www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

เรื่องเล่า สมเด็จโต ตอน 1
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-06-18 11:29:10

คายกิเลส 

ปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสยิ่งของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ อีกประการหนึ่ง คือ ไม่ว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จะไปฉันภัตตาหารที่ไหน ไม่ว่าในวัดในวังหรือตามที่เขานิมนต์ท่านไปก็ตาม อาหารที่นำมาถวายนั้นท่านรับทุกอย่าง แต่พอเวลาฉันแล้ว ถ้าคำใดที่ท่านขบเคี้ยวแล้วรู้สึกอร่อยขึ้นมา ท่านก็จะรีบคายอาหารคำนั้นออกจากปาก โดยใช้ผ้าเช็ดหน้าปิดปากและค่อยคายออกมาไม่ให้เป็นที่สังเกตหรือน่ารังเกียจแก่บุคคลทั่วไป

แล้วอาหารที่ท่านคายออกมาทันทีที่รู้สึกอร่อยนี่แหละ ที่เป็นมวลสารอย่างหนึ่งในการนำไปรวมผสมเป็นเนื้อพระสมเด็จของท่าน การคายอาหารที่มีรสอร่อยก่อให้เกิดกิเลสนี้ แสดงให้เห็นว่า ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ เป็นผู้มีสติคอยพิจารณาอยู่ตลอดเวลา จึงสามารถรู้เท่าทันและจับกิเลสของตัวเองได้ว่า เมื่อใดมีความโลภ ความโกรธ ความหลง นับว่าท่านได้ปฏิบัติจิตอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในเวลาฉันภัตตาหาร จึงไม่ต้องสงสัยว่า เหตุใดท่านเจ้าประคุณสมเด็จ จึงทรงไว้ซึ่งกิตติคุณความวิเศษนานาประการ 


วิธีฝึกเทศน์ 

การฝึกเทศน์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ นับว่าแปลกแหวกแนวไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร

ท่านฝึกเทศน์ที่กุฏิวัดระฆังฯ ด้วยการเริ่มต้นว่า ต้องหัดเป็นคนบ้า ท่านขึ้นไปนั่งบนโต๊ะ สมมติว่าเป็นธรรมาสน์ แล้ววาดมโนภาพว่า "ข้านี้เว้ยสมเด็จโต เหนือสรรพพระในสยาม กำลังเทศน์ให้ฟัง" สมมติว่า หมาที่อยู่ในกุฏิ แมวที่อยู่ในโบสถ์เป็นคนห้อมล้อมกำลังคอยฟัง เทศน์เข้าไปเรื่อย ๆ แล้วก็ตั้งมโนภาพบอกตัวเองว่า 
"เวลานี้คนตั้งล้านตั้งแสนตั้งหมื่น กำลังจ้องเราอยู่ เราเทศน์ไป ๆ เทศน์เรื่อย ๆ แล้วเราก็ต้องสร้างมโนภาพปลุกใจตัวเราเองว่า อุ๋ย เขาว่าเราเทศน์ดีเว้ย ตบมือใหญ่อยู่แล้วโว๊ย คือ ต้องหัดเป็นคนบ้าก่อน...." 
 

หาคนพูดจริง... 

มีเรื่องเล่าอีกเรื่อง สมัยท่านเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ รัชกาลที่ ๕ ได้ให้นำอาหารจากวังมาถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ท่านก็เอาอาหารนั้นไปเทลงกระทะแล้วก็ไปเก็บผักอะไรต่ออะไรที่มีขึ้นอยู่ตามหน้าวัดไปรวมต้มด้วยกัน ใส่เกลือ ๓ ถุง ใส่น้ำเต็มกระทะ คงมีอาหารที่เทลงไปเพียงนิดหนึ่ง ท่านเจ้าประคุณสั่งตีกลองบอกกล่าวพระเณรทั้งหลายว่า วันนี้สมเด็จโตจะเลี้ยงพระ ให้ทุกคนมารับอาหาร ซึ่งพูดตามความจริงแล้วอาหารที่ท่านทำขึ้นนั้นกินไม่ได้หรอก

