บทความ "พุทธชยันตี" โดย พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-06-01 10:47:55
พุทธชยันตี
พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร) เรียบเรียง
มหาธัมมาภิสมัย
๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ในฐานะที่ประเทศไทย มีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ รัฐบาลไทย ได้ประกาศให้ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี อย่างยิ่งใหญ่ ตลอดทั้งปี เนื่องจากเป็นปีที่พระพุทธศาสนามีอายุครบ ๒๖๐๐ ปี โดยการเฉลิมฉลองให้เน้นหนักด้านการปฏิบัติบูชาและการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ มุ่งให้ประชาชนได้นำหลักธรรมไปปฏิบัติ ตามวิถีชาวพุทธอย่างแท้จริง อันจะทำให้เกิดความมั่นคงแห่งสถาบันชาติพระศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืน
ในระดับนานาชาติ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก รัฐบาลได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม วิสาขบูชาโลก มีผู้นำชาวพุทธเข้าร่วมประชุมกว่า ๘๕ ประเทศทั่วโลก
นับว่า เป็นการประชุมในระดับนานาชาติที่มีชาวพุทธ ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน เข้าร่วมประชุมมากที่สุดครั้งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
การฉลองพุทธชยันตี ถูกกำหนดขึ้นเพื่อน้อมระลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น วันประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา หรือ ใช้เรียกการจัดกิจกรรม ในปีที่ครบรอบวาระสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น ฉลองครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ ฉลองครบรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ
วันฉลองที่สำคัญนี้เรียกตามสากลว่า Sambuddha Jayanti ๒๖๐๐ ตรงกับภาษาไทย ว่า “สัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี” โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้าง ในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี พุทธชยันตี
เฉพาะประเทศไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้ เรียกงานฉลองนี้ว่า “พุทธชยันตี” ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
แม้จะแตกต่างกันเรื่องการใช้คำพูด แต่รวมความแล้ว ก็คือ การจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระเหตุการณ์ที่สำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
ซึ่งเมื่อวาระสำคัญเวียนมาบรรจบอีกพุทธศตวรรษหนึ่ง ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงจัดเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ ดังที่เคยฉลองครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้ว ในขณะนั้น ถือกันว่า พระพุทธศาสนามีอายุถึงกึ่งพุทธกาล โดยในครั้งนั้น กำหนดนับวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็นวันแห่งการฉลองพุทธชยันตี
แต่ในครั้งนี้ กำหนดนับวันที่พระบรมศาสดาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ ๒๖๐๐ ปี กำหนดให้เป็นวันฉลองพุทธชยันตี
พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี
พระพุทธศาสนาก้าวสู่พุทธศตวรรษที่ ๒๖
การจัดงานฉลองพุทธชยันตี ก็เพื่อน้อมระลึกถึงชัยชนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวง อย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา เมื่อ ๒๖๐๐ ปี ล่วงแล้ว ทำให้พระนามว่า “สัมมาสัมพุทธะ” ปรากฏขึ้นในโลก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา อันเกิดจากปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน ได้มีพระธรรมเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิต
ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ณ พระตำหนักสมเด็จฯ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้มีการดำเนินการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เรียกชื่อว่า “งานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” ให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินการจัดงาน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ของบประมาณในการดำเนินการสนับสนุนจากรัฐบาล
ซึ่งคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น ได้กำหนดกรอบแนวทางในการจัดกิจกรรม และผู้รับผิดชอบเป็น ๓ ด้าน ประกอบด้วย
