www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

วินัยพระน่ารู้ คู่มือโยม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-12-13 14:06:16

 

การให้พร

        สมัยปัจจุบัน มีโยมจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าทำบุญใส่บาตรถวายทานแล้ว หากไม่ได้รับพรก็จะไม่ได้บุญหรือได้บุญน้อย เมื่อรับพรแล้วจะได้บุญเต็มที่ แม้พระบางรูปก็มีความเข้าใจเช่นนั้น เมื่อฉันอาหารหรือรับอาหารของโยมแล้ว หากไม่ให้พร โยมจะไม่ได้บุญ ความคิดของโยมกับพระสมัยนี้บางท่านตรงกัน คือโยมต้องการรับพรเพื่อจะได้บุญมาก ๆ พระต้องการให้พรเพื่อจะเอาบุญให้โยม

        เมื่อเป็นอย่างนี้ โยมทำบุญ ใส่บาตรถวายทานแล้ว จึงขวนขวายแต่ในการรับพรอย่างเดียว บางท้องถิ่นจะถือเรื่องนี้อย่างจริงจัง พระรับบาตรต้องให้พรด้วย ถ้าไม่ให้พร โยมก็จะแสดงกิริยาอาการไม่พอใจ จนถึงต่อว่าต่อขานว่า “พระอะไรรับบาตรแล้วไม่ให้พร ใช้ไม่ได้” หรือบางครั้งถึงกับผูกโกรธพระรูปนั้นเลยทีเดียว และคิดอกุศลว่า “จะไม่ใส่บาตรพระรูปนี้อีกต่อไป” พอรุ่งขึ้น พระไปบิณฑบาต โยมก็ไม่ใส่บาตรจริง ๆ ตามที่คิดไว้ แค่นั้นยังไม่พอ โยมบางคนพยายามจำชื่อของพระรูปนั้นพร้อมที่อยู่ เอาไปฟ้องหลวงพ่อที่ปกครองในเขตนั้น ๆ เพื่อให้เรียกพระรูปนั้นมาอบรมสั่งสอน หลวงพ่อก็คล้อยตาม ถามโยมว่า “พระรูปนั้นชื่ออะไร อยู่ที่ไหน” โยมก็บอกว่า “พระชื่อนี้ อยู่วัดนั้น” หลวงพ่อก็ให้โยมไปนิมนต์พระรูปนั้นมา แล้วอบรมพร่ำสอนเป็นการใหญ่ว่า “ท่าน เราเป็นสมณะ มีชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น ต้องทำตัวให้เป็นคนเลี้ยงง่าย บำรุงง่าย อย่าหัวดื้อ เวลาฉันอาหารหรือรับบาตรโยมแล้ว ควรให้พรทุกครั้ง ถ้าพระไม่ให้พร โยมจะไม่ได้บุญ จำไว้นะ ครั้งหน้าอย่าทำอย่างนี้อีก” จึงน้อมรับโอวาทโดยเคารพว่า “ผมจะไม่ทำผิดอย่างนี้อีกครับหลวงพ่อ” ถ้าพระรูปนั้นขืนทำผิดรอบสอง น่าจะโดนหนักกว่านี้แน่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พระที่ท่านมาจากต่างถิ่น ก็ไม่นึกเลยว่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงขนาดนี้

         ปัจจุบันประเพณีให้พรขณะบิณฑบาตได้แพร่หลายไปยังภาคต่าง ๆ ของประเทศ เมื่อโยมชอบหรือต้องการอย่างใด พระท่านก็จะทำอย่างนั้น เพื่อเอาใจโยมไม่อยากขัดใจทั้งไม่อยากขัดศรัทธา เดี๋ยวจะเป็นการทำศรัทธาของโยมให้ตกไป เรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะพระกลัวจะเสื่อมลาภ กลัวโยมจะไม่ใส่บาตร เมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านขวนขวายในการให้พรอย่างจริงจัง ไม่สนใจว่าโยมจะรีบไปธุระหรือไม่ ถ้าโยมคนไหนเจอพระท่านให้พรชุดใหญ่ต้องนั่งประนมมือนานหน่อย เจอชุดเล็กก็เร็วหน่อย แต่โยมบางคนชอบชุดใหญ่ เท่าที่สังเกตดูตอนที่พระท่านให้พรเสร็จโยมจะสาธุเสียงดัง คงคิดว่าพระท่านให้พรเยอะ ๆ ได้บุญมาก โยมบางคนไม่ชอบ ก็นั่งบิดไปบิดมา กว่าพระท่านจะให้พรจบ บางครั้งไปทำงานแทบไม่ทัน

        เวลาบิณฑบาตในตลาดตอนเช้า พระจะนิยมให้พรแข่งกันจนเสียงดัง ดูเหมือนเป็นการประจบโยม เพื่อลาภสักการะ เพื่อให้โยมศรัทธา สถานที่กลางตลาดเช่นนั้น ผู้คนเดินสวนกันไปสวนกันมา โยมเบียดพระ พระเบียดโยม มือหิ้วของ บ่าสะพายย่ามอุ้มบาตรเดินไป ดูแล้วไม่เหมาะสม ไม่งามเลย