เมื่อทุกคนมารับอาหารจากท่านไปแล้ว ตกเย็นพอจะเข้าไปโบสถ์สวดมนต์เย็น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จรีบไปถึงโบสถ์ก่อนคนอื่น และได้ยืนดักถามพระทุกรูปในวัดทั้งหมดซึ่งมีอยู่ ๒๙ รูป ถามว่าอาหารที่ท่านปรุงวันนี้อร่อยไหม พระทุกรูปตอบว่า "อร่อย" บ้าง "พอกินได้" บ้าง

ในจำนวนพระทั้งหมดซึ่งมีอยู่ ๒๙ รูป มีอยู่องค์หนึ่งชื่อ ขรัวตาจ้อน ขรัวตาจ้อนผู้นี้รักษาศีลข้อ "มุสาวาท" ไว้ได้เป็นอย่างดี บอก "ขอโทษท่านเจ้าประคุณสมเด็จขอให้กระผมพูดอย่างจริงใจเถิด อาหารที่ท่านเลี้ยงวันนี้ หมามันยังไม่กินเลย" ท่านยกมือพนมกล่าวว่า "สาธุ บัดนี้ลูกของตถาคตยังมีอยู่ในวัดระฆังฯ หนึ่งองค์" พอเข้าไปในโบสถ์ ท่านก็เทศน์คำว่า "มุสาวาทาเวระมะณี" 


สมเด็จเข็นเรือ 

เจ้าประคุณสมเด็จเป็นพระที่พูดจาสุภาพ จ๊ะจ๋ากับคนทุกคน ไม่ว่าไพร่ผู้ดี จึงมีผู้เคารพนับถือท่านไปทั้งบ้านทั้งเมือง และมักไม่ใคร่ขัดศรัทธาใครง่าย ๆ ใครนิมนต์งานอะไร ท่านก็ไปให้เขาทั้งหมด 

คราวหนึ่ง ชาวสวนราษฎร์บูรณะนิมนต์ไปเจริญพุทธมนต์ที่บ้านของเขา ซึ่งต้องนั่งเรือเข้าไปในคลองเล็ก ๆ สายหนึ่ง เวลาน้ำน้ำแห้งติดก้นคลอง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จกับศิษย์ ๒ คน ต้องช่วยกันเข็นเรืออยู่กลางคลอง ชาวบ้านเห็นเข้าก็ตกใจ ร้องเอ็ดอึงว่า "สมเด็จเข็นเรือ ๆ " ท่านจึงตะโกนบอกเขาว่า "ฉันชื่อขรัวโตจ้ะ สมเด็จท่านอยู่วัดระฆังฯ โน่นแน่ะ" 

(ข้อนี้มีอธิบายว่า พัศยศและตราตั้งสมัยสมเด็จนั้น ท่านเอาไว้ที่วัดระฆังฯ ไม่ได้เอาติดตัวขรัวโตมาด้วย) 


ไปไม่ทัน 

อีกคราวหนึ่ง เป็นงานใหญ่มาก คือพระราชพิธีโสกันต์ลูกเธอพระองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง สังฆการีวางฎีกาอาราธนาท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ไปสวดมนต์เย็นร่วมกับพระราชาคณะรูปอื่น ๆ เช่นเคย จะด้วยเหตุใดไม่ปรากฏ สมเด็จไปไม่ทันเจริญพระพุทธมนต์เย็นในวันนั้น 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงตรัสเชิงสัพยอกต่อเจ้าประคุณสมเด็จว่า "ขรัวโตนี่ไม่ใส่ใจต่อหน้าที่ราชการเอาเสียเลย ทำอย่างนี้ในหลวงถอดเสียดีไหม?" 

พอสวดมนต์เสร็จ และ ถวายพระพรลาแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จหาได้เอาพัดยศกลับไปด้วยไม่ พนักงานชาวสังฆการีคิดว่าท่านลืม จึงรีบฉวยพัดยศวิ่งตามเอาไปคืนให้ สมเด็จย้อนถามเอาว่า "นี่พ่อคุณ เป็นอะไรหรือจึงมาตั้งสมเด็จกันง่าย ๆ ฉะนี้ เมื่อตอนถอดท่านก็ถอดกันในวัง จะมาตั้งกันข้างถนนได้กระไร?" 

