ที่มาและลักษณะของ พระสมเด็จวัดระฆัง
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-06-18 14:35:45
|
พระสมเด็จ รุ่นที่ 1เจ้าประคุณสมเด็จ พุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ท่านเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนาธุระยิ่งนัก กอปรด้วยพระเมตตาบารมีสูงยิ่ง เมื่อท่านเจริญชนมายุแก่กล้าเป็นพระมหาเถระแห่งยุคสมัยแล้ว ก็ได้ปรารภเหตุว่า มหาเถระแต่ปางก่อนนั้น มักจะนิยมสร้างพระพิมพ์จำนวนมาก บรรจุลงไว้ในปูชนียสถานต่าง ๆ เพื่อเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา และเพื่อให้พุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้กราบไหว้บูชาเป็นการเจริญพุทธานุสติ ปรารภเหตุดังกล่าวนี้ เจ้าประคุณสมเด็จ จึงได้ลงมือสร้างพระพิมพ์รุ่นแรกขึ้นมีจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ เป็นพระสมเด็จรุ่นแรกที่เรียกกันว่า "ทรง ๓ ชั้น" |
ต่อมาเจ้าประคุณได้สร้างรุ่นสองขึ้นอีก ที่เรียกกันว่า "ทรง ๗ ชั้น" เพื่อนำไปบรรจุไว้ที่ วัดไชโยวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง อันเป็นวัดที่ระลึกถึงโยมมารดาของท่าน แต่รุ่นนี้สร้างไม่ครบจำนวน
สมเด็จได้บอกแก่นายเทศ ช่างแกะสลักพระ บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้นติด ๆ กับวัดระฆังฯ ว่า รุ่นนี้คงจะทำไม่ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ตามที่ตั้งใจไว้เสียแล้ว เพราะคงจะถึงแก่มรณภาพลงเสียก่อน เนื่องจากสังขารสูงวัยมากแล้ว ท่านจึงให้เอาพระคะแนนร้อยคะแนนพัน จากการสร้างรุ่นแรกเอามาบรรจบรวมกัน แล้วนำไปบรรจุไว้ที่วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง ตามที่ตั้งใจไว้จนครบบริบูรณ์
ผู้ชำนาญการเฉพาะพระเครื่องสมเด็จกล่าวไว้ว่า พระสมเด็จองค์แท้จริงนั้น หมายถึงพระที่สมเด็จโตท่านสร้างไว้ สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๕๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๑๕ เท่านั้น
ส่วนชุดอื่น ๆ ที่ใช้ผงสมเด็จมาผสม หรือกระทำพิธีอัญเชิญดวงพระวิญญาณสมเด็จมาประทับทรงระหว่างปลุกเสก คงได้ชื่อเพียง "พระตระกูลสมเด็จ" หรือ "แบบสมเด็จ" เท่านั้น
เฉพาะกรุที่ทำโดยเอาผงสมเด็จไปผสมนั้น ยืนยันกันว่ามีเพียง ๓ กรุเท่านั้น คือ
๑. กรุวัดใหม่อมตรส
กรุนี้มีประวัติเล่าไว้ว่า "เสมียนตราเจิม" บิดาของพระอักษรสมบัติ บ้านอยู่ตำบลบางขุนพรหม ได้สร้างพระเจดีย์องค์ใหญ่หนึ่งองค์ขึ้นที่วัดนั้น เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุสกุลวงศ์ ประสงค์จะสร้างพระสมเด็จบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ด้วย จึงไปขอผงจากเจ้าประคุณสมเด็จได้มาครึ่งบาตร ประกอบพิธีสร้างที่วัดอินทรวิหาร ต่อหน้าเจ้าประคุณสมเด็จ ซึ่งเสมียนตราเจิมได้นิมนต์เจ้าประคุณให้มาฉันเพลในงานนี้ด้วย
๒. กรุวัดพลับ
มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ไม่ทราบนามฉายา อยู่ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) เข้าใจว่าจะเป็นเพื่อนสหธรรมิกของเจ้าประคุณสมเด็จนั่นเอง ได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ได้ว่านยาชนิดต่าง ๆ มามากมาย กลับมาแล้วก็มีความคิดจะสร้างพระพิมพ์ขึ้นเช่นกัน จึงไปขอผงพระจากเจ้าประคุณสมเด็จ แต่ได้มาเพียงเล็กน้อย นำมาผสมกันสร้างเป็นพระพิมพ์เนื้อแข็ง สีขาวนั่งขัดสมาธิ มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มีทั้งพิมพ์พระนอน และพิมพ์ ๒ หน้า แต่เป็นกรุที่หายากมาก ปัจจุบันนี้แทบจะหาดูกันไม่ได้เสียแล้ว
