สองพี่น้องประลองวิชา (หลวงปู่ขาว อนาลโย)
ทีมงานทรูปลูกปัญญา | 2012-05-10 09:45:36
สองพี่น้องประลองวิชา
หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ยกนิทานเปรียบเทียบแสดงเหตุผลว่า ทำไมท่านจึงเลือกการปฏิบัติภาวนา แทนที่จะเลือกเอาการเรียนทางตำราหรือภาคปริยัติ ดังนี้
ในครั้งพุทธกาล มีกุลบุตร 2 พี่น้อง ได้ศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา
พระภิกษุ 2 พี่น้องได้ปรึกษากันว่า เมื่อเราบวชแล้วจะมานั่งนอนกินของฆราวาสของเขาเฉยๆ ดูจะไม่สมควร อันกิจในพระพุทธศาสนา มี 2 อย่าง คือ คันถธุระ การศึกษาท่องบ่นในคัมภีร์ต่างๆ อันเป็นเนื้อหาธรรมอย่างหนึ่ง กับวิปัสสนาธุระ การปฏิบัติภาวนาเพื่อค้นหาความจริงอีกอย่างหนึ่ง
ขอให้เราทั้งสองเลือกเอาคนละอย่าง ต้องตั้งใจศึกษาอย่างจริงจัง ต่างคนต่างเรียนให้จบในแนวทางที่ตนเลือก แล้วจึงค่อยมาพบกัน
ฝ่ายภิกษุผู้น้องเป็นผู้เลือกก่อน บอกว่า “ผมจะถือเอาคันถธุระ คือการศึกษาเล่าเรียนจากคัมภีร์ และตำรับตำราต่างๆ”
ภิกษุผู้พี่จึงต้องเลือกอีกอย่างหนึ่ง ได้พูดว่า “เออดี ! เธอยังหนุ่มแน่นอยู่ เรียนไปจะได้มีความรู้ ขอให้เรียนให้จบในตำราทุกเล่มที่มี จะได้มีลาภยศและชื่อเสียง เป็นที่นิยมยกย่องของคนทั่วไป ส่วนพี่นั้นแก่แล้ว ถ้ามัวเรียนตามตำรับตำรากลัวจะตายเสียก่อนที่จะพ้นทุกข์”
พระพี่ชายจึงตกลงใจเรียนฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือการมุ่งปฏิบัติ เมื่อตกลงเช่นนั้นแล้วต่างก็แยกย้ายกันไปเสาะแสวงหาอาจารย์ตามแนวที่ตนเลือก
ฝ่ายพี่ชายมุ่งหน้าเข้าป่าเขาลำเนาไพร แสวงหาที่สงบสงัดปราศจากผู้คนพลุกพร่าน ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาจนบรรลุถึงจุดสุดยอดของวิปัสสนากรรมฐาน ใช้เวลายาวนานพอสมควร จนจิตใจมั่นคงแข็งแกร่ง ตัดสิ้นขาดจากอาสวะกิเลส สู่วิมุตติหลุดพ้น ภายในดวงจิตดวงใจสงบราบเรียบและผ่องใสทั้งกายและใจ ถือว่าจบกิจทางพระศาสนา
ฝ่ายพระน้องชายก็มุ่งเข้าเมืองใหญ่ เข้าศึกษาในสำนักที่มีชื่อเสียง ได้อาจารย์ที่เป็นปราชญ์ชั้นยอด ศึกษาธรรมะจนแตกฉานทุกเรื่องทุกตอน ศึกษาจนจบตำราและคัมภีร์ทุกประเภท ถือว่าเรียนจบขั้นสูงสุด มีความเป็นปราชญ์อย่างสมภูมิ กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรจะไม่รู้อีกแล้ว
เมื่อสองพี่น้องต่างมั่นใจว่าตนบรรลุในสิ่งที่มุ่งหวังแล้ว จึงได้กลับมาพบกัน เมื่อเรียนรู้คนละอย่างจึงเกิดการประลองกันว่าใครจะดีจะเก่งกว่ากัน
ฝ่ายพระผู้น้องได้กล่าวขึ้นว่า “ที่พวกเราไปร่ำเรียนศิลปะวิทยากันมาจนสำเร็จแล้วนั้น ผมอยากทราบว่าของใครจะดีกว่ากัน”
พระผู้พี่พูดว่า “วิชาของพี่นี่จบไตรโลกธาตุสูงสุด จนหมดที่จะศึกษาเล่าเรียนแล้ว จิตของเราถึงวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวกิเลสทั้งปวง”
พระผู้น้องก็พูดขึ้นว่า “ผมก็เรียนเก่งเหมือนกัน เรียนจนจบตำราทุกเล่ม และเรียนจนหมดความรู้ของอาจารย์ ถือว่ารู้แจ้งจบในพระธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว”
