www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

"ใจที่พอ" นั้นดำรงอยู่ในทุกคนได้ ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชก็ตาม
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-07-15 10:24:46

 

Plumบทสัมภาษณ์ดีดีจากหนังสือหมู่บ้านพลัม   
มุมมองความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตจากพระรูปหนึ่ง

คำพูดที่ว่า "คนที่ออกบวชเพราะรู้สึกพอแล้วกับชีวิตทางโลก" นี่จริงไหม

        หลวงพี่คิดว่าคนแต่ละคนที่บวชมีจุดประสงค์และแรงจูงใจแตกต่างกัน คงไม่สามารถเหมารวมว่าคนที่บวชคือคนที่รู้สึกพอหรืออิ่มตัวกับชีวิตทางโลกแล้ว สำหรับตัวเอง ชีวิตคือการเรียนรู้และเติบโต ซึ่งชีวิตทางโลกที่ผ่านมาเกือบทั้งชีวิตก็ล้วนมีประโยชน์กับตัวเองมาก แม้ว่าจะมีความทุกข์ ความล้มเหลว และความผิดหวังกับชีวิตที่ผ่านมาหลายต่อหลายครั้ง แต่สิ่งเหล่านั้นก็ได้แปรเปลี่ยนเป็นความรู้และประสบการณ์ให้หลวงพี่ได้เติบโต ส่วนสาเหตุที่บวชนั้นเพราะรู้สึกว่าวิถีชีวิตทางธรรมเป็นวิถีชีวิตที่น่าศึกษา หลวงพี่มีคำถามและความสับสนในชีวิตหลายต่อหลายเรื่องซึ่งไม่สามารถหาคำตอบให้กับตัวเองได้ การบวชจึงเป็นเสมือนเส้นทางเดินของชีวิตที่หลวงพี่ตัดสินใจเลือกก้าวเข้าไปเพื่อทบทวน ทำความเข้าใจกับความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริงของตนเอง และในความเป็นจริง ชีวิตทางโลกกับชีวิตทางธรรมก็ไม่ได้แยกขาดออกจากกัน วิถีชีวิตทั้งสองแบบเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน และไม่ว่าจะใช้ชีวิตทางโลกหรือทางธรรมเราก็ควรที่จะรู้สึกพอและยินดีในสิ่งที่เรามีอยู่ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่เข้ามาในจิตใจของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องทำอะไร มีชีวิตอยู่ไปวันๆ นะ แต่เราควรทำหน้าที่ในชีวิตเราอย่างเป็นปกติ มีศีล 5 เป็นเครื่องรักษาใจ และใช้ชีวิตอย่างเท่าทันความเป็นไปในจิตใจและความเป็นไปของโลก

ก่อนบวชมีอะไรที่หลวงพี่เรียกว่า "สิ่งที่ขาดหาย" ไปบ้างและเมื่อบวชได้พบสิ่งนั้นไหม

        ชีวิตคนเราไม่มีคำว่า "สมบูรณ์พร้อม" ขึ้นอยู่กับเราว่าจะสามารถมองเห็นความงามในความไม่สมบูรณ์พร้อมหรือเปล่าก่อนที่หลวงพี่จะบวชก็รู้สึกว่าชีวิตของตนเองเป็นชีวิตที่วุ่นวาย ดิ้นรน และวิ่งไล่ตามความต้องการอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองมีคุณค่า มีความสุข แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความเหนื่อยล้า ความสุขอันฉาบฉวย ความทุกข์จากความผิดหวัง หลวงพี่รู้สึกว่าชีวิตของตัวเอง "พร่อง" และไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว ตัวเองต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หรือง่ายๆ คือ หลวงพี่ไม่รู้จักตัวเอง หลวงพี่เป็นตัวปลอมที่พยายามสร้างคุณค่าให้กับตัวเองเพื่อเติมเต็มอะไรบางอย่างให้กับชีวิตที่รู้สึกว่างเปล่า แต่สิ่งที่หลวงพี่ทำกลับไม่ได้ทำให้ชีวิตนั้นเต็มเปี่ยมขึ้นมาได้เลย หลวงพี่ยิ่งซับซ้อนและเต็มไปด้วยเปลือกที่สร้างขึ้นมาห้อหุ้มตัวเอง และเมื่อได้บวช หลวงพี่มีโอกาสได้เจริญสติภาวนา ได้อยู่กับตัวเอง และทำความเข้าใจกับส่วนลึกของตัวเอง สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการกลับมาจริงใจและซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น ค่อยๆ แกะเปลือกที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่ มันทำให้หลวงพี่รู้สึกผ่อนคลายและมีอิสระกับชีวิตมากขึ้น มีความสุขกับเรื่องเล็กๆ รอบๆ ตัว ณ ที่นี่และขณะนี้ ไม่ต้องพยายามเติมสิ่งที่รู้สึกว่า "ขาดหายไป" แต่กลับไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่หลวงพี่มีอยู่ก็พอแล้ว

