www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ชีวิตนี้ใครลิขิต โดย พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-11-23 09:51:44

 


ตราบใดที่กิเลสและกรรมยังมีอยู่ 
ตราบนั้นการเกิดจะต้องมีอยู่ร่ำไปสำหรับพระพุทธเจ้า 
สำหรับพระอรหันต์ทั้งหลายท่านได้ตัดกิเลสออกไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิง 
ด้วยการบรรลุพระญาณที่เรียกว่า อาสวักขยญาณ 
ทำให้พระองค์หลุดพ้นจากการหมุนวนอยู่ในสังสารวัฏ 
ที่ได้รับสั่งแก่ท่านปัญจวัคคีย์ว่า 
ญาณได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ภพใหม่ไม่ได้มีอีกต่อไป 

ญาณในทำนองเดียวกันนั้นเองก็เกิดขึ้นภายในใจของพระอรหันต์ 
ทำให้ความรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า 
สำหรับตัวท่านแล้วได้ยุติการต้องถูกหมุนอยู่ในสังสารวัฏ 
อย่างที่เคยประสบมาในกาลก่อนอย่างสิ้นเชิง 
เพราะฉะนั้น ความรู้ระดับญาณ 
จึงเป็นความรู้ที่จะต้องทำใจให้ย่อมรับเป็นฐานจิตในเบื้องต้นเสียก่อน 
ถ้าไม่อย่างนั้น ความสับสนในเรื่องนี้ก็จะต้องมีอยู่ตลอดไป 

พึงสังเกตว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้รับสั่งถึงชีวิตในชาติหน้า ในชาติก่อน 
ตลอดกาลอันยาวนานถึง ๓๕ ปี ก่อนการตรัสรู้ ทั้งนี้เป็นเพราะอะไร 
เพราะในสมัยนั้นพระองค์เองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ชีวิตในชาติก่อนนั้นมีหรือไม่ 
ถ้ามี เกิดสืบเนื่องมาจากอะไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดหมุนวนอยู่ในสังสารวัฏ 
การค้นคว้าในตอนต้นจึงมองไปที่การเกิด ไม่ได้มองไปถึงเบื้องหลังของการเกิด 
การพูดถึงเบื้องหลังของการเกิดคือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม 
นั้นเป็นการพูดเมื่อพระองค์ได้บรรลุพระญาณเหล่านี้แล้ว 

ความรู้ด้วยพระญาณเป็นเหตุให้รู้ชีวิตในอดีตของพระองค์ 
ถ้าพระองค์ไม่มีพระญาณข้อนี้ 
พระองค์ก็ไม่รู้เรื่องชีวิตในส่วนอดีตของพระองค์ 

ดังนั้นสิ่งที่พระองค์รู้เห็นกับเครื่องมือที่เป็นเหตุให้รู้เห็น 
จึงไม่อาจที่จะแยกออกจากกันได้ 
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายจึงเป็นเหมือนบุคคลที่ขึ้นไปยืนบนที่สูง 
แล้วมองดูทิวทัศน์เหล่านั้นจากที่สูง ซึ่งสามารถเห็นได้ในที่ไกล 
แล้วท่านก็กลับลงมาบอกแก่คนซึ่งอยู่ข้างล่างว่า 

