www.trueplookpanya.com
คลังความรู้
แนะแนว
ข่าวรับตรง
ธรรมะ




ธรรมะ > บทความธรรมะ

ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-05-10 09:57:18

ขลัง ศักดิ์สิทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์
งมงายหรือไม่งมงาย ?
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

พระพุทธศาสนาพูดถึง “ปาฏิหาริย์” ไว้ 3 ชนิด คือ

1. อิทธิปาฏิหาริย์ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ เช่น เหาะเหินเดินอากาศ หายตัว ร่างเดียวแปลงเป็นหลายร่างได้ ฯลฯ)

2. อาเทสนาปาฏิหาริย์ (ดักใจ ทายใจคนอื่นได้)

3. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (แสดงธรรมชี้คุณชี้โทษให้เขาเลื่อมใส แล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจาก คนชั่วเป็นคนดี จากที่ดีอยู่แล้วได้บรรลุคุณธรรมสูงขึ้น)

ตามทรรศนะพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ามิได้ปฏิเสธปฏิหาริย์ทั้งสามอย่างเลย ทรงรับว่ามีจริงทำได้จริงทั้งสามอย่างนั้น แต่ทรงวางน้ำหนักไม่เท่ากัน

พระองค์ตรัสว่า ปาฏิหาริย์อย่างสุดท้าย (อนุสาสนีปาฏิหาริย์) ประเสริฐกว่าสองอย่างข้างต้น และเป็นปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงสรรเสริญ และสนับสนุนให้สาวกทั้งหลายกระทำ นั่นก็คือทรงเห็นว่าการสอนคนให้ละชั่วทำดีทำจิตให้บริสุทธิ์จนกระทั่งบรรลุมรรคผลนิพพาน เป็น “สิ่งมหัศจรรย์ยิ่ง” (ปาฏิหาริย์) และเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สาวกของพระองค์พึงกระทำ ถือว่าเป็นหน้าที่เลยก็ว่าได้

แต่สำหรับสองอย่างข้างต้น แม้จะไม่ทรงปฏิเสธ ทรงรับว่า มี เป็นได้ มีได้ และมีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แต่ทรงสอนให้ “วางท่าที” และปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็เป็นเรื่องของความงมงาย ถ้าใช้ถูกต้องก็ไม่งมงาย กลับจะเป็นประโยชน์เสียด้วยซ้ำ

ยกเฉพาะอิทธิปาฏิหาริย์ก่อนก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า การแสดงฤทธิ์ได้เป็นผลจากการฝึกสมาธิภาวนา ฤๅษีชีไพร โยคีทั้งหลายก็ทำได้เป็นจำนวนมาก พระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ก็ทำได้เป็นจำนวนมาก แต่สำหรับสาวกของพระพุทธองค์ พระองค์จะทรงห้ามมิให้ใช้อิทธิฤทธิ์พร่ำเพรื่อโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ห้ามใช้ฤทธิ์เพื่อเหตุผลของฤทธิ์

พูดแล้วอาจไม่กระจ่าง ความหมายก็คือ ถ้าแสดงฤทธิ์เพื่อให้เขาอัศจรรย์ ว่าแหมคนนี้เก่งจริงๆ อย่างนี้ไม่ได้ ถือว่าผิดครับ หรือแสดงฤทธิ์เพื่ออามิสสินจ้างหรือเพื่อลาภสักการะ อย่างนี้ก็ไม่ได้ ผิดอีกเช่นกัน

ที่ว่านี้ก็มิได้พูดเอาเอง มีเรื่องเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว คือในสมัยพุทธกาล เศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่งได้บาตรไม้จันทน์มา อยากทดลองว่ามีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์จริงหรือไม่ หรือว่ามีแต่ “ราคาคุย” เฉยๆ จึงตั้งเสาลำไม้ไผ่สูงเท่าต้นตาล โดยเอาบาตรแขวนไว้บนยอดเสา ประกาศว่า ถ้าพระอรหันต์ทรงอภิญญามีจริงขอให้เหาะมาเอาบาตร ถ้าใครสามารถเหาะมาเอาบาตรได้ ข้าพเจ้าจะมอบตนเป็นศิษย์ ถ้าภายใน 7 วันไม่มีใครมาเอาบาตรได้ ข้าพเจ้าจะได้รู้เสียทีว่า ในโลกนี้ไม่มีพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา มีแต่ “ราคาคุย” เท่านั้น