        ความจริงเรื่องบุญนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่ตรงที่พระท่านให้พร หรือไม่ให้พรแต่อย่างใด บุญนั้นเกิดขึ้นอยู่ที่เจตนาในการให้ทาน เมื่อมีเจตนาในการให้เกิดขึ้น บุญก็เกิดขึ้นในขณะนั้น จะเห็นได้ว่า บางครั้งไม่ได้ถวายทาน ทั้งยังไม่ได้ใส่บาตร บุญก็เกิดขึ้นได้ เช่นโยมคิดว่าพรุ่งนี้เช้า จะไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ขณะนั้นเจตนาในการบริจาคทานเกิดขึ้นแล้ว บุญก็เกิดขึ้น (เรียกว่าบุพพเจตนา), พอถึงตอนเช้าโยมก็ไปทำบุญเลี้ยงพระตามที่คิดไว้ ในขณะจัดอาหารหวานคาวหรือถวายอาหารพระ บุญก็เกิดอยู่ตลอด (เรียกว่า มุญจเจตนา), หลังจากถวายทานเสร็จแล้ว โยมระลึกถึงทานที่ทำไปแล้วเมื่อใด บุญก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น (เรียกว่า อปรเจตนา), ระลึกถึงบ่อย ๆ บุญก็เกิดบ่อย ๆ ถึงโยมจะได้รับพรหรือไม่ก็ตาม นี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า บุญสามารถเกิดได้ทั้งก่อนให้ทาน ขณะกำลังให้ทานและหลังจากให้ทานแล้ว ไม่เกี่ยวกับการให้พร หรือรับพรแต่อย่างใด ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

 “ทานจะมีผลมาก มีอานิสงส์มากต้องมีเจตนาประกอบด้วยกาลทั้ง ๓ "คือ

๑. ปุพพเจตนา ได้แก่ เจตนา คือความตั้งใจที่เกิดขึ้นก่อนการให้ทาน มีใจชื่นชมยินดี เมื่อเริ่มคิดว่า “เราจะทำบุญให้ทาน” ในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เป็นต้น

๒. มุญจเจตนา ได้แก่ เจตนา คือความตั้งใจที่เกิดขึ้นในขณะกำลังให้ทาน เช่น กำลังใส่บาตร กำลังถวายทานเป็นต้น ก็มีใจเลื่อมใส

๓. อปรเจตนา ได้แก่ เจตนา คือความตั้งใจที่เกิดขึ้นภายหลังการให้ทานเสร็จแล้ว มีใจปลาบปลื้ม นึกถึงทานครั้งใด ปลื้มใจทุกครั้ง”  (องฺ.ฉกฺก. ๓/๖๒๘)        โยมเวลาทำบุญใส่บาตรถวายทานแล้ว อย่าวุ่นวายอยู่กับการรับพรให้มากนัก จิตใจจะขุ่นมัว เปิดโอกาสให้กิเลสเข้ามาแทรกได้ง่าย บุญก็จะไม่เกิด พระท่านจะให้พระหรือไม่ โยมอย่าถือเอาเป็นสาระจริงจัง เมื่อเจตนาครบทั้ง ๓ กาลแล้ว อานิสงส์จะงอกงามไพบูลย์ยิ่งขึ้น ดังได้กล่าวมาแล้ว

มูลเหตุของการอนุโมทนา

        สมัยก่อน การแสดงธรรมในรูปแบบพรรณนาอานิสงส์ของการทำบุญให้ท่าน เรียกว่า “อนุโมทนา” แต่ปัจจุบันใช้คำเปลี่ยนไปเป็น “ให้พร”        

        สมัยพุทธกาล พระทั้งหลายฉันเสร็จแล้ว ไม่อนุโมทนาในโรงฉัน พวกโยมก็เพ่งโทษติเตียน บ่นว่า “ทำไม สมณะเชื้อสายศากยบุตร จึงไม่อนุโมทนาในโรงฉัน” พระทั้งหลายได้ยินพวกญาติโยมเหล่านั้น ตำหนิติเตียนเช่นนี้ จึงกราบทูลเรื่องนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงอาศัยมูลเหตุนั้นแล้วตรัสรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อนุโมทนาในโรงฉันได้”  (วิ.จุลฺ. ๗/๓๔๓)        

        พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระอนุโมทนาในโรงฉันได้ แต่ไม่ได้อนุญาตให้อนุโมทนาตอนบิณฑบาต พระพอฉันภัตตาหารเสร็จจะอนุโมทนาทุกครั้ง การอนุโมทนา ก็คือ การพรรณนาอานิสงส์ของการทำบุญให้ทานนั่นเอง เป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง หรือ เรียกว่า “สัมโมทนียกถา คือ การแสดงอานิสงส์ของการทำบุญให้ทาน เพื่อให้ญาติโยมร่าเริงสมาทานอาจหาญ ในการทำบุญให้ทานยิ่ง ๆ ขึ้น”

