พ่อค้าทางโลก กับ พ่อค้าทางธรรม (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-10-16 15:17:47
พ่อค้าทางโลก กับ พ่อค้าทางธรรม
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
พ่อค้าทางโลกกับพ่อค้าทางธรรม มีพระสูตรในอังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงคุณสมบัติของพ่อค้าผู้ประสบความเจริญในการค้าขาย เปรียบกับผู้ปฏิบัติธรรม (ในกรณีนี้คือพระสาวกของพระองค์) มีประเด็นน่าสนใจดังนี้
1. พ่อค้าที่ล้มเหลวในอาชีพ
ไม่สามารถทำโภคทรัพย์ที่ยังไม่มีให้มีขึ้น ที่มีแล้วก็ไม่สามารถให้งอกเงยเป็นทวีคูณ พูดง่ายๆ ยิ่งค้าขายยิ่งขาดทุน จะมีลักษณะดังนี้
(1) เช้า ไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
(2) เที่ยง ไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
(3) เย็น ไม่จัดแจงการงานโดยเอื้อเฟื้อ
สรุปแล้วคือ ขี้เกียจ ไม่เอาใจใส่ในอาชีพของตน ไม่อุทิศกายวาจาใจให้แก่งาน ไม่มีวิญญาณ “ของเถ้าแก่” ผู้เป็นเจ้าของกิจการ แต่กลับมีวิญญาณของลูกจ้าง ลูกจ้างเขาถือว่าสินค้าในร้าน ในบริษัทมิใช่ของเขา จะขายได้มากได้น้อยเขาก็ไม่ค่อยเดือดร้อน สิ้นเดือนก็รับค่าจ้างตายตัวอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยตั้งใจทำงาน เจ้าของกิจการขืนทำตัวเหมือนลูกจ้างก็มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง
2. พ่อค้าที่ประสบความสำเร็จในอาชีพของตน
สามารถค้าขายได้กำไรเป็นทวีตรีคูณ มีลักษณะดังนี้
(1) มีตาดี (จกฺขุมา)
คือสายตายาวไกล รู้จักสินค้า ดูของเป็น สามารถกะทุน เก็งกำไรได้แม่นยำวาณิชา (สตรีนักการค้าบางคน) เก่งกว่า วาณิโช (บุรุษนักการค้า) เสียด้วยซ้ำ สายตายาวไกลมาก หุ้นตัวไหนจะขึ้น ตัวไหนจะตก ตัวไหนจะช้อนซื้อ เพื่อกำไรงาม บางคนก็สายตายาวไกล รู้ว่าที่ตรงนี้สนามบินแห่งใหม่กำลังจะขึ้นภายในไม่กี่ปี (ซึ่งคนทั่วไปไม่รู้) ก็กว้านซื้อที่ดินชาวบ้านถูกๆ ผลักดันให้ทางการตัดถนนผ่าน เพื่อให้ที่ขึ้นราคา ขายได้กำไรงาม
(2) จัดเจนธุรกิจ (วิธุโร)
คือมีหัวการค้า รู้แหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวของตลาด สามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย ซื้อตรง หรือซื้อผ่านตัวแทน ผ่านกี่บริษัท จึงจะได้ของถูกของแพง ถ้าซื้อตรงอาจได้ของถูกแต่เราได้กำไรคนเดียว ถ้าซื้อผ่านนายหน้าหลายบริษัทอาจได้ของแพง แต่ญาติโกโหติกาผู้ค้าขายด้วยกันอาจมีส่วนได้จากกำไรส่วนต่าง เรียกว่า “รู้จักสงเคราะห์ญาติ” ว่างั้นเถอะ อย่างไหนจะดีกว่ากัน นักธุรกิจผู้เจนจัดย่อมรู้และจัดการได้ดี