เหตุการณ์ผ่านไปถึงเช้าวันที่ 7 ก็ไม่มีใครเหาะไปเอาบาตร พระเถระสองรูปคือ พระโมคคัลลานะกับพระปิณโฑละภารัทวาชะ กำลังออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ได้ยินเสียงชาวบ้านพูดในทำนองว่า ไม่มีพระอรหันต์ทรงอิทธิฤทธิ์จริง เศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์เหาะไปเอาบาตรภายใน 7 วัน นี่ก็มาถึงวันที่ 7 แล้ว ไม่มีพระอรหันต์ทรงอิทธิฤทธิ์แม้แต่องค์เดียว

พระโมคคัลลานะ ได้ยินหันมามอง พระปิณโฑละภารัทวาชะ แล้วกล่าวว่า ท่านผู้มีอายุ ประชาชนกำลังดูหมิ่นว่าไม่มีพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ ท่านจงแสดงให้เขาเห็นเถิด พระปิณโฑละจึงขออนุญาตพระโมคคัลลานะ (พระอัครสาวกเบื้องซ้าย ผู้มีฤทธิ์มาก) เข้าฌานแล้วก็เหาะไปเอาบาตรลงมาจากเสาไม้ไผ่นั้น

เศรษฐีเลื่อมใสในพระเถระ มอบตนเป็นศิษย์ท่าน ถ่ายอาหารบิณฑบาตท่านแล้ว อุ้มบาตรเดินตามหลังท่านกลับไปยังพระวิหาร บรรดา “แขกมุง” ทั้งหลายก็พากันห้อมล้อมพระเถระ เดินตามท่านไปวัด ส่งเสียงอื้ออึง พระพุทธเจ้าทรงสดับเสียงอื้ออึง จึงตรัสถามพระอานนท์ พระอานนท์กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ

แทนที่พระองค์จะทรงยินดีด้วย กลับตรัสเรียก ‘พระปิณโฑละภารัทวาชะ’ มาเข้าเฝ้า พร้อมภิกษุสงฆ์จำนวนมาก ตรัสตำหนิกลางที่ประชุมด้วยคำแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ (บุรุษเปล่า) ไม่สมควรเลยที่เธอแสดงอิทธิฤทธิ์ เพื่อแลกกับบาตรใบเดียว การกระทำของเธอไมต่างกับนางนครโสเภณีเปิดเผยอวัยวะของตนเพื่อแลกเงินและทอง”

เป็นคำตำหนิที่แรงมาก ทรงเห็นว่าพระสาวกของพระองค์ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ ให้เขารู้ว่าตนทำได้ และแสดงเพื่อแลกลาภสักการะ (ในกรณีนี้ บาตรใบเดียว) เป็นสิ่งที่สมณะศากยบุตรไม่พึงทำ เรียกว่าเป็นการ “หากิน” เหมือนโสเภณีหากินด้วยการเปิดอวัยวะที่ควรปิดแลกเงินและทองฉะนั้น จากเหตุการณ์ครั้งนี้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเป็นข้อห้าม ห้ามพระสาวกของพระองค์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ด้วยเหตุผลที่ไม่สมควร

ตรงนี้คนทั่วไปที่เคร่งต่อตัวบทกฎหมาย ตีความว่า ห้ามพระสงฆ์สาวกแสดงอิทธิฤทธิ์เด็ดขาด ไม่ใช่เฉพาะคนทั่วไป นักบวชศาสนาอื่นก็เข้าใจอย่างนั้น จึงประกาศจะแสดงฤทธิ์แข่งกับ “พระสมณะโคดม” (คือพระพุทธเจ้า โดยเชื่อว่าเมื่อพระสมณะโคดมห้ามสาวกแสดงอิทธิฤทธิ์ พระองค์เองก็ต้องไม่แสดงด้วย เมื่อพวกตนท้าแสดงฤทธิ์แข่ง พระสมณะโคดมไม่แสดงเพราะผิดกฎที่พระองค์วางไว้ ก็จะแพ้พวกตน

ร้อนถึง พระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์จะแสดงเอง เมื่อทูลถามว่า ก็เมื่อพระองค์ประกาศห้ามสาวกแสดงแล้ว พระองค์จะแสดงได้อย่างไร พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามว่า “มหาบพิตร ถ้ามีคนมาขโมยมะม่วงจากสวนหลวงของพระองค์ไปกิน จะว่าอย่างไร”

