www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ตามรอยธรรม หลวงปู่มั่น
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-11-11 14:30:35

 
อะไรๆที่เป็นสมบัติของโลกมิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา 
 
ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล 
 
สมบัติในโลกเราแสวงหามา 
 
หามาทุจริตก็เป็นไฟเผาเผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ
 
 
 
ไม่ควรยกโทษผู้อื่นหรือเพ่งโทษผู้อื่น  ถึงแม้นผู้นั้นจะไม่ดีก็ตามที

 เพราะการเพ่งโทษผู้อื่นจะนำความวิบัติสู่ตนโดยไม่รู้ตัว

 ความเผลอสติมักพาให้ผู้คนนั้น ยกโทษผู้อื่นและพยายามยกคุณตนเอง 

แทนที่จะยกคุณผู้อื่น ยกโทษตนพิจารณา
 
 

ไม้ซกงก หกพันง่า                   กะปอมก่าแล่นขึ้น มื้อละฮ้อย 
กะปอมน้อยแล่นขึ้น มื้อละพัน       ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ 

ไม้ซกงก ได้แก่ ตัวของเรานี่แหละ ร่างกายของเรา 
หกพันง่า หมายถึง อายตนะทั้ง ๖  
กะปอมก่าคือกิเลสตัวใหญ่รัก โลภ โกรธ หลง อันแก่กล้า 
แล่นขึ้นมื้อละฮ้อย (มื้อละร้อย) มันวิ่งขึ้นใจคนเราวันละร้อย 
กะปอมน้อยแล่นขึ้นมื้อละพัน คือ กิเลสที่มันเล็กน้อยก็วิ่งขึ้นสู่ใจวันละพัน 
ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ  กิเลสที่ไม่รู้ไม่ระวัง ก็จะเกิดขึ้นทุกวันๆ


ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา 
ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหน เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย 
จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย 
สำคัญตนว่าจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมตัว 
เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว

"พวกเราเป็นขี้เท้าขี้เล็บของพระองค์เจ้า ไปบิณฑบาตแต่ละวันมันได้ประโยชน์อยู่ 
เราก็ได้ข้อวัตร เขามาใส่บาตร เขาก็ได้จาควัตร ทานวัตรของเขา 
ข้าวก้อนใดอาหารกับอันใดตกลงในบาตร 
ข้าวและกับอันนั้นเป็นของประเสริฐกว่ารับนิมนต์หรือเขาตามมาส่งในวัด 

ในมหาขันธ์และปฐมสมโพธิกถาได้กล่าวได้ชัดแล้ว 
และผัวเดียวเมียเดียวกับลูกน้อยบางคนเขาก็ได้ใส่บาตร 
ไม่ได้มีเวลามาวัด และลูกเล็กเด็กน้อยมันตามแม่มันมาใส่บาตร
มันก็ได้กราบไหว้ก็เป็นบุญจิตบุญใจของมัน 
ก็เรียกว่าเราโปรดสัตว์อยู่ในตัวแล้ว 
ขึ้นธรรมาสน์จึงจะว่าโปรดสัตว์มันก็ไม่ถูกละ 

อีกประการหนึ่งพระบรมศาสดาของพวกเราทรงฉันบิณฑบาตของนายจุนฑะกัมมารบุตร
แล้วก็ทรงเสด็จถึงเมืองกุสินาราในวันนั้น รุ่งเช้าก็ทรงสิ้นพระชนมายุ

เรียกได้อย่างง่าย ๆ ว่า พระองค์เสด็จบิณฑบาตจนถึงวันสิ้นลมปราณ 
ได้ทอดสะพานทองสะพานเงินสะพานอริยทรัพย์ไว้ให้พวกเราแล้ว 
ถ้าพวกเราไม่รับมรดกของพระองค์ท่านก็เรียกว่าลืมตัวประมาท 
พวกเราก็ต้องพิจารณาคำนึงให้ลึกซึ้ง"

จาก บันทึกของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
วัดบรรพตคีรี(ภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร



ภูเขาสูงที่กลิ้งมาบดสัตว์ให้เป็นจุณไปนั้น อายุ ๗๐ ปี แล้วไม่เคยเห็นภูเขา  
เห็นแต่ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ เท่านั้นแล 
ทิฐิมานะเป็นภูเขาสูงหาที่ประมาณมิได้


