www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

อยากสำเร็จในชีวิต ต้องหมั่นแผ่เมตตา
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2013-02-26 16:48:38

เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลกทำให้โลกสงบสุขและรักกัน กรรมฐานกองหนึ่งใน 40 กองที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้คือ พรหมวิหาร4 คือ การมีความเมตตา กรุณา มิทิตา และอุเบกขา 


แม้แต่สัตว์ที่ดุร้ายเราให้อาหารมันและพูดจาดีๆก็เปลี่ยนสัตว์เหล่านั้นให้เชื่องได้ บ้านไหนคนเกลียดกันก็เจริญเมตตา บ้านไหนมีศัตรูก็เจริญเมตตาแผ่เมตตาให้ไม่มีที่สิ้นสุดที่ประมาณยิ่งดี

เพราะการมีเมตตานอกจากทำให้ใจเย็นแล้ว หน้าตาสดใส มีคนรักใคร่ ไม่มีคนเกลียด สิ่งไม่ดีไม่เข้าหา ยังเกิดสง่าราศีที่งดงาม เป็นที่รักของเจ้าที่เจ้าบ้าน เจ้าป่าเจ้าเขา ผีบ้านผีเรือน และข้อสำคัญวิบากกรรมลดลงแน่นอน 

ดังคำกล่าวว่า คนที่โกรธ คือ คนที่ปัดเอาสิ่งดีๆออกจากตัวเอง ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่โกรธแต่รักและเห็นใจคนอื่นก็ย่อมดึงดูดสิ่งที่ดีเข้าหาตัวเองได้ด้วยเช่นกัน 

เมตตา มีรากศัพท์เดียวกันกับคำว่า "เมตตา / เมตไตย / มิตร" ที่แปลว่า เพื่อน  เป็นการแสดงความเป็นเพื่อนออกจากจิตใจ  ที่เห็นว่าตัวเราเองไม่อยากได้รับความทุกข์อะไรเลย คนอื่น ๆ ก็เป็นแบบนั้น  และเมื่อรักตัวเองได้ก็ส่งความรู้สึกแบบเดียวกันนั้นเองกระจายไปสู่คนรอบข้าง โดยเริ่มแรก อาจจะเป็นเพื่อน เป็นพ่อ เป็นแม่ และขยายออกไปเรื่อย ๆ  จนในที่สุดแล้ว  จิตใจจะไม่มีขอบเขตของความไม่รักใครอยู่เลย พรหมวิหาร 4 ก็เกิดได้อย่างง่าย


พรหมวิหารทั้ง
4  คือ ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ เป็นหลักธรรมประจำใจสำหรับทุกคน ที่ช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ นั้น สามารถนำมาใช้เพื่อเสริมกำลังทางจิตให้เข้มแข็งขึ้น และรับอานิสงส์ที่มากขึ้น  


อานิสงค์จากการแผ่เมตตา

·        หลับเป็นสุข

·        ตื่นเป็นสุข

·        ไม่ฝันร้าย

·        เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย

·        เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย

·        เทวดารักษา

·        ไฟ ยาพิษ ของมีคม ไม่กล้ำกรายได้

·        จิตตั้งมั่นโดยรวดเร็ว

·        สีหน้าผ่องใส

·        เป็นผู้ไม่หลงกระทำความตาย

·        เมื่อไม่รู้แจ้งแทงตลอดคุณอันยิ่งใหญ่ เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก


แผ่เมตตา ทำอย่างไร

ครูบาอาจารย์หลายๆ ท่านในเมืองไทย ท่านสอนว่า ความจริงแล้วการท่องบทแผ่เมตตานี้ เป็นการเกริ่นนำให้ใจเรามุ่งไปที่ข้อความเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้ว เราจะเลือกบทใดบทหนึ่งแผ่กับใครก็ได้ แต่ควรเป็นกับคนที่เรารักและเคารพก่อน ควรแผ่ให้กับคนที่รัก เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือหากรักชาติ ก็แผ่ให้กับคนในชาติก็ได้

คาถาแผ่เมตตาตนเอง 

อะหัง สุขิโต โหมิ 
อะหัง นิททุกโข โหมิ
 
อะหัง อะเวโร โหมิ
 
อะหัง อัพยาปัชโฌ โหมิ
 
สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ
 

ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข 
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากความทุกข์
 
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากเวร
 
ขอให้ข้าพเจ้าปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง
 
ขอให้ข้าพเจ้าจงมีความสุขกายสุขใจ รักษากายวาจาใจให้พันจากความทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด
 
 

คาถาแผ่เมตตาพรหมวิหารสี่  มีบทการแผ่เมตตาทั้ง 4 บท ดังนี้ 

บทเมตตา

สัพเพ สัตตา                    สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น 

อะเวรา โหนตุ                   จงเป็นผู้ไม่มีเวรแก่กันและกันเถิด 

อัพยาปัชฌา โหนตุ            จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน 

อะนีฆา โหนตุ                    จงเป็นผู้ไม่มีทุกข์กาย ทุกข์ใจเถิด 

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ       จงเป็นผู้มีสุข พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด 

บทกรุณา

สัพเพ สัตตา                     สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น 

สัพพะทุกขา ปะมุจจันตุ        จงพ้นจากทุกข์เถิด 

บทมุทิตา

สัพเพ สัตตา                                สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น 

มา ลัทธะสัมปัตติโต วิมุจจันตุ           จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันตนได้แล้วเถิด 

บทอุเบกขา

สัพเพ สัตตา                                  สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา                                   เป็นผู้มีกรรมเป็นของของตน 

กัมมะ ทายาทา                               เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะ โยนิ                                    เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะ พันธุ                                   เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะ ปะฏิสะระณา                         เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง กัมมัง กะริสสันติ                       กระทำกรรมอันใดไว้ 

กัลยาณัง วา ปาปะกัง วา                  ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ                จักเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น  
 

คาถาอุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย

สัพเพ สัตตา สะทา โหนตุ อเวรา สุขะชีวิโน 

ขอปวงสัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวรต่อกัน เป็นผู้ดำรงชีพอยู่เป็นสุขทุกเมื่อเถิด

กะตัง ปุญญะผะลัง มัยหัง สัพเพ ภาคี ภะวันตุ เต 

ขอสัตว์ทั้งสิ้นนั้น จงเป็นผู้มีส่วนได้เสวยผลบุญ อันข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนั้นเทอญ