“หม่อมฉันก็จับมันมาทำโทษ” พระราชากราบทูล

“ถ้ามหาบพิตรอยากเสวยมะม่วงจากสวนหลวงเล่า”

“หม่อมฉันก็ให้คนปลิดมาให้กิน”

“มหาบิพตรห้ามคนอื่นกินมะม่วงจากสวนหลวง ทำไมมหาบพิตรเอามาเสวยได้เล่า”

“ก็หม่อมฉันเป็นเจ้าของสวน ย่อมมีสิทธิ์เอามะม่วงมากินได้”

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เช่นเดียวกันนั่นแหละ พระพุทธองค์เป็นเจ้าของศาสนา ย่อมมีสิทธิแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ แม้จะประกาศห้ามสาวกแสดงก็ตาม

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ไม่ใช่ไม่ให้แสดงอิทธิฤทธิ์ แสดงได้ แต่ให้มีเหตุผลและจุดประสงค์อันสมควรที่จะแสดง ท่าทีที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ

ถ้าใช้อิทธิฤทธิ์เป็น “สื่อ” สอนธรม การแสดงฤทธิ์ก็เหมาะสมและถูกต้องตามพุทธประสงค์ บุคคลบางคนเชื่อและเลื่อมใสในอิทธิฤทธิ์ ใครมีฤทธิ์ก็ให้ความนับถือ คนเช่นนี้ถ้าเราจะ convert หรือกลับใจเขา คนสอนจะต้องมีอิทธิฤทธิ์เท่าๆ เขาหรือมากกว่าเขา เขาจึงจะเลื่อมใสและยอมเชื่อฟัง อย่างนี้เรียกว่า ใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์

เมื่อใช้ฤทธิ์ปราบฤทธิ์ได้แล้ว ไม่ควรหยุดอยู่แค่นั้น ควรสอนให้เขาละวางเรื่องฤทธิ์ก้าวไปสู่คุณธรรมที่สูงกว่านั้น ดังกรณีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอิทธิฤทธิ์เองในบางครั้ง หรือทรงมีพุทธบัญชาให้พระโมคคัลลานะไป “ปราบ” บางคน

ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาในปัจจุบัน พึงตระหนักว่า บรรดาปาฏิหาริย์ทั้งหลาย พระพุทธองค์ทรงยกย่องอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นยอด การแสดงอิทธิฤทธิ์ก็ดี ความสามารถในการอ่านใจ ทายใจคนอื่นได้ก็ดี ถึงจะไม่ปฏิเสธ ก็ทรงเตือนไว้ว่าอย่าใช้พร่ำเพรื่อ อย่าใช้ผิดวัตถุประสงค์ และอย่าใช้ในทางที่ไม่เหมาะ

ให้เตือนตนอยู่เสมอว่า พึงใช้อิทธิฤทธิ์เป็น “สื่อ” จูงคนเข้าหาพระธรรมที่สูงขึ้น มิใช่ใช้เพื่อให้คนเขาอัศจรรย์ว่าเราเก่ง แล้วจะได้นำลาภสักการะมาถวาย

นี้พูดถึงผู้ที่สามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีความสามารถในด้านนี้เลยแม้แต่น้อย แต่แสดงให้คนอื่นเข้าใจว่าตนทำได้ ยิ่งมีความผิดมหันต์ ถ้าเป็นพระภิกษุ ก็เข้าขั้น “อวดอุตริมนุสสธรรม” มีความผิดหนักถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ

เรื่องเกิดครั้งแรกสมัยพุทธกาล เกิดข้าวยากหมากแพงไปทั่วเมือง พระสงฆ์องคเจ้าอยู่ลำบาก มีอาหารบิณฑบาตไม่พอเพียง เนื่องจากชาวบ้านยากจน ไม่ค่อยมีอะไรกินอยู่แล้ว จึงไม่มีมาเจียดถวายให้พระสงฆ์ มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง อยู่หมู่บ้านชายฝั่งน้ำวัคคุมุทา ปรึกษาหารือวิธีที่จะอยู่รอด รูปหนึ่งเสนอขึ้นว่า “พวกเราน่าจะยกย่องคุณธรรมของกันและกันให้ชาวบ้านได้ยิน เมื่อเขาเข้าใจว่าพวกเราเป็นผู้วิเศษ ก็จะเลื่อมใส เอาข้าวเอาน้ำมาถวาย ด้วยอุบายอย่างนั้นพวกเราก็จะไม่ลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต”

ทั้งหมดเห็นดีเห็นงามด้วยกับข้อเสนอของภิกษุรูปนั้น จึงดำเนินการตามแผน ภิกษุตึ๋ง (นามสมมติ) เข้าไปหมู่บ้าน ก็พูดคุยกับโยมว่า “คุณโยมรู้ไหม ท่านต๋อง (นามสมมติ) บรรลุโสดาบัน”

ภิกษุต๋อง ก็พรรณนาสรรพคุณของภิกษุตึ๋งให้โยมฟังเช่นกัน ผลัดกันชมกันเองว่าอย่างนั้นเถอะ ญาติโยมทั้งหมู่บ้านได้ยินก็เลื่อมใสเป็นการใหญ่ “โอ พระคุณเจ้ากลุ่มนี้อยู่กับเราตั้งนาน พวกเราไม่รู้เลยว่าท่านเป็นพระอริยะบรรลุมรรคผลนิพพาน โอ ช่างเป็นบุญของพวกเราเหลือเกิน”

ชื่นชม ไม่ชื่นชมเปล่า ต่างก็นำข้าวปลาอาหารไปถวายพระคุณเจ้าฉันอย่างอิ่มหมีพีมันอีกด้วย ตกลงว่าในระหว่างพรรษานั้น พระกลุ่มนี้ไม่ลำบากด้วยอาหารการฉัน เพราะได้โยมอุปัฏฐากเลี้ยงดูอย่างดี ในขณะที่พระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในตำบล หรือจังหวัดอื่นๆ ผอมโซไปตามๆ กัน

เมื่อท่านเหล่านี้ไปเฝ้าพระพุทธองค์ ได้กราบทูลวิธีปฏิบัติของพวกตนให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระพุทธองค์ตรัสตำหนิท่ามกลางสงฆ์ว่าเป็นการ “อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน” มีความผิดร้ายแรงถึงขั้นขาดจากความเป็นพระภิกษุ จึงทรงบัญญัติห้ามพระสาวกทำอย่างนี้อีกต่อไป ใครขืนทำ ขาดจากความเป็นพระทันที ต้องไล่สึกออกจากสังฆมณฑล

เนื่องจากภิกษุกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มแรกที่ทำความผิดนี้ พระพุทธองค์ไม่ทรงไล่สึก แต่ให้เป็น “อาทิกัมมิกะ” (แปลกันว่าต้นบัญญัติ ความหมายก็คือ ให้เป็นตัวอย่างในทางชั่ว ให้ประจานกันต่อๆ ไปว่า บวชมาแล้วอย่าประพฤติชั่วเหมือนภิกษุกลุ่มวัคคุมุทานะ อะไรทำนองนั้น)

การอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นมหาโจรประเภทที่ 5 และเป็นยอดของมหาโจรทั้งหลายด้วย เพราะถือว่าเป็นการลวงโลกอย่างร้ายกาจ มิบังควรที่บรรพชิตจะพึงกระทำ ทั้งๆ ที่ทรงเตือนอย่างนี้ ก็มีเจ้ากูสมัยนี้พยายาม “เลี่ยงบาลี” แสวงหาลาภสักการะโดยวิธีอ้างความขลังความศักดิ์สิทธิ์กันอยู่ดาษดื่น หลายกรณีก็เข้าข่าย “อวดอุตริมนุสสธรรม” โดยไม่รู้ตัว และก็ไม่ถูกจับสึกแต่อย่างใด เพราะเรื่องอย่างนี้บางทีก็ละเอียดอ่อน ยากจะชี้ลงไปว่า ผิดหรือไม่ผิดจริง

แต่ที่รู้แน่ก็คือ “สำนึกในใจ” ของบุคคลนั้นเองว่า เขาผิดหรือไม่ นอกเสียแต่ว่าเป็นคนทรยศต่อจิตสำนึกของตนเอง หรือหน้าด้านทำอยู่ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิด

ส่วนในกรณีที่ “เฉียด” ปาราชิกนั้นมีมาก จะเอาผิดถึงขั้นจับสึกก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะไม่เข้าข่ายบางครั้งคนๆ นั้นเป็นผู้มีความรู้พระวินัย หรือตัวบทกฎหมายสำหรับพระดีอีกด้วย จึงหาช่องทางเลี่ยงบาลีได้สบายๆ

