www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

วัฒนธรรมวันพระ การศึกษาที่ขาดหายไป
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-09-18 09:58:43

ย้อนไปยุคหนึ่ง ๓๐ - ๔๐ ปีในประเทศไทย เมื่อก่อนที่การศึกษายังมีความหมายกว้างขวางกว่าเพียงการเข้าไปเรียนในรั้วของโรงเรียน มีการศึกษาที่สำคัญมากที่สุดของมนุษย์ที่แฝงอยู่ในวัฒนธรรมของชาวพุทธไทยเรา เมื่อก่อนนี้ในวิถีชีวิตของคนไทยเรานั้น ในทุก ๆ ๗ - ๘ วัน เป็นวันพระ วัฒนธรรมนี้ได้โอบล้อมคนทั้งสังคมให้ไปเรียนรู้ที่วัด เราจะเข้าไปที่วัด มาฟังธรรม ถือศีล ทำบุญ เด็ก ๆ ก็ตามผู้ใหญ่ไปเล่นในวัด ไม่จำเป็นต้องไปเรียนในโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องรู้สึกยาก แปลกแยกจากชีวิต ไม่ใช่

ถ้าก้าวหน้าหน่อย ก็ไปถือศีล ๘ เรียกว่าศีลอุโบสถ เต็มวันหนึ่งคืนหนึ่ง ชาวพุทธเราจะได้ทดลองชีวิตอย่างประเสริฐของนักบวช ที่พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติให้เรียกว่า “วันอุโบสถ” ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น ก็ไปถือศีล ๕ ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น ก็ไปฟังธรรม เราจึงเรียกวันพระอีกอย่างหนึ่งว่า “วันธัมมัสสวนะ” ฟังธรรมเทศนาแล้ว ก็ได้สติปัญญา ได้ความสว่างส่องทางชีวิต ทั้งอดีตที่เดินผ่านมาและอนาคตที่จะต้องก้าวต่อไป ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น ก็อาจไปร่วมกันทำบุญ ถวายภัตตาหารและปัจจัย ๔ อย่างอื่น หรือช่วยเหลือขวนขวายงานอย่างอื่น ให้ชีวิตได้มีโอกาสสัมผัสซึมซับบุญกุศลเป็นกำลังใจเติมให้เป็นทุนชีวิต ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น ก็อาจจะไปเพียงสวดมนต์ ให้ได้อนุสติถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ มีสติระลึก ให้ได้ละอายชั่วกลัวบาป ดึงใจให้ใฝ่ดี บ้าง

ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น ก็อาจเพียงตาม ๆ กันไปที่วัด อาจโดนเขาจับมือชวนไปที่วัด ก็ยังดี อย่างน้อยทำให้ได้พักชีวิตให้หยุดเว้นออกจากความวุ่นวาย วิ่งแข่งขันในสังเวียนชีวิตที่ผ่านมา ๖ - ๗ วันบ้าง ได้ความสงบบ้าง ได้มีเวลาทบทวนชีวิตบ้าง อาจได้ยินได้ฟังอะไรหรือแม้เพียงเห็นป้ายเตือนใจตามต้นไม้ อาจทำให้เราสะท้อนธรรมจากชีวิตของตนเองบ้าง ก็ยังดี ถ้าไม่ถึงขั้นนั้น เป็นเด็ก ๆ ก็อาจจะเพียงตามผู้ใหญ่ไปเล่นกันที่วัด อย่างน้อยเวลาจะถวายของพระ ผู้ใหญ่ก็จะเรียกให้มาช่วยกันประเคน ช่วยกันถือของให้พระท่าน ช่วยถือของให้ผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่ย่าตายาย และพวกเขาก็ได้ซึมชับเรียนรู้ชีวิตชาวพุทธจากการเห็นด้วยตนเองไปตามปกติว่า เมื่อเราโตขึ้นเราก็ต้องทำเช่นนี้บ้าง เด็กอยู่ใกล้พระ ใกล้ผู้ใหญ่บ่อย ๆ ก็จะไม่เป็นคนกระด้าง และก็อาจได้ฝึกศาสนพิธีต่าง ๆ ไปเองตามธรรมชาติ ไม่รู้สึกว่ายาก ว่าแปลกแยก ถูกยัดเหยียด มันจะซึมซับไปเอง