 พระบิณฑบาตไม่ควรให้พร

        ในเวลาบิณฑบาต พระต้องสำรวมตา ซึ่งเป็นวัตรอย่างหนึ่ง ต้องประพฤติในคราวเข้าไปในละแวกบ้าน คือ มีตาทอดลงเบื้องต่ำ มองดูชั่วแอก เวลาไปบิณฑบาตควรนำกรรมฐานไปด้วย เวลากลับก็นำกรรมฐานกลับด้วย ถ้าหากว่ามัวแต่จะให้พรโยม ความสำรวมก็จะเสียไป พระท่านยืนให้พร โยมนั่งรับพร ยิ่งไม่สมควรถือว่าไม่เคารพธรรม         ดังนั้น พระยืนแสดงธรรมแก่คนที่นั่งไม่ได้ป่วยไข้ ต้องอาบัติทุกกฎ ดังที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า “ภิกษุควรใส่ใจว่า เรายืนอยู่ จะไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่” (วิ.มหาวิ. ๒/๙๔๐)

“ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ยืนแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฎ” (วิ.มหาวิ. ๒/๙๔๑)      

        มีวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ คือ เวลาพระไปบิณฑบาต ถ้าโยมต้องการให้ท่านอนุโมทนา ใส่บาตรเสร็จแล้วนิมนต์ท่าน เมื่อพระท่านอนุโมทนา โยมควรยืนขึ้นถอดรองเท้า และหมวกเป็นต้น ประนมมือรับฟัง หรือถ้าหาเก้าอี้ให้ท่านนั่ง โยมจะยืนหรือนั่งฟังท่านอนุโมทนา อย่างนี้ก็ใช้ได้ พระไม่ต้องอาบัติทุกกฎ และชื่อว่าเคารพพระธรรม ทั้งพระและโยม      

       ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “ภิกษุนั่ง จะแสดงธรรมแก่คนผู้ยืนอยู่หรือนั่งอยู่ก็ควร (ไม่เป็นอาบัติ) ภิกษุยืน จะแสดงธรรมแก่ผู้ยืนอยู่เหมือนกันก็ได้ (ไม่ต้องอาบัติ)”  (วิ.มหาวิ.อฏฺ. ๒/๙๖๓)

        บางท้องถิ่น พระจะสอนโยมว่า เวลาใส่บาตรให้เอาเสื่อมาปูนั่งรวมกันหลาย ๆ คน เอาเก้าอี้มาให้พระท่านนั่ง แล้วจึงอนุโมทนา อย่างนี้ก็สมควรเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นโยมผู้หญิงคนเดียว พระภิกษุจะอนุโมทนา (แสดงธรรม) เป็นภาคภาษาบาลี คือ เป็นคาถายาวเกิน ๖ คำไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ เว้นแต่มีผู้ชายที่รู้เดียงสา มานั่งเป็นเพื่อน ดังที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ว่า “ภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้หญิงเกิน ๕-๖ คำ เว้นไว้แต่มีบุรุษผู้รู้เดียงสาอยู่ เป็นปาจิตตีย์”  (วิ.มหาวิ. ๒/๑๙๐)

อธิบาย วาจา ๖ คำ หมายความว่า  

 ๘ คำ (พยางค์) เท่ากับ ๑ บาท (บาทหนึ่งมี ๘ พยางค์)  

 ๔ บาท เป็น ๑ คาถา (คาถาหนึ่ง มี ๔ บาท)    

วาจา ๑ คำ เท่ากับ บาทหนึ่ง หรือเรียกว่า บทหนึ่ง  

 วาจา ๖ คำ เท่ากับ คาถาครึ่ง (มี ๖ บาท)  

 ตัวอย่าง มโนปุพฺพงฺคมา  ธมฺมา (คำที่ ๑) มโนเสฏฺฐา  มโนมยา (คำที่ ๒)  

 มนสา  เจ  ปสนฺเนน (คำที่ ๓) ภาสติ  วา  กโรติ  วา (คำที่ ๔)  

 ตโต  นํ  สุขมเนฺวติ (คำที่ ๕) ฉายา  ว  อนุปายินี.(คำที่ ๖)        

        พระต้องการจะกล่าวเนื้อความในคัมภีร์อรรถกถา ธรรมบทหรือชาดก เป็นต้น จะกล่าวเพียง ๕-๖ บท (บาท) ควรอยู่ เมื่อจะกล่าวพร้อมกับบาลี กล่าวธรรมอย่าให้เกิน ๖ บาท คือ จากพระบาลีบทหนึ่ง จากอรรถกถา ๕ บท (วิ.มหาวิ.อฏฺ. ๒/๑๙๓)