ในขณะที่ท่านยืนตรงนั้น ท่านได้เห็นสิ่งนั้นๆ 

พึงสังเกตว่าจุดที่ท่านเห็นสัมพันธ์กับจุดที่ท่านยืนจึงหมายความว่า 
ถ้าไม่ยืนตรงนั้นก็ไม่เห็นสิ่งนั้น แต่ที่ได้เห็นสิ่งนั้นเพราะได้ยืนตรงนั้น 
คนซึ่งได้ฟังคำบอกกล่าวของท่าน 
สามารถทำได้ด้วยการขึ้นไปยืนจุดเดียวกันกับที่ท่านบอกว่า 
ท่านได้เห็นแล้วพิสูจน์กันว่า เมื่อยืนในจุดนั้นจะเห็นได้จริงหรือไม่ 
ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องเชื่อตามที่ท่านบอก 
ตราบเท่าที่เรายังไม่ขึ้นไปยืนในจุดที่ท่านบอกว่าท่านเห็น 
ซึ่งความเชื่อในลักษณะนี้ บุคคลได้ใช้ในการดำเนินชีวิตของตนอยู่อย่างแพร่หลาย 
ที่เราเชื่อความมีอยู่อย่างซับซ้อนของระบบสุริยจักรวาล อันสลับซับซ้อน 
ได้ด้วยกล้องโทรทัศน์ขนาดใหญ่ 
อันที่จริงนักดาราศาสตร์เหล่านั้น ก็เป็นเช่นเดียวกัน 
เพราะท่านดูด้วยกล้องโทรทัศน์จึงสามารถเห็นความสลับซับซ้อนของระบบสุริยจักรวาล 
ถ้าหากว่าท่านไม่ดูด้วยกล้องโทรทัศน์ ท่านก็ไม่อาจที่จะเห็นได้ 
คนที่ได้ยินได้ฟังจากท่านจึงสามารถทำได้ ๒ วิธี ดังกล่าวแล้ว คือ 

ดูระบบสุริยจักรวาลด้วยกล้องโทรทัศน์ด้วยตัวของตัวเอง 
หรือเชื่อตามที่นักดาราศาสตร์บอก 

สิ่งที่นอกจากวิสัยของจักษุ คือ 
ดวงตาธรรมดาไม่สามารถสัมผัสได้ ยังมีอยู่เป็นอันมาก 
เช่น พวกเชื้อโรคเชื้อไวรัสต่างๆ ที่จะต้องขยายเป็นพันเท่าหมื่นเท่า 
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มีกล้องสำหรับส่องขยาย 
และเมื่อเห็นจากกล้องแล้วก็นำมาบอกกล่าวอธิบายถึงรูปลักษณ์ของสิ่งเหล่านั้น 
จากการที่ท่านเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรือกล้องอิเลคตรอนไมโครสโคป 
ผู้ได้ฟังเรื่องนี้ก็คงทำได้ ๒ นัยยะ ดังกล่าวแล้ว 

คือดูด้วยตัวเองหรือเชื่อตามที่ท่านบอก 

ความรู้เรื่องชีวิตในชาติก่อน 
จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาไปสู่ความรู้ ความเข้าใจ 
ถึงเงื่อนไขของชีวิตและความแปรผันเปลี่ยนแปรไปในแต่ละชาติ 
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความคิดคำนึงขึ้นมา เป็น ๒ กระแสนั้น 
มีทั้งสายของสังสารวัฏคือเรื่องของชีวิตในอดีต ปัจจุบันและอนาคต 
แต่ในขณะเดียวกันก็มองไปที่ผลซึ่งออกมาเป็นความสุข ความทุกข์ 
ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง 
คนก็พยายามสืบสวนค้นคว้าถึงที่มาของสิ่งทั้ง ๒ นี้ 

ใคร อะไร อย่างไร 

หลักฐานที่กี่ยวกับความเป็นมาของชีวิต และเหตุให้ชีวิตของคนเราแตกต่างกัน 
เรื่องหลักฐานความเป็นมาของชีวิตนั้น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า 
พระพุทธศาสนาทรงแสดงปัจจัยหลักเอาไว้เป็น ๒ ตัว 
คือ กิเลสกับกรรม ถ้า ๒ สิ่งนี้ยังมีอยู่ชีวิตก็ย่อมจะมีอยู่ 
ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้รับสั่งเล่าแก่ภิกษุทั้งหลาย 
ไว้ในทสมสูตร พุทธวรรค สังยุตนิกายตอนหนึ่งว่า 

“ภิกษุทั้งหลาย ความฉงนนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า 
เมื่ออะไรมีอยู่ ชรา มรณะ 
จึงได้มี ชรา มรณะ มีเพราะปัจจัยอะไร 
ภิกษุทั้งหลายจากนั้นได้เกิดความรู้สึกด้วยปัญญา 
เพราะการคิดโดยแยบคายแก่เราว่า เพราะชาตินี้เองมีอยู่ ชรา มรณะ 
จึงได้มี ชรา มรณะ มี เพราะชาติเป็นปัจจัย” 