(3) มีแหล่งทุนพร้อมที่จะพึ่งได้ (นิสฺสยสมฺปนฺโน)
คือรู้จักคนมาก กว้างขวางในวงการ หาทางสนิทสนมกับนักการเมืองผู้มีอำนาจ ด้วยการออกรอบกับท่านเหล่านั้นๆ เพื่อจะได้โอกาสขยายกิจการค้าข้ามประเทศ เรียกว่า เป็นการลงทุนแบบโลกาภิวัตน์ รายได้จะพอกพูนขึ้นมหาศาล (แต่ระวังเหมือนกัน การคบพ่อค้านักลงทุนต่างชาติ ก็ต้องดูให้ดี เผื่อไปคบคนที่ตะกละกินคนเดียว ไม่แบ่งคนอื่นบ้าง อาจถูกปฏิบัติได้ แล้วทุนที่เราลงทุนไปมหาศาล จะหายวับไปกับตาได้)
3. การค้าก็ต้องการกำไร
การปฏิบัติธรรมจะว่าไปแล้ว ไม่ต่างจากพ่อค้า คือต้องการผลจากการปฏิบัติ จะเรียกแบบโวหารชาวบ้านว่า “กำไร” ก็ได้ นั่นคือกำไรแห่งชีวิต พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนการปฏิบัติธรรมดุจการค้าขาย ตรัสว่า “ภิกษุผู้มีธรรม (องค์ประกอบ) 3 ย่อมไม่สามารถบรรลุกุศลธรรมที่ยังไม่บรรลุ ที่บรรลุแล้วก็ไม่สามารถให้เจริญมากขึ้นได้ ธรรม 3 คือ
(1) เช้า ไม่อธิษฐานสมาธิโดยเคารพ
(2) เที่ยง ไม่อธิษฐานสมาธิโดยเคารพ
(3) เย็น ไม่อธิษฐานสมาธิโดยเคารพ”
ลงว่าขี้เกียจฝึกสมาธิภาวนาอย่างจริงจัง ทั้งเช้า เที่ยง และเย็น หรือทำก็สักว่าทำพอเป็นพิธี หรือเพื่ออวดเพื่อโชว์ว่าฉันเป็นนักปฏิบัติ ร้อยทั้งร้อย ไม่มีทางเพิ่มพูนกุศลธรรมอะไรได้ สิ่งที่ควรละก็ละไม่ได้สิ่งที่ควรเพิ่มก็ไม่เพิ่ม เผลอๆ อาจพอกหนาขึ้นกว่าตอนก่อนมาเป็นนักปฏิบัติด้วยซ้ำ อย่างนี้เรียกว่า ขาดทุนย่อยยับ ดุจพ่อค้าขาดทุนนั้นแล
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม 3 ย่อมไพบูลย์ด้วยกุศลธรรมไม่นานคือ
(1) มีตาดี ย่อมรู้ชัดนี้นี้คือทุกข์ นี้คือเหตุปัจจัยทำให้ทุกข์เกิด นี้คือภาวะหมดทุกข์ และนี้คือวิธีปฏิบัติเพื่อหมดทุกข์ รู้ชัดอย่างนี้เรียกว่า ผู้มีตาดี อันนี้เรียกว่า มีความรู้ความเข้าใจถูกต้อง
(2) จัดการธุระดี คือเป็นผู้พากเพียร ขยัน บากบั่น ไม่ทอดทิ้งธุระ ในการละอกุศลธรรมเพิ่มพูนกุศลธรรม นี้เป็นคุณสมบัติประการที่สอง เมื่อมีความรู้ความเข้าใจถูกต้องแล้ว ก็ต้องพากเพียรพยายามฝึกฝนอบรมเพื่อละอกุศล เพิ่มกุศล ความเพียรที่ถึงจุดสุดยอดท่านเรียกว่า “มหาปธาน” (เพียรอย่างยิ่งใหญ่) คือเพียรเพื่อป้องกันความไม่ดีที่ยังไม่เกิด, เพียรละความไม่ดีที่เกิดขึ้นแล้ว, เพียรสร้างความดีที่ยังไม่มี และเพียรรักษาความดีที่มีขึ้นแล้ว
(3) พร้อมด้วยผู้ที่จะพึ่งพาได้ คือต้องเข้าไปหาพระเถระผู้อาวุโส เป็นพหูสูตร ที่จะให้คำแนะนำแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติได้ ท่านเหล่านั้นเป็นกัลยาณมิตร ที่จะคอยแนะนำ พร่ำสอน ตักเตือนประคับประคองให้ก้าวเดินรุดหน้าไปยังจุดหมาย
