เรื่องเล่า สมเด็จโต ตอน 2
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-06-18 13:10:05
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี เป็นพระเถระยอดอัจฉริยะ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในคราวที่แสดงธรรมต่อหน้านักปราชญ์ชาวต่างประเทศ ซึ่งรอบรู้ศาสนาเป็นอย่างดี
ในกาลครั้งหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาประสาทให้ทนายมาอาราธนาสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปแสดงรู้ในสิ่งที่ถูกที่ชอบด้วยโลกและธรรมในพุทธศาสนาอีกภาษาหนึ่งในนาม ประเทศสยาม ครั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ได้ยินคำอาราธนาจึงรับว่า "ฉันยินดีแสดงนักในข้อเข้าใจ" ทนายกลับไปกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาประสาทว่า สมเด็จที่วัดรับแสดงในเรื่องให้รู้ความผิดถูกทั้งปวงได้
พอถึงวันกำหนด ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไปถึงที่ประชุม นักปราชญ์ทั้งหลายยอมให้นักปราชญ์ของไทยออกความก่อนในที่ประชุมปราชญ์ ขุนนางทั้งปวงก็มาประชุมฟังอยู่ด้วย สมเด็จเจ้าพระยาประสาทจึงอาราธนาสมเด็จที่วัดระฆังฯ ขึ้นบัลลังก์แล้วนิมนต์ให้แสดงทีเดียว
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็ออกวาจาสำแดงขึ้นว่า
"พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา "
กล่าวพึมพัมสองคำเท่านี้สักชั่วโมงหนึ่ง สมเด็จเจ้าพระยาประสาทลุกขึ้นจี้ตะโพกเจ้าประคุณสมเด็จแล้วกระซิบเตือนว่า "เจ้าคุณขยายคำอื่นให้เขาฟังบ้างซิ "
สมเด็จท่านตะโกนดังกว่าครั้งแรกขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ขึ้นเสียงว่า
"พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา"
เฉพาะสองคำนี้อยู่อีกกว่าชั่วโมง ก็ถูกสะกิดเตือนอีก สมเด็จโต ท่านก็ตะโกนดังกว่าครั้งที่สองอีกว่า
“พิจารณา มหาพิจารณา พิจารณา มหาพิจารณา ๆๆๆ..."
อธิบายว่า
" การของโลกก็ดี การของชาติก็ดี การของศาสนาก็ดี กิจที่จะพึงกระทำต่างๆ ในโลกก็ดี กิจควรกระทำสำหรับข้างหน้าก็ดี กิจควรกระทำให้สิ้นธุระทั้งปัจจุบันและข้างหน้าก็ดี สำเร็จกิจเรียบร้อยดีงามได้ ด้วยกิจพิจารณาเป็นขั้นๆ พิจารณาเป็นเปราะๆเข้าไป ตั้งแต่หยาบๆ และปานกลาง และขั้นสูง ขั้นละเอียด พิจารณาให้ประณีตละเมียดเข้า จนถึงที่สุดแห่งเรื่อง ถึงที่สุดแห่งอาการ ให้ถึงที่สุดแห่งกรณี ให้ถึงที่สุดแห่งวิธี ให้ถึงที่สุดแห่งประโยชน์ยืดยาว
พิจารณาให้รอบคอบทั่วถึงแล้ว ทุกๆ คนจะรู้จักประโยชน์คุณเกื้อกูลตน ตลอดทั้งเมื่อนี้ เมื่อหน้า จะรู้ประโยชน์อย่างยิ่งได้ ก็ต้องอาศัยกิจพิจารณาเลือกฟั้น คั้นหา ของดีของจริง เด่นชัดปรากฏแก่คน ก็ด้วยการพิจารณาของคนนั่นเอง
ถ้าคนใด สติน้อยถ่อยปัญญา พิจารณาเหตุผลเรื่องราวกิจการงานของใคร ของธรรมดาแต่พื้นๆ ก็รู้ได้พื้นๆ ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาเป็นอย่างกลาง ก็รู้เพียงชั้นกลาง ถ้าพิจารณาด้วยสติปัญญาอันละเอียดลึกซึ้ง ในข้อนั้นๆ อย่างสูงสุด ไม่หลับหูหลับตา ไม่งมงายแล้ว อาจจะเห็นผลแก่ตน ประจักษ์แท้แก่ตนเอง ดังปริยายมาทุกประการ จบทีฯ”
ครั้นจบแล้ว ท่านลงจากบัลลังก์ ก็ไม่มีนักปราชญ์อื่นๆ ออกปากขัดคอคัดค้านถ้อยคำของท่าน แม้แต่คนเดียว เจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ พยักหน้าให้หมู่นักปราชญ์ทั้งหลายขึ้นบัลลังก์ต่อ ต่างคนก็ต่างแหยงไม่อาจขึ้นแถลงต่อที่ประชุมได้ ถึงแม้ต่างจะตระเตรียมเขียนกันมาแล้ว แต่คำของสมเด็จโต ท่านได้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ไว้ทั่วถึงหมด เมื่อปราชญ์ทั้งหลายเกียงกัน จนไม่มีผู้ใดกล้าขึ้นแถลงต่อที่ประชุม จึงต้องเลิกประชุมปราชญ์ในวันนั้น และต่างก็แยกย้ายกันกลับไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้น มีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ ปี ๑๐ วันเท่านั้น ยังทรงพระเยาว์นัก จึงต้องมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครมหาเสนาบดี ผู้ใหญ่ในขณะนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน
วันหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จก็จุดไต้ลูกใหญ่เข้าไปหาสมเด็จเจ้าพระยาในจวนของท่าน ยามกลางวันแสก ๆ อีกเช่นเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยาจึงถามว่า มีประสงค์อันใดหรือ จึงถือไต้เข้ามาหากระผมเช่นนี้
เจ้าประคุณสมเด็จตอบไม่อ้อมค้อมเลยว่า "อาตมภาพได้ยินว่า ทุกวันนี้แผ่นดินมืดมัวนักด้วยมีคนคิดร้ายจะเอาแผ่นดิน ไม่ทราบว่าเท็จจริงจะเป็นประการใด ถ้าเป็นความจริงแล้วไซร้ อาตมภาพก็ใคร่จะขอบิณฑบาตเขาเสียสักครั้งหนึ่งเถิด"
สมเด็จเจ้าพระยา อึ้งไปนิดหนึ่งก่อนจะตอบว่า "ขอพระคุณเจ้าอย่าได้วิตกเลย ตราบใดที่กระผมยังมีชีวิตอยู่ฉะนี้ จะไม่ให้แผ่นดินนั้นมืดมัวหล่นลงไป ด้วยจะไม่มีผู้ใดแย่งแผ่นดินไปได้เป็นอันขาด"
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จบอกว่า เพื่อความสบายใจ ให้สมเด็จเจ้าพระยาไปสาบานตัวต่อพระแก้วมรกตในวัดพระแก้ว ภายหลังต่อมาท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นข้าราชการผู้หนึ่ง ที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีส่วนผลักดันให้การบริหารราชการแผ่นดินก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จอยู่เบื้องหลังการช่วยเหลือค้ำชูประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องเอกราชของชาติในยุคที่ฝรั่งล่าเมืองขึ้น ซึ่งดำเนินนโยบายขอปันที่ดินบางส่วนของสยามไว้ใช้สอย หากไม่ให้ก็จะได้อ้างเป็นเหตุรุกรานประเทศสยาม และยึดเป็นเมืองขึ้นเหมือนที่กระทำกับประเทศต่าง ๆ มา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถวายข้อคิดว่า "หากเรายกส่วนหนึ่งส่วนใดของแผ่นดินสยามให้เขาแล้ว เขายกไปได้ก็ไม่ควรให้ แต่ถ้ายกให้เขา โดยที่เขาเอาไปไม่ได้ ก็ควรให้ไป เพื่อรักษาแผ่นดินส่วนใหญ่ไว้" ซึ่งคำแนะนำนี้ รัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นชอบด้วย ทำให้ประเทศชาติสงบสุขมาจนปัจจุบัน
เลยเวลาจากเที่ยง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จจะปิดประตูขลุกอยู่ในกุฏิ เล่นและคุยกับสุนัข หรือไม่ก็อ่านหนังสือแต่งตำรา บางทีก็ใช้เวลากดพิมพ์พระเครื่องไปเรื่อย ๆ ถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. เป็นเวลาออกรับแขก มีคนพลุกพล่านขอความช่วยเหลือด้วยเรื่องจิปาถะ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จไม่เคยขัด ท่านมีเมตตาช่วยเหลือเจือจานเสมอ เมื่อมีทางช่วยได้
พอถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. หมดเวลารับแขก ไม่ว่าจะเป็นใคร เจ้านายใหญ่โตแค่ไหน ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) จะเชิญออกจากกุฏิหมด
จากนั้นท่านก็จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนถึงเวลาสองทุ่ม จากนั้นท่านก็จะทำราชกิจที่ส่งมาปรึกษาจนถึงตีหนึ่งถึงจะเขาจำวัด ในช่วงออกพรรษาถ้างานว่าง ราชกิจมีน้อย ท่านจะออกธุดงค์ยังจังหวัดต่าง ๆ และสร้างปูชนียวัตถุดังที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเคยติดการฉันหมาก แต่พอถึงอายุ ๖๒ ปี ท่านเลิกฉันหมาก แล้วเปลี่ยนจากการจับไม้ตะบันหมากมาเป็นการบริกรรมชักลูกประคำจนถึงอายุ ๘๔ ปี ๒ เดือน ๕ วัน
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านถือปฏิบัติในข้อธุดงค์วัตรทุกประการ คือ ฉันในบาตร ถือผ้าสามผืนออกธุดงค์ เยี่ยมป่าช้า นั่งภาวนา เดินจงกรม จนวาระสุดท้าย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จถึงแก่มรณภาพ เมื่อเวลา ๒ ยาม วันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๕ ตรงกับ วันเสาร์แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ณ หอสวดมนต์วัดระฆังโฆสิตาราม