“คำว่าชาติที่แปลว่าความเกิดนั้น ได้ทรงอธิบายไว้ในที่อื่นว่า 
หมายถึง การเกิดในกำเนิดทั้ง ๔ ประการคือ 
เกิดในครรภ์ เกิดในไข่ เกิดในของสกปรก และเกิดโดยผุดขึ้น ดังกล่าวแล้ว 

จากนั้นทรงนึกทบทวนไปว่า 
เพราะภพนี้เองมีอยู่ ชาติจึงมีอยู่ ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย 
เพราะอุปาทานนี้เองมีอยู่ ภพจึงได้มี ภพมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย 
เพราะเวทนานี้เองมีอยู่ ตัณหาจึงได้มี ตัณหามี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย 
เพราะผัสสะนี้เองมีอยู่ เวทนาจึงได้มี เวทนามีอยู่ เพราะผัสสะเป็นปัจจัย 
เพราะสฬายตนะนี้เองมีอยู่ ผัสสะจึงได้มี ผัสสะมี เพราะสฬายนตะเป็นปัจจะ 
เพราะวิญญาณนี้เองมีอยู่ นามรูปจึงได้มี นามรูปมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย 
เพราะสังขารนี้เองมีอยู่ วิญญาณจึงได้มี วิญญาณมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย 
เพราะอวิชชานี้เองมีอยู่ สังขารจึงได้มี สังขารมี เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยดังนี้” 

และจากนั้นก็ทรงมองย้อนกลับเข้าไปจากต้นเหตุ 
คือ อวิชชา แล้วก็มาสรุปว่า 
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้น ย่อมมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ 
ความรู้เห็นในลักษณะนี้เป็นความรู้เห็นประเภทญาณเช่นเดียวกัน ได้รับสั่งไว้ว่า 

“ภิกษุทั้งหลาย ดวงตา ญาณ ปัญญา วิชชา แสงสว่าง 
ในสิ่งที่เราไม่เคยฟังมาแต่กาลก่อนได้เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า 
ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์มีด้วยอาการดังนี้” 

ส่วนความรู้แจ้งถึงเหตุที่ให้ชีวิตของเราแตกต่างกันนั้น 
ก็เป็นผลซึ่งเกิดมาจากพระญาณข้อที่ ๒ 
ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุใน มัชฌิมยามแห่งราตรีที่ได้ตรัสรู้นั้นเอง 
ข้อนี้ได้รับสั่งไว้ในโพธิราชกุมารสูตรเป็นต้น เป็นใจความว่า 

“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่น บริสุทธิ ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากกิเลส 
เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว อยู่เช่นนี้แล้ว 
ได้น้อมจิตไปเฉพาะต่อจุตูปปาตญาณ มีจักษุทิพย์บริสุทธิ์กว่าจักษุของสามัญมนุษย์ 
ย่อมแลเห็นสัตว์ทั้งหลายจุติอยู่บังเกิดอยู่ เลว ทราม ประณีต 
มีวรรณะดี มีวรรณะเลว มีทุกข์ มีสุข รู้ชัดแจ้ง หมู่สัตว์ที่เข้าถึงกรรมว่า 
ผู้เจริญทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต 
พูดติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นมิจฉาทิฐิ 
ประกอบการงานด้วยอำนาจ มิจฉาทิฐิ เบื้องหน้า 
แต่กายแตกตายไป ล้วนพากันเข้าสู่อบาย ทุคติ วินิบาตนรก 

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต 
ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฐิ ประกอบการงานด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ 
เบื้องหน้าแต่กายแตก ตายไป ย่อมพากับเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์ 
เรามีจักษุทิพย์บริสุทธิ์ เหนือจักษุสามัญมนุษย์เห็นเหล่าสัตว์ผู้จุติอยู่บังเกิดอยู่ เลว 
ประณีต มีวรรณะดี วรรณะทราม มีทุกข์ มีสุข รู้ชัด หมู่สัตว์ ผู้เข้าถึงตามกรรมได้ฉะนี้ 

ราชกุมารนี้เป็นวิชชาที่ ๒ ที่เราได้บรรลุแล้ว ในยามกลางแห่งราตรี 
อวิชชา ถูกทำลายแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว 
ความมืดถูกทำลายแล้ว ความสว่างเกิดขึ้นแล้ว 
เช่นเดียวกับที่เกิดแก่ผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผาบาป มีตนไปแล้วแลอยู่โดยควร” 