        พระจะแสดงธรรมแก่ผู้หญิงคนเดียว เป็นคาถาได้เพียงคาถาครึ่ง (๖ คำ) นอกนั้นต้องบรรยายเป็นภาษาไทย ถ้ามีผู้หญิงหลายนั่งอยู่รวมกัน เมื่อแสดงธรรม พระต้องบอกว่า “อาตมาจะแสดงธรรมแก่พวกโยมคนละคาถานะ” แล้วก็แสดงไป อย่างนี้ไม่เป็นอาบัติ หรือถ้าโยมผู้หญิง ถามปัญหาธรรม พระตอบปัญหาได้จนจบเรื่อง แม้ว่าเรื่องนั้นยาวขนาดไหน เช่น โยมถามว่า “ทีฆนิกายมีเนื้อความอย่างไร” พระสามารถแสดงจนจบทีฆนิกายก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ (วิ.มหาวิ.อฏฺ. ๒/๑๙๔)

        ถ้าพระแสดงธรรมเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่นนอกจากภาษาบาลี แม้แสดงยาวก็ไม่เป็นอาบัติ ตัวอย่างที่ท่านแสดงไว้ว่า “ไม่เป็นอาบัติ แม้ในคำที่อาศัยพระนิพพาน ซึ่งท่านรจนาไว้โดยผูกเป็นโคลงกลอน เป็นต้น ด้วยอำนาจภาษาต่าง ๆ”  (วิ.มหาวิ.อฏฺ. ๒/๑๖๑)

        เวลาบิณฑบาตในสถานที่ต่าง ๆ มีตลาดเป็นต้น ที่มีผู้คนพลุกพล่าน พระยืนให้พร โยมนั่งรับพรอย่างนี้ ไม่สมควรอย่างมาก ถือว่าไม่รู้จักกาลเทศะ ทั้งไม่เคารพธรรม แม้พระนั่งอยู่บนอาสนะต่ำ แสดงธรรมแก่คนไม่ได้เป็นไข้นั่งอยู่บนอาสนะสูง ก็ถือว่าไม่เคารพธรรมเหมือนกัน และต้องอาบัติทุกกฎด้วยเช่นกัน

        เรื่องความไม่เคารพธรรมนี้ พระพุทธองค์ทรงตำหนิติเตียนพระฉัพพัคคีย์ผู้นั่งอยู่อาสนะต่ำแสดงธรรมแก่คนทั้งหลายผู้นั่งอยู่บนอาสนะสูงโดยอเนกปริยาย จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า        

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ภรรยาของคนจัณฑาลคนหนึ่งในเมืองพาราณสีได้ตั้งครรภ์ เกิดอาการแพ้ท้องอยากกินมะม่วง นางได้บอกกับสามีว่า “พี่ หนูกำลังตั้งครรภ์ หนูอยากกินมะม่วงจังเลย” สามีพูดตอบว่า “ฤดูนี้ไม่ใช่ฤดูมะม่วงออกผล จะเอาผลมะม่วงมาจากไหนกัน” นางอ้อนสามีว่า “ถ้าหนูไม่ได้กินมะม่วง หนูขอตายดีกว่า” ช่วงเวลานั้น ต้นมะม่วงต้นหนึ่งของหลวงออกผลตลอดปี คนจัณฑาลกลัวภรรยาตาย ก็ได้เดินไปที่มะม่วงต้นนั้น พอไปถึงก็ได้แอบปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นมะม่วงนั้น พอดีพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จไปถึงต้นมะม่วงนั้น แล้วประทับนั่งบนพระราชอาสน์สูง ทรงเรียนมนต์กับพราหมณ์ปุโรหิต คนจัณฑาลคิดว่า “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ประทับนั่งบนพระราชอาสน์สูงเรียนมนต์ ชื่อว่าไม่เคารพธรรม และพราหมณ์คนนี้นั่งบนอาสนะต่ำสอนมนต์แก่พระเจ้าแผ่นดิน ผู้ประทับนั่งบนพระราชอาสน์สูง ก็ชื่อว่าไม่เคารพธรรม ส่วนเราผู้ลักมะม่วงของหลวง เพราะสตรีเป็นเหตุ ก็ชื่อว่าไม่เคารพธรรมเหมือนกัน การกระทำนี้ล้วนต่ำทรามทั้งสิ้น โลกนี้ทั้งหมดถึงความยุ่งเหยิงไม่มีเขตแดนเสียแล้ว” พอคิดเสร็จ จึงได้ไต่ลงมาจากต้นมะม่วงได้ยืนอยู่ข้างหน้าของพระเจ้าแผ่นดินและพราหมณ์ทั้งสองนั้น แล้วกล่าวคาถาขึ้นว่า

“ทั้งสองไม่รู้อรรถ ทั้งสองไม่เห็นธรรม คือพราหมณ์ผู้สอนมนต์โดยไม่เคารพธรรม และพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงเรียนมนต์ก็ไม่เคารพธรรม”

พราหมณ์นั้นกล่าวคาถาตอบว่า

“เพราะข้าวสุกแห่งข้าวสาลีอันขาวผสมกับแกงเนื้อ ข้าพเจ้าบริโภคแล้ว ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่ได้ประพฤติอยู่ในธรรม ที่เหล่าพระอริยะเจ้าสรรเสริญแล้ว”