เจ้าพนักงานสังฆการีต้องรีบนำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ พอวันรุ่งขึ้น พระสงฆ์รับพระราชทานฉันภัตตาหารเสร็จ รัชกาลที่ ๔ จึงพระราชทานพัดยศคืนให้ดังเดิม แล้วถวายไตรแพรอีกหนึ่งไตรเป็นของแถมพก 
 

จริยาวัตรของท่านเจ้าประคุณ

เรื่องราวของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โต) ที่น่าสนใจมีอีกมากมาย แต่สิ่งที่ควรแก่การกล่าวถึงคือ 
จริยาวัตรของท่านเจ้าประคุณ ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ท่านบรรพชาเป็นสามเณร จนกระทั่งได้รับสถาปนาแต่งตั้งที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จมีสัจจะในการประพฤติปฏิบัติเป็นกิจวัตรดังนี้

ไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง อากาศจะหนาว ตีห้าท่านจะตื่นทันที อาบน้ำชำระกาย แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมง 
เวลา ๐๖.๐๐ น. ออกบิณฑบาต แม้ว่าวังหลวงจะจัดอาหารมาถวาย ท่านก็จะออกบิณฑบาตเพื่อโปรดสัตว์ตามรอยพระสมณโคดม แล้วกลับมาตักน้ำใส่ตุ่มถึงจะฉันอาหาร ปกติท่านเจ้าประคุณสมเด็จจะฉันอาหารเพียงมื้อเดียว เว้นแต่ติดนิมนต์ไปฉันบ้านญาติโยม เวลา ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๒.๐๐ น. เป็นเวลสำหรับราชการกิจนิมนต์ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเป็นผู้ถวายคำแนะนำราชกิจบางประการที่พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษา โดยฝากมาพร้อมปิ่นโตอาหารที่นำถวายจากพระราชวังทุกวัน 


สร้างพระ สร้างวัด 

ในปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี ได้เข้าเฝ้าฯ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ที่ดินในเขตอำเภอไชโย แขวงอ่างทอง เพื่อสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง ๘ ว่า ๗ นิ้ว สูง ๑๑ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว ก่ออิฐถือปูนประทับนั่ง ปางมารวิชัย ถวายพระนามว่า พระมหาพุทธนันท์ และสร้างวัดไว้ ณ ที่นั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงถิ่นกำเนิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ (โยมบิดาและโยมมารดาพบกัน) โดยตั้งชื่อวัดนี้ว่า วัดเกตุไชโย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตประทับตราแผ่นดินและตราพระราชบัญญัติวิสุงคามสีมา ถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เพื่อสร้างวัดเกตุไชโย อุทิศกุศลแก่โยมบิดา และสนองพระคุณโยมมารดาที่ทุกข์ทรมานอุ้มครรภ์และคลอด ตลอดจนกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูสั่งสอน สอนเดิน ณ ตำบลแห่งนี้ 

ช่วงปลายชีวิตของท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ท่านเดินทางไปหลายแห่งทั่วประเทศ และสร้างอนุสรณ์ไว้ เช่น 

๑. พระพุทธรูปนอนใหญ่ที่วัดสะตือ ต. ท่าหลวง อ. ท่าเรือ จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูน องค์พระยาว ๑ เส้น ๖ วา สูง ๘ วา ฐานยาว ๑ เส้น ๑๐ วา กว้าง ๔ วา ๒ ศอก สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๑๓ 

๒. พระพุทธรูปนั่งที่วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง) จังหวัดพระนคร เป็นพระก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๔ วา ๓ ศอก 

๓. พระพุทธรูปที่วัดกลาง ต. คลอดข่อย อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร ทำด้วยอิฐถือปูน สูง ๖ วาเศษ เล่ากันว่า สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นป่ารกชัฏ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้เอาเงินตราเก่า ๆ มีค่าโปรยเข้าไปในป่า ชาวบ้านย่านนั้นร่วมกันถางป่าจนราบเรียบเตียนโล่ง เพื่อหาเงินดังกล่าว จึงสามารถสร้างพระพุทธรูปยืนองค์นี้ได้ ต่อมาได้กลายเป็นสำนักสงฆ์ และเป็นวัดในที่สุด 

