พระบวชใหม่ทำอย่างไรให้จิตสงบ
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-03-29 14:00:52
การอบรมพระภิกษุใหม่นั้น พระภิกษุใหม่ก็ต้องรู้จักข้อวัตรของตนเองก่อน และรู้จักอันตรายของภิกษุใหม่ คือ
๑. อดทนต่อคำสั่งสอนไม่ได้ เบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม
๒. เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓. เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่งๆ ขึ้นไป
๔. รักผู้หญิง
ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน อย่าให้อันตราย 4 อย่างนี้ย่ำยีได้ ต่อไปนี้องค์แห่งภิกษุใหม่ 5 อย่าง
๑. สำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นข้อที่พระพุทธเจ้าห้าม ทำตามข้อที่พระองค์อนุญาต
๒. สำรวมอินทรีย์ 6 คือระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจ
๓. เป็นคนไม่เอิกเกริกเฮฮา
๔. อยู่ในเสนาสนะอันสงัด
๕. มีความเห็นชอบว่าบาปมี บุญมี มรรค ผล นิพพานมี
ภิกษุใหม่ควรตั้งอยู่ในธรรม 5 อย่างนี้ นอกจากนี้แล้ว จงทำข้อวัตรให้ตรงต่อเวลาของกติกาในสำนักนั้น
ส่วนด้านภาวนาส่วนตัว เหมาะเวลาใดให้ทำเวลานั้น คือ บริกรรมภาวนาเช่นบริกรรม "พุทโธ" เป็นต้น อย่าสงสัยว่าธัมโม สังโฆอยู่ที่อื่น ก็อยู่ด้วยกันนั่นเอง แม้ 84,000 พระธรรมขันธ์ก็เช่นกัน
อนึ่ง เวลาเรากราบไหว้ครั้งที่ 1 ว่าพุทโธ อยู่ในใจ ครั้งที่ 2 ว่าธัมโม ครั้งที่ 3 ว่าสังโฆ แล้วยกขึ้นใส่หัวว่านิพพานนัง นี้หมายความว่าไหว้ย่อ ถ้าไหว้พิศดารก็แล้วแต่จะเห็นสมควร
และขอให้เข้าใจว่า เราไหว้ย่อนี้ครบ 84,000 พระธรรมขันธ์แล้ว เพราะสามารถขยายออกรวมกันได้ เหมือนเราเอากำปั้นตีดินลงตูมเดียว ก็ให้เข้าใจว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่ที่ไหน ตีถูกหมดแล้ว ดังนี้เป็นต้น เพราะหัดให้ปัญญาแตกฉานในธรรมะ และวินัยอยู่ในตัว
จะอย่างไรก็ตามขอให้มีศรัทธาเชื่อในพระพุทธศาสนา พระธรรม พระสงฆ์ เป็นหลักอยู่ที่หัวใจไม่ต้องสงสัยเลย เมื่อความเชื่อป็นหลักอยู่ในหัวใจแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็ย่อมเป็นไปเอง ในวงศ์ของพระพุทธศาสนาถ้าความเชื่อไม่มีในหัวใจเป็นหลักแล้วสิ่งอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นของเหลือวิสัยไปหมด การฝนทั่งให้เป็นเข็มก็ให้ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เหลือวิสัย…ดังนี้เป็นต้น ถ้าไม่อย่างนี้แล้วก็ถอยศรัทธาหมด
และการภาวนาก็ให้บริกรรมติดต่ออยู่ทั้ง ยืน เดิน นั่ง นอน จะรวมหรือไม่รวมก็ไม่ต้องหากินทางคัดค้าน คำว่า " บริกรรม " คือกำกับอยู่กับภาวนานั่นเอง ถ้าบริกรรมไม่พอมันก็ไม่ลง ถ้าบริกรรมพอมันลงเอง ไม่ต้องบังคับดอก เมื่อมันลงรวมเป็นหนึ่งแล้วก็หยุดบริกรรมซะ ปล่อยให้มันพักอยู่นั่นเอง ถ้าไปเห็นสิ่งใดเป็นของแปลก หรือไม่แปลกก็ดี เป็นของน่ากลัวหรือน่าชอบก็ดี อย่าไปพะวงกับมันวางเฉยซะ ถ้านึกกลัวก็ให้คว้ากรรมฐานมาภาวนาอีก…อย่างนี้เสมอๆ ให้มันเห็นคุณในชั้นนี้เสียก่อน อย่าได้โลภไปในนโยบายอันอื่นเลย
ส่วนข้อวัตรของพระอาจารย์อันเป็นของประจำวันนั้น ก็ทำเท่าที่ท่านทรงอนุญาต ส่วนข้อวัตรส่วนรวม เช่นกวาดลานวัด เสนาสนะ เหล่านี้เป็นต้น ถึงเวลาก็ต้องไม่ดูดาย ต้องทำ มิฉะนั้นแล้วสมาธิ สมาบัติไม่เจริญ เอาท่านี้ก่อน ถ้าจะพูดไปมากผู้บวชใหม่ก็จะระอา แต่อาบัติปาราชิก 4 และสังฆาทิเสสนั้นเป็นอาบัติที่สำคัญมาก ผู้เป็นอาจารย์ต้องสอนให้รู้ให้ชัดทั้งคุณ และโทษนั้นๆ ด้วย จึงขอย่อจบเพียงนี้ก่อน
ป.ล. การนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบ หรือนั่งห้อยเท้า หรือยืน เดิน ก็แล้วแต่เห็นสม ส่วนนอนนั้นก็นอนตะแคงข้างขวา หรือจะหงาย หรือจะทางซ้ายก็แล้วแต่สะดวก เมื่อไม่หลับเพียงใดก็นึกบริกรรมภาวนาเพียงนั้น ถ้าหลับไปแล้วก็เป็นเรื่องของหลับไปซะ วันหนึ่งคืนหนึ่งคิดเฉลี่ยรวมกันหลับ 4 ช.ม. พอแล้ว การฉันอาหารถ้ายังอีก 4-5 คำ แล้วจะอิ่มก็ให้ดื่มน้ำซะ เรียกว่าฉันพอดี และเรียกว่าหลับพอดี นึกในใจว่าไม่เห็นแก่หลับมากนัก และไม่เห็นแก่ฉันมากนัก นี้เรียกว่าปฏิบัติไม่ผิด