คนจัณฑาลนั้นได้กล่าวสอนพราหมณ์สองคาถาว่า

“ท่านพราหมณ์ เราติเตียนการได้ทรัพย์และการได้ยศ เพราะนั่นเป็นการเลี้ยงชีพโดยความเป็นเหตุให้ตกต่ำ และเป็นการเลี้ยงชีพโดยทางที่ไม่ชอบธรรม จะมีประโยชน์อันใดด้วยการเลี้ยงชีพเช่นนั้น ท่านจงรีบออกไปจากประเทศนี้เสียเถิดท่านพราหมณ์ แม้สัตว์ที่มีชีวิตเหล่าอื่น ก็ยังหุงหาอาหารกินได้ อธรรมที่ท่านได้ประพฤติมาแล้ว อย่าได้ทำลายท่าน ดุจก้อนหินทำลายหม้อน้ำ ฉะนั้น”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลครั้งนั้น พราหมณ์นั่งบนอาสนะต่ำสอนมนต์แก่พระเจ้าแผ่นดินผู้ประทับนั่งบนพระราชอาสน์สูง ยังไม่เป็นที่พอใจของเรา ไฉนในกาลบัดนี้ (เรา) จักพอใจที่ภิกษุนั่งบนอาสนะต่ำ แล้วแสดงธรรมแก่คนนั่งบนอาสนะสูงเล่า” เมื่อทรงติเตียนแล้ว บัญญัติสิกขาบทห้ามไว้ว่า “ภิกษุพึงใส่ใจปฏิบัติว่า เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งบนอาสนะสูง”  (วิ.มหาวิ. ๒/๙๔๐) “ภิกษุใด อาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นั่งบนอาสนะต่ำ แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งบนอาสนะสูง ต้องอาบัติทุกกฎ” (วิ.มหาวิ. ๒/๙๔๐)

        พระธรรมเป็นเครื่องชี้ทางบรรเทาทุกข์ ชี้สุขเกษมศานต์ ชี้ทางพระนฤพานที่พ้นโศกวิโยคภัยแก่สรรพสัตว์ พระสัทธรรมมีค่ามากกว่าวัตถุสิ่งของใด ๆ ในโลก ไม่สามารถประเมินพระธรรมเป็นราคาได้

        พระพุทธองค์สมัยเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีอยู่ ได้ฟังธรรมจากสำนักพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ซาบซึ้งในรสพระธรรม มองไม่เห็นไทยธรรมอื่นใดมีค่าคู่ควรแก่การบูชาพระธรรมเลย นอกจากศีรษะอันเป็นอวัยวะสูงสุดของตนเท่านั้น จึงได้ตัดศีรษะบูชาพระธรรม         แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วก็ทรงเคารพพระธรรมมาก ถ้าพระองค์ทรงได้เห็นได้ยินใครแสดงอาการไม่เคารพพระธรรม จะทรงตำหนิติเตียนว่า “ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว”

        เราเหล่าพระภิกษุเป็นพระสมณะเชื้อสายศากยบุตร เมื่อได้ทราบปฏิปทาของพระบรมศาสดาเช่นนี้แล้ว ยิ่งต้องเคารพพระสัทธรรมให้มาก ต้องทำความยำเกรง หวงแหนพระสัทธรรมยิ่งกว่าชีวิต อย่าเห็นแก่ลาภสักการะเล็ก ๆ น้อย ๆ จนลืมธรรม อย่าเอาธรรมอันมีค่าสูงยิ่งไปแลกกับอาหารของชาวบ้าน เหมือนเอาเพชรที่มีค่ามากไปแลกกับถ่านที่ไร้ค่า ฉะนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า      

 “นรชน (บุคคล) พึงสละทรัพย์ เพราะเหตุแห่งอวัยวะที่ประเสริฐกว่า เมื่อจะรักษาชีวิต พึงสละอวัยวะ (อันเป็นที่รักยิ่ง) เสีย เมื่อตามระลึกถึงธรรม (รักษาพระธรรม) พึงสละอวัยวะ ทรัพย์และแม้ชีวิตได้ทั้งหมด” (ขุ.ชา. ๒๘/๖๓๔, วิสุทฺธิ. ๑๖๑)      

        ผู้ต้องการจะรักษาพระธรรม ควรน้อมเอาพระพุทธพจน์บทนี้มาไว้ในใจ ถ้าเห็นใครแสดงอาการไม่เคารพธรรม ก็ไม่ควรแสดงธรรมให้ฟัง ธรรมแม้มีค่ามาก แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่บุคคลผู้ไม่ต้องการ เหมือนเอาพลอยที่มีค่าให้แม่ไก่ แม่ไก่ไม่รู้ค่าก็เขี่ยทิ้งไป ฉะนั้น