๓. กรุพระสมเด็จปิลันธน์
กรุนี้มีคำเล่าบอกของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชโต) ศิษย์ก้นกุฏิของเจ้าประคุณสมเด็จ เล่าไว้ว่า
หม่อมเจ้าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน เมื่อขณะยังดำรงสมณศักดิ์ที่ "พระพุทธุปบาทปิลันธน์" และยังสถิตอยู่ ณ วัดระฆังฯ ได้ทรงขอผงพระจากเจ้าประคุณสมเด็จ นำไปผสมกับผงดำของท่านสร้างเสร็จแล้ว ได้นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์มุมพระอุโบสถด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาทางคณะกรรมการวัดระฆังฯ ได้ทำการเปิดกรุไปแล้ว
เรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) วัดระฆังฯ เล่าเสริมว่า ได้ค้นพบพระสมเด็จปิลันธน์อีกกรุหนึ่งบนเพดานหอไตร มีทั้งที่สมบูรณ์และชำรุดจำนวนมาก จึงได้คัดเอาองค์ที่ชำรุดมาปลุกเสกสร้างขึ้นใหม่ โดยประกอบพิธีปลุกเสกในพระอุโบสถวัดระฆังฯ เมื่อ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคมรวม ๑๐๘ รูป พระสมเด็จปิลันธน์ ชุดนี้เป็นพระปางสมาธิ มีทั้งชนิดนั่งองค์เดียวบ้าง ๒ องค์และ ๓ องค์บ้าง นั่งในม่านแหวกเจดีย์ ๒ องค์ สีดำเจือขาว เนื้อเหมือนปูนซิเมนต์
พระอาจารย์ขวัญ วิสิฐโฐ วัดระฆังฯ อ้างว่า ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ศิษย์ก้นกุฏิรุ่นแรกของเจ้าประคุณสมเด็จว่า พระสมเด็จซึ่งสร้างจากมือท่านแท้ ๆ นั้น มีรวมอยู่ด้วยกัน ๗๓ ชนิด แต่เท่าที่สืบทราบได้ในปัจจุบันนี้ มีเพียง ๒๙ ชนิดเท่านั้น
เล่ากันมาอีกว่า พระสมเด็จรุ่นแรกสุด ชนิดทรง ๓ ชั้น มี ๓ อย่างคือ
สีดำ มีคุณวิเศษทางคงกระพันชาตรี
สีขาว มีกลิ่นหอม แก้โรคภัยต่าง ๆ
สีขาวไม่มีกลิ่น ใช้ทางเมตตามหานิยม
ทั้ง ๓ อย่างนี้มีขนาดเดียวกัน คือ กว้าง ๔.๑ ซม. สูง ๖.๑ ซม. โดยนายเทศช่างแกะสลักพระ บ้านอยู่หลังตลาดบ้านขมิ้น เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ให้ และเมื่อเจ้าประคุณสมเด็จสร้างพระพิมพ์รุ่นแรกนี้สำเร็จลงแล้ว ท่านให้พระองค์แรกแก่ "นางเอี่ยม" แม่ค้าขายน้ำพริกเผาและกุ้งแห้งในตลาดบ้านขมิ้นเป็นคนแรก ซึ่งนางเอี่ยมก็ตำหนิตรง ๆ ว่า มีขนาดใหญ่เกินไป เจ้าประคุณสมเด็จก็ยอมรับว่าจริง แต่บอกว่ารุ่นแรก ๆ นี่ต้องทำให้ใหญ่หน่อย ต่อมาภายหลังเห็นว่าสร้างขนาดใหญ่เปลืองผงมาก จึงได้สร้างขนาดเล็กในเวลาต่อมา
ท่านเจ้าประคุณพระเทพญาณเวที (ละมูล สุตาคโม) วัดระฆังฯ อ้างคำบอกเล่าจาท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมของเจ้าประคุณสมเด็จอีกต่อหนึ่งว่า