สังขาร ความปรุงแต่ง อันเป็นความสมมติว่า โน่นเป็นของของเรา โน่นเป็นเรา 
เป็นความไม่เที่ยง อาศัยอุปทานความยึดถือจึงเป็นทุกข์ ก็แล
ธาตุทั้งหลายเขาหากมี หากเป็นอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา

เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดขึ้น เสื่อมไปอยู่อย่างนี้ มาก่อนเราเกิด
ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ก็เป็นอยู่อย่างนี้
อาศัยอาการของจิต ของขันธ์ ๕  ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไปปรุงแต่ง สำคัญมั่นหมายทุกภพทุกชาติ
นับเป็นอเนกชาติเหลือประมาณ มาจนถึงปัจจุบันชาติ
จึงทำให้จิตหลงอยู่ตามสมมติ

สัตว์บางตัวมีวาสนาบารมี และอัธยาศรัยดีกว่ามนุษย์บางคน
แต่เขาตกอยู่ในภาวะความเป็นสัตว์ ก็จำต้องทนรับเสวยไป

สัตว์เดรัจฉานก็ยังมีและเสวยกรรมไปตามวิบากของมัน 
มิให้ประมาทเขาว่าเป็นสัตว์ที่เกิดในกำเนิดต่ำทราม

ความจริงเขาเพียงเสวยกรรมตามวาระที่เวียนมาถึงเท่านั้น
เช่นเดียวกับมนุษย์ ขณะที่ตกอยู่ในความทุกข์จนข้นแค้น
ก็จำต้องทนเอาจนกว่าจะสิ้นกรรม

หวังพระนิพพานด้วยความเพียรเท่าฝ่ามือนั้น 
ลองคิดดูกิเลสเท่ามหาสมุทร 
แต่ความเพียรเท่าฝ่ามือนั้น
มันห่างไกลกันขนาดไหน

บางคนวาสนายังอ่อน แต่พยายามเข้าไปคบบัณฑิต 
ก็อาจเลื่อนขั้นขึ้นเป็นบัณฑิตได้ 

ผู้มีปัญญาไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง 
ผู้มีปัญญาได้เห็นในธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย 
ผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป 
จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน

การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไต่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ 
จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยต่อตนเสีย
ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง

เมื่อเกิดมาอาภัพชาติแล้ว อย่าให้ใจอาภัพอีก 
ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว อย่าให้ใจอาภัพ 
คิดแต่ผลิตโทษ ทำบาปอกุศล เผาผลาญตน
ให้ได้ทุกข์ เป็นบาปกรรมอีกเลย

ศีลนั้นอยู่ที่ไหนมีตัวตนเป็นอย่างไร 
ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่าผู้นั้นเป็นตัวศีลศีลก็อยู่ที่ตนนี้
เจตนาเป็นตัวศีลเจตนาคือจิตใจ 

คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน 
มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน 

เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ
ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษจะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงหา หลงขอ 

คนที่หา คนที่ขอ ต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไหร่ยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญ 

กายกับจิตเราได้มาแล้วมีอยู่แล้ว 
ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์ 
จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เราแล้ว


รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล
ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ 
ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์
ไม่อดไม่ยากไม่จนก็เพราะรักษาศีลให้สมบูรณ์ 

จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา 
ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวรหมดภัย

น้ำไม่ไหลขังไว้ย่อมเน่าฉันใด 
จิตที่รู้เรื่องอะไรแล้วไม่ยอมปล่อยย่อมทุกข์ฉันนั้น 

ใจนี้คือสมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป 
คนพลาดใจคือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้ 
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง
ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น 

จะเอาอะไรมาเพิ่มอีกก็ถ้าหากตายไปในวันนี้วันพรุ่งนี้
สิ่งต่างๆที่เคยมีและผ่านเข้ามา 
ตะเกียกตะกายดิ้นรนไขว่คว้า
ทุกอย่างก็จะเป็นเพียงแค่ 
สิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา 

ผู้มีศีล ย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ
ผู้มีศีลย่อมมีความสุข
ผู้จักมั่นคง บริบูรณ์สมบูรณ์ไม่อดไม่อยาก
ไม่ยากไม่จนก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์

คนที่หลงจึงต้องแสวงหาถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา 
จะหาไปให้ลำบากทำไม อะไร ๆก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว 
จะตื่นเงาตะครุบเงาไปทำไม เพราะรู้แล้วว่าเงาไม่ใช่ตัวจริง 
ตัวจริงคือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ภายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

เราต้องการของดี คนดี ก็จำต้องฝึก 
ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ 
งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ 
นอกจากตายแล้ว จึงหมดการฝึก 
คำว่า ดี จะเป็นสมบัติ ของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน 

การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน 
ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ตนยังไม่อาจรู้ได้และตำหนิมันบ้าง 
พอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย 
ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง 

ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ
ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว
ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์ ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ

ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว

จะอยู่ในโลกใดกองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลกเศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด 

ความทุกข์ทรมาน ความอดทนทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ
ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ
ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ
ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที

ควรระลึกถึงป่าช้าคือความตายบ้าง เพราะกรรมกับป่าช้าอยู่ด้วยกัน
ถ้าระลึกถึงป่าช้าในขณะเดียวกันได้ระลึกถึงกรรมด้วย
อย่าอวดตัวว่าเก่งทั้ง ๆ ที่ไม่เหนืออำนาจของกรรม
ไม่ควรอวดตัวว่าเก่งกว่าศาสดา
สุดท้ายก็จนมุมของกรรมคือความเก่งของตัว 

ให้ไตร่ตรองในหน้าที่การงานทั้งมวล เวลาทำการงานอะไร 
จงอย่ารีบด่วนในงานที่ควรจะช้า 
จงอย่ามัวชักช้าในงานที่ควรรีบด่วน 
เพราะถ้าเราปฏิบัติไม่รอบคอบเช่นนี้ 
เราผู้ทำอะไรโง่ๆงุ่นง่านแบบนี้มักจะประสบทุกข์ 

ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญตนว่าเสวยอยู่ เป็นอันผิดทั้งนั้น 



การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริง
ก็เป็นการก่อกวนจิตใจ ของตนเองให้มันขุ่นมัวไปด้วย

แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพกเจ้าไว้
แก้บ่ได้แขวนคอต่องแต่ง แก้บ่พ้น คาก้นอย่างยาย
คาย่างยายเวียนว่ายตายเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม
ภพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ 

ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน
ความยิ่งใหญ่ คือความไม่ยั่งยืน
ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู
ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น

 

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน  เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่น ให้สิ่งนั้นกลับมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว โดยความไม่สมหวังตลอดไป 


อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ 

 เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ ไม่สุดวิสัย.

 

ให้เร่งทำความเพียรมิให้ประมาท ชีวิตนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตาย


เบื้องต้นพึงพิจารณาสัจจธรรมคือ ของจริงทั้ง ๔ ได้แก่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย
อันท่าน ผู้เป็นอริยบุคคลได้ปฏิบัติ 
กำหนดพิจารณามาแล้ว 

เกิดเราก็เกิดมาแล้ว 
คือร่างกาย อันเป็นอยู่นี้ มิใช่ก้อนเกิดหรือ แก่ เจ็บ ตาย ก็ก้อนอันนี้ 
แลเมื่อเราพิจารณาอยู่ในอิริยาบถทั้ง ๔ เดินจงกรมบ้าง ยืนกำหนดพิจารณาบ้าง นอนกำหนดพิจารณาบ้าง 
จิตจะรวมเป็นสมาธิ รวมน้อยก็เป็นขณิกสมาธิ คือ จิตรวมลงภวังค์หน่อยหนึ่งแล้วก็ถอนออกมา 

ครั้นพิจารณาอยู่ไม่ถอย จนปรากฏเป็นอุคคหนิมิต จะเป็นนอกก็ตาม ในก็ตาม ให้พิจารณานิมิตนั้น 
 จนจิตวางนิมิต รวมลงสู่ภวังค์ ดำรงอยู่นานพอประมาณแล้วถอยออกมา สมาธิในชั้นนี้เรียกว่าอุปจารสมาธิ 
 
พึงพิจารณานิมิตนั้นเรื่อยไป จนจิตรวมลงสู่ภวังค์ เข้าถึงฐีติจิต เป็นอัปปนาสมาธิปฐมฌาน 
ถึงซึ่งเอกัคคตา ความมีอารมณ์เดียว 
 
ครั้นจิตถอยออกมาก็พึงพิจารณาอีกแล้วๆ เล่าๆ จนขยายแยกส่วน เป็นปฏิภาคนิมิตได้ต่อไป 
คือพิจารณาว่าตายแล้วมันจะเป็นอะไรไปอีก มันจะต้องเปื่อย เน่า ผุ พัง ยังเหลือแต่ร่างกระดูก 

