www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

บางมุมของ “พระสังฆราช” ที่ชาวพุทธยังไม่รู้
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-10-03 12:21:13

วันนี้ (3 ตุลาคม) เป็นวันที่เหล่าพุทธศาสนิกชนชาวไทย ล้วนปลาบปลื้มปีติเป็นล้นพ้น เนื่องด้วยวันประสูติกาลของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช  พระองค์ทรงได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในราชทินนามที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


ด้วยพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อพุทธศาสนิกชนไทยเป็นล้นพ้น ทรงประกอบศาสนกิจเป็นคุณประโยชน์เอนกอนันต์ มิเพียงแต่ชาวพุทธในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังทรงแผ่พระเมตตาบารมีไปทั่วโลก พระองค์ท่านจึงได้รับการยกย่องจากทั้งชาวพุทธในประเทศไทยและในต่างประเทศ


พระประวัติชีวิตและผลงานของพระองค์ จึงมีผู้นำมาเขียนเผยแพร่อยู่มากมาย แต่ก็ยังมีบางมุมในพระประวัติ ที่เชื่อว่าชาวพุทธหลายคนยังอาจจะไม่เคยรับทราบมาก่อน โอกาสนี้ กองบรรณาธิการ เอเอสทีวี ผู้จัดการรายวัน ได้รับความกรุณาจาก พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้เมตตาเล่าถึงพระประวัติส่วนพระองค์ ที่สะท้อนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม มีคุณค่าแก่ชาวพุทธ ให้ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างสืบเนื่องต่อไป


อนึ่ง พระ ดร.อนิลมาน ศากยะ เป็นชาวเนปาล สมเด็จพระสังฆราชทรงรับอุปถัมภ์ตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 14 ปี ทรงสั่งสอนหลักธรรม และส่งเสริมให้เรียนรู้จนจบปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ด้วยพระ ดร.อนิลมาน รับใช้สมเด็จพระสังฆราชมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจนเจริญวัยในปัจจุบัน จึงเป็นท่านหนึ่งที่ทราบถึงพระประวัติส่วนพระองค์ทุกเรื่องได้เป็นอย่างดี


สมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษายืนยาวมากที่สุด ในกรุงรัตนโกสินทร์

หากจะถามว่าในบรรดาสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด 19 พระองค์ สมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษาถึง 100 ปี มีกี่พระองค์ คำตอบ มีเพียง “หนึ่งพระองค์” เท่านั้น คือ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน คชวัตร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระสังฆราช องค์ที่ 19 และองค์ปัจจุบัน สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
 

พระองค์เจริญพระชันษาได้ 100 ปีพอดี หากนับเวลาในตำแหน่งประมุขสงฆ์ไทยก็ล่วงเข้า 25 ปีแล้ว
 

พระจริยวัตรของพระองค์โสภณะงดงามและน่าเลื่อมใสยิ่ง พระเกียรติคุณทั้งก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช และตลอด 25 ปีในตำแหน่งประมุขสงฆ์ไทยได้ผรณาการแผ่ไพศาลทั้งในและต่างประเทศ ทว่าพระจริยาและพระเกียรติคุณมีอเนกอนันต์ มิอาจพรรณนาหมดสิ้น หลายเรื่องเป็นที่ปรากฏ แต่ก็มีหลายเรื่องที่ชาวไทยและพุทธศาสนิกชนอาจไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อน และเพื่อเทิดพระเกียรติ จึงขอถ่ายทอดพระจริยาและพระเกียรติคุณจากปากของผู้ที่ถวายงานและเคยถวายงานใกล้ชิด

 

แม้สุขภาพกายไม่ดี...แต่ทรงอายุยืน

หากใครที่เคยอ่านพระประวัติของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช จะทราบว่าพระองค์มีพระสุขภาพไม่ค่อยดีตั้งแต่ทรงพระเยาว์ด้วยมีโรคประจำตัว แต่ใครจะคิดว่าพระองค์จะทรงปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและยังเจริญด้วยอายุถึง 100 ปี ทรงมีเคล็ดลับหรือทรงปฏิบัติพระองค์อย่างไร
 

พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย หนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และผู้ถวายการปรนนิบัติสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่ตัวเองยังเป็นสามเณรอายุ 14 ปี เล่าว่า จริงอยู่ในแง่พระสุขภาพนั้นไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก เพราะมีโรคประจำตัว แต่พระองค์ไม่เคยคิดว่าพระวรกายเป็นปัญหา ไม่ย่อท้อต่อโรค ทรงมีพระทัยมุ่งมั่นกอปรด้วยพระวิริยอุตสาหะในการฟันฝ่าอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน ที่สำคัญทรงใช้สมาธิในการดูแลพระวรกายไปพร้อมกับการรักษาของหมอ
 

“ท่านไม่เคยย่อท้อต่อโรคที่เกิดแต่พระวรกาย เช่น ในคราวสอบเปรียญธรรม 4 ประโยคต้องเอาผ้าสบงรัดหน้าอกให้อุ่นแล้วไปสอบ หลายครั้งพระกำลังแม้จะอ่อนแรงแต่พระเมตตาไม่เคยอ่อนตาม


ครั้งหนึ่งหมอเช็กอาการประชวรและแนะนำให้งดศาสนกิจ แต่ว่าก่อนเข้าโรงพยาบาลทรงรับงานไว้งานหนึ่งที่ต่างจังหวัด ท่านจึงขออนุญาตหมอไปเพราะกลัวงานนั้นจะเสีย


อีกครั้งหนึ่งหมอขอประทานพระอนุญาตเพื่อจะผ่าตัดติ่งในน้ำดี ก็ทรงบอกว่าช่วงนี้มีภารกิจและศาสนกิจที่รับไว้เยอะเดี๋ยวจะลองดูเองก่อน แล้วก็ทรงใช้สมาธิในการบำบัดควบคู่ไปกับการดูแลรักษาของหมอ”
 

ผู้ช่วยเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ ทรงใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อาหารเสวยก็จะเป็นอาหารแบบคนโบราณบ้านนอกกินกัน เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด เห็ดยำเมืองกาญจน์ ไม่ใช่อาหารเลิศหรู และที่สำคัญจะไม่เสวยสัตว์ปีก และสัตว์ใหญ่ แต่อาจมีปลาบ้างเป็นบางครั้ง



พระจริยวัตรประจำวัน

พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงตื่นบรรทมทุกเช้าเวลา 03.30 น. จากนั้นจะทรงนั่งสวดมนต์ภาวนาไปจนถึงเวลา 05.00 น. บทสวดมนต์ที่พระองค์ท่องประจำ มีตั้งแต่สวดพระปาติโมกข์ ท่องพระสูตรและพระคาถาต่างๆ


“ถ้าวันไหนมีกิจกรรมเยอะๆ จะต้องทำ พระองค์จะรับสั่งกับอาตมาว่า...วันนี้สวดยังไม่จบคอร์สเลย...เพราะทรงพระอารมณ์ดี”


หลังจากสวดมนต์เสร็จ พระองค์จะทรงนั่งสมาธิเพื่อฝึกจิตให้นิ่งและมั่นคง ต่อไปจนถึง เวลา06.00 น. จากนั้นจึงเสด็จออกจากพระตำหนัก เพื่อรับแขกที่มาเข้าเฝ้าหรือเสด็จบิณฑบาต แม้ตอนที่พระองค์เป็นพระสังฆราชก็ยังเสด็จออกบิณฑบาตเป็นประจำ


“พระสังฆราชทรงพระเมตตามาก หลังจากบิณฑบาตกลับมาทรงเห็นเณรน้อยหลายรูป ที่ไม่ค่อยมีใครใส่บาตร ส่วนพระองค์ของเต็มบาตรเพราะมีประชาชนมาถวายกันเยอะ พระองค์จะทรงแบ่งอาหารจากบาตรให้แก่เณรด้วย


หรือบางทีพระรอบกุฏิที่ไม่ออกบิณฑบาต พระองค์ทรงกลัวว่าพระเหล่านั้นจะไม่มีอาหารฉัน ก็จะทรงแบ่งอาหารในบาตรให้ พร้อมพูดติดตลกว่า แทนที่ลูกศิษย์จะเลี้ยงอุปัชฌาย์ กลายเป็นอุปัชฌาย์เลี้ยงลูกศิษย์แทน”


ในทุกๆ วัน จะมีทั้งแขก ผู้มีชื่อเสียงและเหล่าพุทธศาสนิกชน มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้าตั้งแต่ 07.00 น. เป็นต้นไป จนถึง 09.30น. จึงจะเสวยพระกระยาหาร โดยเสวยมื้อเดียวมาตลอด


พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า แขกที่มาเข้าเฝ้าพระองค์ บางวันมีจำนวนมากจนบางครั้งขณะที่พระองค์ทรงเสวยก็ยังมีมาเข้าเฝ้า


“วันหนึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นมีแขกมาเข้าเฝ้า ขณะที่ สมเด็จพระสังฆราชกำลังเสวย สมเด็จพระเทพฯ ทรงเขียนป้ายบอกว่า ห้ามเข้าเฝ้าจนกว่าจะเสวยเสร็จ...เพราะทรงเห็นว่า พระองค์มีเวลาเสวยเพียงวันละมื้อเท่านั้น”


สมเด็จพระสังฆราชจะบรรทมอีกทีประมาณ 1 ชั่วโมงหลังเสวยเสร็จ เมื่อตื่นบรรทมแล้วถ้ามีงานนิมนต์ก็จะเสด็จไป หรือถ้าเป็นช่วงเข้าพรรษา พระองค์จะเสด็จไปสอนพระใหม่ แต่ถ้าไม่ได้เสด็จไปไหน พระองค์จะใช้เวลาตลอดช่วงบ่าย ค้นคว้าตำรา ทรงอ่านหนังสือหรือทรงพระนิพนธ์


ช่วงเวลา 16.00-18.00 น. ทรงเปิดพระตำหนักให้ญาติโยมได้เข้าเฝ้าอีกครั้ง จากนั้นถ้ามีเวลาเหลือ จะทรง
ค้นคว้าและทรงพระนิพนธ์งาน หรือทรงเตรียมงานสำหรับวันต่อไป


สมเด็จพระสังฆราชจะเข้าบรรทมทุกวันในเวลา 21.00 น. โดยก่อนบรรทมจะสวดมนต์เจริญภาวนาอีกครั้ง


ทรงเป็นนักสื่อสารมวลชน

หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า สมเด็จพระสังฆราชเคยเป็น “นักจัดรายการวิทยุ” ด้วย โดย พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ครั้งหนึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงเคยขอให้สมเด็จพระสังฆราชจัดรายการวิทยุ ที่สถานี อส. เกี่ยวกับเรื่องธรรมะเมื่อปี 2510 เป็นต้นมา


“พระองค์จะทรงเขียนบทวิทยุเอง เป็นบทสั้นๆ ประมาณ 10 นาที แล้วทรงอ่านอัดเทปเพื่อนำไปเปิดในรายการ ครั้งหนึ่งสมเด็จย่าทรงให้พระองค์ทรงเขียนเรื่องธรรมะสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อนำไปออกอากาศ พระองค์จึงทำบทวิทยุเรื่อง “การบริหารจิตสำหรับผู้ใหญ่” โดยทำเป็นตอนๆ และในช่วงท้าย พระองค์กทรงนิพนธ์เรื่องจิตตนครขึ้นมา”


นอกจากนี้ พระ ดร.อนิลมาลยังเปิดเผยว่า สมเด็จพระสังฆราชทางเป็นคนทันสมัยมาก เพราะครั้งหนึ่งพระองค์เคยเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความลงใน “ศรีสัปดาห์” ซึ่งเป็นนิตยสารของผู้หญิง
 

ธรรมะพระจริยา ของพระสังฆราช ที่ชาวพุทธอาจไม่เคยได้ยิน

ทรงเป็นกวีเอก

อีกเรื่องหนึ่งที่น้อยคนนักจะรู้ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นกวีที่เก่งมาก ทรงแต่งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทุกประเภท ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยได้อย่างสละสลวย โดยเฉพาะ วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระสังฆราชทรงพระนิพนธ์กลอนถวายทุกปี


เมื่อสมัยที่ทรงผนวชเป็นพระใหม่ สมเด็จพระสังฆราชเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. 2472 และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม 3 ประโยค ในปี พ.ศ. 2473


แต่ครั้นสอบเปรียญธรรม 4 ประโยค ผลปรากฏว่า ทรงสอบตกทั้งๆ ที่ทรงตั้งพระทัยมาก ทำให้ทรงรู้สึกท้อแท้มาก พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า ทรงระบายความรู้สึกผิดหวังออกมาเป็นกลอน หลังจากนั้น พระองค์ก็ทรงใช้ความผิดหวังเป็นพลังกลับไปสอบใหม่จนจบเปรียญ 9