การสร้างพระสมเด็จของเจ้าประคุณนั้น ท่านใช้ปูนขาวเป็นหลัก ผสมด้วยเกสรดอกบัว ขี้ไคลใบเสมา น้ำอ้อย, เนื้อ และ เปลือกกล้วยน้ำละว้า, น้ำมันตั้งอิ้ว, ขี้ธูปในพระอุโบสถ ปูนและดินกรุตามพระเจดีย์เก่า ๆ เศษอาหารและชานหมากที่สมเด็จฉันแล้ว ผงจากใบลานเผา, ว่านวิเศษต่าง ๆ และผงวิเศษในทางแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม จากผงดินสอ ซึ่งเจ้าประคุณเขียนอักขระตัวขอมในเวลาลงเลขยันต์ต่าง ๆ เมื่อเวลาจะสร้างนั้น สมเด็จมีดินสอเหลืองแท่งใหญ่อยู่แท่งหนึ่ง จะให้นายน้อย ซึ่งเป็นง่อยและอาศัยอยู่กับท่านมานานแล้ว เลื่อยดินสอเหลืองออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วลงประสมกับเปลือกกล้วย เจือด้วยน้ำผึ้งบ้าง น้ำอ้อยบ้าง ตำจนละเอียดดีแล้ว จึงให้นายน้อยกับพระธรรมถาวร (ช่วง) ช่วยกันพิมพ์พระลงบนแม่พิมพ์ที่ "ช่างเทศ" เป็นคนแกะให้ใหม่ เป็นแม่พิมพ์ขนาดเล็ก รูปหลังเบี้ยฐาน ๓ ชั้น เสร็จแล้วใส่บาตรไว้เก็บในกุฏิชั้นใน แล้วทำพิธีปลุกเสกวันละ ๓ ครั้ง คือ เช้า กลางวัน และหัวค่ำ จนพอแก่ความต้องการ จึงค่อยเอาออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสงค์ต้องการ |
ต่อมาพิธีปลุกเสกพระสมเด็จเปลี่ยนแปลงไปบ้างกล่าวคือ สมเด็จได้เอาบาตรพระที่ใส่พระพิมพ์ไว้จนเต็มแล้วนั้นไปตั้งไว้ที่หอสวดมนต์หน้าพระพุทธรูปประธาน แล้ววงสายสิญจน์จากพระประธานไปยังที่บาตรพระ อาราธนาภิกษุทั้งปวงที่มาเจริญพระพุทธมนต์ในระหว่างเข้าพรรษาว่า "ช่วยกันปลุกเสกพระของฉันด้วย" ทำเช่นนี้ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานั้น ครั้นครบกำหนดไตรมาสแล้ว สมเด็จก็เอาพระที่ปลุกเสกครบกระบวนความแล้วไปบรรจุไว้ตามเจดีย์ของวัดต่าง ๆ เช่น วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) วัดตะไกร ที่แขวงกรุงเก่า, วัดระฆังฯ และวัดไชโยที่จังหวัดอ่างทอง เป็นต้น
ผู้ช่วยในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น นอกจากท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง) และนายน้อย (ง่อย) ๒ คนที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนที่ช่วยกันคือ ๑. พระภิกษุพ่วง ๒. พระภิกษุภู (ต่อมาคือหลวงปู่ภู วัดอินทร์ เกจิอาจารย์ชั้นยอดอีกองค์หนึ่งของเมืองไทย) ๓. พระภิกษุแดง ๔. พระภิกษุโพธิ์ ๕. สามเณรเล็ก และ ๖. หลวงบริรักษ์โรคาพาธ แพทย์หลวงในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้วัดระฆังฯ เวลาว่าง ๆ ก็มักจะช่วยเจ้าประคุณ ในการสร้างพระพิมพ์ชุดต่าง ๆ อยู่เสมอ
พระอาจารย์ขวัญ วิสิฐโฐ วัดระฆังฯ อธิบายลักษณะพระสมเด็จเนื้อแท้ไว้ว่า จะต้องมีองค์คุณวิเศษ ๕ ประการ ดังนี้
๑. ดำปนแดงเจือเหลือง หรือเหลืองอ่อนดุจงาช้างและสีอิฐ
๒. มีนำหนักเบากว่าพระพิมพ์อื่น ๆ ทั้งสิ้น
๓. เนื้อละเอียดอ่อน ชื้นคล้ายเปียกน้ำอยู่เสมอ แต่แข็งแกร่ง มีวัตถุเล็ก ๆ สีดำหรือแดง ฝังอยู่กับส่วนหนึ่งส่วนใดของพระทุกองค์
๔. แตกเป็นลายงาช้าง หรือลายสังคโลก
๕. เมื่อหยิบเอาองค์พระขึ้นด้วยอาการสำรวม จะเกิดญาณหยั่งลึกสำนึกรู้ด้วยตัวเองทันทีว่า นี่คือพระสมเด็จเนื้อแท้
เกจิอาจารย์ที่รู้จริงในเรื่องพระสมเด็จอีกท่านหนึ่งคือ พ.ต.ต.จำลอง มัลลิกะนาวิน แนะนำไว้ว่า พระสมเด็จแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ เนื้อผง. เนื้อกระเบื้อง (ดินเผา), เนื้อชิน (โลหะผสม). เนื้อเงินและเนื้อตะกั่วถ้ำชา
เฉพาะเนื้อผงยังมีแบ่งออกไปอีกเป็น ๑. เนื้อชานหมาก ๒. เนื้อผงใบลาน ๓. เนื้อโป่งเหลือง หรือ เนื้อกล้วยหอม ๔. เนื้อกระยาสารท ๕. เนื้อข้าวสุก ๖. เนื้อปูนน้ำมัน ๗. เนื้อเกสรดอกไม้ ๘. เนื้อหินลับมีดโกน ๙. เนื้อขนมถ้วยฟู ๑๐. เนื้อขนมตุ้บตั้บ ๑๑. เนื้อปูน ๑๒. เนื้อผงแป้งข้าวเหนียว