จากพระญาณข้อนี้เองทำให้พระพุทธเจ้าทรงรู้เห็นถึงกรรม 
ผลกรรมตามความเป็นจริงถึงการที่สรรพชีวิตทั้งหลาย 
ที่มีความแตกต่างกันทุกแง่ทุกมุมมากบ้างน้อยบ้าง 
ข้อนี้ได้รับสั่งแสดงไว้ในที่อื่นเป็นอันมากเช่น ในทศพลญาณ รับสั่งว่า 

“ตถาคตย่อมรู้ตามเป็นจริง ซึ่งวิบากคือผลของการทำกรรม 
ที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน 
ได้ทั้งโดยฐานะและโดยเหตุ นี้ก็เป็นตถาพละของตถาคต 
(คือกำลังของพระตถาคต) ควรจะเชื่อใครดี” 

มีคนสำคัญท่านหนึ่งพูดว่า 
เรื่องกรรม เขาสอนกันอยู่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว 
เป็นคำสอนที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ 
ไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนาจริงหรือ ? 

สำหรับประเด็นนี้จะต้องมองถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาให้ชัดเจน 
เพราะหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนานั้น 
พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า เอตํ พุททธานสาสนํ 
คือ คำสอนของท่านผู้รู้ทั้งหลาย 
ดังนั้นเมื่อมองถึงแหล่งที่มาของคำสอน 
ซึ่งปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาแล้วจะพบว่า 
จะมาจากแหล่ง ๔ แหล่งด้วยกัน คือ 

การรับรองคำสั่งสอนซึ่งมีการเปิดเผยชี้แจงแสดงกันอยู่ก่อนแล้ว 

ว่าเป็นความถูกต้องดีงามระดับหนึ่ง 
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ก็ทรงรู้ว่า 
ธรรมะในระดับนั้นที่มีการสั่งสอนกันอยู่ 
เป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่จะช่วยให้บุคคลบรรเทาความทุกข์ประสบความสุขได้ในระดับหนึ่ง 
ทรงใช้คำว่าเป็นอาทิพรหมจรรย์ คือเป็นเบื้องต้นของการประพฤติปฏิบัติความดี 
ข้อนี้ไม่ต้องดูอื่นไกล แม้แต่ศีลทั้ง ๕ ประการ 
ที่มีการศึกษาสมาทานกันอยู่ในปัจจุบัน 
เป็นคำสอนที่มีมาก่อนการบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า 
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงนำมาชี้แจงแสดงสั่งสอนแก่บุคคลทั้งหลาย 
เพื่อศึกษาและประพฤติปฏิบัติตาม 
ซึ่งแสดงว่า การปฏิบัติตามหลักของศีล ๕ 
เป็นความดีงามที่ยอมรับนับถือกันมาก่อน 
และพระพุทธเจ้าก็ทรงยอมรับความดีงามเหล่านั้น 
ซึ่งแสดงให้เห็นพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณพระมหากรุณาธิคุณ 
ของพระองค์เด่นชัดมากยิ่งขึ้น 

การปฏิรูปคำสั่งสอนที่ปรากฏและเผยแพร่อยู่ในสมัยนั้น 

มีความถูกต้องดีงามแล้วระดับหนึ่ง 
แต่ถ้าหากว่านำมาปรับปรุงเพิ่มเติมให้ดีขึ้น 
ก็จะมีผลที่ถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น 
พระพุทธเจ้าก็นำคำสอนนั้นมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมขึ้น 
ซึ่งก็มีปรากฏอยู่มากในคัมภีร์พระพุทธศาสนา 
เช่น ในเรื่องของการพูดคำสัตย์ คำจริง 
ซึ่งคนในสมัยโบราณถือมากเมื่อพูดอะไรออกไปแล้ว 
จะต้องรักษาคำพูด แม้ตัวเองจะเสียสละชีวิตก็ตาม 
แต่ก็ปรากฏว่า คำพูดบางท่านได้กลายเป็นโซ่ตรวน ผูกมัดรัดคอท่านเอง 
ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงเพิ่มเติมขึ้นจากคำว่า 
“คำสัตย์แลเป็นคำไม่ตาย” นี้เป็นของเก่า 