        แต่บางสถานที่มีประเพณีไม่เหมือนกัน ก็เป็นเหตุให้เข้าใจผิดพลาดได้ เช่น ในกรณีของคนไทย ถ้าพระยืนอยู่โยมนั่ง ถือว่าแสดงความเคารพแล้ว ปัจจุบันมีพระธรรมกถึกหลายรูปไปแสดงธรรมตามที่ต่าง ๆ ยืนบรรยายธรรมบนแสตน (แท่นยืน) โยมก็นั่งอยู่บนเก้าอี้ฟังธรรม ดูแล้วเหมือนจะถูกต้อง แต่ก็ไม่ถูก ทำให้ต้องอาบัติตามสิกขาบทที่กล่าวมาแล้วนี้   ถ้าพูดถึงทางพระธรรมวินัยแล้ว การยืนฟังธรรมถือว่าแสดงความเคารพ เช่น พระยืนแสดงธรรม โยมต้องยืนฟังธรรม ถ้าพระนั่งแสดงธรรม โยมจะนั่งฟังหรือยืนฟังธรรมก็ได้ ถือว่าแสดงความเคารพ

การประเคน

การประเคนที่ถูกต้องตามพระวินัยมีองค์5คือ

1.สิ่งของนั้นไม่ใหญ่จนเกินไป บุรุษมีกำลังปานกลางพอยกได้

2.เข้ามาในหัตถบาตร

3.น้อมเข้ามาถวาย

4.ผู้ประเคนจะเป็นมนุษย์เทวดาหรือสัตว์เดรัจฉานก็ได้

5.ภิกษุรับประเคนสิ่งของ นั้นด้วยกายหรือของเนื่องด้วยกาย(อรรถกถามหาวิภังค์1/562

องค์ของการประเคน

ข้อ1. โยม จัดอาหารคาวหวานมาถวายจำนวนมากใว้บนโต๊ะ ที่ไม่ใหญ่และไม่ยาวนัก อาหารรวมบนโต๊ะนั้น บุรุษผู้มีกำลังปานกลางสามารถยกขึ้นได้ลำพังเพียงคนเดียว เวลาประเคน โยมหลายๆคน พร้อมกันยกประเคนไช้ได้ แต่ถ้าโต๊ะใหญ่และยาว อาหารก็มาก จนบุรุษผู้มีกำลังปานกลาง ยกขึ้นไม่ไหว ถึงแม้โยมหลายคนช่วยกันยกประเคน การประเคนนั้น ถือว่าผิดใช้ไม่ได้ (อรรถกถามหาวิภังค์2/564)

ข้อ2. หัตถบาส 1 เท่ากับ 2 ศอกคืบดังที่ท่านกล่าวใว้ว่า 2 ศอกคืบ พึงทราบว่า หัตถบาส ถ้าภิกษุนั่งกำหนดตั้งแต่ริมสุดด้านหลังของอาสนะไป(จากเข่าไป1ศอกคืบ)ถ้ายืน กำหนดตั้งแต่ที่สุดส้นเท้าไป ถ้านอน กำหนดตั้งแต่ที่สุดด้านนอกแห่งสีข้างที่นอนไป ด้วยที่สุดด้านในแห่งอวัยวะ ที่ใกล้กว่าของทายกผู้นั่งอยู่ก็ตาม ยืนอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตามยกเว้นมือที่เหยียดออก(อรรถกถาวิภังค์2/511) นกเอาปาก คาบดอกไม้หรือผลไม้มาถวาย ช้างเอางวงจับดอกไม้หรือผลไม้ อยู่ในหัตถบาส พระรับประเคน การรับประเคนนั้นใช้ได้ พระนั่งอยู่บนคอช้างสูง 7 ศอกคืบ จะรับของที่ช้างนั้นถวายด้วย งวง ก็ควรเหมือนกัน(2/562) คนทั้งหลายโยน ของข้ามรั้วหรือกำแพงไม่หนามากกว่า หัตถบาส เพียงพอแก่ผู้ยืนอยู่ใน กำแพงและภายนอกกำแพง(ไม่เลยหัตถบาส)ภิกษุจะรับของที่โยนขึนสูงแม้ตั้งร้อย ศอก แล้วตกลงมาถึง ก็ควรเหมือนกัน(อรรถกถามหาวิภังค์2/571)

ข้อ3. การ น้อมเข้ามาถวาย เป็นการให้ด้วยความเคารพและอ่อนน้อม เวลาโยมมาถวายอาหาร ถ้าการน้อมถวายยังไม่ปรากฎไม่ควรรับ ถ้าโยมน้อมกายหรือศรีษะ ลงมาเพียงเล็กน้อย ก็รับประเคนได้ ท่านกล่าวไว้ว่า "ทายกคนหนึ่งทูนภาชนะข้าวสวยและกับข้าวเป็นอันมากไว้บนศรีษะมาที่วัด ยืนพูดว่า นิมนต์ท่านรับเถิด การน้อมถวายยังไม่ปรากฎ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับ แต่ถ้าเขาน้อมมาเพียงเล็กน้อย ภิกษุ เหยียดแขนออกรับภาชนะอันล่าง ด้วยอาการรับเพียงเท่านี้ ภาชนะทั้งหมดเป็นอันประเคนแล้ว"(อรรถกถาวิภังค์2/563)