รับสั่งได้ถึง 4 ภาษา

พุทธศานิกชนมักจะเห็นว่า เหล่าแขกที่มาเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชนั้น มีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมาย คำถามคือ สมเด็จพระสังฆราชทรงรับสั่งภาษาอังกฤษได้หรือไม่


เรื่องนี้ พระ ดร.อนิลมาน ได้เล่าว่า พระองค์มีพระปรีชามาก ทรงฝึกหัดภาษาต่างประเทศด้วยพระองค์เอง จนสามารถรับสั่งอย่างคล่องแคล่ว และทรงเขียนได้ 4 ภาษาคือ ภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ จีน นอกจากนี้ ตัวอักษรที่ทรงอ่านและเขียนได้คล่องคืออักษรขอมโบราณ อักษรพม่า อักษรสิงหล และอักษรเทวนาครี


พระนิพนธ์อันทรงคุณ

พระ ดร.อนิลมาน เล่าว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้เป็นอันมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา นิยายทั่วไป โดยพระนิพนธ์ล่าสุดเรื่อง “จิตตนคร” โดย พระธีรโพธิ ภิกขุ ได้จัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพในชื่อ “จิตรกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อฉลองพระชันษา 100 ปี

“พระนิพนธ์มีมหาศาลมากที่กำลังจัดพิมพ์ขณะนี้ มีถึง 32 ซีรีย์ แต่ละเล่มหนาถึง 500หน้า ซึ่งเป็นธรรมะทุกระดับ”

ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสดับฟังเทปของสมเด็จพระสังฆราชเรื่อง “สัมมาทิฏฐิ” ซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง และทรงสนพระทัยมากจนขอประทานอนุญาตสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพิมพ์ถวาย โดยในหลวงทรงพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง


ส่ง”พระธรรมทูต”เผยแผ่ศาสนา

สมเด็จพระสังฆราชทรงทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ในเรื่องพระศาสนาอย่างกว้างไกล ปัจจุบันเราจะเห็นว่า มีพระไทยและวัดไทยที่ไปเผยแผ่พระพุทธทั่วโลก อันเนื่องมาจากพระดำริที่มองการณ์ไกลของพระองค์นั่นเอง


เมื่อปี พ.ศ.2509 สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระองค์แรก ที่ทรงดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเป็นประธานกรรมการอำนวยการ ฝึกอบรมพระธรรมทูตในต่างประเทศ


“ตอนนั้นพระองค์ท่านทรงริเริ่มฝึกพระธรรมทูต โดยเลือกจากพระเณรให้ฝึกพูดภาษาอังกฤษก่อน จากนั้นก็ฝึกให้ใช้ชีวิตที่เปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมได้ เพื่อง่ายต่อการส่งไปเผยแพร่ศาสนายังวัดในต่างประเทศ”


จากพระธรรมทูตองค์แรกเมื่อปี 2509 จนถึงปัจจุบัน มีพระธรรมทูตที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา และสร้างวัดทั่วโลกถึง 200 แห่ง และในโอกาสฉลองพระชันษา 100 ปี เหล่าพระธรรมทูตก็ได้กลับมาที่วัดบวรฯ เพื่อสัมมนาตรวจสอบจิตวิญญาณแห่งพระธรรมทูตครั้งใหญ่ร่วมกัน

 

 

ทูลถวาย"สมเด็จพระสังฆราช "ผู้นำสูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา
 

ผู้นำชาวพุทธ 32 ประเทศทูลถวายพระเกียรติยศอันสูงสุด สมเด็จพระสังฆราช "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา" เป็นครั้งแรกของโลก ในฐานะได้รับการเคารพจากชาวพุทธทั้งไทยและชาวพุทธทั่วโลก เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2555
 

ที่ประชุมสุดยอดพุทธศาสนานิกแห่งโลก ที่มีสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลกจาก 32 ประเทศเข้าร่วมประชุม ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้มีมติทูลถวายตำแหน่งพระเกียรติยศอันสูงสุด "ผู้นำคณะสงฆ์สูงสุดแห่งโลกพระพุทธศาสนา" แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งราชอาณาจักรไทย ในฐานะผู้ทรงได้รับการเคารพอย่างสูงสุดและได้รับการไว้วางใจอย่างสุดซึ้งจากพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาว่า
 