กำหนดทั้งภายในคือ กายของตน ทั้งภายนอกคือกายของผู้อื่น 
โดยให้เห็นส่วนต่างๆของร่างกายว่า 
ส่วนนี้เป็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ เส้นเอ็นน้อยใหญ่ มีเท่าไร 
กระดูกท่อนน้อย ท่อนใหญ่ มีเท่าไร โดยชัดเจน แจ่มแจ้ง 

กำหนดให้มันเกิดขึ้นมาอีก แล้วกำหนดให้มัน ยืน เดิน นั่ง นอน 
แล้วตายสลายไปสู่สภาพเดิมของมันคือ ไปเป็น ดิน น้ำ ไฟ ลม ถึง ฐานะเดิม ของมันนั้นแล



กิเลสเท่ามหาสมุทร แต่ความเพียรเท่าฝ่ามือ 
มันห่างไกลกันขนาดไหนคนสมัยนี้ 

เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย 
แต่หมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสาร 

เมื่อไม่ได้ตามใจก็หาเรื่องตำหนิศาสนาและกาลสถานที่

 
ในการปฏิบัติธรรม ยากก็ทน ลำบากก็ทำ ทุกข์ก็ต้องต่อสู้
มีป่าช้าอยู่กับตัวกลัวอะไร สิ้นลมที่ไหน ก็ปล่อยร่างวางไว้ที่นั่น
อย่าอาลัยเสียดายชีวิตยิ่งไปกว่าธรรม

เราเป็นนักรบในวงปฏิบัติ หากมัวแต่หดหัวกลัวทุกข์

ไม่บุกทำลายรังกิเลสให้เด็ดขาด มัวขลาดมัวเขลาเบาปัญญา
 ไม่กล้าเข้าเผาทลายกิเลสด้วยการปฏิบัติธรรมอันเลิศล้ำและยอดยิ่ง
 แล้วจะรู้ จะได้ความจริงมาจากไหน

แม้พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ตาม กว่าจะได้บรรลุธรรม
ก็ทรงพยายามฟันฝ่ากล้าต่อสู้
 หากยังมิได้ตรัสรู้ธรรมนำเฉลย ก็อย่าหวังเลยว่าจะถอยหนี 
ให้กิเลสน้อยใหญ่เยาะเย้ยเหยียบย่ำทำลายลง


 
การพิจารณากายนี้ เป็นของสำคัญ 
ผู้ที่จะพ้นทุกข์ ล้วนแต่ต้องพิจารณากายทั้งสิ้น 

สิ่งสกปรก น่าเกลียดนั่นก็คือ ตัวเรานี่เอง 
ร่างกายนี้เป็นที่ประชุมแห่งของโสโครก เป็นอสุภะปฏิกูลน่าเกลียด 

เพราะฉะนั้นจงพิจารณากายนี้ให้ชำนิชำนาญ 
ให้มีสติพิจารณาในที่ทุกสถาน ยืน เดิน นั่ง นอน 
กิน ดื่ม ทำ คิด พูด ก็ให้มีสติ รอบคอบในกายอยู่เสมอ ณ ที่นี้
จึงทำให้มาก เจริญให้มาก คือพิจารณา ไม่ต้องถอยเลยทีเดียว


พระบรมศาสดาจารย์เจ้าทรงตั้งมหาสติปัฏฐานเป็นชัยภูมิ 
ก็โดยผู้ที่เข้าสู่สงครามรบข้าศึกคือกิเลส

ต้องพิจารณากายานุปัสนาสติปัฏฐานเป็นต้นก่อน 
เพราะคนเราที่เกิดกามราคะก็เกิดที่กายและใจ 
เพราะตาแลเห็นกายทำใจให้กำเริบ 

เหตูนั้น จึงได้ความว่ากายเป็นเครื่องก่อเหตุ 
จึงต้องพิจารณาที่กายนี่ก่อน 
จะได้เป็นเครื่องกำจัดนิวรณ์ทำให้ใจสงบก่อน


โอวาทธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่ให้ครั้งสุดท้ายกับชาวหนองผือนาใน

“เมือเสียเด้อ...เหมิดท่อนี้ล่ะเน้อ...
เอาน้ำไปฮดไม้แก่นหล่อน ให้มันป่งเป็นใบ บ่มีดอกเด้อ
ให้พากันเฮ็ด พากันทำ ตามที่อาตมาเคยพาเฮ็ดพาทำนั่นเด้อ อย่าลืมเด้อ

ให้พากันรักษาศีลห้า ถ้าผู้ใดรักษาศีลห้าได้ตลอดชีวิต
ผู้นั้นเลิศที่สุด เหมิดท่อนี้ล่ะ”