ข้อ4. ผู้ ประเคนเป็นใครก็ได้ จะเป็น พระพรหม พระอินทร์ เทวดา นาค ครุฑ ยักษ์ เปรต อสุรกาย ภูตผีปีศาจ มนุษย์ชายหญิง และสัตว์เดรัจฉานมี ช้าง ลิง นก สุนัข เป็นต้น ประเคนได้ทั้งหมด

ข้อ5. ภิกษุรับประเคนสิ่งของนั้นด้วยกาย หรือของเนื่องด้วยกาย รับสิ่งของด้วยกาย เช่น เวลาโยมผู้หญิงหรือผู้ชาย นำเอาอาหารมาถวาย พระใช้รับด้วยมือได้ แต่ประเทศไทยไม่นิยมรับอาหารจากมือโยม ผู้หญิงโดยตรง เพราะเกรงว่ามือจะไปโดนกันเข้า แลดูไม่งามหรือเพราะเกรงว่า เมื่อภิกษุมีจิตยินดีด้วยราคะอาจทำให้ต้อง อาบัติถุลลัจจัยได้        

    จึงรับด้วยของเนื่องด้วยกาย คือใช้วัตถุรับประเคนแทนกาย เช่น บาตร ถาด ถ้วยโถ จาน ผ้า แผ่นหนัง กระดาน ใช้ใบไม้ใหญ่พอที่จะวางของได้มีใบบัว ใบบอน ใบทองกวาวเป็นต้น ถ้าใบไม้เล็กๆเช่น ใบพุทรา ใบมะขาม เป็นต้นใช้รับประเคนไม่ได้ เพราะไม่สามารถ จะวางของประเคนได้ พระใช้วัตถุเหล่านั้นรับประเคนของจากมือโยมผู้หญิงหรือผู้ชายได้ทั้งนั้น (อรรถกถามหาวิภังค์2/564)        

     โยมถวายสิ่งของด้วยกายหรือของเนื่องด้วย กายก็ได้ ถวายสิ่งของด้วยกาย เช่น ใช้มือจับอาหารยกถวายเลย ถวายของเนื่องด้วยกายเช่น ใช้กระบวยหรือทัพพีเป็นต้น ตักข้าวปลาอาหารถวาย ถ้าโยมผู้ถวายนั่งหรือยืนเลย หัตถบาส ประเคนสิ่งของ การประเคนนั้นใช้ไม่ได้ พระจะต้องบอกให้โยมเข้ามาใกล้ๆในหัตถบาส แล้วค่อยประเคนจึงจะใช้ได้ ดังท่านกล่าวไว้ว่า"ถ้าทายกยืนเลย หัตถบาสไป เอากระบวยคันยาวตักถวาย พระควรบอกเขาว่า "เข้ามาใกล้ๆหน่อยโยม" ถ้าเขาไม่ได้ยินหรือไม่สนใจ เทลงไปในบาตร พระต้องรับประเคนใหม่ แม้ในคนผู้ยืนอยู่ห่างโยนก้อนข้าวไปถวาย ก็เช่นกัน(อรรถกถามหาวิภังค์2/564)

 

อาพาธ

        เรื่องรักษาภิกษุไข้นี้  พระพุทธองค์ได้ทรงทำเป็นแบบอย่างให้ภิกษุทั้งหลายได้รู้และยึดถือปฏิบัติตามสืบไป  สำหรับภิกษุผู้ป่วยควรทำตัวให้เป็นผู้รักษาพยาบาลง่ายเพื่อความสะดวกของผู้พยาบาล  ตลอดถึงความสะดวกในการรักษาโรคอันเกิดขึ้นให้หายเร็วขึ้น หรือไม่ทำโรคนั้นให้กำเริบหนักขึ้นมาอีก  อย่าทำตัวให้เป็นผู้ที่เขารักษาพยาบาลยากอันจะก่อให้โรคที่เป็นอยู่หายช้า  หรือกำเริบหนักขึ้นมาอีก ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสเหตุแห่งภิกษุผู้ป่วยไข้  ผู้ปฐมพยาบาลยาก  และผู้ปฐมพยาบาลง่าย  ดังนี้

  องค์แห่งภิกษุผู้ป่วยไข้ที่รักษาได้ยาก  ๕  อย่าง  

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์  ๕  เป็นผู้พยาบาลได้ยาก" คือ  

1. ไม่ทำความสบาย  (ฝืนคำสั่งหมอ)

2. ไม่รู้จักประมาณในความสบาย  (ชอบกินของแสลง)

3. ไม่ฉันยา

4. ไม่บอกอาการไข้ตามจริงแก่ผู้รักษาที่มุ่งประโยชน์  คือ  ไม่บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา  อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่

5. มีนิสัยเป็นคนไม่อดทนต่อทุกขเวทนาอันกล้าแข็ง  รุนแรง  ไม่เป็นที่ยินดี อันจะพรากชีวิตเสีย ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์  ๕  นี้แล  เป็นผู้พยาบาลได้ยาก”  