๔. เจดีย์วัดละครทำ ที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เป็นเจดีย์นอน ๒ องค์ หันฐานเข้าหากัน ห่างกันประมาณ ๒ ศอก ปัจจุบันชำรุดทรุดโทรมมาก องค์ด้านใต้ถูกรื้อทำลายไปนานแล้ว องค์ด้านเหนือก็แทบจะไม่เป็นรูปร่างเสียแล้ว เนื่องจากถูกคนขุดค้นหากรุพระสมเด็จ 

๕. รูปปั้นแทนโยมตาและโยมแม่ สร้างกุฏิ ๒ หลัง อยู่ด้านทิศใต้ของวัดอินทรวิหาร ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง ขนาดเท่ากัน กว้าง ๑ วา ยาววาครึ่ง ปั้นรูปแทนโยมตาเป็นรูปพระสงฆ์นั่งขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๔ นิ้ว อยู่กุฏิหลังซ้าย ส่วนแทนโยมมารดาปั้นเป็นรูปภิกษุนั่งขัดสมาธิ หน้าตักกว้าง ๒๓ นิ้ว ประดิษฐานอยู่กุฏิหลังขวา 

๖. หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร ที่ตำบลบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตร สูง ๑๖ วาเศษ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จสร้างได้ประมาณ ๙ วาเศษ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพเสียก่อน ต่อมาหลวงปู่แดงได้ก่อสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์ 


พระสมเด็จ

แต่ที่เป็นที่นิยมและคนทั่วไปรู้จักกันดี ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบันนั้น เห็นจะได้แก่การสร้าง “พระสมเด็จ” อันขึ้นชื่อลือเลื่อง ซึ่งท่านได้สร้างพระพิมพ์แบบต่างๆ ไว้มากมาย มีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่มีชื่อเสียงทางด้านพุทธคุณ จนเป็นที่เสาะแสวงหากันในปัจจุบันทั้งมีราคาค่างวดสูงลิบลิ่ว คือ

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ ท่านเป็นผู้ที่คิดรูปแบบนี้ขึ้นเป็นองค์แรก โดยมีความหมายอย่างลึกซึ้งยิ่ง คือ

  • รูปเหลี่ยมด้านไม่เท่าที่เป็นกรอบนอก หมายถึงแผ่นดินที่ทรงพระอริยสัจจ์อยู่

  • วงโค้งในรูปสี่เหลี่ยม หมายถึงอวิชาที่คลุมพิภพอยู่

  • รูปสามเหลี่ยมในวงโค้ง หมายถึงพระรัตนตรัย

  • รูปพระนั่งขัดสมาธิบนบัลลังก์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิ์ญาณ 

  • ฐาน ๓ ชั้น หมายถึง พระไตรปิฎก
     

จนถึงปลายปีพ.ศ.๒๔๑๓ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ได้มีลายลิขิตแจ้งแก่กรมสังฆการีว่า จะขอพระราชทานราชานุญาตยกเป็นกิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุชราภาพ ไม่สามารถรับราชการเทศน์หรือสวดฉัน ในพระบรมมหาราชวังได้

จากนั้นท่านก็เดินทางไปยังที่ต่างๆ ตามสบาย และขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทเสมอทุกปี ถ้าอยู่จำพรรษาที่วัดระฆัง ท่านก็จะกดพระพิมพ์ของท่านไปเรื่อยๆ จนได้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ และปิดทองไปได้ ๔๐,๐๐๐ กว่าองค์ ตั้งใจว่าจะถวายแด่ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ครั้นถึงเดือน ๕ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ ท่านไปดูการก่อพระโต วัดบางขุนพรหมใน ก็ไปอาพาธด้วยโรคชราภาพอยู่ ๑๕ วัน ก็มรณภาพ สิริรวมชนมายุ ๘๔ ปีบริบูรณ์