๑. ด้านการศึกษา การเผยแผ่ และการปฏิบัติพุทธบูชา มุ่งเน้นส่งเสริมการปฏิบัติธรรม สำหรับพุทธศาสนิกชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วน โดยมี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นผู้รับผิดชอบ และเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม
๒. ด้านวิชาการ เน้นการประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ
๓. ด้านศิลปวัฒนธรรม มอบให้กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ
และ ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการประสานจัดกิจกรรม และการประชาสัมพันธ์ และเผยแผ่
การจัดกิจกรรมทั้งหมด มุ่งเน้นให้เกิดการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติตามหลักธรรม และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วน พร้อมทั้งประสานการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ และเข้าใจหลักธรรม ในพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในระดับประเทศ และนานาชาติ
ในระดับนานาชาติ คาดว่า จะมีชาวพุทธจากทั่วโลกกว่า ๕,๐๐๐ รูป/คน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำทางการเมือง ประมุขสงฆ์ ผู้นำองค์กรชาวพุทธ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป จาก ๘๕ ประเทศทั่วโลกเดินทางมาร่วมงานเฉลิมฉลองพุทธชยันตี และร่วมประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งยิ่งใหญ่ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ซึ่งจะเป็นการสร้างความร่วมมืออันดีระหว่างองค์กรชาวพุทธตั้งแต่ระดับประชาคมอาเซียน จนถึงนานาชาติ เพื่อนำพระพุทธศาสนาก้าวไปสู่พุทธศตวรรษที่ ๒๖ ตามนโยบายของคณะสงฆ์และรัฐบาลไทย
สำหรับ หัวข้อหลักที่ใช้ในการจัดงานพุทธชยันตีปีนี้ คือ “พระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ”
และ การประชุมสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาตินั้น ประกอบด้วยหัวข้อที่สำคัญ ดังนี้
๑. พุทธิปัญญาและความปรองดอง
๒. พุทธิปัญญาและสิ่งแวดล้อม
๓. พุทธิปัญญาและการปรับเปลี่ยนชีวิตมนุษย์
พุทธชยันตี
๒๕๐๐ ปี แห่งการปรินิพพาน
รัฐบาลไทยประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
การฉลอง พุทธชยันตี เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่ผ่านมาถือกันว่า พระพุทธศาสนามีอายุถึงกึ่ง พุทธกาล จึงจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ กึ่งพุทธกาลอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อน้อมระลึกถึงการปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และ รัฐบาลไทยได้ถือโอกาสในวาระที่สำคัญนี้ ประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
การฉลองพุทธชยันตี ในครั้งนั้น เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของชาวพุทธนานาชาติ ทำให้ชาวพุทธตื่นตัวไปทั่วโลก และหันมาให้ความสำคัญกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง
ประเทศศรีลังกา ก็ได้ถือเอาการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นการฉลองเอกราช ภายหลังได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๑
ดร. อัมเบดการ์ ผู้นำคนจันฑาล ซึ่งเป็นชนชั้นต่ำในอินเดีย ก็ได้ถือโอกาสประกาศอิสรภาพจากการถูกกดขี่ในระบบวรรณะ ฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในประเทศอินเดีย ให้กลับสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้ง ภายหลังจากที่ถูกกองทัพมุสลิมเติร์กทำลายไปอย่างราบคราบ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๗ ประมาณ ๑๓๐๐ - ๑๗๐๐ ปี หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน โดย ดร.อัมเบดการ์ได้นำชาวอินเดียประมาณ ๒ แสนคนประกาศเลิกนับถือศาสนาฮินดู ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ
ในขณะที่ รัฐบาลประเทศอินเดีย ได้สร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้เป็นอนุสรณ์ ที่กรุงนิวเดลี
ส่วน การเฉลิมฉลองระดับนานาชาติ ในครั้งนั้น รัฐบาลพม่าได้เป็นเจ้าภาพในการจัด “ฉัฏฐสังคีติ” คือ การสังคายนาพระไตรปิฎกนานาชาติ โดยนำพระไตรปิฎกแต่ละประเทศมาเคียบเคียงความถูกต้อง ซึ่งประเทศพม่านับเป็นการสังคายนาครั้งที่ ๖ และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกบาลีและคัมภีร์ทั้งหลายขึ้นเป็นจำนวนมาก มีพระสงฆ์ไทย และพระสงฆ์จากทั่วโลกเข้าร่วมสังคายนาพระไตรปิฎก ในครั้งนั้น
