พุทธชยันตี มหาธัมมาภิสมัย ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-05-30 11:30:33
พุทธชยันตี มหาธัมมาภิสมัย ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ รัฐบาลไทย ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี อย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี โดยเน้นหนักในด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนตามวิถีชาวพุทธอย่างแท้จริง อันจะทำให้เกิดความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืน
การฉลองพุทธชยันตี เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ฉลองครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี แห่งการปรินิพพาน หรือ ฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้าง ในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี แต่ทั้งหมด ก็คือ การจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
เมื่อวาระสำคัญเวียนมาบรรจบอีกศตวรรษหนึ่ง ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงจัดฉลองกันโดยทั่วไป เรียกว่าฉลอง "พุทธชยันตี" เช่น ที่เคยฉลองครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้ว ในครั้งนั้น กำหนดนับวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือ พ.ศ. ๑ เป็นวันแห่งการฉลองพุทธชยันตี
แต่ครั้งนี้ นับวันที่พระบรมศาสดาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบครับรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ ๒๖๐๐ ปี กำหนดให้เป็นวันฉลองพุทธชยันตี
"พุทธชยันตี" หมายถึง ชัยชนะของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา เมื่อ ๒๖๐๐ปี ล่วงแล้ว ทำให้พระนามว่า "สัมมาสัมพุทธะ" ปรากฏขึ้นในโลก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา อันเกิดจากปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน ได้มีพระธรรมเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิต
วันฉลองที่สำคัญนี้เรียกเป็นสากลว่า Sambuddha Jayanti ๒๖๐๐ ตรงกับภาษาไทยว่า "สัมพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี"
เฉพาะประเทศไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้ เรียกงานฉลองนี้ว่า "พุทธชยันตี" ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
โดยที่ประชุมมหาเถรสมาคม ณ พระตำหนักสมเด็๗ฯ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้มีมติเห็นชอบให้มีกรดำเนินการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยให้เรียกชื่อว่า งานฉลอง "พุทธชยันตี" ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดงาน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ของบประมาณในการดำเนินการสนับสนุนจากรัฐบาล
การจัดงานแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑. ด้านการปฏิบัติบูชา มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน โดยใช้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม
๒. ด้านวิชาการ เน้นการประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ดำเนินการ
๓. ด้านกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม มอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงาน
การจัดกิจการทั้งหมด มุ่งเน้นให้เกิดการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วนของประชาชน พร้อมทั้งประสานการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดความรู้เกี่ยวพระพุทธศาสนาและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ และเข้าใจหลักธรรมและเรื่องราวในพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในประเทศ และนานาชาติ