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งดินแดนแห่งรอยยิ้ม ทรงเป็นผู้สอนพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทุกคนปฎิบัติธรรมตั้งอยู่ในพระปัญญาธรรมและพระกรุณาธรรม ทั้งทรงเป็นผู้นำราชอาณาจักรไทยไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองนับว่าเป็นแบบอย่างของสากลโลก และทรงมีประบารมีปกแผ่ไพศาลไปทั่วราชอาณาจักรไทยและประเทศพุทธศาสนาทั่วโลก พร้อมมนุษยชาติทุกคน
 

สมเด็จพระสังฆราช เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์ทุกนิกาย ไม่ว่าจะเป็น มหายาน เถรวาท และวชิรยาน พร้อมทั้งเป็นที่เทิดทูนของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก 


หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เคยกล่าวแก่ศิษย์ผู้หนึ่งที่อุตสาหะเดินทางไปกราบหลวงปู่ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ ว่า

“อยากกราบพระดี ไม่ต้องดั้นด้นเดินทางมาถึงเชียงใหม่หรอก กราบอยู่ที่กรุงเทพฯก็ได้ ก็สมเด็จญาณฯนั่นไง” 
 

ทรงมีไมตรีแน่นแฟ้นกับองค์ทะไลลามะ 

สมเด็จพระสังฆราชทรงมีไมตรีแน่นแฟ้นกับองค์ทะไลลามะ ประมุขและผู้นำจิตวิญญาณแห่งทิเบต ในคราวที่องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2510 นั้น ได้เสด็จเยือนวัดบวรนิเวศวิหาร ในโอกาสนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯได้ถวายคำแนะนำการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานแบบเถรวาทแด่องค์ทะไลลามะ


และอีกครั้งหนึ่งในคราวเสด็จเยือนประเทศไทยปี พ.ศ. 2536 องค์ทะไลลามะเสด็จประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพบกันในพระอุโบสถ องค์ทะไลลามะได้กล่าวทักทายเจ้าพระคุณสมเด็จฯว่า

“พี่ชายคนโตของข้าพเจ้า”


ทรงเคารพในระเบียบแบบแผน

พระธรรมบัณฑิต (อภิพล อภิพโล ป.ธ.5) เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชรูปแรก เล่าถึงสมเด็จฯ ว่า ทรงเป็นผู้ที่เคารพในกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะทรงทำอะไร ส่วนหนึ่งด้วยพระนิสัย และอีกส่วนเพราะไม่ต้องการให้ใครมองว่าทรงมีอำนาจแล้วจะใช้อำนาจอะไรก็ได้
 

“หลังจากที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้มีพระดำริในการสร้างวัดในจังหวัดต่างๆ เช่น ชลบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เชียงราย และอาตมาได้รับมอบหมายให้ดูการสร้างวัด

พระองค์ได้ประทานนโยบายว่า การจะสร้างวัดในที่ใดๆ จะต้องมีชาวบ้านในที่นั้นๆ และต้องไม่ไปเรี่ยไรหรือบอกบุญ เพราะจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่ถ้าชาวบ้านอยากร่วมบุญก็ไม่ขัดข้อง
 

อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า สมเด็จฯ จะรับสั่งเสมอว่าต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามระเบียบของการสร้างวัด ไม่ให้ข้ามขั้นตอน เช่น ที่ที่จะสร้างวัดต้องมีเนื้อที่ตามกฎหมายกำหนด 6 ไร่ขึ้นไป ไม่เป็นป่าอนุรักษ์ เป็นต้น และทรงย้ำว่าอย่าถือว่าเป็นวัดที่สังฆราชไปสร้าง เพราะถ้าไปทำในส่วนที่ผิดก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่วัดทั้งหลาย รวมถึงผู้ที่อยากจะสร้างวัดในอนาคตที่มักจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
 

 

ทรงพระเมตตาต่อคนและสัตว์

พระธรรมบัณฑิต กล่าวต่อว่า พระเกียรติคุณหนึ่งที่เห็นตลอดเวลาที่ถวายงาน คือ ทรงมีพระเมตตาสูงทั้งต่อคนและสัตว์ ทุกครั้งที่เสด็จไปต่างจังหวัด เมื่อเห็นญาติโยมจะทรงสนทนาพูดคุยแบบเป็นกันเอง เพื่อให้สร้างความคุ้นเคย โดยครั้งหนึ่งไปเจอคนแก่นั่งกินหมากก็เข้าไปทักทายและมีรับสั่งถามว่า กินหมากมานานหรือยัง โยมแม่ของอาตมาก็กินเหมือนกัน แต่เหตุการณ์ที่เห็นแล้วประทับใจ ก็คือครั้งที่ทรงเผชิญหน้ากับควายขณะออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา
 