คณะสงฆ์ไทยนั้น มีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ ครั้งเป็นพระมหาเกี่ยว อุปเสโณ และ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ครั้งเป็นพระมหาช่วง วรปุญโญ วัดปากน้ำ เป็นต้น เป็นตัวแทนคณะสงฆ์ไทย เข้าร่วมประชุมสังคายนาฉัฏฐสังคีตินานาชาติ นับเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ของพระสงฆ์ไทยไปสู่นานาประเทศ เป็นครั้งแรกจนก้าวไปสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในปัจจุบัน
สำหรับรัฐบาลไทย ในขณะนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ ด้วยการประกาศให้ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ให้วันพระหรือวันธรรมสวนะ เป็นวันหยุดราชการ (ตามประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ฉบับที่ ๙ ลงวันที่ ๑ ตุลาคม๒๔๙๙) สร้างพุทธมณฑลเป็นอนุสรณ์สถาน สร้างพระพุทธรูปปางลีลาเป็นพุทธสัญลักษณ์แห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๕ และ มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยครบชุด เป็นฉบับแรก เป็นต้น
พุทธชยันตี
๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้
ประเทศไทย ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เริ่มต้นเมื่อฉลองพุทธชยันตี ๒๕๐๐ ปี พร้อมกับรัฐบาลไทย ประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ครั้นถึง พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี พุทธมณฑลได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
ภายหลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เผยแผ่พระธรรมคำสอน ไปยังประชาชนทุกชั้นวรรณะ ในชมพูทวีป แม้พระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว แต่พระธรรมคำสอนของพระองค์ ได้แพร่ขยายไปยังนานาประเทศทั่วโลก พระพุทธศาสนาได้กลายเป็นศาสนาที่สำคัญของโลกศาสนาหนึ่ง จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่พระพุทธองค์ ประสูติ ตรัสรู้ และ ปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญขององค์การสหประชาชาติและเป็นวันแห่งการฉลองทั่วโลก โดยประกาศให้วันดังกล่าว เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ
เรียกว่าวัน “United Nations Day of Vesak”
คณะกรรมการจัดงานวิสาขบูชาโลก ๑๔ ประเทศ ได้มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๕ จากการประชุมคณะกรรมการฯ ที่ประชุมได้หารือกัน ถึงประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิสาขบูชานานาชาติ ๒๕๕๕ ซึ่งถือว่า เป็นปีที่มีความสำคัญต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง อีกวาระหนึ่ง เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
โดยในที่ประชุม ได้มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน ๒ ประเทศ คือ ประเทศศรีลังกา และ ประเทศไทย
ที่ประชุมมีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นอกจากจะเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาฉลอง ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้แล้ว ยังเป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนา และสนองงานคณะสงฆ์ ได้ประสานการจัดงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น อำนวยประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ ครบ ๒๖๐๐ ปี โดยเน้นบูรณาการการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแผ่หลักธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้และทรงสั่งสอนไปสู่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย อย่างกว้างขวาง รวมถึงกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับมติมหาเถรสมาคม โดยได้สรุปประเด็นความสำคัญของวาระดังกล่าวเสนอมหาเถรสมาคมพิจารณา
ที่ประชุมมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบให้ ปี พุทธศักราช ๒๕๕๕ เป็นปีแห่งการฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ให้จัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเป็นพิเศษ ทั้ง ๓ วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และ วันอาสาฬหบูชา