เนื้อหาของสองสูตรนี้สั้นๆ ผมขยายยกตัวอย่างเพื่อให้ชัดเจนขึ้น มิได้มีเจตนาอื่นใด นอกจากต้องการทำธรรมะให้เข้าใจได้เท่านั้นจริงๆ
เทคนิควิธีสร้างความร่ำรวย
คฤหัสถ์ผู้ครองเรือนมีความจำเป็นต้องอาศัยโภคทรัพย์เลี้ยงตนเองและครอบครัว ต้องมีปัจจัยสี่เพียงพอแก่การดำรงชีวิตจึงจะดูงาม ยิ่งมีทรัพย์มากเท่าใด ย่อมเป็นสง่าราศีมากขึ้นเท่านั้น
ทรัพย์เป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งของผู้ครองเรือน เพราะเหตุนี้ท่านจึงเรียกว่า “หลักทรัพย์” ใครไม่มีหลักทรัพย์ก็เท่ากับเป็นคน “หลักลอย” พระพุทธองค์ทรงบอกวิธีสร้างหลักทรัพย์ หรือวิธีสร้างความร่ำรวยไว้ 4 ประการ คือ
1. ขยันทำมาหากิน ประการแรกต้องหมั่นขยันไม่เกียจคร้าน ภาษาพระท่านเรียกว่า “ลุกขึ้น” หมายถึงลุกขึ้นทำงานอาชีพของตน ไม่เกียจคร้านเห็นแก่นอนอย่างที่เรียกว่า “คนขี้เกียจสันหลังยาว” ไม่ว่าจะทำมาหากินอะไร ถ้ากล้าต่อสู้ความลำบาก ไม่เลิกล้มความเพียรง่ายๆ ไม่ว่างานจะหนักจะยากเพียงใด ย่อมมีโอกาสตั้งตัวได้ในไม่ช้า
2. รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ที่หามาได้ หาได้มาด้วยความเหนื่อยยากแล้ว รู้จักเก็บหอมรอมริบไม่ให้ทรัพย์สินเสียหาย การป้องกันทรัพย์ให้ปลอดภัยจาก “โจรภายนอก” ทำได้ง่าย เพียงใส่ตู้เซฟลั่นกุญแจอย่างดี หรือนำไปฝากธนาคารก็ปลอดภัยแล้ว แต่จะให้ปลอดภัยจาก “โจรภายใน” จริงๆ นั้นยาก คนทำมาหากินควรระวังอย่าให้โจรภายใน คือความหรูหราฟุ่มเฟือย การตกเป็นทาสสิ่งเสพติดและการพนัน มันมาปล้นทรัพย์เป็นอันขาด เพราะโจรพวกนี้ปล้นไม่เหลือ ปล้นซ้ำปล้นซากไม่รู้จบสิ้น
3. คบมิตรดี มิตรดีของคนทำมาหากิน หมายถึง คนที่เกื้อกูลแก่อาชีพของเราได้ สามารถให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุนหรือให้กำลังใจในการทำงาน คนทำมาค้าขายถ้าไปหลงคบคนหลักลอย นักเลงเหล้า นักเลงพนัน ไม่ช้าก็จะถูกชักนำให้วิบัติฉิบหาย มิตรชั่วถอนเสาเรือนใครต่อใครมานักแล้ว ผู้ครองเรือนจะต้องระวังให้จงหนัก
4. เป็นอยู่เหมาะสม หมายถึง จะใช้จะจ่ายให้เหมาะสมกับฐานะของตน มิใช่เอาฐานะคนอื่นเป็นหลักอย่างที่เรียกว่า “เห็นช้างขี้ขี้ข้างบ้างอย่างช้างสาร” ทำงานได้เงินเดือนละห้าพันบาท ใช้จ่ายเดือนละห้าหมื่นบาท ทำจนตายก็ไม่รวย รวยอย่างเดียวคือรวยหนี้
ขยันทำมาหากิน ได้ทรัพย์สินมาแล้วรู้จักเก็บรักษา คบหาคนดีเป็นมิตรสหาย และใช้จ่ายพอเหมาะสมแก่ฐานะความเป็นอยู่ ปฏิบัติได้ตามนี้ความเป็นเศรษฐีอยู่ไม่ไกล
หนังสือพิมพ์ข่าวสด รายวัน หน้า 31
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง