบคายด้วยซ้ำ
มุ่งดีในโลกีย์เป็นทางวนเวียน มุ่งดีในทางโลกุตตระเป็นทางพ้นทุกข์"

  
"พระนิพพานไม่ใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย 
ถ้าหมายอยู่ยังไม่ใช่พระนิพพาน เป็นเพียงความหวังและเจตนากำลังเดินทางใจมรรคใจเท่านั้น
ธรรมชั้นนี้เป็นธรรมชั้นสูงมาก มอบให้เจ้าตัวแต่ละรายเป็นผู้มีสิทธิ์เห็นเองรู้เอง
จึงเป็นของไม่นอกเหนือ ถ้านอกเหนือไปกว่านี้แล้ว
เป็นธรรมหาพรรคหาเสียงภายนอกเหมือนชาวโลกที่อลหม่านกันอยู่ "


"การดักจิตดักใจของตนเอง ย่อมเป็นภาวนาอยู่ในตัว ทวนกระแสเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะจะได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้มีกามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกหรือไม่ล่ะ ถ้ามีหรือไม่มีจะได้รู้
เมื่อรู้ว่ามีจะละด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น บรรเทาหรือไม่ก็จะรู้ได้
ขาดไปแล้วไม่กำเริบด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น กำเริบขึ้นด้วยวิธีใดก็จะได้รู้ด้วยวิธีนั้น
การพิจารณาจิตในจิตนี้ จะปฏิเสธไม่ได้ถ้าปฏิเสธแล้ว
การพิจารณาจิตก็ไม่บริบูรณ์จะเป็นจิตบริสุทธิ์ไปได้ยาก
เพราะขาดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานย่อมไม่สมบูรณ์" 


"พระพุทธศาสนาเป็นธรรมคุ้มครองสรรพโลกอยู่โดยตรงๆ แล้ว ผ่านการบ้านการเมืองไปแล้ว ข้ามไปเป็นการคุ้มครองโลก เหนือไปกว่าการบ้านการเมืองไปอีก พระบรมศาสดาจึงยืนยันว่าธรรมเป็นโลกบาล คือคุ้มครองโลกได้ มีอยู่ ๒ ข้อ หิริ ความละอายต่อบาปทุจริต โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปทุจริต" 

"อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นผู้ส่งส่ายเอามาใช้ให้รู้ความหมาย
เมื่อปัจจุบันเป็นโลกิยวิสัย อดีตอนาคตก็พลอยเป็นโลกิยวิสัยไปด้วย
แต่อดีตอนาคตไม่มี มีแต่ชื่อและบัญชี เพราะล่วงไปแล้ว เพราะยังไม่มาถึง
ดีก็ดีไปแล้ว ชั่วก็ชั่วไปแล้ว อนาคตเล่า ถ้าจะดี ก็ยังไม่มาถึง ถ้าจะชั่ว ก็ยังไม่มาถึง
ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม เท่านั้น จะละเว้นได้ในทางที่ไม่ชอบ และก็จะปฏิบัติได้ในทางที่ชอบ
ถ้าหากว่าคอยไปบดเอื้องอยู่แต่อดีต อนาคตเท่านั้น ก็ลืมโอปนยิโกมาในปัจจุบัน
จิตใจก็ห่างเหินจากสมาธิและปัญญา "

หลวงปู่หล้า


"ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เชื่อว่าบาปมีบุญมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น
เชื่อว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลมาในพระปาฏิโมกข์ หรือพุทธบัญญัติ และอภิสมาจาร
ย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้รักษาและประพฤติได้ ย่อมเป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ
ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละรายของบุคคลตามเหตุผลเฉพาะส่วนตัวเป็นรายๆ ไป
แม้ศรัทธาเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อก็เหมือนกัน เป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ขึ้นอยู่แต่ละรายของบุคคลอีก "


"การขีดๆ เขียนๆ เป็นเอกสารและตำรา ดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นพิจารณาเอง
กฎของการข่มเหงให้ยอมเชื่อไม่มีในทางธรรมของพระพุทธศาสนา
แม้จะยอมเชื่อด้วยการแก้รำคาญก็ไม่นานย่อมขบถคืน
จิตใจก็ไม่ชื่นเหมือนศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเอง "


"มนุษย์จะเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นชั้นๆ ของจิตใจได้ก็ด้วยใจอันเห็นชอบ ปฏิบัติชอบ
ประกอบกรรมอันดีเป็นลำดับ สูงส่งขึ้นไป
ความดีและไม่ดี ไม่มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกที่ชาวโลกแสวง
ถ้าหากว่า มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกแล้ว ปีไหนฟ้าฝนแล้งหรือท่วม
พระอริยเจ้าก็ต้องลดตำแหน่งมาเป็นปุถุชนคนหนาก่อน ปีไหนฟ้าดีฝนดี จึงสวมมงกุฎเป็นพระอริยเจ้า"


"อารมณ์วู่วามนั้น หากบุคคลใดรู้ตัวก็ต้องถือว่าเป็นคนมีปัญญาแล้ว
และหากถ้ามันเห็นว่าไม่มีประโยชน์มันก็จะวางไปเอง
แต่ถ้าหากเห็นว่ามีประโยชน์มันก็วางไม่ได้
อย่างไรก็ตาม มันจะถึงกับฆ่าหรือตีเขาหรือไม่ ข้อนี้ก็เป็นส่วนที่จะต้องรู้อีก
ถ้ามันหมายจะฆ่าจะตีเขาก็ส่อแสดงให้เห็นว่ามันยังมีกิเลสมากอยู่ เรื่องนี้เราต้องพิจารณา "


"ใครๆ ในโลกนี้ก็เหมือนกัน ถ้าหากเห็นว่าโลภ โกรธ หลง มันเป็นของอร่อยอยู่ มันก็ลดละไม่ได้
มันต้องไปสังเวยเป็นอาหารของกิเลสต่อไป
เรื่องความวู่วามโผงผางนี้ พระบรมศาสดากล่าวว่า เป็นตามนิสัยก็มี
เพราะบางคนอุปมาเหมือนน้ำใสกลางขุ่นขอบ
คือมารยาทไม่งามพูดจาโผงผาง แต่จิตใจเป็นธรรมอยู่
บางคนเหมือนน้ำใสทั้งขอบทั้งกลาง หมายความว่าจิตใจก็เป็นธรรม มารยาทก็เป็นธรรม
ส่วนบางคนที่เหมือนน้ำขุ่นทั้งกลางทั้งขอบ ก็หมายความว่าจิตใจก็ไม่เป็นธรรม คำพูดก็ไม่เป็นธรรม "



"เรื่องของธรรมะของพระพุทธศาสนา ความจริงแล้วเราควรจะต้องปฏิบัติให้ควบคู่กับอารมณ์ของเราไป
ดีกว่าที่จะปล่อยให้อารมณ์ไหวไปทางอื่น ยกอุทาหรณ์
คนเราจะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตาม แต่ก็ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง
ถ้าไม่อาบน้ำก็ยิ่งไปใหญ่ เข้าสังคมใดๆ ก็ไม่ได้
ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าเราไม่ประพฤติศีลประพฤติธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวจิตหัวใจให้สะอาดได้"