สำหรับที่พุทธมณฑล มีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่จากคณะสงฆ์ไทย คณะสงฆ์นานาชาติ และผู้นำชาวพุทธทั่วโลกกว่า ๘๕ ประเทศ รวมทั้งมีการวางศิลาฤกษ์อาคารศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เพื่อเป็นการประกาศเริ่มต้นการดำเนินงานที่ประเทศไทย ได้รับการยอมรับให้เป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” พร้อมกันนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการฉลองครบรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ มีการบูรณะวัดไทยพุทธคยา วัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย บูรณะลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า โดย มหาเถรสมาคม รัฐบาลไทย มูลนิธิไทยพึ่งไทย ร่วมกับประชาชนชาวไทย ซึ่งมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช รับเป็นประธาน นับเป็นการบูรณะลุมพินีสถาน ครั้งที่ ๓ หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราช (ราว พ.ศ. ๒๕๐) และองค์การสหประชาชาติ (พ.ศ. ๒๕๑๓) เคยบูรณะไว้ มีการมอบรางวัลผู้นำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ แด่ ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกกว่า ๘๕ ประเทศ เป็นครั้งแรก มีการจัดตั้งยุวฑูตพุทธชยันตี ตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ หนึ่งใน ๘ ส่วน ที่ตระกูลศากยราชได้รับแบ่งปันเมื่อคราวถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พุทธศักราชที่ ๑ ซึ่งขุดพบที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประเทศอินเดีย และรัชกาลที่ ๕ โปรดฯ ให้บรรจุไว้บนบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ออกไปให้ประชาชนสักการะ ตามเกาะรัตนโกสินทร์ และอัญเชิญไปประดิษฐานตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคใต้ และ ภาคกลาง ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับแต่ครั้งที่รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดฯ ให้บรรจุไว้บนบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เป็นเวลา ๑๑๓ ปี เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา มีการรณรงค์ให้ครู นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ทำสมาธิ ๑ วัน ๑ นาที ก่อนเริ่มบทเรียน หรือทำงาน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา มีการจัดทำพระไตรปิฎกสากล การจัดทำตำราทางพระพุทธศาสนา และสิ่งของที่ระลึกต่าง ๆ มากมาย
และ ในโอกาสที่พระพุทธศาสนาก้าวเข้าสู่พุทธศตวรรษ ๒๖ อันเป็นพุทธศตวรรษแห่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี มีการรณรงค์ให้เยาวชนและประชาชนนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาเป็นสื่อในการเผยแผ่พระธรรมคำสอน เช่น จัดประกวดภาพยนต์สั้น jariyatam short flim ในหัวข้อ “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้” ทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน และ โครงการสร้าง “พระนักเขียน” เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าแห่งพุทธศตวรรษที่ ๒๖ โดยมุ่งเน้นให้พระสงฆ์ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ยังขอให้มีการจัดทำธงตราสัญลักษณ์พุทธชยันตีแจกไปยังทุกวัดทั่วประเทศ และวัดในต่างประเทศทั่วโลกอีกด้วย
ธงธรรมจักร
สัญลักษณ์แห่งพุทธชยันตี
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เสนอรูปแบบธงสัญลักษณ์งานฉลองพุทธชยันตี ตามคำแนะนำของมหาเถรสมาคม เพื่อเผยแพร่ให้คณะสงฆ์หน่วยงานราชการ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้ใช้ประดับตกแต่งสถานที่ราชการ วัด และเคหสถาน ซึ่งขนาดของธงเท่ากับธงธรรมจักรทั่วไป พื้นสีเหลือง มีรูปใบโพธิ์รอบธรรมจักร ในวงธรรมจักรเป็นสีธงฉัพพรรณรังสี รูปธรรมจักรมีซี่ จำนวน ๑๒ ซี่ ซึ่งหมายถึง ญาณ ๓ ในอริยสัจ ๔ มีชื่อภาษาไทยด้านล่างใบโพธิ์ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษอยู่รอบวงธรรมจักร หากใช้ประดับในต่างประเทศ หรือสถานที่ระดับสากลสามารถสลับระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษก็ได้ โดยแบบธงสัญลักษณ์ได้ผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม
สำหรับความหมายของธงสัญลักษณ์นั้น
ใบโพธิ์ หมายถึง การตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สีเขียวแห่งใบโพธิ์ หมายถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ธรรมจักรกลางผืนธงฉัพพรรณรังสี หมายถึง รัศมีแห่งพระธรรมได้ฉายแสงเหนือผืนแผ่นดินไทย และส่องประกายไปยังนานาประเทศ จนประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
กนกลายไทยชูช่อฟ้า หมายถึง ผืนแผ่นดินไทยรุ่งเรืองด้วยอารยธรรมแห่งชนชาติไทย ได้เชิดชูพระธรรมคำสั่งสอนของพระพระพุทธเจ้า ให้อำนวยประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ และจะดำรงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยตราบชั่วกัลปาวสาน
ชัยชนะและอิสรภาพ
คือ ความหมายแห่ง “พุทธชยันตี”