“ครั้งหนึ่งสมเด็จฯ เสด็จไปสกลนคร วัดท่านอาจารย์วัน (ปกติจะทรงบิณฑบาตทุกวัน) ตอนเช้าจึงเสด็จออกบิณฑบาตผ่านทุ่งนา โดยอาตมาเดินตามและพระอีกจำนวนหนึ่ง พอเดินไปได้ 2 กิโลเมตร ก็ไปเจอควาย ซึ่งควายจะไม่ถูกกับพระอยู่แล้ว เพราะสีจีวรมันขัดกับตาของมัน พอมันเห็นก็ไม่พอใจ จะวิ่งเข้าใส่ สมเด็จฯ ไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 เมตรก็หยุด ทรงยืนนิ่ง 34 นาที อาตมาอยู่ด้านหลังใจเต้นตุบๆ

แต่สักพักควายก็ยกหัวขึ้นแล้ววิ่งหนีไป พอควายไปแล้ว ก็ทูลถามว่าทรงว่าคาถาอะไร ก็รับสั่งว่าแผ่เมตตาให้เขา ต่างคนต่างมีหน้าที่ปฏิบัติทางใครทางมัน”
 

อดีตพระเลขานุการฯ เล่าต่อว่า ช่วงที่ควายวิ่งเข้ามานั้นพระองค์ไม่ได้รับสั่งกับพระที่ติดตามว่าให้ระวัง ทั้งที่โดยทั่วไปถ้าใครเจอเหตุการณ์แบบนี้ก็จะต้องบอกทุกคนให้ระวัง แต่วันนั้นไม่รับสั่งอะไร กลับทรงยืนนิ่งประจันหน้ากับควาย
 

 

แสดงธรรมเข้าใจง่าย ไม่อ้างอาจารย์

อดีตพระเลขานุการฯ เล่าพระจริยาอย่างหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชว่า ทุกครั้งที่แสดงธรรมจะทรงแสดงธรรมแบบง่ายๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจและไม่ทรงอ้างเรื่องอภินิหาร


แต่สิ่งหนึ่งที่แปลกกว่าอาจารย์ทั้งหลายและน่าจะเป็นแบบอย่างสำหรับพระสงฆ์ทั้งหลายในการที่จะเทศน์สอนชาวบ้านในปัจจุบัน คือ จะทรงอ้างพระพุทธเจ้าตลอด ไม่อ้างธรรมของพระอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้
 

เวลาที่พระเทศน์หรือแสดงธรรมมักจะอ้างว่าเป็นธรรมะของพระอาจารย์รูปนั้นรูปนี้ แต่สมเด็จฯ ไม่ทรงใช้ ทรงใช้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียว แม้ว่าจะไปฟังจากอาจารย์ทั้งหลายที่สอนอย่างโน้นอย่างนี้ โดยเฉพาะเรื่องศีล สมาธิ ภาวนา ก็จะสอนว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้

ขณะที่ธรรมะที่ทรงแสดงก็จะรับสั่งแบบที่เข้าใจง่าย เช่น เรื่องสติปัฏฐาน 4 เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเข้าใจยาก แต่ถ้าใครฟังที่ท่านเทศน์ก็อดพูดไม่ได้ว่าช่างเข้าใจง่ายแท้”
 

เจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก เล่าต่อว่า เรื่องสติปัฏฐาน 4 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าหน้าที่วิทยุ อส. มาบันทึกเทปที่วัดบวรนิเวศวิหารในปี พ.ศ. 2514 โดยสมเด็จฯ ได้เทศน์สอนพระนวกะและญาติโยมที่มาปฏิบัติธรรมในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งต่อมาทางวัดบวรฯ ได้ทำเรื่องขอทางสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอก๊อบปี้ต้นฉบับมาทำเป็นซีดีแจกในคราวที่สมเด็จฯ ทรงเจริญพระชันษา 90 ปี

 

 



 

ที่มา :  ASTV ผู้จัดการออนไลน์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ (โดยวรธารที)
ภาพ คลังภาพวัดบวรนิเวศวิหาร และเว็บไซต์พลังจิต