  องค์แห่งภิกษุผู้ป่วยไข้ที่รักษาได้ง่าย  ๕  อย่าง  

 “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์  ๕  เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย  คือ  

1. ทำความสบาย  (ไม่ฝืนคำสั่งหมอ)

2. รู้ประมาณในความสบาย  (ไม่กินของแสลง)

3. ฉันยา

4. บอกอาการป่วยไข้ตามจริงแก่ผู้รักษาที่มุ่งประโยชน์  คือ  บอกอาการไข้ที่กำเริบว่ากำเริบ อาการไข้ที่ทุเลาว่าทุเลา  อาการไข้ที่ทรงอยู่ว่าทรงอยู่

5. มีนิสัยเป็นคนอดทนต่อทุกขเวทนาอันกล้าแข็ง  รุนแรง  ไม่เป็นที่ยินดี  อันจะพรากชีวิตเสีย   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุอาพาธที่ประกอบด้วยองค์  ๕  นี้แล  เป็นผู้พยาบาลได้ง่าย”  (วิ.มหา. ๕/๓๐๓)

       การรักษาพยาบาล แม้เป็นแพทย์หญิงหรือนางพยาบาล มีเจตนารักษาพระภิกษุให้ท่านหายจากโรค นี้เป็นกุศลเป็นเจตนาที่ดีได้บุญมากตามที่กล่าวมาแล้วหากว่ามีเจตนาผิดไปจากนี้  เช่น ชอบพอพระอยากจับเนื้อต้องตัว  มีความกำหนัดยินดีพอใจในรูปร่างหน้าตาเนื้อตัวของพระ อย่างนี้จะเป็นบาปกรรมเพราะมีเจตนาไม่บริสุทธิ์  มีจิตเป็นอกุศล  มีราคะแอบแฝงอยู่        

       ส่วนพระในขณะที่แพทย์หญิงหรือนางพยาบาล  ฉีดยา  วัดความดัน  และเช็ดตัว  เป็นต้นต้องมีสติสำรวมกาย  วาจา  และใจให้ดีอย่าขยับไม้ขยับมือ  อย่าพูดคำที่ไม่สมควรอย่าคิดนอกลู่นอกทาง  ลำพังหมอผู้หญิงหรือนางพยาบาลจับต้องไม่ทำให้ต้องอาบัติเลย           บางครั้งพระภิกษุอาจเผลอสติไปถูกต้องตัวผู้หญิง  โดยไม่ได้ตั้งใจ  ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเช่น  เดินชนกันในที่มืด  อยู่บนรถบนเรือที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก หรือระหว่างรับประเคนรับบาตรเป็นต้น  หากว่ามือไปโดนกันเข้าไม่ต้องอาบัติแต่อย่างใด      

  ดังตัวอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า  “เพราะไม่มีเจตนา  (ไม่จงใจ)เมื่อภิกษุถูกต้องตัวผู้หญิงในคราวที่รับบาตรเป็นต้นไม่เป็นอาบัติ”  (วิ.มหาวิ.อฏ. ๑/๑๗๑)        

       ในขณะที่นางพยาบาลเช็ดตัวหรือวัดความดันให้อยู่  พระเกิดความกำหนัดยินดี  แต่ไม่ได้ขยับตัวไม่ได้ขยับมือ (ตอบสนอง) ได้แต่นั่งหรือนอนนิ่ง ๆ ยินดีในการสัมผัสอย่างเดียว  ไม่เป็นอาบัติเพราะอาบัติทางความคิด  คือ  มโนทวาร  (ทางใจ)  ไม่มี 

  ดังตัวอย่างที่ท่านแสดงไว้ว่า  “ภิกษุใดมีความประสงค์จะเสพ  แต่มีการนั่งรับรู้คือยินดีเสวยสัมผัสอย่างเดียว  ไม่เป็นอาบัติแก่ภิกษุนั้นเพราะไม่มีอาบัติในอาการสักว่า  จิตตุปบาท  (เพียงแค่คิดยังไม่เป็นอาบัติ)  (วิ.มหาวิ.อฏ. ๑/๑๗๐-๑)           แต่ในขณะใด  ที่นางพยาบาลเช็ดตัวหรือวัดความดันให้อยู่  พระเกิดความกำหนัดยินดีพอใจแล้วขยับตัวหรือไหวกาย  เพื่อรับรู้ผัสสะ (สัมผัส)  เพียงนิดเดียว  จะต้องอาบัติสังฆาทิเสสทันที          

 ตัวอย่างที่ท่านแสดงไว้ว่า  “ภิกษุที่ถูกผู้หญิงจับต้อง  มีความประสงค์ในอันเสพถ้าขยับตัวหรือไหวกาย  แม้หน่อยหนึ่ง  เพื่อรับรู้ผัสสะ  เธอต้องอาบัติสังฆาทิเสส”  (วิ.มหาวิ.อฏ. ๑/๑๖๙)