โดยรากศัพท์ คำว่า “พุทธชยันตี” มาจากคำ ๒ คำ คือ “พุทธ” แปลว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับคำว่า “ชยันตี” มาจากคำว่า “ชย” แปลว่า ชัยชนะ ซึ่งเมื่อนำคำทั้ง ๒ คำ มารวมกัน ก็ได้รูปคำใหม่ว่า “พุทธชยันตี” อันหมายถึง ชัยชนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มาร และกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ปลดเปลื้องจากกิเลสเครื่องร้อยรัด เป็นอิสรภาพจากพันธนาการทั้งปวง อันทำให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นในโลก
“พุทธชยันตี” จึงหมายถึง การตรัสรู้ และการบังเกิดขึ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนำมาซึ่งชัยชนะและอิสรภาพแก่มวลมนุษยชาติ
เพราะเหตุแห่งชัยชนะต่อกิเลสทั้งปวงของพระพุทธองค์ ในปัจจุบัน คำว่า “พุทธชยันตี” ยังถูกนำไปใช้ในความหมายแห่งชัยชนะและความเป็นอิสรภาพของชาวพุทธอีกด้วย เช่น
การต่อสู่เพื่ออิสรภาพจนได้รับเอกราชจากอังกฤษของประเทศศรีลังกา ถือว่าเป็นชัยชนะของประชาชน ทำให้ชาวพุทธในประเทศศรีลังกา เป็นอิสรภาพจากการถูกปิดกั้นทางศาสนา มีสิทธิในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นครั้งแรก ชาวศรีลังกาจึงจัดพิธีเฉลิงฉลองพุทธชยันตีอย่างยิ่งใหญ่
และ ในประเทศอินเดีย การประกาศชัยชนะต่อการกดขี่ในระบบชนชั้นวรรณะ ของ ดร.อัมเบดการ์ โดยประกาศไม่นับถือศาสนาฮินดู และนำประชาชนกว่า ๒ แสนคน ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ด้วยการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี
การคำนวณนับปีพุทธชยันตี
จาก ๒๕๐๐ ปี แห่งปรินิพพาน
ถึง ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้
วิธีกำหนดนับปีทางพระพุทธศาสนานั้น มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง คือ นับวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เป็น พ.ศ ๑ และ ครบรอบวันปรินิพพานเวียนมาบรรจบอีกครั้ง จึงนับเป็น พ.ศ. ๑ ประเทศอินเดีย ศรีลังกานั้น คำนวณนับ พ.ศ. เร็วกว่าไทย ๑ ปี เพราะเริ่มนับ พ.ศ. ๑ จากวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ขณะประเทศไทยครบรอบหนึ่งปี นับแต่วันปรินิพพาน จึงนับเป็น พ.ศ. ๑
ประเทศไทยจึงฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี ช้ากว่าประเทศอินเดีย และ ประเทศศรีลังกา ๑ ปี
วิธีคำนวณนับ พ.ศ. แบบไทยนั้น ให้เคียบเคียงวิธีนับปีเกิด เช่น อายุ ๗๙ ปีเต็ม ย่างเข้า ๘๐ ยังให้นับเป็นอายุ ๗๙ ปี จนกว่าจะถึงครบรอบวันเกิด จึงให้นับเป็นอายุ ๘๐ ปีเต็ม และย่างเข้า ๘๑
อย่างไรก็ตาม ในวาระสำคัญเนื่องในมหาธัมมาภิสมัยพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้นั้น หากยึดถือตามหลักการคำนวณปีพุทธศักราชแบบไทย ก็อยู่ในช่วงระหว่าง วิสาขบูชาปี ๒๕๕๔ – วิสาขบูชาปี ๒๕๕๕ ทั้งนี้ ในวันวิสาขบูชาปี ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ครบ ๒๕๙๙ ปีเต็ม และย่างเข้าสู่ปีที่ ๒๖๐๐ และพระพุทธศาสนาครบ ๒๖๐๐ ปีเต็ม ในวันวิสาขบูชา ตรงกับวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕
โดยเริ่มนับพุทธศักราชที่ ๑ จากปีที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน จนถึงปัจจุบัน นับได้ ๒๕๕๕ ปี บวกด้วย ๔๕ อันเป็นจำนวนพรรษาที่พระพุทธองค์ได้ดำเนินพุทธกิจ ภายหลังตรัสรู้จวบจนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
พ.ศ. ๒๕๕๕ + ๔๕ พรรษา = ๒๖๐๐
ในประเทศต่างๆ ที่มีชาวพุทธเข้มแข็ง ได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองในวาระนี้เป็นเวลา ๓ ปี (๒๕๕๓-๒๕๕๕) ดังเช่น ในประเทศศรีลังกา พม่า อินเดีย เป็นต้น ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลองอย่างตื่นตัว และยิ่งใหญ่ แม้ที่สำนักงานใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ก็มีการจัดงานฉลองใหญ่ในช่วงวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา เช่นกัน
รัฐบาลไทยได้ประกาศให้มีการเฉลิมฉลองใหญ่ตลอดปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ นี้ อย่างเป็นทางการโดยสั่งการและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมการและดำเนินการจัดงานอย่างจริงจัง ทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เน้นหนักด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยให้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติธรรมในหมู่พุทธศาสนิกชน มุ่งให้มีการฟื้นฟูวิถีชาวพุทธตั้งแต่ระดับครอบครัว และชุมชนอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และยั่งยืน อันจะเป็นการเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และเกิดความมั่นคงต่อประเทศชาติบ้านเมือง