พูดถึงเรื่องขลังเรื่องศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้ากูมากมายที่อาศัยความโง่งมงายของประชาชนหากิน ปลุกเสกเหรียญ (บางที่ก็ไม่มีพิธีปลุกเสก ปั๊มกันขึ้นมามากมาย) แล้วก็ให้ “เช่า” (ศัพท์ในวงการ ฟังดูดี แต่ทีจริงก็คือ ซื้อ นั้นเอง) ในราคาแพงๆ อย่างนี้เป็นสิ่งที่ไม่พึงทำ เพราะพระภิกษุไม่มีสิทธิ์ทำตนเป็นพ่อค้า ผลิตสินค้าจำหน่าย หรือบางรายมิได้ทำเพื่อการซื้อขาย นำพระนำเหรียญที่ปลุกเอง หรือที่ผู้อื่นปลุกเสกไว้แล้วมาแจกจ่ายให้ญาติโยมนำไปบูชา

ถ้าให้สิ่งนั้นๆ แก่ประชาชนไปเพื่อเป็น “พุทธานุสสติ” เตือนให้รำลึกถึงพระพุทธคุณ คอยห้ามใจจากความชั่ว ปลุกใจให้ทำความดี ขณะมอบให้ พระท่านก็กล่าวสอนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย อย่างนี้ถือว่าใช้เครื่องรางของขลังเป็น “สื่อ” จูงคนเข้าสู่ร่มเงาแห่งพุทธธรรม ไม่เสียหาย เป็นสิ่งควรทำเสียด้วยซ้ำ

แต่ถ้ามอบเหรียญมอบพระให้ พลางพรรณนาสรรพคุณว่า เก็บไว้ให้ดีๆ พระองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ คงกระพัน ยิงไม่ออกฟันไม่เข้า เมื่อวานนี้เด็กหนุ่มคนหนึ่งเข้าไปปล้นร้านทอง ถูกตำรวจยิงหลายนัดจนเสื้อขาดเป็นรูแต่กระสุนไม่ระคายผิวหนังเลย รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์ อย่างนี้ละก็ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ตัวอย่างที่ยกมานั้นแลไม่พรรณานาความขลังของพระอย่างเดียว แถมยังสนับสนุนให้ทำชั่วทุจริตโดยไม่รู้ตัว อย่างนี้ถึงจะไม่ถึงขั้นปาราชิกอะไร ก็ไม่ควรให้อยู่ในผ้าเหลืองต่อไป เพราะจะเป็นอันตรายแก่พระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม

ก่อนจบ ขอยกตัวอย่างจริงสักเรื่อง มีชายคนหนึ่งได้เหรียญหลวงพ่อคูณไปแล้ว รถคว่ำเกือบตายไปต่อว่าหลวงพ่อคูณเจ้าของเหรียญว่า ทำไมหลวงพ่อไม่ช่วย รถคว่ำเกือบตาย

หลวงพ่อถามว่า “มึงขับเร็วเท่าไร”

“ร้อยสามสิบ-ร้อยสี่สอบครับ” ชายคนนั้นตอบ

หลวงพ่อคุณกล่าวทันทีว่า “โอ๊ย แค่ร่อยเดียว กูก็กระโดดรถหนีแล่ว กูไม่อยู่ช่วยมึงหรอก”

ฟังดูเป็นเรื่องฮิวเมอร์ แต่นี้แหละครับคือตัวอย่างของการให้เครื่องรางของขลังไปใช้ในทางที่ถูก คือพระจะขลังจริง ก็ต่อเมื่อไม่ประมาท ถ้าขับรถประมาท ขับเร็วเกินกำหนด ต่อให้พระขลังอย่างไรก็ช่วยไม่ได้ อยากแจกก็แจกเถอะครับ พระหรือเหรียญอะไรต่างๆ แต่ต้องแจกเพื่อให้เป็น “สื่อสอนธรรม” คือต้องบอกผู้รับว่า ได้พระได้เหรียญไปแล้ว เอ็งต้องไม่ประมาท หมั่นทำแต่ความดี แล้วพระจะคุ้มครอง


หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 28
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 15 ฉบับที่ 5511