ในมิติของชีวิตทางธรรม คำว่า "พอ" คืออะไร

ด้วยความรู้ที่มีอยู่ ไม่แน่ใจว่าหลวงพี่จะสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องและชัดเจนหรือเปล่า ในความเข้าใจส่วนตัว ชีวิตทางธรรมคือชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ อยู่อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นการใช้ชีวิตในทางธรรมจึง "พอ" ในตัวของมันเอง ไม่ต้องดิ้นรน เข้าใจความเป็นไปของกฎธรรมชาติ หรือ กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเราเข้าใจกฎนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งที่เรามี เราเป็น เพราะสุดท้ายแล้วทุกอย่างไม่สามารถอยู่ได้คงทนตลอดไป เราจะไม่ยินดียินร้ายกับสิ่งที่มากระทบจิตใจ ไม่ผูกติดชีวิตไว้กับเป้าหมาย แต่หันมาใส่ใจกับทุกย่างก้าวของชีวิตในระหว่างที่เรากำลังเดิน มีชีวิตอยู่อย่างไว้วางใจกับทุกสิ่งที่เผชิญ ทั้งความสุข ความทุกข์ ความพลัดพราก ความสูญเสีย ความสำเร็จ ฯลฯ ทำความเข้าใจได้เท่านี้ เราก็รู้สึก "พอ" ได้ โดยไม่ต้องดิ้นรนไปพึ่งพิงสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับชีวิตเราอีก

 หากมีคนที่มีความไม่พอในใจมากมายและเขาอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีข้อความอะไรจะฝากถึงเขาไหมคะ

สิ่งที่เราควรตระหนักมากที่สุดคือ เราทุกคนล้วนมีคุณค่าอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว แต่เรามักมองไม่เห็น
อันดับแรก เราควรกลับมาทำความเข้าใจตัวเองก่อนว่า ความไม่พอใจที่เราต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นมาจากสาเหตุอะไร การเปลี่ยนแปลงนี้สุดท้ายแล้วจะทำให้ชีวิตเราอยู่อย่าง "สงบเย็น เป็นประโยชน์" หรือว่าทำให้เรายิ่งดิ้นรนเพื่อสร้างความยอมรับจากสังคม เราทำตามในสิ่งที่สังคมให้คุณค่าจนหลงลืมคุณค่าในตนเองไปหรือเปล่า เมื่อได้คำตอบแล้ว เราก็จะรู้ว่าเราควรจะเปลี่ยนแปลงไหม ในขั้นต่อไปของการเปลี่ยนแปลง สิ่งจำเป็นที่ต้องมีก็คือ "ความศรัทธา" เพราะเราจะต้องเจออุปสรรคอย่างมากมายแน่นอน ทั้งความคุ้นชินและวิถีชีวิตเดิมๆ คำถามและความสงสัยจากคนรอบข้าง ปัญหาต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุมของเรา ศรัทธาจะช่วยทำให้เราหนักแน่น เข้มแข็ง แต่เราต้องมีสติและปัญญาในทุกการตัดสินใจของเรา การกลับมาระลึกและใคร่ครวญจะทำให้เราตัดสินใจทำอะไรได้อย่างรอบคอบ เท่าทันความเป็นไปที่เกิดขึ้น ไม่ปล่อยตัวเองไปตามกิเลสตัณหาที่เข้ามาทดสอบ และเราต้องมีอุเบกขาคือการวางใจและยอมรับกับผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่ามันจะเป็นไปตามที่เราปรารถนาหรือไม่ก็ตาม ถึงที่สุดแล้วแต่ละคนย่อมมีเส้นทางเดินของตัวเอง ไม่มีใครให้คำตอบกับเราได้ดีเท่ากับตัวเราเอง และสิ่งใดที่เราตัดสินใจทำลงไปแล้ว อยากให้เราบอกกับตัวเองว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดีเสมอ" ไม่ว่ามันจะทำให้เราสุขหรือทุกข์ก็ตาม เพราะชีวิตก็คือการเรียนรู้และเติบโต เพื่อที่จะเข้าใจตัวเองและอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องและสมดุล