พระสองพี่น้องจึงเกิดการข้องใจว่าวิชาของใครดีกว่ากัน จึงได้ตกลงกันว่า “เราทั้งสองก็ลูกศิษย์พระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เราควรจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ให้พระองค์เป็นผู้ตัดสินเถิด พระองค์จะวินิจฉัยอย่างไรก็ตาม เราทั้งสองต้องยอมรับ”
พระสองพี่น้องจึงออกเดินทางเพื่อไปเฝ้าพระพุทธองค์ซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เพื่อกราบทูลให้ทรงวินิจฉัยต่อไป
พระพุทธวินิจฉัย
ในระหว่างเดินทางของพระภิกษุสองพี่น้องนั้น ฝนตกอย่างหนัก การเดินทางจึงยากลำบากเพราะอุปสรรคจากน้ำท่วม พระภิกษุผู้พี่เดินนำหน้า พระภิกษุผู้น้องเดินตามหลัง เมื่อถึงเวลาน้ำลึกจนท่วมหัว ก็ปรากฏว่าท่วมเพียงครึ่งแข้งของพระผู้พี่ ถ้าน้ำตื้นก็เดินอย่างแสนสบาย ซึ่งไม่เหมือนกับพระน้องชาย
กล่าวคือ ถ้าน้ำท่วมเพียงแข้งของพระพี่ชาย แต่กลับท่วมถึงอกของพระน้องชาย ถ้าน้ำตื้นพระพี่ชายก็เดินสบายมาก แต่พระน้องชายกลับเดินตกหลุมตกบ่อไปตลอดทาง พระน้องชายเดินทางด้วยความลำบากทุลักทุเล ผ้าสบงจีวรเปียกปอนต้องยกกลดยกบาตรไว้เหนือศีรษะ
เมื่อไปถึงพระเชตวันมหาวิหาร พระภิกษุทั้งสองพี่น้องได้พักผ่อนพอสมควรแล้ว ก็ได้เข้าเฝ้าเพื่อฟังพระพุทธวินิจฉัย
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ก่อนจะตอบข้อสงสัย ตถาคตจะขอถามอาการที่พวกเธอเดินทางมาเป็นอย่างไร ลำบากไหม ?”
พระผู้พี่ตอบว่า “ไม่ลำบากเลย ร่มเย็นตลอดทาง พระพุทธเจ้าข้า”
พระองค์ตรัสถามพระน้องชาย “แล้วเธอละลำบากไหม ?”
พระน้องชายตอบว่า “เกล้ากระหม่อมลำบากเหลือเกิน ต้องลุยน้ำต้องตกหลุมตกบ่อ ผ้าเปียกปอนหมด พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสถามต่อไปว่า “ทำไมเมื่อมาด้วยกันจึงไม่เหมือนกัน คนหนึ่งสบาย อีกคนหนึ่งกลับทุกข์”
พระภิกษุสองพี่น้องกราบทูลว่า “เกล้ากระหม่อมไม่ทราบดอกพระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดแสดงธรรมให้เกล้ากระผมเข้าใจด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระภิกษุทั้งหลาย ณ ที่นั้นว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนไม่มีกิเลสตัณหา ไม่ได้อุ้มกิเลสมา ย่อมเป็นคนเบา เหยียบน้ำก็ไม่เปียก เดินก็สบายไม่ทุกข์กาย ส่วนคนที่มีกิเลสหยาบ ตัณหามากมาย จนไม่มีโกดังที่จะเก็บใส่ เอาไว้ที่ไหนก็เต็ม คนนั้นเป็นคนหนัก เหยียบน้ำก็เปียก เดินไปก็จมแสนลำบาก น้ำเกือบจะท่วมตาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพี่หรือภิกษุน้อง ใครฟูใครจม”
พระภิกษุสาวกกราบทูลว่า “พวกข้าพระองค์ทราบแล้ว”
พระพุทธองค์ตรัสต่อไปว่า “ปัญหาที่พวกเธอตกลงไม่ได้นั้น ทราบแล้วหรือยัง คนเรียนแต่ไม่ปฏิบัติในพระธรรมวินัย กับคนเรียนสมถวิปัสสนาปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด จนกำจัดอวิชชาออกจากดวงใจแล้ว ดวงใจก็ใสสะอาด พี่เก่งหรือน้องเก่ง.....พี่ฟูหรือพี่จม น้องฟูหรือน้องจม”
ด้วยนิทานอุทาหรณ์ข้างต้น หลวงปู่ขาวท่านจึงเรียนด้านปริยัติพอเป็นพื้นฐาน แล้วก็มุ่งปฏิบัติสมถวิปัสสนา เพื่อลดละกิเลส พาจิตไปสู่ความหลุดพ้น ดังนั้นท่านจึงยอมขัดคำสั่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ดังกล่าวแล้ว ซึ่งสมเด็จฯ ท่านเข้าใจจึงยอมตาม
>>>>> จบ >>>>>