แต่สัปปุรุษ คือคนดีจะต้องพูดคำที่เป็นคำสัตย์คำจริงที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม 
นอกจากนั้น ยังเพิ่มเอากาล สถานที่ ที่จะพูดถ้อยคำเช่นนั้นเข้าไปด้วย 
เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ คือ ผู้ฟังได้รับประโยชน์จากการพูด 
และผู้พูดก็จะไม่เสียประโยชน์เพราะการพูดเรื่องเหล่านั้น 

การปฏิวัติความเชื่อถือที่มีการประพฤติปฏิบัติกันอยู่ในสมัยนั้น 

เช่น คนไทยสมัยก่อนพุทธกาลมีความเชื่อในเรื่องอัตตาตัวตนว่าเที่ยงแท้แน่นอน ถาวร 
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของ อนัตตา 
ในแง่ของความจริงที่เป็นจริง 
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อพูดกันด้วยภาษาธรรมดาที่เรียกว่าสมมติบัญญัติ 
ก็ทรงใช้ถ้อยคำเช่นนั้น เป็นสื่อให้เกิดความเข้าใจแก่ผู้ฟังได้เช่นเดียวกัน 
เป็นคำสอนซึ่งไม่มีการเผยแพร่ชี้แจงแสดงสั่งสอนกันอยู่ในสมัยนั้น 
พระพุทธเจ้า นำมาแสดง เช่น 
หลักของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ประการ เรื่องอนัตตา 
เรื่อง ปฏิจสมุปบาท เรื่องนิพพาน เป็นต้น 

กฎของกรรม 

ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน 
ส่วนหนึ่งเป็นคำสอนที่มีการเผยแพร่กันอยู่แล้วในสมัยนั้น 
และถ้ามองถึงในรายละเอียดก็จะพบว่า มีข้อที่แตกต่างกันอยู่เป็นอันมาก 
เพราะการวินิจฉัยผล คือ 
ความสุข ความทุกข์ ความเสื่อม ความเจริญที่เกิดขึ้นในชีวิตของตน 
ที่มีการเผยแพร่ชี้แจงแสดงกันอยู่ในสมัยนั้นสามารถสรุปได้ดังนี้คือ 

บุพเพกตเหตุวาทะ 

ถือว่าความสุข ความทุกข์ ทั้งปวงนั้น 
เกิดขึ้นเพราะผลของกรรมเก่าที่ผู้คนเหล่านั้นกระทำไว้ในอดีตกาล 
ความเชื่อในลักษณะนี้ก่อให้เกิดการสยบติดต่ออำนาจของกรรมเก่า 
ที่ตนคิดว่าดลบัณดาลให้เกิดความสุข ความทุกข์ 
บุคคลที่เชื่อในแนวนี้จะอยู่ด้วยความประมาท ขาดความกระตือรือร้น 
ขาดความดิ้นรนที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องกรรมเก่า 
เพราะไปเข้าใจว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขเรื่องกรรมเก่าได้ 

อิศวรนิมมานเหตุวาทะ 

คือถือว่าความสุข ความทุกข์ ความเสื่อม ความเจริญ ความสำเร็จ ความล้มเหลวต่างๆ 
ที่เกิดขึ้นในชีวิตของบุคคลนั้น เกิดจากการบันดาลของเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 
มีพระอิศวรเป็นต้น 
คนที่เชื่อในลักษณะนี้จะต้องเสียเวลาในการประจบประแจงเอาใจเทพเจ้าสูงสุด 
และรอคอยการประสิทธิ์ประสาทสิ่งที่ดีงามจากท่านเหล่านั้น 
ทำให้ละเลยความเพียรพยายามที่จะต้องประกอบภารกิจการงาน 
เพราะถือว่า ความสุขความทุกข์นั้น 
อยู่ที่ความพอใจของอำนาจสูงสุดที่จะประสิทธิ์ประสาทให้ 
หรือไม่ประสิทธิ์ประสาทให้ 
ความคิดในแนวนี้ก่อให้เกิดลัทธิในลักษณะที่ยอมสยบต่อเทพเจ้าสูงสุด 
เช่นเดียวกับยอมสยบต่อกรรมเก่าของตนนั่นเอง